file

บทพิสูจน์ความสำเร็จ ธุรกิจ Megatrends ตอบรับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 53 | คอลัมน์ Wealth Manager Talk

ในช่วงครึ่งปี 2020 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นช่วงที่มีความผันผวนสูงมาก ทั้งในแง่ของภาคธุรกิจและการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงประเภทต่างๆ โดยเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างมากที่สุดคงหนีไม่พ้นการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตทั่วโลกจำนวนมาก อีกทั้งยังมีผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลงจากการ Lockdown ในหลายเมืองทั่วโลก และส่งผลกระทบให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างมากในช่วงเดือน ก.พ. - มี.ค. อย่างไรก็ดีถึงแม้แต่ละประเทศต่างประกาศผ่อนคลายนโยบายทางการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของตนเอง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ดังจะเห็นได้จากตัวเลขเศรษฐกิจในแต่ละประเทศทั่วโลกที่ทยอยประกาศออกมาชะลอตัวลงอย่างชัดเจน

ในมุมของตลาดหุ้นหลังจากปรับตัวลดไปอย่างรุนแรงก็กลับฟื้นตัวได้อย่างดีเช่นกัน ทำให้นักลงทุนจำนวนมาก “ตกรถ” จากโอกาสในรอบนี้ไปอย่างน่าเสียดาย แต่การพุ่งทะยานของตลาดหุ้นมีความมั่นคงหรือไม่ ยังคงเป็นคำถามที่รอคำตอบ เนื่องจากผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ที่หดตัวลงอย่างมาก ส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ซึ่งได้แต่หวังว่าสถานการณ์ต่างๆ จะเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่ในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ เนื่องจากเหตุการณ์ COVID-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมมนุษย์ไปอย่างรวดเร็วอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้มีบางกลุ่มธุรกิจที่สามารถเติบโตได้อย่างมากท่ามกลางวิกฤต COVID-19 นี้ นั่นคือธุรกิจที่เป็น Megatrends ที่มีการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมมนุษย์

ซึ่งหากเราพูดถึงกลุ่มธุรกิจ Megatrends หรือกลุ่มธุรกิจที่เป็นกระแสหลักของโลก กล่าวคือเป็นธุรกิจที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต อีกทั้งสามารถปรับเปลี่ยนและพัฒนาไปตามกาลเวลาเพื่อตอบรับต่อการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไป เราอาจสังเกตกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ได้จากแนวโน้มค่าใช้จ่ายที่สำคัญต่างๆ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา โดยอ้างอิงจากค่าใช้จ่ายในสหรัฐฯ ในช่วงปี ค.ศ. 1978 – 2018 ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ต่างปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา การรักษาพยาบาลที่พักอาศัย และค่าอาหาร ดังจะเห็นได้จากแผนภาพที่ 1

file

จะเห็นได้ว่าในช่วงระยะเวลาประมาณ 40 ปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ข้างต้นในสหรัฐฯ ต่างเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก นำโดยค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 1,225% และค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่ 634% ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น วิกฤตต้มยำกุ้ง (1997) วิกฤต Dot-com (2000) วิกฤต Subprime (2008) รวมถึงวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป (2012) แต่ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องไม่ผันผวนไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

โดยหากเราเปรียบเทียบมุมมองผลประกอบการบริษัทฯ ในกลุ่ม Megatrends ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นที่ใหญ่ที่สุดอย่างสหรัฐฯ เราจะพบว่าทั้งกลุ่มอุตสาหกรรม Technology และ Healthcare มีผลประกอบการที่เป็นบวก ท่ามกลางวิกฤต COVID-19 นี้ ทั้งนี้ในช่วงไตรมาสที่ 1 กลุ่ม Technology และ Healthcare ขยายตัว +4.6% และ +7.0% ตามลำดับเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และในปี 2020 คาดว่าจะขยายตัว +1.4% และ +1.0% เมื่อเทียบกับปี 2019 ในขณะที่ผลประกอบการรวมสะท้อนจากดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลง -13.8% YoY ในไตรมาสที่ 1 และคาดว่าจะทรุดตัว -20.3% YoY สำหรับปี 2020 นี้ ดังแสดงในแผนภาพที่ 2

file

นอกจากธุรกิจ Megatrends แบบดั้งเดิม อาทิ ธุรกิจการแพทย์ (Healthcare) ธุรกิจค้าปลีก (Commerce) และ ธุรกิจด้านการศึกษา (Education) จะมีความน่าสนใจในเชิงของความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์อยู่แล้ว แต่หากผสมผสานนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมมนุษย์ เราจะได้ธุรกิจในกลุ่ม Megatrends ที่กำลังอยู่ในช่วงเติบโต (Growth Stage) เพราะนอกจากจะอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคแล้ว ยังสามารถช่วยผู้ประกอบการในการลดต้นทุนโดยรวมและขยายฐานลูกค้าออกไปได้มากขึ้นอีกด้วย และด้วยการระบาดของโรค COVID-19 บวกกับการใช้มาตรการล็อกดาวน์ในแต่ละเมืองทั่วโลก ยิ่งทำให้ธุรกิจกลุ่มนี้มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเราอาจจำแนกออกมาได้ 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่

