file

The One & Only “สุริยน ศรีอรทัยกุล”

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 54 | คอลัมน์ People

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ นับเป็นอุตสาหกรรมที่นำเงินเข้าประเทศสูงเป็นอันดับต้นของสินค้าส่งออกไทย เหนือสิ่งอื่นใดยังก่อให้เกิดการสร้างงาน เกิดการสร้างธุรกิจ ตั้งแต่ระดับเอสเอ็มอี ไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ที่สำคัญเครื่องประดับที่เป็นผลงานระดับ “Masterpiece” หลายชิ้น ยังสะท้อนคุณค่าความเป็นไทย ผ่านงานดีไซน์ ฝีมือที่ประณีต และความงามที่แฝงกลิ่นอายศิลปวัฒนธรรมไทยซ่อนอยู่ เรียกได้ว่า ธุรกิจอัญมณีนั้นสร้าง “มูลค่า” และ “คุณค่า” ให้กับคนไทย และประเทศไทยมากมาย แน่นอนว่า “บิวตี้ เจมส์ (Beauty Gems)” ก็เป็นหนึ่งในนั้น

TRUST ฉบับนี้ ได้รับเกียรติจาก “คุณหนึ่ง สุริยน ศรีอรทัยกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิวตี้ เจมส์ แฟคตอรี่ จำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจอัญมณีเก่าแก่ของไทยมากว่าครึ่งศตวรรษ มาร่วมสะท้อนมุมมองชีวิตการทำงาน บนเส้นทางแห่งความหรูหราราคาแพงที่ต้องแลกด้วยหยาดเหงื่อ และ “ทัศนคติ” ที่นำพาธุรกิจเอาชนะวิกฤตมาครั้งแล้วครั้งเล่า จนกลายเป็นผลึกแห่งชีวิตที่งามสง่า พร้อมบอกเล่าแนวความคิดในธุรกิจอสังหาฯ กับโครงการ “One Altitude”

ต่อยอด “บิวตี้ เจมส์” ด้วยการตลาดนอกกรอบ

เมื่อปี 2507 ร้านค้าเพชร “บิวตี้ เจมส์” ก่อตั้งขึ้นจากห้องแถว 2 คูหาย่านเจริญกรุง โดยคุณพรศักดิ์ และคุณพรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุล (คุณลุงและคุณพ่อของคุณหนึ่ง) เพื่อขายให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ธุรกิจขณะนั้นเติบโตไปได้ด้วยดี กระทั่งปี 2516 จึงมีการจัดตั้งโรงงาน “บิวตี้ เจมส์ แฟคตอรี่” ขึ้น

โดยคุณหนึ่งเข้ามารับช่วงกิจการเมื่อ 25 ปีก่อน ด้วยวัยเพียง 22 ปี เขาและพี่ชายร่วมกันขยายตลาดไปต่างประเทศ จากรุ่นพ่อที่เคยเน้นส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นถึง 90% ปรับเปลี่ยนสู่รูปแบบของการกระจายตลาดสู่ตลาดอเมริกา 45% ตลาดญี่ปุ่น 25% ตลาดเอเชียและตะวันออกกลาง 20% และเพิ่มสัดส่วนตลาดในประเทศเป็น 10% จากเดิมที่มีสัดส่วนอยู่น้อยมาก

“นอกจากการขยายตลาดไปต่างประเทศ ผมมุ่งมั่นอย่างมากในการทำแบรนด์ให้คนไทยรู้จัก เพราะผมรู้สึกเสียดายมาก ถ้าอัญมณีน้ำงามหรือเครื่องประดับชิ้นที่งามที่สุด ที่เรียกว่าเป็น “Masterpiece” ไม่ได้ตกอยู่ในมือคนไทย”

การจัด Fashion Show และ Event เป็นอีกหนึ่งกลไกความสำเร็จที่ผลักดันให้ธุรกิจอัญมณีเมืองไทยเติบโตอย่างสง่างามบนเวทีโลก และถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นโจทย์ในการระดมความคิดและความครีเอทีฟ โดยมุ่งเป้าเพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักของคนไทย เช่น การจัดแฟชั่นโชว์เครื่องประดับเพชรอย่างยิ่งใหญ่ในธีมแปลกใหม่แหวกแนว จนกลายเป็น Talk of The Town ได้แทบทุกครั้ง หรือการทำการตลาดรูปแบบ Collaboration กับสินค้าอื่น ซึ่งบ่อยครั้งก็เป็นสินค้าที่หลายคนคาดไม่ถึง เช่น ความร่วมมือกับแบรนด์ขนมไหว้พระจันทร์ ฯลฯ นับเป็นการตลาด “นอกกรอบ” ของการขายเพชรในยุคนั้น

