ศูนย์อุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน “โรงพยาบาลบางใหญ่” สร้างความยั่งยืนระบบสุขภาพไทย

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 63 | คอลัมน์ Giving

file

 

 

องค์การอนามัยโลก (WHO) เคยจัดอันดับให้ “ไทย” เป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก และสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียและอาเซียนเมื่อปี 2561 โดยคิดเป็น 32.7 คนต่อจำนวนประชากร 1 แสนคน ขณะที่รายงานของศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน (ThaiRSC) ระบุว่า ในปี 2565 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ประสบภัยจากรถทั่วประเทศจำนวน 939,645 คน ในจำนวนนี้มีการเสียชีวิตสูงถึง 14,731 คน และทุพพลภาพ 177 คน สะท้อนภาพได้เป็นอย่างดีว่า “ทุกวินาทีคือโอกาสของการมีชีวิต” และปาฏิหาริย์จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากในละแวกใกล้เคียงนั้น ไม่มีโรงพยาบาลไหนที่มีความพร้อมเพียงพอต่อการยื้อโมงยามวิกฤตของชีวิตได้อย่างทันท่วงที

 

TRUST ฉบับนี้มีโอกาสได้พูดคุยกับ นพ.ชูศักดิ์ วรงค์ชยกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางใหญ่ ถึงความจำเป็นที่ต้องพัฒนาศูนย์อุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน หน่วยงานสำคัญด่านหน้าในการดูแลผู้เจ็บป่วย พร้อมวิสัยทัศน์ในการบริหารโรงพยาบาล เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความยั่งยืนของระบบสุขภาพให้กับคนไทย ตลอดจนหมุดหมายสำคัญของการพัฒนาโรงพยาบาลบางใหญ่ยุคใหม่ที่ชุมชนรักและศรัทธา

โรงพยาบาลรัฐแห่งเดียวบนถนนกาญจนาฯ

บนพื้นที่จังหวัดนนทบุรีฝั่งตะวันตกที่ครอบคลุมทั้งหมด 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอไทรน้อย อำเภอบางบัวทอง อำเภอบางใหญ่ และอำเภอบางกรวย ซึ่งมีประชากรหนาแน่นกว่า 7 แสนคนนั้น เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลรัฐเพียงแห่งเดียว นั่นก็คือ โรงพยาบาลบางใหญ่ ที่ตั้งอยู่บนถนนกาญจนาภิเษก ถนนสายสำคัญที่เชื่อมต่อกันเป็นวงแหวนล้อมรอบตัวเมืองกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และพระนครศรีอยุธยา ทั้งยังเชื่อมต่อรถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ และทางยกระดับ ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในถนนที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและประชากรไทยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และอาจกล่าวได้ว่า โรงพยาบาลบางใหญ่คือหัวใจหลักในการดูแลสุขภาพของพื้นที่แห่งนี้

file

“ในมุมของการรักษาพยาบาล ทุกเสี้ยวนาทีคือชีวิต หากจะให้เห็นภาพชัดเจน ก็คือ เรามีเวลาแค่ 4 นาทีเท่านั้น ในการยื้อชีวิตผู้ประสบภาวะหัวใจหยุดเต้น ด้วยการทำ CPR (ปั๊มหัวใจผายปอดกู้ชีพ) เพราะทันทีที่หัวใจหยุดทำงาน เลือดจะไม่ถูกสูบฉีดไปเลี้ยงสมอง ทำให้สมองตาย เพราะขาดเลือดและออกซิเจน ดังนั้น เวลา 4 นาทีจึงมีค่ามากจนสามารถตัดสินความเป็นและความตายของคนคนหนึ่งได้เลย นั่นหมายถึงว่า ความพร้อมของโรงพยาบาลจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือ ทีมแพทย์ หรือสถานที่ เพื่อรองรับเคสฉุกเฉินที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที” นพ.ชูศักดิ์อธิบายถึงการทำงานของทีมแพทย์ที่ต้องแข่งกับเวลาในการช่วยชีวิตผู้ป่วย

ก่อนจะเล่าถึงความจำเป็นที่ต้องยกระดับคุณภาพการรักษาพยาบาลและการพัฒนาศูนย์อุบัติเหตุ-ฉุกเฉินต่อว่า “ตอนที่ผมเข้ามารับตำแหน่งใหม่ ๆ โรงพยาบาลบางใหญ่เป็นเพียงอาคารชั้นเดียว ที่มีขนาดเพียงสิบเตียงให้บริการรักษาพยาบาลในโรคพื้นฐานทั่วไปที่ไม่ซับซ้อน ซึ่งหากมีกรณีที่ยากก็จะส่งต่อไปที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ เพราะในขณะนั้นยังไม่มีความพร้อมเพียงพอ ตอนนั้นผมเลยมีความคิดว่าจะต้องเร่งปฏิรูป เพื่อยกระดับมาตรฐานการรักษาพยาบาลและทำให้โรงพยาบาลเป็นโรงพยาบาลโดยสมบูรณ์ ไม่ใช่แค่สถานพยาบาลขั้นพื้นฐาน”