  1. กลุ่ม Digital Healthcare (Healthcare + Technology) หรือ อุตสาหกรรมการแพทย์ที่มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาประสิทธิภาพการรักษาพยาบาล ซึ่งในกลุ่ม Digital Healthcare เอง ก็อาจแบ่งแยกย่อยลงไปได้อีก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม Telehealth ที่ให้บริการคำปรึกษาด้านสุขภาพผ่านเครือข่ายออนไลน์ ซึ่งผู้นำในธุรกิจ Telehealth อย่างบริษัท Teledoc ประกาศว่าในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมามีจำนวนผู้ใช้บริการกว่า 2 ล้านราย หรือเพิ่มขึ้นราว 92% จากปีก่อนหน้า หรือกลุ่ม Biotechnology ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาตัวยาหรือวัคซีนเพื่อใช้รักษาโรคร้ายต่างๆ อาทิ โรคมะเร็งและ COVID-19 โดยอาจคุ้นชื่อบริษัทอย่าง Moderna และ Gilead ซึ่งกำลังวิจัยและพัฒนาตัวยาและวัคซีนที่ใช้ต่อสู้กับโรค COVID-19 อยู่ในขณะนี้ อีกทั้งกลุ่มเทคโนโลยีทางการแพทย์ ซึ่งบริษัท Dexcom ผู้ผลิตเครื่องมือช่วยวัดน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวาน โดยไม่ต้องเจาะเลือดเหมือนสมัยก่อน เพียงแค่ติดตั้งเครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายแผ่นแปะลงที่บริเวณท้อง เครื่องมือดังกล่าวจะส่งสัญญาณบอกระดับน้ำตาลในเลือดไปที่ Smart Phone ของเรา ซึ่งทำให้ง่ายต่อการตรวจสอบและมีราคาถูก โดยช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา บริษัท Dexcom ประกาศผลประกอบการมีรายได้เติบโต 44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

  2. กลุ่ม E-commerce (Consumer + Technology) หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการซื้อ-ขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งในความเป็นจริงธุรกิจ E-commerce ครอบคลุมถึงหลายกลุ่มธุรกิจด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นบริษัทซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ ธุรกิจนายหน้าจัดหาบริการด้านการท่องเที่ยว รวมไปถึงธุรกิจการชำระเงินออนไลน์ โดยพฤติกรรมมนุษย์ด้านการซื้อสินค้าและบริการเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เดินเข้าห้างสรรพสินค้า หรือห้างค้าปลีกอื่นๆ มาเป็นการสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพราะนอกจากจะประหยัดเวลาในการเดินทางแล้ว ยังสามารถเทียบเคียงราคาและคุณภาพของสินค้าและบริการในกลุ่มที่ใกล้เคียงกันได้ หรือในมุมผู้ประกอบการก็สามารถลดค่าใช้จ่ายหน้าร้าน และสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคจำนวนมากได้ในเวลาเดียวกัน กล่าวได้ว่าการใช้บริการ E-commerce ทำให้ต้นทุนทั้งของผู้บริโภคและผู้ประกอบการลดลง อีกทั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 และการใช้มาตรการล็อกดาวน์ ในแต่ละประเทศยิ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญของกลุ่มธุรกิจนี้ เพราะทำให้คนจำนวนมากต้องถูกบังคับให้ใช้บริการธุรกิจ E-commerce ซึ่งสะท้อนจากตัวเลขผลประกอบการบริษัทฯ ที่เติบโตอย่างมาก ท่ามกลางวิกฤต COVID-19 อาทิ บริษัทด้านการขนส่งอาหาร (Food Delivery) อย่างบริษัท Delivery Hero หรือเจ้าของ Foodpanda ที่เรารู้จักกัน บริษัทฯ ประกาศว่าในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2020 บริษัทฯ มีรายได้เติบโต 92% YoY รวมถึงรายได้ของบริษัท Chegg ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเช่า, ซื้อ-ขาย หนังสือเรียนผ่านช่องทางออนไลน์ในช่วง 1Q2020 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 35% YoY อีกทั้งยังมีผู้สมัครเข้าใช้บริการเพิ่มขึ้น 35% YoY เช่นเดียวกัน นอกจาก 2 บริษัทข้างต้นยังมีบริษัทในกลุ่ม E-commerce อีกมากมายในหลากหลายธุรกิจที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็น Amazon, Netflix และ JD.com เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นมีความเป็นไปได้อย่างมาก ที่ถึงแม้สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 จะหายไป แต่คนอาจจะเริ่มคุ้นเคยกับความสะดวกสบาย ความรวดเร็ว หรือต้นทุนที่ต่ำกว่า เมื่อเทียบกับการซื้อสินค้าและบริการแบบดั้งเดิม ซึ่งจะทำให้ผู้คนยังคงใช้บริการธุรกิจ E-commerce และส่งผลให้ผลประกอบการบริษัทฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างยั่งยืน