คุณหนึ่งยังเชื่อว่า เขาเป็นเจ้าของร้านเพชรคนแรกที่ผลักดันให้คนไทยเกิดแนวคิดใหม่ว่า “เพชรไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย ไม่ใช่สินค้าเพื่อการอวดรวย” แต่เป็นสินทรัพย์ที่เพิ่มมูลค่าขึ้นไปเรื่อยๆ จึงเหมาะแก่การลงทุนและเก็บสะสม เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเอง รวมทั้งยังสามารถส่งต่อให้ลูกหลาน และนำไปขายแลกเป็นเงินไว้ใช้ยามจำเป็นได้ด้วย

“การซื้อเพชรพลอย ผมมองว่าเป็นการลงทุนที่สร้างมูลค่าแถมได้รับความรื่นรมย์ และสามารถเปลี่ยนเป็น “หลักประกัน” ในชีวิตได้ อย่างตอนวิกฤตปี 2540 มีเศรษฐีเป็น 100 ครอบครัว ที่ขายเพชรเพื่อเอาเงินมาค้ำจุนบริษัท แล้วก็รอดมาได้ ซึ่งผมโปรโมทแนวความคิดนี้มาตลอด 25 ปี”


2 ทางเลือกในวิกฤต “พ่ายแพ้” หรือ “ผ่านพ้น”

บนเส้นทางธุรกิจร่วม 25 ปี คุณหนึ่งเผชิญวิกฤตมาหลายครั้ง หนึ่งในวิกฤตหนักที่ทำให้บริษัทฯ เกือบต้องล้มทั้งยืน เกิดขึ้นหลังจากเขามารับช่วงกิจการได้เพียง 5 ปี เมื่อลูกค้ารายใหญ่ที่สุดในอเมริกา ซึ่งค้าขายกันมานาน 7 ปี กำลังจะล้มละลาย แต่มีเงินค้างชำระบิวตี้ เจมส์ กว่า 600 ล้านบาท เขาและพี่ชายจึงบินไปเจรจากับเจ้าของบริษัทที่เป็นลูกค้า จนได้รับการชดใช้เป็นอัญมณีมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท พร้อมเงินสดอีก 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จากนั้น บิวตี้ เจมส์ ยังเจอกับอีกหลายวิกฤต ทั้งวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ วิกฤตราคาทอง และค่าเงินบาทที่ผันผวน ฯลฯ ทำให้บริษัทฯ ต้องปรับตัวและเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ เรื่อยมา ซึ่งเขายอมรับว่าต้องมีบ้างที่รู้สึกเหนื่อย แต่จาก “แร่เพชร” กลายเป็น “เพชรน้ำงาม” ได้ ก็ต้องถูกเจียระไน เฉกเช่นชีวิตคนเรา

“ทุกวิกฤตให้บทเรียนกับเรา ทำให้เรียนรู้ว่าเมื่อเจอวิกฤต เราต้องสู้จนกว่าจะชนะ หรือไม่ก็จนกว่าจะหมดลมหายใจ เพื่อทำให้บริษัทและพนักงานอยู่รอดให้ได้ และการทำธุรกิจจะต้องเตรียมแผน 1-2-3-4 เผื่อไว้เสมอ เพราะอะไรๆ ก็ไม่แน่นอน”

file

 

สำหรับวิกฤต COVID-19 คุณหนึ่งยอมรับว่าเป็นอีกวิกฤตที่หนักมาก เพราะนับตั้งแต่มีการ “ล็อกดาวน์” ประกาศปิดห้าง และปิดเส้นทางบินเข้าออกประเทศ คำสั่งซื้อของบิวตี้ เจมส์ แทบจะหายหมด ผ่านมา 3-4 เดือนจากนั้น แม้จะมีคำสั่งซื้อเข้ามาบ้าง แต่ก็ยังหายไปกว่าครึ่งจากปริมาณคำสั่งซื้อในยามปกติ ขณะที่ค่าจ้างพนักงานก็ยังต้องจ่าย

