“Structured Note for Retirement Planning” ลงทุนกองทุนหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง เพื่อตอบรับแผนเกษียณ

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 64 | คอลัมน์ Holistic Financial Planning

file

ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ที่มีโอกาสเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า จากอัตราเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ทำให้ Fed ยังคงต้องดำเนินนโยบายทางการเงินแบบเข้มงวด 

สำหรับคนที่วางแผนเกษียณและคนที่อยู่ช่วงวัยใกล้เกษียณหรือหลังเกษียณต้องวางแผนการเงิน เพื่อเตรียมรับมือกับความผันผวนของตลาดที่มีมากขึ้น โดยเงินที่ควรมี ณ วันเกษียณอายุนั้น จะขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณจะลดลงอยู่ที่ประมาณ 70 - 80% ของค่าใช้จ่ายก่อนเกษียณ เช่น หากค่าใช้จ่ายปัจจุบันอยู่ที่ 40,000 บาทต่อเดือน ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณจะอยู่ที่ราว 28,000 บาทต่อเดือน (40,000 x 70%) หากคิดเป็นจำนวนเงินที่ควรมี ณ วันเกษียณปรับด้วยเงินเฟ้อที่ 3% ต่อปี อายุปัจจุบันอยู่ที่ 30 ปี อายุที่จะเกษียณอยู่ที่ 60 ปี จำนวนปีที่คาดว่าจะใช้ชีวิตหลังเกษียณอยู่ที่ 20 ปี ดังนั้น จำนวนเงินที่ควรมี ณ วันเกษียณปรับด้วยเงินเฟ้อแล้วจะอยู่ที่ราว 16,311,203.81 บาท [(28,000x12x20 ปี) x ((1+3%)^(60-30 ปี))]  

จะเห็นได้ว่า จำนวนเงินที่ควรมี ณ วันเกษียณเป็นจำนวนที่ไม่น้อยเลย รวมถึงเงินที่เก็บไว้ใช้หลังเกษียณก็ควรมีความมั่นคง แต่ครั้นจะเอาเงินไปฝากธนาคารเพื่อรับดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว ก็ไม่สามารถบรรลุแผนเกษียณและเอาชนะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นได้ หรือหากจะสร้างผลตอบแทนระดับสูง โดยเฉพาะการไปลงทุนในหุ้นนั้น ก็จะมีความผันผวนตามภาวะตลาด และมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินต้นจากตลาดหุ้นที่มีความไม่แน่นอน ซึ่งอาจทำให้มีเงินไม่พอใช้หลังเกษียณตามเป้าหมายที่วางไว้ได้  

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินหนึ่ง ที่สามารถสร้างความอุ่นใจในการลงทุนช่วงใกล้วัยเกษียณของเราได้ อย่างกองทุนหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง หรือที่เรียกกันว่า กองทุน Structured Note ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น รูปแบบกองทุน Double Shark-Fin Note ที่นอกจากจะสามารถออกแบบการลงทุนให้เน้นรักษาเงินต้นผ่านการลงทุนในตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ภาคเอกชน ฯลฯ ยังสามารถเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนสูงผ่านการลงทุนใน Option ที่อ้างอิงกับสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น ดัชนี S&P500 ซึ่งสามารถทำกำไรได้ในทุกสภาวะตลาดทั้งขาขึ้นและขาลงได้ ตามกรอบที่กำหนดไว้ในสัญญาอีกด้วย   

ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU) ได้ประเมินตลาดหุ้นสหรัฐฯ (ดัชนี S&P500) จากการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย Fed ในปี 2023 โดยจำลองสมการ Taylor Rule ซึ่งอิงจากเป้าหมายนโยบาย 2 ประการของ Fed คือ เสถียรภาพของราคาสินค้า (Price Stability) และการจ้างงานที่เต็มศักยภาพ (Maximum Employment) โดยแบ่งสถานการณ์ในระยะข้างหน้าออกเป็น 3 กรณี ได้แก่ 

1. Soft Landing: เป็นกรณีที่อัตราเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 3% ในช่วงสิ้นปี อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นใกล้เคียงแนวโน้มระยะยาว เศรษฐกิจชะลอตัวลงแต่ไม่ถดถอย (Recession) อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 4.25 - 4.5% โดยประเมินดัชนี S&P500 ควรอยู่ที่ระดับราว 4,000 จุด

2. Hard Landing: อัตราเงินเฟ้อลดลงสู่ระดับ 3% แต่อัตราว่างงานเพิ่มขึ้นสูง เศรษฐกิจหดตัวเข้าสู่ Recession อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงมาอยู่ที่ 3.25 - 3.5% โดยประเมินดัชนี S&P500 อาจลดลงสู่ระดับราว 3,500 จุด

3. No Landing: อัตราเงินเฟ้อทรงตัวสูงอยู่ที่ระดับ 4% เศรษฐกิจขยายตัวดี Fed ยังต้องเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจปรับขึ้นไปสูงแตะระดับ 6% โดยประเมินดัชนี S&P500 อาจลดลงเล็กน้อยสู่ระดับราว 3,900 จุด

จากการประเมินตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในแต่ละกรณีข้างต้นจะพบว่า

มีโอกาสที่ผลตอบแทนจะอยู่ในกรอบราว [-10.64%, 2.13%] จากระดับปัจจุบัน (ข้อมูล ณ 17 มีนาคม 2023) ดังภาพที่ 1

ภาพที่ 1: แสดงการคาดการณ์ผลตอบแทนของดัชนี S&P500 ในปี 2023 โดยจำลองสมการ Taylor Rule

file

ในช่วงที่ตลาดหุ้นมีความไม่แน่นอน หากตลาดหุ้นปรับตัวขึ้น แม้เราจะได้กำไร แต่ก็ไม่มีอะไรมารองรับความเสี่ยงถ้าตลาดหุ้นปรับตัวลดลง เพราะฉะนั้น อาจแบ่งสัดส่วนมาลงทุนในกองทุน Double Shark-Fin Note ที่ช่วยปิดความเสี่ยงในช่วงตลาดหุ้นขาลง โดยสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล เช่น กรณีที่สามารถลงทุนในหุ้น 30% ของพอร์ตการลงทุน ในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง -10% ถ้าลงทุนในหุ้นทั้ง 30% เราก็จะขาดทุน -3% ของพอร์ตการลงทุนในหุ้น แต่หากเราแบ่งเงินมาลงทุนในกองทุน Double Shark-Fin Note ประมาณ 10% (สำหรับกองทุน Double Shark-Fin Note กำหนดให้กรอบสูงสุดของดัชนีอ้างอิงในสัญญาออปชั่นอยู่ที่ [-20, 15%], อัตราส่วนร่วม หรือ Participation rate อยู่ที่ 40%) หากตลาดหุ้นปรับตัวลดลง -10% สัดส่วน 20% ที่เป็นหุ้นจะขาดทุน -2% แต่จะยังมีสัดส่วนกองทุน Double Shark-Fin Note อีก 10% ที่สามารถทำกำไรได้ราว 0.4%* (*ผลตอบแทนยังไม่รวมอัตราแลกเปลี่ยน) ดังนั้น พอร์ตการลงทุนในหุ้นกรณีที่มีการผสมกองทุน Double Shark-Fin Note ในสัดส่วน 10% เข้าไปในพอร์ตหุ้นด้วย จะขาดทุนเพียง -1.6% ของพอร์ตการลงทุนในหุ้น ซึ่งช่วยลดความสูญเสียของพอร์ตการลงทุนในหุ้นได้เกือบครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว

ทั้งนี้ การออมและการลงทุนอย่างชาญฉลาดด้วยการเข้าถึงเครื่องมือทางการเงิน จำเป็นต่อการสร้างความมั่งคั่ง ด้วยการศึกษาข้อมูลการลงทุนที่ถูกต้อง และการเข้าถึงสินทรัพย์ที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งการลงทุนในกองทุน Structured Note ในรูปแบบกองทุน Double Shark-Fin Note ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่นอกจากจะสามารถรักษาเงินต้นของเราได้แล้ว ยังอาจสามารถสร้างผลตอบแทนในระดับสูงให้เราในภาวะตลาดหุ้นที่มีความไม่แน่นอน และทำให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินระยะยาวสำหรับวัยเกษียณได้อีกด้วย