file

Bond yield สหรัฐฯ...ปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางตลาดหุ้นปี 2018

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 44 | คอลัมน์ Asset Allocation

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การลงทุนในตลาดหุ้นค่อนข้างจะง่าย เพราะตลาดหุ้นนั้นปรับตัวเพิ่มขึ้นตลอดไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ในยามที่เศรษฐกิจโลกดี ตลาดหุ้นก็ขึ้นตามความคาดหวังของการเติบโต
ของกำไรที่ดีขึ้น ส่วนในยามที่เศรษฐกิจโลกประสบปัญหาตลาดก็จะคาดหวังว่าธนาคารกลางจะออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
 

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เราขอยกตัวอย่างตลาดหุ้นโลกในช่วงปี 2014 ซึ่งเศรษฐกิจโลกเผชิญกับความผันผวนของราคาน้ำมันที่ลดลงจาก 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ / บาร์เรลมาเหลือเพียง 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ / บาร์เรลในช่วงสิ้นปี การลงทุนทั่วโลกหดตัว บริษัทน้ำมันทั่วโลกขาดทุนและส่งผลให้ผลกำไรบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกหดตัวในปีนั้น แต่ผลข้างเคียงของการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันก็ไปกดดันให้เงินเฟ้อติดลบในหลายประเทศ ซึ่งทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) และยุโรป (ECB) ตัดสินใจเพิ่ม QE ในช่วงปลายปี 2014 และต้นปี 2015 ตามลำดับ ซึ่งผลักดันให้ตลาดหุ้นขึ้นในที่สุด

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือในช่วงปี 2016 ซึ่งความกังวลจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนในช่วงต้นปี ประกอบกับเหตุการณ์ Brexit ในช่วงกลางปี ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ตัดสินใจชะลอการขึ้นดอกเบี้ยลงเหลือเพียงแค่ 1 ครั้งในปีนั้น (จากที่เคยคาดว่าจะขึ้น 4 ครั้ง) ส่วนธนาคารกลางอังกฤษที่ตลาดคาดว่าจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ย ก็กลับต้องมาลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นหลังจากเกิด Brexit ซึ่งก็ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นได้ในที่สุด

แต่ภาพในปีนี้อาจจะเป็นตรงกันข้ามกับที่ผ่านมา นั่นคือหากเศรษฐกิจไม่ดี ตลาดหุ้นก็จะลงเพราะในปีนี้ตลาดคงไม่คาดหวังแล้วว่าธนาคารกลางจะ กลับมาลดดอกเบี้ยหรือเพิ่ม QE หรือถึงแม้เศรษฐกิจจะดี ก็จะมีความเสี่ยงว่าจะดีเกินไป ซึ่งจะไปทำให้เงินเฟ้อกลับมาเร็วกว่าคาดและกดดันให้ธนาคารกลางต้องขึ้นดอกเบี้ยหรือลด QE เร็วกว่าคาดซึ่งก็เป็นความกังวลที่ทำให้ตลาดปรับฐานในช่วงต้นเดือน ก.พ.

 

file

 

ภาพในปีนี้อาจจะเป็นตรงกันข้ามกับ ที่ผ่านมา นั่นคือหากเศรษฐกิจไม่ดี ตลาดหุ้นก็จะลงเพราะในปีนี้ตลาด คงไม่คาดหวังแล้วว่าธนาคารกลาง จะกลับมาลดดอกเบี้ยหรือเพิ่ม QE หรือถึงแม้เศรษฐกิจจะดี ก็จะมีความเสี่ยงว่าจะดีเกินไป
 

ดอกเบี้ยขาขึ้น จับตา Bond Yield สหรัฐฯ

ตามทฤษฎีการเงิน ดอกเบี้ยหรือ Bond Yield ในตลาดถือเป็นอัตราคิดลด หรือ Discount Rate ที่ใช้คำนวณมูลค่าเหมาะสมของสินทรัพย์ทางการเงินทุกชนิด ซึ่ง Discount Rate ที่สูงขึ้น ก็จะส่งผลให้มูลค่าเหมาะสมของสินทรัพย์ลดลง หรือกล่าวโดยสรุปก็คือ Bond Yield ที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกดดันให้ค่า P / E ที่เหมาะสมของตลาดหุ้นลดลงนั่นเองซึ่ง P / E ของตลาดจะถูกกดดันมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหว ของ Bond Yield ของสหรัฐฯ ต่อจากนี้ ซึ่งเรามองว่า Bond Yield ของสหรัฐฯ จะอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นโดยมีแรงผลักดันจาก 3 ปัจจัยได้แก่

1. ปัจจัยด้านอุปทาน (Supply) ความสำเร็จในการผลักดันกฎหมายปฏิรูปภาษีของประธานาธิบดี Donald Trump ซึ่งลดอัตราภาษีนิติบุคคลจาก 35% ลงเหลือ 21% รวมทั้งลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและเพิ่มค่าลดหย่อนภาษีสำหรับบุคคลธรรมดาขึ้นสองเท่า การลดภาษีดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคใน ประเทศเป็นอย่างมาก แต่ในทางกลับกันก็จะทำให้รายได้ของรัฐบาลลดลง ซึ่งก็ทำให้รัฐบาลต้องกู้เงินผ่านการออกพันธบัตรเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อรัฐบาลกู้เงินตลาดพันธบัตรเพิ่มขึ้น รัฐบาลก็จำเป็นต้องให้ดอกเบี้ยสูงขึ้นเพื่อจูงใจให้นักลงทุนมาซื้อพันธบัตร ซึ่งก็จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดสูงขึ้นนั่นเอง

2. ปัจจัยด้านอุปสงค์ (Demand) ธนาคารกลางทั่วโลกที่เคยเป็นผู้รับซื้อพันธบัตรรายใหญ่ผ่านมาตรการ QE ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็จะเริ่มซื้อน้อยลงเรื่อยๆ ในปีนี้ โดยเราประเมินว่าเงินอัดฉีด QE (ซึ่งทำโดยการซื้อพันธบัตรในตลาด) จากธนาคารกลางหลัก 3 แห่งได้แก่ Fed, BoJ และ ECB จะลดลงเรื่อยๆ ในปีนี้ จนเหลือ 0 ในช่วงไตรมาส 4 ส่วนธนาคารกลางจีน ก็มีแนวโน้มจะซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ น้อยลงเช่นกัน เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) ของจีนซึ่งมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จากความพยามของรัฐบาลจีนในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจให้พึ่งพ าการส่งออกน้อยและส่งเสริมการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้นซึ่งเมื่อธนาคารกลางซื้อพันธบัตรน้อยลง แต่ปริมาณการออกพันธบัตรกำลังจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากการลดภาษี ก็หมายความว่านักลงทุนในภาคเอกชน ต้องเข้าไปซื้อพันธบัตรแทน Demand จากธนาคารกลางที่ลดลง

3. ปัจจัยจากเงินเฟ้อที่เริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น โดยเราเห็นสัญญาณจากค่าจ้างในสหรัฐฯ ที่ล่าสุดขยายตัว 2.9% สูงสุดตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 และเงินเฟ้อพื้นฐานของสหรัฐฯ ในเดือน ม.ค. ซึ่งเร่งตัวขึ้นมากสุดในรอบ 7 ปี ซึ่งจะเป็นปัจจัยผลักดันให้ Fed ต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น
 

Bond Yield เพิ่มขึ้น กดดันตลาดหุ้น

เราประเมินว่า Bond Yield สหรัฐฯ ที่ระดับประมาณ 3.0% ถือเป็นระดับที่เหมาะสมในปีนี้ โดยประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real Yield หรืออัตราผลตอบแทนของพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ) ที่ก่อนหน้านี้ถูกกดันจากมาตรการ QE ให้ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่า 1% มาโดยตลอดในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา จะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับประมาณ 1% ตามแนวโน้มการทยอยขึ้นดอกเบี้ยและลด QE ของธนาคารกลางหลักทั่วโลกในปีนี้ ในขณะที่คาดการณ์เงินเฟ้อของตลาด (Inflation Expectation)คาดว่าจะทรงตัวเท่ากับระดับปัจจุบันที่ประมาณ 2% ซึ่งทั้งสองส่วนรวมกันจะทำให้ Bond Yield ของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 3%

เราประเมิน Downside ของตลาดมีจำกัดหาก Bond Yield ไม่พุ่งสูงทะลุ 3% โดยเราประเมินมูลค่าเหมาะสมของตลาดจาก Earning Yield Gap Model ซึ่งเราสมมติให้ Bond Yield เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 3% และ Earning Yield Gap ที่ 3% ซึ่งให้ค่า Forward P / E ที่เหมาะสมของดัชนี S&P500 ที่ 16.6 เท่า และคิดเป็นระดับดัชนีที่ประมาณ 2,540 - 2,580 จุด หรือมี Downside ประมาณ 5 - 6% จากระดับปัจจุบัน (2,698 จุด ณ เวลาที่เขียน) ซึ่งหาก Bond Yield ไม่พุ่งทะลุระดับ 3.0% ไปไกลเราก็คาดว่าตลาดหุ้นจะเริ่มยืนและฟื้นตัวขึ้นได้หลังจากนั้น

 

แผนภาพที่ 1: Downside ของตลาดมีจำกัดหาก Bond Yield ไม่พุ่งสูงทะลุ 3%

file

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นยังมีความเสี่ยงจะปรับฐานแรงหาก Bond Yield พุ่งขึ้นเกินกว่าระดับ 3.0% โดยเราประเมินว่าทุก 10bps ของ Bond Yield ที่เพิ่มขึ้น จะส่งผลกดดันให้มูลค่าเหมาะสมของดัชนี S&P500 ลดลง 1.5% และหาก Bond Yield เข้าใกล้ระดับ 3.5% จะเป็นระดับที่เริ่มส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจจริงชะลอตัวลง เราจึงแนะนำให้นักลงทุนจับตา Bond Yield อย่างใกล้ชิด และทยอยขายลดความเสี่ยง หาก Bond Yield เข้าใกล้ระดับอันตราย

ตลาดหุ้นยังเป็นขาขึ้น ความผันผวนระหว่างทาง นับเป็นโอกาสซื้อ

แม้ตลาดหุ้นจะมีแนวโน้มผันผวนจากความกังวลต่อนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งจะส่งผลกดให้ตลาดปรับฐานลงเป็นระยะตลอดทั้งปี 2561 แต่ปัจจัยดังกล่าวก็จะส่งผลกดดันแต่ในด้าน Valuation (หรือค่า P / E) เท่านั้น ในขณะที่ปัจจัยพื้นฐานของตลาด ซึ่งก็คือกำไรของบริษัทจดทะเบียนยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีตามเศรษฐ กิจโลกที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง และจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนให้ตลาดหุ้นอยู่ในขาขึ้นต่อไป ดังนั้นเราจึงมองตลาดที่ปรับฐานลงในปีนี้ถือเป็นโอกาสในการเข้าลงทุน

แต่กลยุทธ์การลงทุนในปีนี้อาจต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น โดยนักลงทุนอาจต้องจัดสัดส่วนของเงินสดมากขึ้น เพื่อรอจับจังหวะในการซื้อเมื่อตลาดกังวลต่อนโยบายทางการเงิน โดยสังเกตจาก Bond Yield สหรัฐฯ ซึ่งพุ่งขึ้นแรง และขายทำกำไรในช่วงที่ตลาดฟื้นตัวขึ้นเพื่อลดความเสี่ยง

ตามที่เราได้กล่าวไปข้างต้นว่าความเสี่ยงที่สำคัญของตลาดหุ้นในปีนี้ คือ การเพิ่มขึ้นของ Bond Yield ซึ่งจะกดดันตลาดหุ้นในด้าน Valuation ดังนั้น เราจึงแนะนำให้เน้นลงทุนในหุ้น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) หุ้นกลุ่มการเงินของสหรัฐฯ ซึ่งจะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้นและมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการผ่อนคลายกฎระเบียบสถาบันการเงิน (Financial Deregulation) ซึ่งประธานาธิบดี Trump จะผลักดันให้ เกิดขึ้นในปีนี้ 2) ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ซึ่งยังเทรดที่ระดับ P / E ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว และจะได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเงินเฟ้อ และ 3) ตลาดหุ้นเกิดใหม่ เช่น จีนและอินเดีย ที่มีแนวโน้มการเติบโตของกำไรสูงใน ระยะยาว ซึ่งจะช่วยชดเชยผลกระทบจากการลดลงของค่า P / E ได้