“เราใช้เวลาประคองบริษัทให้อยู่รอดเกือบ 60 วัน พอเริ่มแก้สถานการณ์ได้ เราก็รีบวางแผนต่อในระยะ 1 ปีว่าถ้ารายได้หายไปครึ่งนึง เราต้องมีแผนที่ชาญฉลาดในการลดค่าใช้จ่ายให้เหลือครึ่งนึง และเมื่อเปิดประเทศ เริ่มมีเงินสดไหลเข้ามา เราต้องเก็บเงินไว้ใช้ในอนาคต ใน “วันฝนตก” เพราะไม่มีใครรู้ว่า ประเทศไทยจะเกิดการระบาดระลอกสองหรือไม่”

ทันทีที่ห้างร้านเริ่มเปิดให้บริการได้ บิวตี้ เจมส์ เป็นหนึ่งในบริษัทที่ตื่นตัวอย่างมากในการจัดอีเวนต์ใหญ่ ทั้งการเปิด Flagship Store แห่งใหม่ การจัดอีเวนต์ The Secret Diamond Garden การเปิดตัว “หน้ากากเพชร” การจับมือ “กิเลน” เพื่อรังสรรค์ขนมไหว้พระจันทร์ทองคำ ฯลฯ

“คนส่วนใหญ่ไม่กล้าลงทุน แต่บิวตี้ เจมส์ ในฐานะแบรนด์ไทยที่อยู่คู่คนไทยมานาน เราลุกขึ้นมาจัดอีเวนต์ใหญ่หลายงาน เพื่อตอกย้ำว่า ประเทศไทยกลับมาฟื้นตัวแล้ว ถึงเวลาที่เราทุกคนต้องมองไปข้างหน้า ก้าวต่อไปได้แล้ว และคนไหนที่พอจะ “มีกำลัง” ก็อยากให้ออกมาจับจ่ายใช้สอย เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้โดยเร็วที่สุด พร้อมกับเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้คนในประเทศ ทำให้คนไทยกลับมามีความหวังและยิ้มได้อีกครั้ง”

คุณหนึ่งให้แง่คิดว่า “ความหวัง” เป็นเชื้อเพลิงในการฝ่าฟันวิกฤต ขณะที่ “ความคิดนอกกรอบ” เป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่นำไปสู่ความสำเร็จ และอาจทำให้เห็นโอกาสใหม่ๆ ภายใต้วิกฤต ดังเช่นโครงการใหม่ของ “One Altitude”


ต่อยอดความหรูสู่แบรนด์ อสังหาฯ One Altitude

ธุรกิจอสังหาฯ ไม่ใช่พรมแดนใหม่สำหรับคุณหนึ่ง เพราะครอบครัวของเขาทำธุรกิจนี้มาแล้วกว่า 30 ปี โดยมีทั้งโครงการหมู่บ้านจัดสรร สนามกอล์ฟ และ Community Mall ส่วนตัวคุณหนึ่ง เขาจับมือกับเพื่อนที่เป็นเจ้าของบริษัทอสังหาฯ ที่ชื่อว่า Altitude ขณะที่ One หมายถึงชื่อ “หนึ่ง” และความต้องการพัฒนาให้โครงการเป็น “ที่หนึ่งและหนึ่งเดียว” (One & Only)

“One & Only สะท้อนถึงความหรูหรา ในความเป็น “หนึ่ง-สุริยน” แห่งบิวตี้ เจมส์
เราจะทิ้งความหรูหราไปไม่ได้ ไม่ว่าห้องจะราคาล้านกว่าหรือหลายสิบล้านบาท ทุกห้องต้องดูดี เรียบ โก้ เข้ากับคอนเซ็ปต์ของโครงการ และคำว่า One & Only ยังสะท้อนแนวคิดที่ว่า สิ่งที่คุณซื้อไปมีความพิเศษที่หาไม่ได้จากที่อื่น ไม่ว่าจะเป็นโครงการอสังหาฯ หรือเครื่องประดับเพชร เราทำด้วยใจ ใส่ใจทำให้ทุกชิ้นออกมาดี ควรค่าแก่การเก็บสะสม เหมาะกับการลงทุน และมูลค่าของมันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะบ้านและเครื่องประดับถือเป็น “เพชรน้ำงาม” ที่นานวันเข้า ก็ยิ่งหาไม่ได้จากที่ไหน”เขายกตัวอย่าง One Altitude Charoen-krung คอนโดในทำเลทองบนถนนจันทน์ 44 ใกล้ทางด่วน ใกล้รถไฟฟ้า BTS ใกล้โรงแรมห้าดาว ใกล้โรงเรียนนานาชาติชื่อดัง ไม่ไกลจากเอเชียทีค และไอคอนสยาม จุดขายสำคัญ คือ วิวแม่น้ำ และไม่แออัด เพราะมีเพียง 20 ชั้น 85 ยูนิต บนเนื้อที่กว่า 500 ตร.ว. ราคาเริ่มต้น 6.5 ล้านบาท ซึ่งขายไปแล้วกว่า 60%

