โยทะกา จุลโลบล พาเยี่ยมชมเปิดคลังศิลปะสะสม ผลงานระดับ Masterpiece แห่งทิสโก้ เมื่อ “เหลืองระทม” ไม่ระทมอีกต่อไป

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 64 | คอลัมน์ Living Art

file

หากกล่าวถึงคลังศิลปะที่คนในวงการกล่าวขวัญว่ามีผลงานที่เรียกได้ว่าเป็นสุดยอดในประเทศไทย ต้องเป็น "ทิสโก้" เพราะความเลื่องลือของการเป็นแหล่งสะสมงานศิลปะอันโด่งดังมากมาย ที่สำคัญเป็นที่เก็บผลงานระดับตำนานอย่าง “เหลืองระทม” ผลงานจิตรกรรมสีน้ำมันของอาจารย์สุเชาว์ ศิษย์คเณศ ศิลปินที่ได้ชื่อว่าเป็น "แวนโก๊ะเมืองไทย" ที่ผลงานเป็นที่กล่าวขวัญและถวิลหาของเหล่าบรรดานักสะสมงานศิลปะระดับต้นของประเทศ ซึ่งผลงานชิ้นนี้เองถือได้ว่าเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นที่ดีที่สุด และสมบูรณ์ที่สุด เป็นที่ยอมรับของคนในวงการศิลปะ และเป็นหนึ่งในผลงานสะสมในคลังศิลปะของทิสโก้ หรือ TISCO Art Collection

file

เมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปถ่ายทำรายการโทรทัศน์ และมีโอกาสเห็นผลงาน “เหลืองระทม” อันเลื่องชื่อและเป็นตำนาน พร้อมทั้งผลงานศิลปะชั้นเยี่ยมอีกมากมายที่ทิสโก้ ความตื่นเต้นมันพรั่งพรูพร้อมกับความรู้สึกกระตือรือร้นที่อยากจะได้ไปเห็นผลงานชั้นเยี่ยมเหล่านั้น

ในวันที่ถ่ายรายการ ทางผู้เขียนได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากคุณไพรัช ศรีวิไลฤทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส และเลขานุการบริษัท นอกจากจะให้เกียรติต้อนรับอย่างดีแล้ว ยังให้เกียรติพาชมผลงานศิลปะที่น่าสนใจหลายต่อหลายชิ้น

สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกประทับใจอย่างยิ่งคือวัตถุประสงค์ของทิสโก้ที่ตั้งใจสนับสนุนวงการศิลปะในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งทำมายาวนานกว่า 50 ปี ตั้งแต่เริ่มแรกในการเปิดพื้นที่ให้เหล่าจิตรกรได้มีโอกาสจัดแสดงงานนิทรรศการงานศิลป์ ในช่วงเวลาที่ประเทศไทยยังคงมีพื้นที่ศิลปะรวมถึงแกลเลอรีดี ๆ  น้อยมาก และนี่คือจุดเริ่มต้นในการสะสมงานศิลปะของทิสโก้ จนมีผลงานศิลปะเก็บสะสมมากกว่า 500 ชิ้น ในปัจจุบัน

ในวันสัมภาษณ์ ผู้เขียนได้มีโอกาสเห็นผลงานระดับ Masterpiece หลายชิ้นทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นผลงานของศิลปินคนโปรดของผู้เขียนเอง อย่างแวนโก๊ะเมืองไทย “สุเชาว์ ศิษย์คเณศ” หรือจะเป็นราชาแห่งผืนผ้าใบ ถวัลย์ ดัชนี, ประเทือง เอมเจริญ และอีกหลายท่านที่เรียกได้ว่า แค่เห็นก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจมากแล้วกับผลงานที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า

ในวันนั้น คุณไพรัชได้พาผู้เขียนและทีมงานรายการ Great Stars Art Show เดินชมผลงานซึ่งจัดแสดง ณ ชั้นของผู้บริหารของบริษัท และแน่นอนว่าผลงานศิลปะในชั้นนี้จะต้องเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมมาก แต่สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกประหลาดใจ คือสายตาที่แหลมคมของอดีตผู้บริหารทิสโก้กับการเลือกผลงานมาสะสม ซึ่งในสมัยก่อนใครจะทราบได้ว่าอนาคตของศิลปินที่ทิสโก้ได้สะสมผลงานนั้น แต่ละคนจะเติบโตขึ้นเป็นศิลปินใหญ่ที่มีชื่อเสียงหรือศิลปินระดับตำนานจนถึงศิลปินแห่งชาติ เพราะจากการสนทนา คุณไพรัชกล่าวว่า เมื่อครั้งทิสโก้ได้เริ่มต้นในการสนับสนุนวงการศิลปะนั้น ได้มีการเปิดพื้นที่ให้กับศิลปินรุ่นใหม่ ๆ ได้มาจัดแสดงงานหรือศิลปินที่ทิสโก้ให้ความสนใจในผลงาน โดยไม่ได้เลือกจากชื่อเสียงหรือความโด่งดังแต่อย่างใด  เพราะถ้าเรามาพิจารณากัน ศิลปินที่มีผลงานในทิสโก้ในช่วงเวลานั้นหลายคนอาจจะยังศึกษาอยู่ หรือไม่ก็เพิ่งจะจบการศึกษาเท่านั้น