พัฒนาสถานที่ ยกระดับบุคลากรแบบบูรณาการ

ด้วยปณิธานอันแน่วแน่ของ นพ.ชูศักดิ์ ที่ตั้งใจจะผลักดันให้ “โรงพยาบาลบางใหญ่” เป็นโรงพยาบาลคุณภาพชั้นนำที่ชุมชนรักและศรัทธา จำเป็นต้องพัฒนาโรงพยาบาลอย่างบูรณาการรอบด้าน ทั้งทีมแพทย์ พยาบาล และสถานที่ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขนาดพื้นที่ จำนวนอาคาร ห้องผ่าตัด ห้องตรวจ รวมถึงครุภัณฑ์ทางการแพทย์

file

“แม้จะได้รับการจัดสรรงบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐ แต่ด้วยกลยุทธ์เชิงรุกในการพัฒนาคุณภาพและสร้างความพึงพอใจให้ผู้ใช้บริการ ทางโรงพยาบาลจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีโครงการรับบริจาคอย่างต่อเนื่อง และหนึ่งในนั้นก็คือ การได้รับความอนุเคราะห์จากกลุ่มทิสโก้ใน ‘โครงการทิสโก้ร่วมใจ 9’ ที่เป็นแกนนำในการให้การสนับสนุนทุนทรัพย์และยังเชิญชวนคู่ค้า ลูกค้า พนักงาน และประชาชนทั่วไป บริจาคเงินกว่า 17,291,500 บาท ในการสร้างห้องอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน และยังร่วมสนับสนุนสร้างห้องความดันลบอีกด้วย ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนในชุมชนทุกคนรู้สึกซาบซึ้งใจเป็นอย่างมาก”

นอกจากการพัฒนาคุณภาพในด้านการรักษาพยาบาล และสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้ใช้บริการแล้ว ทางโรงพยาบาลยังได้จัดตั้งโครงการมอบทุนการศึกษาแก่นักศึกษาแพทย์และพยาบาลอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้และแก้ปัญหาในระยะยาว

“ปัจจุบันโรงพยาบาลบางใหญ่มีผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการกว่า 260,000 ครั้งต่อปี  ส่วนใหญ่เป็นการเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจอย่างโรคไข้หวัด โรคทางเดินหายใจอักเสบ ตั้งแต่เจ็บคอ ต่อมทอนซิลอักเสบ ไปจนถึงโรคหลอดลมอักเสบ รวมถึงโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรังก็เข้ามารับการรักษาเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง ไม่เพียงเท่านี้ เรายังทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพในละแวกใกล้เคียงอีก 3 ตำบล ในการจัดส่งทีมแพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร ลงพื้นที่ เพื่อให้คนในชุมชนสามารถเข้าถึงการรักษาที่ดีได้สะดวกยิ่งขึ้น”

โรงพยาบาลที่ชุมชนพึ่งพิงได้

คุณหมอนักพัฒนาเล่าต่อว่า เป้าหมายในปี 2569 ของโรงพยาบาลบางใหญ่ คือเพิ่มจำนวนเตียงในการดูแลผู้ป่วยเป็น 200 เตียงเพื่อดูแลผู้คนในรัศมีโดยรอบ 20 กิโลเมตร ครอบคลุม 4 อำเภอโดยรอบฝั่งตะวันตกของจังหวัดนนทบุรี

“การที่ผู้ป่วยจะตัดสินใจเลือกใช้บริการกับโรงพยาบาลที่ไหนสักแห่ง ผมคิดว่าไม่ใช่แค่เป็นโรงพยาบาลใกล้บ้าน แต่ยังมีปัจจัยเรื่องความเชี่ยวชาญของบุคลากรทางการแพทย์ความน่าเชื่อถือของโรงพยาบาล คุณภาพในการให้บริการ และเครื่องมือที่เพียบพร้อมในการรองรับการรักษาโรคได้อย่างครอบคลุม ซึ่งทั้งหมดนี้เราให้ความสำคัญในทุกเรื่องและไม่เคยหยุดนิ่งในการพัฒนา เพราะเราอยากให้โรงพยาบาลบางใหญ่เป็นโรงพยาบาลที่สามารถดูแลผู้ป่วยได้ทุกโรค ไม่ว่าจะประสบอุบัติเหตุมา ป่วยหนักจากโรคอะไรมา เราก็พร้อมที่จะเป็นที่พึ่งให้กับผู้ป่วยและครอบครัวของเขา
ทุกคน” นพ.ชูศักดิ์กล่าว

การสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกและประชาชนทั่วไป ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของโรงพยาบาล จึงนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับที่โรงพยาบาลบางใหญ่ ได้รับการสนับสนุนจากโครงการทิสโก้ร่วมใจ 9 ในการร่วมยกระดับและพัฒนาคุณภาพศูนย์อุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน ให้พร้อมบริการและช่วยชีวิตประชาชน โดยในแต่ละวันมีจำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ามารับการรักษาเป็นจำนวนมากราว 120 - 180 คน ทำให้การพัฒนาและขยายพื้นที่ศูนย์อุบัติเหตุฯ แห่งนี้ จึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน เพื่อให้สามารถรองรับผู้ป่วยได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ ซึ่งการปรับปรุงศูนย์อุบัติเหตุ-ฉุกเฉินในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ขยายพื้นที่เพิ่มขึ้น 13 เท่า จากขนาดเดิม 75 ตารางเมตร เป็น 1,012 ตารางเมตร ยังเพิ่มจำนวนเตียงเพื่อลดความแออัด และจัดสรรพื้นที่ได้อย่างเป็นสัดส่วนตามมาตรฐานการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน (Emergency Care System: ECS) ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้พร้อมในการดูแลผู้ป่วยอย่างมีคุณภาพ

file

โดยแบ่งพื้นที่เป็น 4 โซนตามระดับอาการ หรือ Triage ได้แก่ โซน Resuscitation (โซนสีแดง) ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต โซน Emergency (โซนสีชมพู) ผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน โซน Urgency (โซนสีเหลือง) ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง และโซน Non-Urgency (โซนสีเขียว) ผู้ป่วยทั่วไป ซึ่งทำให้ช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว คล่องตัว และปลอดภัยยิ่งขึ้น พร้อมติดตั้งชุดรวมเครื่องมือแพทย์ชนิดแขวนเพดาน เชื่อมต่อระบบก๊าซทางการแพทย์ ปลั๊กไฟฟ้า ชั้นวางอุปกรณ์ และแขนจับยึดเครื่องมือแพทย์สำหรับห้องฉุกเฉินโดยเฉพาะ (Ceiling Pendant) 

ทิสโก้ร่วมใจ

คุณศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เล่าว่าศูนย์อุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน โรงพยาบาลบางใหญ่ เกิดขึ้นภายใต้โครงการทิสโก้ร่วมใจ ที่กลุ่มทิสโก้ริเริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2552 เพื่อมอบโอกาสด้านการศึกษา โดยจัดสรรทุนพัฒนาอาคารเรียนและครุภัณฑ์แก่โรงเรียนขยายโอกาสที่ขาดแคลนทั่วประเทศจนกระทั่งในปี 2563 ซึ่งเป็นครั้งที่ 9 จึงได้ขยายการสนับสนุนมายังสถานพยาบาลของรัฐ เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยอย่างยั่งยืน โดยที่กลุ่มทิสโก้เป็นผู้สนับสนุนหลัก ในการดำเนินโครงการร่วมกับคู่ค้า ลูกค้า ผู้บริหาร พนักงาน และผู้มีจิตศรัทธา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายการเติบโตอย่างยั่งยืนของกลุ่มทิสโก้ ที่มุ่งดำเนินการ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล (Governance) มาโดยตลอด

“โครงการนี้เราตั้งใจให้เป็นประโยชน์กับชุมชนรอบโรงพยาบาลบางใหญ่ ซึ่งมีประชากรหนาแน่นกว่า 7 แสนคน และขยายตัวอย่างรวดเร็ว ภาพในวันแรกที่คณะทำงานได้นำโครงการมาเสนอ แสดงให้เห็นถึงห้องอุบัติเหตุ-ฉุกเฉินเดิมของโรงพยาบาลที่แออัด จนเตียงผู้ป่วยล้นออกมาบนทางเดินนอกอาคาร ทำให้ในวันนั้นคณะผู้บริหารตัดสินใจอนุมัติงบประมาณให้ความช่วยเหลือทันที มาถึงวันนี้ที่ศูนย์อุบัติเหตุ-ฉุกเฉินของโรงพยาบาลบางใหญ่ปรับปรุงเสร็จโดยสมบูรณ์ มีอุปกรณ์ทันสมัยได้มาตรฐาน สามารถลดความแออัดด้านบริการได้อย่างดี ทำให้เราทุกคนที่ทิสโก้ รวมถึงพันธมิตรที่ร่วมสนับสนุน รู้สึกปลื้มใจเป็นอย่างมาก”

อย่างไรก็ตาม โครงการทิสโก้ร่วมใจ 9 มีกลุ่มทิสโก้เป็นผู้สนับสนุนหลัก ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจ อาทิ บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) รวมถึงผู้บริหาร พนักงาน และประชาชนทั่วไป

file