file

ส่วนโครงการล่าสุด One Bellagio โครงการบ้านเดี่ยวระดับ Ultimate Luxury พื้นที่ติดกับสนามกอล์ฟ เดอะ รอยัล เจมส์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ ณ ศาลายา ซึ่งเป็นของครอบครัว โดยทั้งโครงการมีพื้นที่ 15 ไร่ มีบ้านเพียง 12 หลัง ราคาหลังละ 34-80 ล้านบาท คุณหนึ่งเล่าว่าเป็นโครงการที่เกิดเพราะ “พิษ COVID-19”

“ช่วง 3 เดือนที่ล็อกดาวน์ ผมทำงานแค่อาทิตย์ละ 3 วัน เลยมีเวลากลับมาพักผ่อนที่บ้านศาลายา ซึ่งธรรมชาติและความสงบทำให้ได้พักความเหนื่อยที่สะสมมาจากการทำงาน เลยเกิดความเข้าใจชีวิตวัยเกษียณ และเชื่อว่าน่าจะมีคนที่เตรียมเกษียณอยากใช้ชีวิตชิลล์ๆ แบบนี้ เลยเกิดไอเดียทำบ้านเป็นแหล่งพักผ่อน (Staycation) แทนที่จะต้องเดินทางออกไปไล่ล่าหาความสงบและธรรมชาติที่อื่น”

แนวความคิดดังกล่าวถูกขยายผลไปอีก 3 โครงการ ได้แก่ The One Park เป็นโครงการคอนโด 84 ห้อง One Forest โครงการบ้านพร้อมสระว่ายน้ำ 38 ยูนิต ท่ามกลางบรรยากาศทุ่งนาและสนามกอล์ฟ และ One Tache โครงการบ้านหรูตากอากาศที่มีลักษณะเป็น Log Home ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากบ้านในแหล่งปลูกไวน์ขึ้นชื่อของฝรั่งเศส โดยไฮไลท์ที่เหมือนกันคือ อยู่กลางธรรมชาติ และติดสนามกอล์ฟ “เดอะ รอยัล เจมส์ฯ”

“ผมเชื่อว่า ถ้าเปิดประเทศ อสังหาฯ บ้านเราจะยิ่งขายดี เพราะคนต่างชาติก็อยากอยู่ในประเทศที่ดูแลชีวิตเขาได้ ซึ่งช่วง COVID-19 ประเทศไทยได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การแพทย์เราเก่ง เราดูแลผู้ป่วยอย่างดี และคนไทยก็ร่วมมือสามัคคีกันดีในการควบคุมโรคระบาด ที่สำคัญ เรารวมกันเป็นหนึ่ง ช่วยเหลือแบ่งปันกันในยามทุกข์ยาก ทำให้ต่างชาติมองว่าบ้านเมืองเราเป็นบ้านเมืองที่อบอุ่น คุณค่า (Value) ความดีงามเหล่านี้จะอยู่กับประเทศไทยไปตลอด ถ้าเราทุกคนช่วยกันรักษาไว้”


file

ชีวิตตกผลึกบน “ทางสายกลาง” และ “ทางเพื่อส่วนรวม”

