file

ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง คุณหมอนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรมรักษาผู้ป่วยมะเร็งแห่ง รพ.รามาธิบดี

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 53 | คอลัมน์ People

ช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 กำลังคุกคามระบบสาธารณสุขของหลายประเทศ วงการแพทย์กลับได้รับข่าวที่น่าตื่นเต้นและน่ายินดียิ่งจากประเทศไทย กับเคสความสำเร็จในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ จาก ทีมแพทย์คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเด็กชายวัยเพียง 4 ขวบที่ติดเชื้อ COVID-19 เพื่อรักษาพี่สาววัย 7 ขวบที่ป่วยด้วยโรคธาลัสซีเมีย

นี่เป็นอีกครั้งที่ทั่วโลกได้รับรู้ถึงความเป็นเลิศทางการแพทย์ของไทย ซึ่ง TRUST ฉบับนี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย หัวหน้าหน่วยโรคเลือด และโรคมะเร็งในเด็ก และปลูกถ่ายไขกระดูกในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับกระบวนการและความท้าทายในการรักษา ตลอดจนประสบการณ์และความมุ่งหวังในการทำหน้าที่ ทั้งในฐานะคุณหมอ อาจารย์หมอ และนักวิจัย ผู้เต็มไปด้วยความหวังที่อยากเห็นคนไทยเป็นเจ้าของนวัตกรรมทางการแพทย์และการรักษา เพื่อสร้างความยั่งยืนสู่เศรษฐกิจและสังคมไทย


ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ จากผู้ติดเชื้อ COVID สำเร็จเคสแรกของโลก

“น้องจีน” ด.ญ.จินตนาการ บุญกล่อมจิตร หนูน้อยผู้ป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมียตั้งแต่กำเนิด ทำให้ชีวิตวัยเด็กของเธอต้องเข้าออกโรงพยาบาล เพื่อพบคุณหมอด้านโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยาอยู่เรื่อยๆ ตั้งแต่การฉีดวัคซีนดูค่าเม็ดเลือด การรับ Folic Acid กลับไปทานกระทั่งอายุเข้า 4 ขวบ อาการโลหิตจางก็เริ่มรุนแรงขึ้น จนพัฒนาเป็นการเติมเลือดทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง ครั้งละ 300 CC. อีกทั้งในแต่ละครั้ง ต้องเสียเวลาอยู่ในโรงพยาบาล 5-6 ชม. ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการให้เลือดแต่ละครั้งก็ตกประมาณหมื่นกว่าบาท ทางเดียวที่จะหายขาดจากโรคนี้ น้องจีนต้องได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell) ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโอกาสที่พี่น้องจะมีเนื้อเยื่อตรงกันมีเพียง 25% ขณะที่โอกาสที่สเต็มเซลล์จะตรงกับผู้บริจาคก็อยู่ที่ 40%

แล้วแสงแห่งความหวังของครอบครัวก็สว่างขึ้น พร้อมกับการเกิดของ “น้องจีโอ้” หรือ ด.ช.ศิลา บุญกล่อมจิตร กับความตั้งใจของพ่อแม่ที่อยากให้น้องชายปกป้องช่วยเหลือพี่สาว ซึ่งน้องจีโอ้ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เมื่อแพทย์พบว่าพี่น้องมีเนื้อเยื่อตรงกันเป๊ะ แผนการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากน้องชายให้พี่สาวจึงเริ่มขึ้น

file

 

ศ.นพ.สุรเดช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในเด็ก เล่าว่า ก่อนเริ่มทำการปลูกถ่าย ขณะนั้นไวรัส COVID-19 กำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก แพทย์จึงได้ทำการตรวจเชื้อให้กับน้องทั้งคู่ ผลคือไม่มีใครติดเชื้อ แพทย์จึงเริ่มให้ยาเคมีบำบัดกับน้องจีน เพื่อเตรียมความพร้อมของร่างกายก่อนรับไขกระดูกใหม่ แต่แล้วหนึ่งวันก่อนการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ทีมแพทย์ได้ตรวจเชื้อให้กับน้องจีโอ้อีกครั้งด้วยวิธี RT-PCR ปรากฏผลเป็นบวก น้องจีโอ้จึงต้องถูกกักตัวในฐานะผู้ป่วย COVID-19 และถูกแยกไปรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ที่เป็นศูนย์ดูแลรักษาผู้ป่วย COVID-19 ย่านบางพลี เพียงลำพัง ทั้งที่ไม่เคยห่างจากพ่อแม่