ซึ่งในการจัดนิทรรศการ คุณศิวะพร ทรรทรานนท์ อดีตผู้บริหารสูงสุดของทิสโก้ในขณะนั้นได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยการแนะนำให้ผู้ที่รู้จักมาสนับสนุนผลงานของศิลปิน และผลงานชิ้นใดที่ไม่ได้จำหน่ายออกไป ทางทิสโก้ยังได้ช่วยเหลือโดยการสนับสนุนผลงานชิ้นนั้นไว้เอง ซึ่งในฐานะที่ผู้เขียนก็เป็นจิตรกรคนหนึ่ง รู้สึกประทับใจและดีใจแทนศิลปินทุกท่าน ที่มีผู้ที่พยายามให้การสนับสนุนศิลปินและวงการศิลปะอย่างจริงจัง และจากผลงานที่ดูเหมือนจะไม่เป็นที่ต้องการในขณะนั้น วันนี้ผลงานเหล่านั้นกลับกลายเป็นผลงานที่ทรงคุณค่า และกลายเป็นประวัติศาสตร์ทางศิลปะที่ประเมินมูลค่าไม่ได้ 

 

ยกตัวอย่าง ผลงาน “เหลืองระทม” ของสุเชาว์  ศิษย์คเณศ ซึ่งในแง่มุมของคุณค่าแน่นอนว่าประเมินไม่ได้ เพราะเป็นผลงานที่ได้รับการยอมรับในวงการศิลปะว่าเป็นหนึ่งในผลงานที่ดีที่สุดของสุเชาว์ และในแง่มูลค่า ผลงานชิ้นนี้จากการประเมินของผู้ทรงคุณวุฒิในวงการศิลปะ น่าจะมีมูลค่ามากกว่า 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นยังไงบ้างคะ ผลงานศิลปะที่ครั้งหนึ่งอาจจะไม่ได้เป็นที่ต้องการหรือถูกเมิน แต่วันนี้...กลับมีมูลค่าอย่างมหาศาล

สำหรับผู้เขียนเองที่ชื่นชอบผลงาน “เหลืองระทม” อยู่แล้ว ผู้เขียนคงไม่ได้มองตรงมูลค่าของผลงาน แต่คุณค่าชิ้นงานนี้ มันส่งผลต่อความรู้สึกทางอารมณ์ของผู้ที่พบเห็น เพราะสุเชาว์ ศิษย์คเณศ เป็นอีกหนึ่งศิลปินที่ถ่ายทอดความรู้สึก ความสะเทือนใจ ความทุกข์ระทมผ่านผลงานศิลปะของเขาได้อย่างดีเยี่ยม และหากยิ่งได้รู้ภูมิหลังของศิลปินยิ่งทำให้เข้าใจในผลงานยิ่งขึ้นไปอีก

นั่นเพราะศิลปะที่ดีคือการถ่ายทอดตัวตนของศิลปินลงในงานศิลปะของตนเอง สำหรับ “เหลืองระทม” แล้ว มันเป็นช่วงเวลาที่สะเทือนใจที่อยากจะให้คุณผู้อ่านจินตนาการถึงความรู้สึกการมีความทุกข์ในจิตใจอย่างมหาศาล แต่ยังคงต้องยิ้มออกมาเพื่อกลบเกลื่อนความทุกข์โศกทั้งกายและใจ แต่ไม่สามารถแสดงออกซึ่งความเจ็บปวดภายในใจได้  ยิ่งต้องร่าเริงเท่าไหร่ก็แปลว่ายิ่งต้องเจ็บปวดมากเท่านั้น 