ด้วย “ความลุ่มหลง (Passion)” ในธุรกิจอัญมณี และ “ความทุ่มเท (Dedication)” ในการขับเคลื่อนความก้าวหน้าสู่อุตสาหกรรมอัญมณีไทย ทำให้คุณหนึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ปี 2561-2563 และ 2563-2565) และยังเคยเป็นอุปนายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ (ปี 2554-2558) นอกจากนี้ คุณหนึ่งยังสละเวลาไปเป็นวิทยากรให้กับสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (GIT)ในโครงการ GIT The Master Class ซึ่งเป็นโครงการอบรมออนไลน์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับ

อุตสาหกรรมอัญมณีไทย ตลอดจนคำแนะนำในการทำธุรกิจเครื่องประดับให้ประสบความสำเร็จ ไม่เพียงแค่ในสายของการทำงาน ในช่วงวิกฤต COVID-19 คุณหนึ่งยังเปิด “ร้านสะดวกแบ่งปันทุกศุกร์ (ทุกข์สุข)” โดยเปลี่ยนพื้นที่ว่างของศูนย์การค้า Park Lane เอกมัย ซึ่งเป็น Community Mall ของครอบครัว ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับแจกของกิน ของใช้ และของขวัญ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ชุมชนย่านเอกมัยอีกด้วย

ในวัย 47 ปี คุณหนึ่งยอมรับว่า หลายปีที่ผ่านมา เขาใช้ร่างกายและสมองในการทำงานมาอย่างหนักหน่วง เพราะเป็นคนทำงานเยอะ และคิดถึงงานตลอดเวลา จนคุณแม่ต้องคอยเตือนให้ดูแลสุขภาพ มาวันนี้ เขาจึงหันมาใส่ใจกับการบริหารสมดุลชีวิตมากขึ้น พร้อมกับหัดปล่อยวางความคิด และเริ่มเดินบน “ทางสายกลาง”

“หลักการบริหารของผมวันนี้คือ ใส่ใจเต็มร้อยกับทุกงาน เพราะถ้าหย่อนเรื่องคุณภาพนั่นไม่ใช่ ทางสายกลาง เหมือนข้อสอบมี 100 ข้อเราต้องทำทั้ง 100 ข้อ ไม่ใช่ทำเผื่อเหลือเผื่อขาดไปเป็น 120 หรือ 150 ข้อ และก็ไม่ใช่ทำแค่ 50 ข้อเพราะนั่นคือทำไม่เต็มร้อย การเดินทางสายกลางคือ พอทำเต็มร้อยแล้ว ผลลัพธ์จะออกมาเป็นเท่าไหร่ ก็แค่ยอมรับมันให้ได้ แล้วปล่อยวาง ต่อให้ทำได้ดี ก็ไม่ต้องดีใจมาก หรือทำได้ไม่ดี ก็ไม่ต้องเสียใจนาน”

คุณหนึ่งฝากไว้ว่า อยากเห็นคนไทยช่วยกันหวงแหนดูแลอุตสาหกรรมอัญมณีไทย และอยากให้รัฐบาลส่งเสริมอย่างจริงจัง เพราะอุตสาหกรรมนี้นำรายได้เข้าประเทศปีละหลายแสนล้านบาท สูงสุดเป็นอับดับ 3 รองจากอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเหนือสิ่งอื่นใดไม่เพียงแค่สร้าง “มูลค่า” อย่างมหาศาลให้แก่เศรษฐกิจไทยอุตสาหกรรมอัญมณียังสร้าง “คุณค่า” ต่อสังคมไทยอีกด้วย

“อุตสาหกรรมอัญมณีเป็นอุตสาหกรรมที่มีเจ้าของเป็นคนไทยเกิน 75% และมีแรงงานอยู่ในกระบวนการ ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำมากกว่า 1.6 ล้านคน ที่สำคัญ อุตสาหกรรมนี้ยังเป็นอุตสาหกรรมที่คนไทยได้เปรียบ เพราะมี Know-how มีความประณีต มีพื้นฐานด้านศิลปวัฒนธรรมแทรกอยู่ในวิถีการดำรงชีวิต และมีทักษะงานฝีมือที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก คนไทยควรช่วยกันสืบสานความภาคภูมิใจนี้ไว้ให้ลูกหลาน และช่วยกันผลักดันอุตสาหกรรมอัญมณีไทยให้เข้มแข็ง เติบโต และยืนหยัดอย่างยั่งยืน เพื่อก้าวสู่การเป็น “ฮับ” ของโลก” เจ้าพ่อบิวตี้ เจมส์ ทิ้งท้าย