ทีมแพทย์จึงรีบประชุมกันอีกครั้งทันทีนานกว่า 4 ชม. ในที่สุดก็มีมติให้เดินหน้าต่อ เนื่องจากผู้เป็นพี่สาวได้รับยาเคมีบำบัดขนาดสูงไปจนครบแล้ว หากไม่ได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ทันเวลา น้องจีนอาจจะมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

“เคสนี้ถือว่ามีความท้าทายและซับซ้อนมาก เพราะลำพังแค่อายุของคนไข้ทั้งสองคนที่จะทำการปลูกถ่ายไขกระดูกให้แก่กันก็ถือว่าท้าทายแล้ว แถมน้องจีโอ้ก็มาติดเชื้อ COVID-19 อีก หลังสอบถามไปยังผู้เชี่ยวชาญการปลูกถ่ายไขกระดูกทั่วโลก ปรากฏว่าไม่มีใครตอบเราได้ว่าควรทำยังไง เพราะทั่วโลกยังไม่เคยมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นมาก่อน แต่ในความโชคร้ายยังมีความโชคดีซ่อนอยู่ นั่นก็คือไม่พบเชื้อ COVID-19 ในเลือดของน้องจีโอ้ วันรุ่งขึ้นเราจึงเข้าไปเก็บสเต็มเซลล์ของน้องจีโอ้เลย

แต่ตอนนั้นทุกอย่างดำเนินไปด้วยความทุลักทุเล ทีมแพทย์ต้องปฏิบัติหน้าที่ในชุด PPE เพื่อป้องกันการติดเชื้อนานกว่าชั่วโมง เสร็จแล้วก็ต้องรีบขับรถจากบางพลีมาที่ โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อนำสเต็มเซลล์มาตรวจหาเชื้อไวรัสอีกครั้ง เมื่อผลออกมาว่าไม่มีเชื้อ จึงทำการปลูกถ่ายให้กับน้องจีน จากนั้นก็ย้ายน้องจีนไปห้องความดันลบ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการรักษา ในกรณีถ้าน้องเกิดติดเชื้อ COVID-19 ขึ้นมา”

หลังจากแน่ใจว่าไขกระดูกที่เปลี่ยนถ่ายให้น้องจีนทำงานได้เป็นปกติ และไม่ติดเชื้อ COVID-19 ทีมแพทย์ได้ติดตามอาการของน้องอย่างต่อเนื่อง จนมั่นใจว่าทั้งคู่ปลอดภัยดีและไม่มีอาการแทรกซ้อน จากนั้นจึงได้สรุปกระบวนการรักษา เพื่อตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Bone Marrow Transplantation Journal สำหรับเป็นกรณีศึกษาให้วงการแพทย์ทั่วโลกได้เรียนรู้จากความสำเร็จของทีมแพทย์ไทย ในการปลูกถ่ายไขกระดูกจากผู้บริจาคที่ติดเชื้อ COVID-19 เคสแรกของโลก

“หัวใจความสำเร็จของเคสนี้ มาจากความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายในการกลั่นกรองหาแนวทางที่จะทำให้ผู้ป่วยทั้งสองคนที่อายุยังน้อยได้รับความปลอดภัยสูงสุด ไล่ตั้งแต่ผู้อำนวยการโรงพยาบาล คุณหมอทั้งโรงพยาบาล ทั้งหมอเด็กหมอติดเชื้อ หมอด้านไอซียู หมอดมยา ฯลฯ พยาบาล ไปจนถึงคนขับรถพยาบาล ความยากของเคสนี้ คือ ไม่มีใครรู้ว่าจะต้องทำยังไง ทั่วโลกก็ยังไม่เคยมีกรณีให้ศึกษา ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงต้องมาประชุมวางแผนร่วมกัน เพื่อเตรียมความพร้อมให้ได้มากที่สุด”


ต่อยอดนวัตกรรมการรักษาธาลัสซีเมียในไทย

“ธาลัสซีเมียเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดจากพ่อและแม่ ซึ่งส่งผลให้สเต็มเซลล์ในไขกระดูกเกิดการสร้างเม็ดเลือดแดงที่ผิดปกติและมีการแตกสลายเร็วกว่าที่ควร หากเปรียบเทียบอายุของเม็ดเลือดแดง จะพบว่า ในเด็กปกติ เม็ดเลือดแดงจะมีอายุประมาณ 120 วัน แต่เด็กที่เป็นโรคนี้ เม็ดเลือดแดงจะมีอายุแค่เพียง 30 วันเท่านั้น เพราะฉะนั้นเด็กกลุ่มนี้จึงต้องเติมเลือดไปตลอดชีวิต” อาจารย์หมอสรุปโดยย่อ

โรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia) เป็นโรคโลหิตจางทางพันธุกรรมที่ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงมีอายุสั้นและถูกทำลายได้ง่าย ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับเลือดที่ไม่เพียงพอ จะทำให้มีอาการเหนื่อยง่าย เจริญเติบโตช้า มีอาการซีดเหลืองเรื้อรัง และมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ เนื่องจากไขกระดูกส่วนต่างๆ ต้องทำงานหนัก เพื่อสร้างเม็ดเลือดชดเชยเม็ดเลือดแดงที่แตกไป จากปกติที่สร้างที่ไขกระดูก ซึ่งหากสร้างจากกระดูกแขนขาไม่พอ ก็อาจต้องสร้างจากกระดูกหน้าไปถึงการสร้างเม็ดเลือดแดงในตับและม้ามอันเป็นสาเหตุให้ตับม้ามโต และอาจเกิดโรคข้อและโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้

มีข้อมูลว่าคนไทยเป็นพาหะของโรคนี้มากถึง 40% กรณีพ่อแม่ที่เป็นพาหะของโรคแต่งงานกัน ลูกมีโอกาสเป็นธาลัสซีเมียสูงถึง 25% และถ้าพ่อแม่เป็นธาลัสซีเมีย ลูกที่เกิดมามีโอกาสเป็นธาลัสซีเมียสูงถึง 100% ด้วยเหตุนี้เอง อาจารย์สุรเดชจึงย้ำว่า การปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อวางแผนครอบครัวในเรื่องการมีบุตร จึงถือเป็นเรื่องจำเป็น

ปัจจุบันคนไทยที่ป่วยเป็นธาลัสซีเมียขั้นรุนแรงมีจำนวนมากเป็นหลักแสนคน ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับการเติมเลือดทุก 3-6 สัปดาห์ไปตลอดชีวิต ยิ่งอายุมากขึ้น ปริมาณเลือดที่ต้องได้รับต่อครั้งก็มักเพิ่มมากขึ้น และโอกาสที่ผู้ป่วยจะรับบริจาคเลือดได้ก็น้อยลง เนื่องจากร่างกายผู้ป่วยมักจะมีการสร้างแอนติบอดี (Antibody) ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับเลือดไม่เพียงพอหรือไม่ทันเวลา จะมีโอกาสเสียชีวิตสูง วิธีเดียวที่จะรักษาให้หายขาดคือ การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์โดยโรงพยาบาลรามาธิบดีประสบความสำเร็จในการรักษาโรคธาลัสซีเมียด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ มาตั้งแต่ปี 2532

โดยทั่วไปการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จะเป็นการนำเอาไขกระดูกของคนอื่นที่มีสุขภาพดีมาปลูกถ่ายไปยังผู้ป่วย โดยผู้ที่จะบริจาคให้ได้นั้น ต้องมีเนื้อเยื่อที่เข้ากับผู้ป่วยได้โดยสมบูรณ์หรือตรงกัน 100% ในกรณีที่เป็นพี่น้องพ่อแม่เดียวกัน โอกาสที่เนื้อเยื่อจะตรงกันมีเพียง 25% กรณีรับบริจาคจากสภากาชาดไทย โอกาสที่จะเจอผู้บริจาคที่มีแนวโน้มบริจาคได้ 40% แต่พอถึงขั้นตอนสุดท้าย มีผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายจริงเพียง 5% เท่านั้น เนื่องจากโอกาสที่จะเจอคนไข้ที่มีเนื้อเยื่อตรงกับผู้บริจาค มีเพียง 1 ต่อ 20,000 คน นั่นแปลว่า สัดส่วนระหว่างจำนวนผู้ป่วยและจำนวนอาสาสมัครที่บริจาคสเต็มเซลล์ ณ ปัจจุบัน สามารถรักษาผู้ป่วยได้จริงเพียงแค่ 100 กว่าคนเท่านั้น