file

เรามักจะเคยชินกับผลงานศิลปะที่ใช้สีในโทนมืด สำหรับการแสดงออกถึงความรู้สึกทุกข์หรือไม่สบายใจ แต่ “เหลืองระทม” นั้น สุเชาว์กลับเลือกใช้สีเหลืองสะท้อนแสงแทน กับรอยเกรียงย้ำบนพื้นผิวของผ้าใบจนเกิดร่องรอยย้ำ ๆ มากมาย สำหรับผู้เขียนนั้นรู้สึกได้ถึงเสียงร้องไห้ เสียงกรีดร้องในหัวใจในขณะที่ศิลปินค่อย ๆ ปาดเกรียงย้ำไปย้ำมา และยิ่งผู้เขียนได้ศึกษาถึงลักษณะอุปนิสัยของสุเชาว์ผ่านทางผู้ที่รู้จักและสนิทสนม ทำให้ทราบว่าเมื่อครั้งสุเชาว์มีชีวิตอยู่ เขามักจะแสดงออกให้ทุกคนได้เห็นถึงความร่าเริงแจ่มใส ใจดีกับทุกคน ทั้งที่ชีวิตของเขาลำบากมาก ไม่มีครอบครัว ไม่มีบ้าน ผลงานศิลปะไม่ได้รับการยอมรับแต่ก็ไม่เคยปริปากบ่น เขาเอาความทุกข์ส่งผ่านและตะโกนมันผ่านผลงานศิลปะของเขาเอง ซึ่งวันนี้เสียงตะโกนนั้นได้เป็นอีกหนึ่งผลงานชิ้นเอกในทิสโก้

นอกจาก “เหลืองระทม” แล้ว ทิสโก้ยังมีผลงานของสุเชาว์อีกหลายชิ้น อย่างเช่นผลงาน “สู้ชีวิต” ในปี 2524 ผลงานชิ้นนี้ได้รับเลือกจากกระทรวงวัฒนธรรมให้เป็น 1 ใน 100 สุดยอดผลงานศิลปะร่วมสมัยไทยในรัชกาลที่ 9 สาขาทัศนศิลป์ เรียกว่าใครเป็นแฟนคลับผลงานของสุเชาว์ต้องรู้สึกอิ่มเอมใจแน่นอนถ้าได้มาชม สำหรับที่มาของผลงานสู้ชีวิต สุเชาว์ ศิษย์คเณศ เคยให้สัมภาษณ์ในนิตยสารฟ้าเมืองทอง ในปี 2528 ไว้ว่า

"ที่ผมเขียนปลานี้ ...มีอยู่วันหนึ่งตอนผมเป็นหนุ่ม ผมไปหาเพื่อน เดินผ่านป่าช้ากลับบ้าน เป็นหน้าร้อน ผมเห็นก้อนดินดิ้นได้อยู่กลางถนน ผมไม่กลัวผีนะ จึงเข้าไปดูใกล้ ๆ อ้อ...เป็นปลาหมอ! ดิ้นจนฝุ่นและดินหุ้มตัวไปหมด เป็นก้อนเลย ผมประทับใจและฝังใจมาจนเดี๋ยวนี้

ปลาตัวนี้หมายถึงทุกข์ยาก นั่นแหละตัวผม ผมมีความทุกข์ต่าง ๆ ผมลำบากนะ ผมเดินมาเรียนจากบ้านที่วัดสุทธิฯ ผมเดินมาเรียนที่ศิลปากร ผมไม่มีตังค์ พี่สาวไม่ให้ เขาไม่อยากให้ผมเรียนเขียนรูป เขาให้เรียนพิมพ์ดีด เรียนได้ปีนึง ผมพิมพ์ได้นาทีละ 2 ตัว ไม่เอาแล้วเลยเลิกเรียน" (สุเชาว์ ศิษย์คเณศ ฟ้าเมืองทอง ฉบับที่ 111 มิถุนายน 2528) อย่างที่ผู้เขียนเคยกล่าวไว้ว่าศิลปินมักจะถ่ายทอดเรื่องราวของตนเอง ความชอบหรือความสะเทือนใจลงในผลงานศิลปะของตน

file

 

นอกจากผลงานของสุเชาว์แล้ว ยังมีผลงานอันทรงคุณค่าที่ถ้าเอ่ยชื่อศิลปินแล้วต้องรู้จักกันแน่นอน กับ ถวัลย์ ดัชนี ราชาบนผืนผ้าใบ สำหรับผลงานที่ทิสโก้เก็บสะสมนั้นถือว่าเป็นผลงานในปีที่เหล่าบรรดานักสะสมทั้งหลายต้องตาลุกวาว หรือแฟนคลับของถวัลย์ต้องร้องว้าว คือผลงาน “งู” เทคนิคการวาดโดยใช้ปากกาวาดบนกระดาษอันเป็นเทคนิคเฉพาะตัวของถวัลย์ที่ไม่ใช่แค่การวาดเส้นเท่านั้น แต่เป็นการค่อย ๆ ฝนหัวปากกาจนเป็นรูปร่าง และในโครงสร้างที่มีรูปลักษณ์เหมือนกับอสรพิษนั้น หากพิเคราะห์อีกทีกลับมีรูปร่างคล้ายหญิงสาว ภายในภาพยังมีแววตาของนกฮูกอีกมากมายที่กำลังเฝ้ามอง กับไข่ที่ภายในมีตัวอ่อน เทคนิคที่ซับซ้อน ความขยันของศิลปิน รวมถึงพลังมหาศาลในสไตล์ของถวัลย์ ดัชนี ที่ถ่ายทอดออกมาทำให้ผู้เขียนตราตรึง และที่ผู้เขียนกล่าวข้างต้นว่าทำไมนักสะสมงานศิลปะต้องตาลุกวาว ก็เพราะเป็นอันรู้กันในวงการศิลปะว่า หากเป็นผลงานลายเส้นบนกระดาษของถวัลย์แล้ว ปี 1970 – 1979 ถือว่าเป็นปีที่พีคที่สุดของถวัลย์ ดัชนี และหาได้ยากยิ่งนัก