  3. ธุรกิจด้านการศึกษาที่ผสมผสานเข้ากับความบันเทิง (Education + Entertainment) หรือที่เรียกว่า Edutainment โดยหลายๆ คนอาจจะไม่เคยทราบว่า ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของสหรัฐฯ นั้นมีอัตราการเติบโตที่สูงมาก ซึ่งสูงกว่าค่าใช้จ่ายด้าน Healthcare เสียอีกดังแสดงในแผนภาพที่ 1 ข้างต้น และด้วย เครื่องมือหรือนวัตกรรมสมัยใหม่ที่ช่วยให้เราสามารถศึกษาผ่านช่องทางออนไลน์ อย่าง VR หรือ AR จะสามารถช่วย “ย่นระยะทาง” ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน โดยไม่ว่าผู้เรียนจะอยู่ที่ใดในโลก ขอแค่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ก็จะสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ที่ส่งตรงจากทั่วโลกได้ ส่งผลดีทั้งต่อผู้เรียนและเจ้าของเนื้อหาอย่างมาก เนื่องจากสามารถช่วยประหยัดต้นทุนให้กับผู้เรียนทั้งเรื่องของค่าเดินทาง และต้นทุนค่าหลักสูตรวิชาความรู้ต่างๆ อีกทั้งยังเป็นการขยายฐานลูกค้าหรือผู้เรียนออกไปได้เป็นวงกว้างผ่านช่องทางออนไลน์ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการ อาทิ โรงเรียน มหาวิทยาลัย และผู้ประกอบการทดสอบใบอนุญาตประเภทต่างๆ เป็นต้น โดยในปี 2018 ค่าใช้จ่ายด้าน Education Technology คิดเป็นราว 2.6% ของค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาทั้งหมด และคาดว่าจะเติบโตเป็น 4.4% ได้ในปี 2025 หรือคิดเป็นการเติบโตราว 125% ดังแสดงในแผนภาพที่ 3
file

ดังที่เราจะเห็นได้ว่าบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาออนไลน์ต่างประกาศผลประกอบการเติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อาทิ บริษัท GSX ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์การเรียนพิเศษนอกห้องเรียน สำหรับนักเรียน K-12 (การศึกษาขั้นพื้นฐาน) ในประเทศจีน ที่สามารถเรียนได้พร้อมกันถึง 100,000 คน และด้วยบริการของบริษัททำให้เจ้าของ Content สามารถขยายตลาดจากจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น โดยรายได้ของบริษัทเติบโตกว่า 300% ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา และบริษัท 2U ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาออนไลน์ที่เชื่อมต่อมหาลัยทั่วโลกแบบไร้พรมแดนเอาไว้ในที่เดียว โดยบริษัทจะเข้าไปเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกับมหาลัยชั้นนำทั่วโลก และจัดคอร์สการเรียนการสอนในแต่ละสาขาวิชาให้แก่ผู้ที่สนใจ อีกทั้งผู้เรียนยังจะได้รับประกาศนียบัตรหลังจากผ่านการเรียนรู้ในหลักสูตรต่างๆ ไม่แตกต่างไปจากการเข้าศึกษาตามปกติ ทำให้มีผู้สนใจใช้บริการของบริษัท 2U เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรายได้ของบริษัทฯ ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มสูงถึง 44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

นอกจากนี้เราจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมของมนุษย์ในชีวิตประจำวันกำลังค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้น ทำให้การดำเนินชีวิตของเรามีความสะดวกสบายมากขึ้น แต่การระบาดของโรค COVID-19 ในปีนี้ เป็นตัวเร่งให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วขึ้นมาก ส่งผลดีต่อธุรกิจ Megatrends ที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุงสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการขยายตลาดให้แก่ผู้ประกอบการ ทำให้ผลประกอบการบริษัทฯ ข้างต้นเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเราคาดว่าจากพฤติกรรมมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไป จะส่งผลบวกต่อธุรกิจเหล่าที่จะสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องในระยะยาวถึงแม้โรค COVID-19 จะหายไปแล้วก็ตาม

Trust Magazine by TISCO