“อีกวิธีที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเคยเสนอข่าวไปแล้วก็เมื่อ 2 ปีก่อนคือ การใช้สเต็มเซลล์ของผู้ป่วยเองมาตัดต่อยีน (Gene) แล้วใส่กลับเข้าไป ซึ่งตอนนั้นเป็นงานวิจัยที่เราทำร่วมกับต่างประเทศ แต่ตอนนี้เรากำลังพัฒนาต่อยอดให้กลายเป็นนวัตกรรมการรักษาของคนไทยเอง ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า และเมื่อถึงเวลานั้น เราจะมีโอกาสช่วยผู้ป่วยโรคนี้ได้ทุกคน เพราะไม่ต้องรอให้เนื้อเยื่อตรงกันกับผู้บริจาค และค่าใช้จ่ายในการรักษาก็จะถูกลงอย่างมาก เพราะไม่ต้องเสียค่าสิทธิบัตร (Patent) ซึ่งปัจจุบันในต่างประเทศ การรักษาด้วยวิธีนี้มีค่าใช้จ่ายต่อรายสูงถึงราว 50 ล้านบาท”

 

file

มุ่งวิจัยและพัฒนาให้คนไทยเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

ด้วยความเป็นคุณหมอผู้หลงใหลในการวิจัย และมีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะคิดค้นพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์และนวัตกรรมการรักษาของคนไทยเพื่อคนไทย ศ.นพ.สุรเดช จึงให้ความสำคัญกับการทำงานวิจัยอย่างมาก โดยหนึ่งในงานวิจัยที่โดดเด่นของทีมคุณหมอ ซึ่งจะทวีความสำคัญกับคนไทยมากยิ่งขึ้น ได้แก่ งานวิจัยเรื่องการรักษามะเร็ง ด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Cancer Immunotherapy) ล่าสุดคือ การพัฒนาเป็นวิธีการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก ด้วยการดึงเอาเซลล์พิเศษในเม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย หรือ T-cell จากผู้ป่วยมาดัดแปลงพันธุกรรมด้วยการติดตั้ง “รีเซ็ปเตอร์” ใหม่ (CAR : Chimeric Antigen Receptor) แล้วพัฒนาปรับแต่งจนเป็น CD19-specific CAR T-cell เพื่อฉีดกลับไปให้ผู้ป่วยคนนั้น ซึ่งปัจจุบัน โรงพยาบาลรามาธิบดีได้ใช้วิธีรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวหายขาดมาแล้ว 7-8 ราย

“บริษัท Novartis (ผู้ผลิตยายักษ์ใหญ่ของสวิตเซอร์แลนด์และของโลก) ขาย CD19 CAR T-cell อยู่ที่ประมาณเข็มละ 13 ล้านบาท แต่ตอนนี้ เราพัฒนาขึ้นมาเองได้แล้ว ทำให้ต่อไปผู้ป่วยคนไทยจะจ่ายเพียงแค่เข็มละ 1-2 ล้านบาท นอกจากนี้ เรายังกำลังวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งอื่นๆ เช่น มะเร็งต่อมหมวกไต และมะเร็งทางโลหิตวิทยา ที่เรียกว่า Multiple Myeloma ในผู้ใหญ่ เป็นต้น ซึ่งต่อไปก็จะทำได้อีกเยอะเลยด้วย คอนเซ็ปต์เดียวกันนี้ คือ ภูมิคุ้มกันบำบัด”

นอกเหนือจากภารกิจด้านการรักษาผู้ป่วยซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ตอนนี้ยังได้ให้ความสำคัญกับพันธกิจด้านการพัฒนานวัตกรรมการรักษา ซึ่งถือเป็นอีกก้าวสำคัญในฐานะโรงเรียนแพทย์ รวมถึงยังเป็นการตอกย้ำความเป็นเลิศทางการแพทย์ของไทย และการทำหน้าที่ “ที่พึ่ง” ให้กับผู้ป่วย

“เรากำลังพยายามอย่างมากในการวิจัยและพัฒนา (R&D) นวัตกรรมการรักษาโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับโรคเลือดและโรคมะเร็ง โดยมีอยู่ 3 เรื่องที่เราโฟกัส ได้แก่ การตัดต่อยีน (Genetic Engineering) การรักษาด้วยแอนติบอดี (Therapeutic Antibody) และการค้นพบยาใหม่ โดยเฉพาะ “ยาชีววัตถุ (Biological Products)” โดยเราจะเน้นที่การทำเรื่องใหม่และทำสิ่งใหม่ เพื่อจดเป็นสิทธิบัตรของคนไทย เพื่อที่คนไทยจะได้เข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพในราคาที่ถูกลง และเราจะได้ขายสิทธิบัตรนี้ไปต่างประเทศนำเงินเข้าบ้านเรา ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนี้ ถือว่าเป็นสุดยอดของนวัตกรรมการรักษา ณ ปัจจุบันนี้”

คุณหมอสุรเดช กล่าวว่า การทำงานวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ก็ดี การสร้างคนเพื่อมาทำงานวิจัยก็ดี ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างมาก ซึ่งจริงๆ แล้ว แพทย์ไทยไม่ได้น้อยหน้าชาติอื่นในเรื่องการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรม เพียงแต่ขาดการสนับสนุนและส่งเสริมอย่างจริงจัง จึงอยากฝากถึงภาคธุรกิจที่อยากทำ CSR และประชาชนทั่วไป ให้ช่วยกันมาบริจาคเพื่อการสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์มากขึ้น เพราะสุดท้ายแล้ว การรักษาที่ดีขึ้นในอนาคตจะเป็นประโยชน์ที่ตกแก่ทุกคน


ภารกิจสร้างหมอนักวิจัย

“นวัตกรรมใหม่ๆ จะเกิดขึ้นได้ ต้องสร้างคนเพื่อมาทำวิจัย แต่การปลูกฝังให้แพทย์มาทำวิจัย ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนเรียนหมอส่วนใหญ่ จบไปก็อยากเปิดคลินิก มุ่งรักษาอย่างเดียว เพราะจะได้มีรายได้จากค่ารักษา ไม่มีใครจบมาแล้วอยากมาทำวิจัย สร้างนวัตกรรม ตอนนี้เวลาสอนหนังสือ ผมจะพยายามชักชวนเด็กรุ่นใหม่มาช่วยกันทำวิจัยเพราะตอนนี้ ค่าใช้จ่ายทางสุขภาพของประเทศไทย (รวมถึงการซื้อวัสดุอุปกรณ์การแพทย์และยา) แต่ละปี เราต้องสูญเสียเงินราว 3 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ มีส่วนที่เราผลิตได้เองแค่ 2 หมื่นล้านบาท คิดดูว่ามันน่าทำไหม”

อาจารย์หมอ เล่าว่า แม้ว่าการเป็นคุณหมอและอาจารย์หมอ จะเป็นงานที่รักมากเช่นกัน แต่ทุกวันนี้ คุณหมอพยายามผันตัวเองมาทำงานด้านการวิจัยให้มากขึ้น โดยมีเป้าหมายในการวิจัยคือ

  1. ตีพิมพ์ได้ในวารสารที่ดี
  2. จดสิทธิบัตรได้
  3. ก่อให้เกิดรายได้และผลประโยชน์กลับมาสู่ประเทศ โดยแรงบันดาลใจในการทำวิจัยนั้น เนื่องจากมองว่าถึงเวลาที่ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างนวัตกรรมเป็นของตัวเองได้แล้ว

 

ซึ่งปัญหาที่ผ่านมานอกจากเรื่องของการขาดแรงสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาคส่วนต่างๆ แล้ว อีกอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คุณหมอส่วนใหญ่ไม่อยากผันตัวเองมาทำงานวิจัย เป็นเพราะหลายคนมองว่า “นักวิจัยไส้แห้ง” เป็นการทำงานด้วยความเสียสละส่วนตนเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวม

อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าคำกล่าวข้างตนเป็นความจริง โดยสิ่งที่อาจารย์หมอกำลังพยายามทำ นั่นก็คือทำให้ทุกคนเห็นว่า นักวิจัยรุ่นใหม่ “ไม่ไส้แห้ง” เพราะเมื่อไหร่ที่งานวิจัยได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นสิทธิบัตร ผลตอบแทนที่กลับมาจะคุ้มค่ามากทั้งในแง่ของรายได้ส่วนตัว และรายได้ที่กลับเข้าสู่ประเทศชาติจากการขายสิทธิบัตรนั้นๆ และยิ่งกว่านั้นคือ การได้ช่วยให้คนไข้ได้รับการรักษาที่ดีขึ้นในราคาที่ถูกลง ขณะที่ประเทศชาติก็สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขลงได้

ดังนั้น เพื่อสร้างแพลตฟอร์มให้นักศึกษาและแพทย์ไทยรุ่นใหม่ที่สนใจในการทำงานวิจัยและมีความใฝ่ฝันที่อยากสร้างผลงานวิจัยที่ใช้ได้จริง ไปจนถึงสร้างนวัตกรรมและจดสิทธิบัตร ศ.นพ.สุรเดช จึงเข้าไปมีส่วนร่วมจัดตั้งบริษัทที่มุ่งเน้นเพื่อการพัฒนานวัตกรรมการรักษาและการผลิตยาใหม่ๆ ชื่อว่า “เจเนพูติก ไบโอ (Genepeutic Bio)” โดยร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล บริษัท TCELS และบริษัทเอกชน ซึ่งถือได้ว่าเป็นบริษัทที่เน้นพัฒนาทางด้าน “ไบโอเทค” แห่งแรกของเมืองไทย

file

“ไม่ใช่แค่ด้าน “ชีววิทยาศาสตร์ (Life Sciences)” ผมอยากเชิญชวนนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ วิศวกรทั่วประเทศมาร่วมกันสร้างนวัตกรรม เพราะในอนาคต สิ่งที่ประเทศไทยจะเอาชนะทั่วโลกได้ มีเรื่องอาหารและการเกษตร เรื่องวิศวกรรมและวิทยาการไฮเทค เช่น AI หุ่นยนต์ ฯลฯ และเรื่องการแพทย์ ซึ่งการจะชนะได้อย่างยั่งยืน เราต้องมีการพัฒนาและวิจัยเพื่อสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเราจะช้าไม่ได้ เพราะประเทศอื่นก็กำลังทำเรื่องพวกนี้” อาจารย์หมอทิ้งท้าย


ความในใจคุณแม่น้องจีน-จีโอ้

“ครอบครัวเราดีใจมากที่น้องจีนเหมือนได้ชีวิตใหม่ เราประทับใจในความทุ่มเทและเสียสละอย่างมากของทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคน ทั้งที่ในเหตุการณ์นี้มีเวลาให้ตัดสินใจน้อยมาก และน้องจีโอ้ก็ติดเชื้อ COVID-19 ทำให้ทั้งพ่อและแม่เองรู้สึกตกใจมาก เครียด และก็กังวลกับหลายเรื่อง เพราะตอนนั้นน้องจีนก็ได้รับยาเคมีบำบัด (คีโม) ขนาดแรงครบแล้ว แต่หลังจากฟังแผนการรักษาจากคุณหมอว่าทุกขั้นตอนจะดำเนินการอย่างระมัดระวังที่สุด ก็คลายกังวลได้มาก ซึ่งสุดท้ายแล้วการรักษาก็ผ่านพ้นไปด้วยดีจริงๆ น้องทั้งคู่ไม่มีอาการแทรกซ้อน ต้องขอขอบคุณผู้เกี่ยวข้องทุกคน และทุกๆ การตัดสินใจที่ทำได้อย่างเฉียบขาดและเป็นขั้นเป็นตอน”

พร้อมกับฝากว่า “อยากให้คนไทยมั่นใจและเชื่อมั่นการแพทย์ไทย โดยเฉพาะโรงพยาบาลรามาธิบดี เพราะมีบุคลากรทางการแพทย์ที่เก่ง สมกับเป็นโรงเรียนการแพทย์ที่ได้มาตรฐานระดับโลก และอยากฝากให้ช่วยกันสนับสนุนโรงพยาบาลรัฐบาล เพราะหลายแห่งยังขาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ และขาดเงินสนับสนุนในการพัฒนาและทำงานวิจัยอีกมาก”

file

#แคมเปญ Zero Cancer

ทิสโก้เดินหน้าสนับสนุนกองทุนเพื่องานวิจัยทางการแพทย์หวังลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ตั้งแต่ปี 2558 โดยปีล่าสุด (ตั้งแต่ 1 ก.ค. 2562 ถึง 30 มิ.ย. 2563) มียอดบริจาค 3.8 ล้านบาท จากทุกๆ การซื้อและอนุมัติกรมธรรม์ประกันสุขภาพของลูกค้า ทิสโก้ร่วมบริจาคสมทบกรมธรรม์ละ 50 บาท ให้กับกองทุนโรคมะเร็งในเด็กในพระอุปถัมภ์ฯ รามาธิบดีฯ ผู้นำด้านนวัตกรรมการรักษามะเร็งในเด็กเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงนวัตกรรมการรักษาและมีโอกาสหายขาดได้

ร่วมบริจาคสมทบทุน

กองทุนโรคมะเร็งในเด็ก ในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เลขที่บัญชี ไทยพาณิชย์ 133-208742-3