 

ดังนั้น การที่ทิสโก้ได้เก็บผลงานอันทรงคุณค่านี้ไว้ ถือได้ว่าเป็นการช่วยเก็บรักษาสมบัติของชาติไว้อีกทางหนึ่ง และยิ่งได้ทราบว่าทิสโก้เปิดโอกาสให้กับบุคคลทั่วไปได้มีโอกาสเข้าชมด้วยแล้ว ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่คนที่สนใจศิลปะจะได้มีโอกาสมาเห็นผลงานระดับตำนาน และหาชมได้ยากจริง ๆ

สำหรับตัวผู้เขียนเองนั้น ได้ทำรายการศิลปะมานับสิบปี ผ่านการดูงานศิลปะมานับไม่ถ้วน เห็นงานศิลปะและสัมภาษณ์ศิลปินมาทั่วฟ้าเมืองไทย ต้องยอมรับว่าคอลเล็กชันของทิสโก้นั้นถือว่าสุดยอดสมคำร่ำลือจริง ๆ จนอดไม่ได้ที่จะต้องประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่อยู่ใกล้ตัวได้มาชมกัน และจากความประทับใจที่ได้เห็นผลงานศิลปะสะสมในทิสโก้นั้น มีผลงานของศิลปินบางท่านที่ผู้เขียนมีความคุ้นเคยเป็นการส่วนตัวและพวกท่านยังคงมีชีวิตอยู่ และคิดว่าหากศิลปินเจ้าของผลงานได้มีโอกาสมาชมผลงานตัวเองอีกสักครั้งคงจะรู้สึกดีใจมาก นอกจากนั้น เรายังจะสามารถได้ทราบถึงเรื่องราวของผลงานชิ้นนั้น และเทคนิคการสร้างสรรค์ผลงานจากศิลปินเจ้าของผลงานโดยตรง เพราะสิ่งที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ที่เก็บผลงาน ก็คือการได้ทราบถึงเรื่องราวและข้อมูลของผลงานอย่างถูกต้อง

ผู้เขียนจึงได้ขันอาสาและขออนุญาตคุณไพรัช ที่จะพาอาจารย์สมศักดิ์ เชาวธาดาพงษ์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2560 ซึ่งทางทิสโก้ได้เก็บผลงานของท่านอยู่หลายชิ้น ร่วมด้วยศิลปินกลุ่มจิตรกรไทย ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวบรวมศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับแถวหน้าของวงการศิลปะมารวมกัน

ในวันดังกล่าว ศิลปินกลุ่มจิตรกรไทยที่ได้เดินทางมา อาทิ อาจารย์เริงศักดิ์ บุณยวาณิชย์กุล อาจารย์ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ อาจารย์จินตนา เปี่ยมศิริ อาจารย์เนติกร ชินโย อาจารย์ชัชวาล รอดคลองตัน และผู้เขียน โดยการเยี่ยมชมครั้งนี้ ทางคณะฯ ได้รับเกียรติจากคุณศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ และคุณไพรัช ศรีวิไลฤทธิ์ ให้การต้อนรับเป็นอย่างดีและเป็นกันเอง สร้างความประทับใจแก่ศิลปินทุกท่านเป็นอย่างมาก ซึ่งเมื่อถึงคราวที่ศิลปินทั้งหลายจะได้ไปชื่นชมผลงานศิลปะกัน  แต่ละท่านล้วนแล้วแต่รู้สึกตื่นเต้น ที่จะได้มีโอกาสไปเห็นผลงานของเหล่าครูบาอาจารย์และศิลปินในตำนาน

เรื่องราวความประทับใจครั้งนี้ไม่สามารถเล่าได้หมดในครั้งเดียว ผู้เขียนคงจะต้องขออนุญาตยกเรื่องราวบรรยากาศการเยี่ยมชม พร้อมความรู้มากมายจากศิลปินมาเล่าให้ฟังต่อในฉบับหน้านะคะ

สำหรับความคิดเห็นทั้งหลายในบทความนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนทั้งสิ้น โดย โยทะกา จุลโลบล เป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราว