“เกษียณไม่รอด” วิกฤตการเงิน โรครุมเร้า ตอบโจทย์ด้วย “Megatrends Retirement Planning”

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 62 | คอลัมน์ Exclusive

file

 

ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศกำลังเผชิญหน้ากับ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” เพราะตกอยู่ในภาวะที่สัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป สูงกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ ขณะที่อัตราการเกิดและจำนวนประชากรวัยทำงานกลับเป็นไปในทิศทางตรงข้าม ซึ่งสถานการณ์ที่ว่านี้ ได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยเช่นกัน แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงก็คือ การวางแผนทางการเงินของคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เพียงพอที่จะรองรับการใช้ชีวิตในช่วงสูงอายุหรือหลังจากไม่ได้ทำงาน ดังนั้น โอกาสที่ “เกษียณไม่รอด” จึงมีสูง

นิตยสาร TRUST ฉบับนี้ มีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และคุณพิชา รัตนธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ถึงความท้าทายในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย และการวางแผนเกษียณอย่างมีประสิทธิภาพให้สอดรับกับเมกะเทรนด์ของโลก ซึ่งจะช่วยให้ชีวิตหลังเกษียณมีเงินออมที่เพียงพอ และยังคงมีรายได้ประจำ รวมถึงสวัสดิการด้านสุขภาพที่ดี เพื่อรอดพ้นจากกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้น

คนไทยวัยเกษียณ มีเงินไม่พอใช้ แถมอายุยืนขึ้น

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่มีอัตราการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุใกล้เคียงกับประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งมาจาก 2  ปัจจัย คือ ปัจจัยด้านการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพมาตั้งแต่หลายสิบปีก่อน รวมทั้งปัจจัยด้านสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไปทำให้กลุ่มคนที่มีฐานะดีและชนชั้นกลางมีบุตรน้อยลง ซึ่งส่งผลให้อัตราการเกิดลดลงมาก จนมีการคาดการณ์ว่าในอีก 1 - 2 ปีข้างหน้า ประชากรในประเทศไทยจะไม่เพิ่มจำนวนขึ้น ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคมไทย

ด้วยปัจจัยที่กล่าวมา ส่งผลให้ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ คือมีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด หรือมีประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ร้อยละ 14  ของจำนวนประชากร และกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุยิ่งยวดหรือผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super Aged Society) คือมีประชากรผู้สูงอายุร้อยละ 20 - 30  ของจำนวนประชากรทั้งหมดในอีกไม่ช้า

“ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือผู้สูงอายุที่เกษียณแล้วมีเงินไม่พอใช้ และมากกว่าร้อยละ 50  อยู่ในชนชั้นรากหญ้า ขณะที่ ชนชั้นกลางต้องมีเงินเก็บอย่างน้อย 4 - 5 ล้านบาท จึงจะสามารถใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างมีคุณภาพในระดับหนึ่ง แต่อาจจะไม่เพียงพอที่จะใช้ชีวิตได้ถึง 80 ปี”

  ไม่เพียงเท่านี้ คนไทยยังมีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนมากขึ้นเรื่อย ๆ จากความก้าวหน้าทางการแพทย์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการรักษาโรคที่ดีขึ้น ส่งผลให้ผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้น จากเดิมที่มีอายุเฉลี่ยอยู่ประมาณ 75 ปี แต่สำหรับคนที่เกิดในยุคหลัง โอกาสมีอายุยืนถึง 100 ปี มีมากขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อมีอายุยืนยาวขึ้น ก็หมายความว่าจำเป็นที่จะต้องเตรียมเงินไว้ใช้หลังเกษียณในจำนวนมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ เพื่อให้เพียงพอกับช่วงชีวิตที่เหลือต่อจากนี้ ซึ่งอาจไม่ได้มีรายได้ประจำจากการทำงานเหมือนเดิม

คำถามคือ...จะใช้ชีวิตอย่างไร เมื่อคนไทยมีแนวโน้มจะอายุยืนยาวขึ้นเรื่อย ๆ หากความมั่นคงทางการเงินยังไม่เพียงพอ ?

ทางเลี่ยง...พาไทยออกจาก “สังคมสูงวัยด้อยคุณภาพ”

การก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอาจไม่ใช่เรื่องที่น่าวิตกมากนักถ้าเรามีความพร้อมพอ แต่น่ากังวลสำหรับประเทศไทย ที่มีแนวโน้มก้าวสู่ “สังคมสูงวัยด้อยคุณภาพ” ซึ่งหมายถึงสังคมผู้สูงอายุที่มีคนจำนวนมากไม่พร้อมกับการดำเนินชีวิตหลังเกษียณ โดย ดร.สมชัยอธิบายว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศไทยเป็นสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง จึงมีประชากรจำนวนมากที่มีฐานะด้อยกว่าค่าเฉลี่ย คนกลุ่มนี้ยังมีแนวโน้มปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ยิ่งในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา พบว่า มีกลุ่มคนที่มีอายุ 40 - 50  ปี ได้ทยอยออกจากกำลังแรงงานก่อนกำหนด ประกอบกับขนาดครอบครัวที่เล็กลง ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องดูแลตัวเอง เพราะความหวังที่จะพึ่งลูกหลานและญาติพี่น้องเป็นไปได้น้อยลง และต้องเป็นภาระให้กับภาครัฐมากขึ้น

file

ดังนั้น แนวทางแก้ไขก็คือต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประชาชนก็ต้องพึ่งพาตัวเองให้มากขึ้น ด้วยหลักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขในการแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ยกตัวอย่างเช่น การจัดเก็บภาษีตามฐานทรัพย์สินให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น รวมทั้งปรับปรุงการจัดเก็บจากฐานรายได้และรายได้ประกอบด้วย เพื่อเพิ่มรายได้ให้รัฐในการดูแลสวัสดิการให้กับคนสูงอายุ ขณะเดียวกันภาคธุรกิจก็ต้องเปิดกว้างให้ผู้สูงอายุยังอยู่ในตลาดแรงงานต่อไป อย่างการขยายเวลาเกษียณอายุและสนับสนุนการประกอบอาชีพ เช่น การหาตลาด การสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อช่วยในการขายสินค้าของผู้สูงอายุหรือผู้ที่หางานทำในระบบได้ยาก เป็นต้น

รวมถึงควรหาแนวทางแก้ปัญหาใหม่ ๆ ด้วยการคิดนอกกรอบ เช่น สนับสนุนให้ผู้สูงอายุเลี้ยงดูบุตรหลานอย่างมีคุณภาพ โดยการให้ความรู้ที่ถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคนและสังคมในอนาคต ลดภาระของภาครัฐในการดูแลผู้สูงอายุ หรือกรณีปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นซึ่งรัฐต้องใช้เงินมหาศาลในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม อาจอาศัยความช่วยเหลือจากผู้สูงอายุ เช่นจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งมาจ้างผู้สูงอายุในการช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม อย่างการดูแลป่า สิ่งแวดล้อม แหล่งน้ำ ซึ่งเป็นงานที่คนกลุ่มนี้สามารถทำได้ และช่วยให้พวกเขามีรายได้เลี้ยงตัวเอง มีผลทำให้รัฐประหยัดรายจ่ายในการตามแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในภายหลัง

ดร.สมชัยกล่าวด้วยว่า นอกจากมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐและเอกชน ประชาชนเองก็ต้องพึ่งพาตัวเอง โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว เช่น ระมัดระวังเรื่องการใช้จ่าย ไม่ใช้จ่ายเงินเกินตัว โดยเฉพาะคนเจนวาย (Y) ที่มีการก่อหนี้ครัวเรือนจำนวนมาก ต้องหันมาประเมินตัวเอง ให้ใช้จ่ายให้น้อยลง ลดการก่อหนี้ และหันมาเก็บเงิน เพื่อวางแผนทางการเงินในระยะยาว

“ประชาชนต้องศึกษาหาความรู้เรื่องการเงิน การลงทุน ศึกษาช่องทางลงทุนใหม่ ๆ โดยต้องรู้จักประเมินความเสี่ยงของการลงทุนประเภทต่าง ๆ รวมถึงหน่วยงานรัฐและเอกชนก็ควรให้ความรู้ด้านการเงินและการลงทุน ที่จะช่วยให้คนไทยมีการวางแผนทางการเงิน และสามารถวางแผนเกษียณได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพียงพอกับการใช้ชีวิตในอนาคต”

file

นอกจากนี้ ต้องพึ่งพาตัวเองในเรื่องการดูแลรักษาและป้องกันโรคต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงควรปรับพฤติกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงกลุ่มโรคไม่ติดต่อร้ายแรง (NCDs) ประกอบด้วย 4 โรคหลัก ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ประเทศไทย ระบุว่า NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทย 1,000 คนต่อวัน หรือ 4 แสนคนต่อปี โดยกว่าครึ่งของผู้เสียชีวิตจากโรค NCDs เสียชีวิตก่อนวัยอันควร หรือเสียชีวิตตั้งแต่อายุ 30 - 70 ปี 

ยิ่งไปกว่านั้น ค่ารักษาพยาบาลสำหรับโรคร้ายแรงเหล่านี้ก็เพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างโรคมะเร็งที่จะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาตั้งแต่ 300,000 - 1,000,000 บาท และหากกรณีที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการรักษา เช่น การรักษาแบบพุ่งเป้า (Targeted Therapy) ก็อาจสูงถึง 10 ล้านบาท ในขณะที่โรคร้ายแรงที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นอันดับ 2 และ 3 อย่างโรคหลอดเลือดในสมองและโรคหัวใจนั้น ก็มีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูงตั้งแต่ 500,000 - 20,000,000 บาท ไม่นับรวมการทำเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายมากถึงเดือนละ 96,000 - 240,000 บาท ดังนั้น การให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเร่งท

วางแผนเกษียณแบบเมกะเทรนด์ รับมือสังคมผู้สูงอายุ

“การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือการไม่วางแผนรองรับสังคมผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพ” คุณพิชา รัตนธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) อธิบายว่า ปัจจุบันแม้จะมีโอกาสที่ดีขึ้นด้านการรักษาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการแพทย์ จนส่งผลให้คนมีชีวิตที่ยืนยาว แต่สุขภาพก็ยังคงเป็นสิ่งที่เสื่อมถอยลงตามกาลเวลา จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คนในยุคนี้ จำเป็นจะต้องเตรียมตัวรับมือกับค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพมากขึ้น  เพราะการวางแผนเกษียณแบบดั้งเดิมที่เคยทำกันมาอาจจะไม่เพียงพออีกต่อไป

โดยหากเจาะลึกการวางแผนเกษียณแบบดั้งเดิม จะพบว่าในส่วนของ “การลงทุนแบบดั้งเดิม” นั้น มักเป็นการวางแผนเพื่อหาผลตอบแทนในระยะสั้นแบบปีต่อปี ด้วยการจัดพอร์ตโดยเน้นลงทุนในอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่มั่นคง แต่โอกาสการเติบโตในอนาคตอยู่ในระดับต่ำ เพราะปัจจุบันธุรกิจเหล่านี้มักจะถูก Disruption จากธุรกิจใหม่ ๆ ของโลก ทำให้คาดหวังผลตอบแทนได้เพียง 4 - 5% ต่อปีเท่านั้น จนทำให้การวางแผนลักษณะนี้อาจสร้างเงินก้อนไม่เพียงพอกับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ

file

ดังนั้น ควรจัดสรรการลงทุนเพื่อสร้างเงินก้อนที่มากเพียงพอในการรองรับวัยเกษียณที่ยาวนานขึ้น ด้วยการกระจายลงทุนในธุรกิจเมกะเทรนด์ (Megatrends Investment) เพื่อสร้างผลตอบแทนที่สูงแบบก้าวกระโดด เช่น ธีมนวัตกรรมการแพทย์ (Innovative Healthcare) อย่างธุรกิจไบโอเทคโนโลยี (Biotechnology) ธีมเทคโนโลยีแห่งอนาคต (Future Trend of Technology) อย่างธุรกิจด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ธุรกิจคลาวด์ คอมพิวติง (Cloud Computing) และธีมพลังงานสะอาด (Clean Enegy) โดยธีมการลงทุนแบบเมกะเทรนด์ทั้งหมดนี้จะสามารถเร่งการเติบโตของพอร์ตการลงทุนในระยะยาว ทำให้หลังเกษียณยังคงมีผลตอบแทนที่ดี

ส่วน “การวางแผนด้วยประกันแบบดั้งเดิม” ก็เป็นแนวทางที่ไม่สอดคล้องกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยจะพบได้ว่าในอดีตคนไทยส่วนใหญ่ เน้นทำประกันชีวิตเพื่อส่งต่อมรดกให้ลูกหลาน เนื่องจากต้องการส่งมอบความมั่งคั่งให้กับคนที่อยู่ข้างหลัง ส่วนในด้านการทำประกันสุขภาพมักพบว่า คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้พิจารณาวงเงินความคุ้มครองที่สูงพอเพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายการรักษาที่พุ่งขึ้นทุกปี นอกจากนี้ นวัตกรรมการแพทย์ที่ก้าวหน้าทำให้คนอายุยืนยาวกว่าในอดีตหลายสิบปี ความเสี่ยงของการมีเงินไม่พอใช้ในระยะยาวจึงเพิ่มขึ้นมาก ดังนั้น หากคนกลุ่มนี้ยังคงวางแผนด้วยประกันแบบดั้งเดิม หลังจากเกษียณจะไม่สามารถดูแลค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลของตัวเองได้ และไม่สามารถสร้างรายได้ประจำให้กับตัวเองหลังเกษียณได้มากและยาวนานเพียงพอ

“ยุคสมัยเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน ความเสี่ยงก็เปลี่ยนไป สมัยก่อนเราเน้นการทำประกันชีวิตเพื่อส่งต่อทรัพย์สินให้ลูกหลาน แต่ปัจจุบันความเสี่ยงคือการที่เรามีอายุยืนยาวขึ้น เงินเก็บที่มีจึงต้องนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพมากขึ้น ไม่เพียงแค่คิดถึงการส่งต่อให้ลูกหลาน แต่จะต้องคิดเพิ่มเติมด้วยว่า จะทำอย่างไรให้สามารถมีเงินก้อนดูแลคุณภาพชีวิตของตัวเองให้ดีได้เทียบเท่ากับวัยทำงาน โดยไม่ให้กระทบกับครอบครัว หรือเป็นภาระบุตรหลาน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญกว่า” คุณพิชาระบ

Megatrends Protection จึงเป็นการวางแผนรับมือในการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการทำประกันสุขภาพแบบเหมาจ่าย การทำประกันโรคร้ายแรงที่มีทุนประกันสูง และการทำประกันบำนาญที่เน้นผลประโยชน์ขณะดำรงชีวิต (Living Benefit) สูง เพื่อให้มีเงินเพียงพอสำหรับใช้หลังเกษียณสอดรับกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย

ทิสโก้ย้ำผู้นำการวางแผนเกษียณ

คุณพิชากล่าวว่า ธนาคารทิสโก้เล็งเห็นถึงเมกะเทรนด์ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโลก จึงได้นำคอนเซปต์ Megatrends Retirement Planning หรือการวางแผนเกษียณแบบเมกะเทรนด์มานำเสนอให้กับลูกค้า ผ่านแพลตฟอร์มเสนอขายกองทุนและประกันแบบเปิดกว้าง (Open Architecture: OA) ทำให้สามารถคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดให้ลูกค้า (Top in Class) ได้

โดยล่าสุด ได้ร่วมมือกับบริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ในด้านการตลาดเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละราย และในอนาคตจะร่วมมือกับอีกหลายบริษัทพันธมิตร ในการแนะนำผลิตภัณฑ์ภายใต้คอนเซปต์ Megatrends Retirement Planning เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกที่หลากหลายและมีศักยภาพในการวางแผนเพื่อการเกษียณมากยิ่งขึ้น

file

ส่วนในด้านการให้บริการ ธนาคารทิสโก้มีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำในด้านการวางแผนเพื่อการเกษียณ โดยตั้งเป้าว่าจะเป็นธนาคารแรกที่มีผู้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพที่ปรึกษาการเงินครบทุกสาขาภายในปี 2566 ซึ่งจะช่วยวางแผนเพื่อการเกษียณแบบเมกะเทรนด์อย่างมืออาชีพ ให้กับลูกค้าแต่ละรายได้ตรงความต้องการยิ่งขึ้น

“ทิสโก้ต้องการเป็นธนาคารที่ให้คำแนะนำการวางแผนเกษียณที่ดีที่สุด เพื่อช่วยให้ลูกค้าเกษียณอย่างมีความสุข ด้วยการแนะนำผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีที่สุด และสามารถวางแผนให้ตรงตามความต้องการเฉพาะเป็นรายบุคคล เพราะเรื่องการวางแผนเกษียณเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน ที่ต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ เพื่อเกษียณอายุอย่างมีความสุขในวันข้างหน้า” คุณพิชากล่าวทิ้งท้าย