ความเชื่อและความจริง กับประกันสุขภาพ

file

ทุกคนล้วนมีความเชื่อเป็นของตัวเอง ซึ่งความเชื่อ คือ ความคิด ความเข้าใจ และการยอมรับ หรือเชื่อมั่นในเรื่องใดๆ บางครั้งความเชื่อนั้นสามารถพิสูจน์ได้ว่าจริง หรือไม่มีหลักฐานพอที่จะพิสูจน์ได้ แต่เป็นเพียงประสบการณ์ที่คนพบเจอ และบอกต่อๆ กัน จนทำให้เกิดพฤติกรรมคล้อยตาม ปฎิบัติตาม และเกิดเป็นความเชื่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จนหล่อหลอมให้เกิดลักษณะเฉพาะของความเชื่อตามสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละแห่งนั่นเอง

การวางแผนด้านสุขภาพในบริบทของสังคมไทยนั้นก็มีลักษณะความเชื่อหลากหลายรูปแบบ ทั้งในด้านการดำรงชีวิตเพื่อเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง วิธีการรักษา และการป้องกันตนเองให้ลดความเสี่ยงจากอาการเจ็บป่วย รวมทั้งการวางแผนหลักประกันสุขภาพหากเกิดสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด โดยความเชื่อที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นจริงมักจะมีหลักฐานเป็นข้อมูลทางสถิติที่ชัดเจน หรือการระบุเป็นลายลักษณ์อักษรหรืองานวิจัยจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ แต่ความเชื่อด้านสุขภาพที่บอกต่อกันมายังมีเรื่องที่เข้าใจผิดกันอยู่มาก ซึ่งในด้านการวางแผนหลักประกันสุขภาพนั้น ความเชื่อผิดๆ มักเกิดในบริบทของการพิจารณาหรือตัดสินใจเลือกซื้อประกันสุขภาพ ซึ่งส่งผลถึงการวางแผนทางการเงินที่ผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงและไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้เมื่อเกิดเหตุการณ์นั้นๆ ไปแล้ว

“สุขภาพแข็งแรงอยู่แล้ว ไม่ต้องทำประกันสุขภาพ ป่วยเมื่อไหร่ค่อยทำ” นั้น นับได้ว่าเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะที่จริงแล้วคนที่สุขภาพดีไม่มีประวัติการเจ็บป่วยเท่านั้นถึงสามารถทำประกันสุขภาพได้ หากเราต้องรอให้เกิดอาการเจ็บป่วยถึงจะเริ่มตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพ คำตอบที่ได้กลับมาจากบริษัทประกันฯ ส่วนใหญ่คือคำปฏิเสธรับประกัน หรือถ้าบริษัทประกันเหล่านั้นรับประกันให้ บริษัทประกันมักจะกำหนดเงื่อนไขไม่คุ้มครองโรคที่เป็นมาก่อนเอาประกันภัยได้ หรือเพิ่มค่าเบี้ยที่มากกว่าคนทั่วไปราว 25-50% ซึ่งทำให้ต้องใช้เงินมากขึ้น เพื่อนำมาจัดสรรส่วนของการวางแผนประกันภัยของตนเอง ซึ่งกระทบกับเป้าหมายทางการเงินอื่นๆ ด้วย

ความเชื่อต่อมาที่ว่า “ถ้าอยากได้ความคุ้มครองด้านสุขภาพต้องทำคู่กับประกันชีวิตเท่านั้น” ก็เป็นความเชื่อที่ผิดเช่นกัน ก่อนอื่นต้องอธิบายเพิ่มเติมว่า ประกันชีวิตจะแบ่งเป็นสัญญาหลัก ซึ่งมักจะเป็นผลประโยชน์ที่ผู้รับผลประโยชน์จะได้รับเมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิต และสัญญาเพิ่มเติม (Rider) ที่ผู้เอาประกันสามารถได้รับประโยชน์ขณะที่ยังมีชีวิตตามเงื่อนไขความคุ้มครอง เช่น การทำประกันชีวิตเป็นสัญญาหลักพ่วงด้วยประกันสุขภาพเป็น Rider แต่ในปัจจุบันเราสามารถหาแบบประกันที่คุ้มครองเฉพาะสุขภาพได้ หากเราประเมินตนเองแล้วว่าจำเป็นต้องมีวงเงินคุ้มครองเพื่อค่ารักษาสุขภาพยามเจ็บป่วยเพิ่มเติม หากเราซื้อประกันชีวิตพ่วงประกันสุขภาพทั้งๆ ที่ตนเองมีประกันชีวิตอยู่แล้ว อาจทำให้จ่ายเบี้ยประกันเกินความจำเป็น เพราะต้องจ่ายทั้งเบี้ยประกันชีวิตและสุขภาพไปพร้อมกัน

และความเชื่อที่ว่า “ถ้าต้องการประกันสุขภาพเพื่อให้การันตีต่ออายุความคุ้มครอง จะต้องทำประกันสุขภาพโดยต้องพ่วงกับประกันชีวิตเท่านั้น” ซึ่งข้อนี้ทำให้คนที่สนใจทำประกันสุขภาพเกิดความเข้าใจผิดเป็นจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากการนำเสนอของตัวแทนหรือนายหน้าขายประกันภัยที่ไม่มีความเข้าใจในแบบประกันที่ตนเองขายได้ดีพอ หรือต้องการจูงใจลูกค้าเพื่อให้ปิดการขายได้ง่าย

แต่ความเป็นจริงแล้ว แบบประกันสุขภาพไม่ว่าจะเป็นตัวที่พ่วงกับประกันชีวิตหรือแบบประกันสุขภาพที่แยกอิสระจากประกันชีวิตนั้น บริษัทรับประกันสามารถกำหนดว่าจะการันตีต่ออายุความคุ้มครองได้ หรือสงวนสิทธิ์พิจารณาต่ออายุความคุ้มครองก็ได้ หากไม่มีการแจ้งว่าจะต่ออายุความคุ้มครองให้แน่นอน ย่อมสรุปได้ว่าบริษัทรับประกันสามารถปฏิเสธการต่ออายุเมื่อใดก็ได้ตามที่บริษัทต้องการ เพราะถือว่าไม่ได้ทำผิดข้อตกลงความคุ้มครองใดๆ ซึ่งเงื่อนไขการต่ออายุความคุ้มครองเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับการวางแผนด้านหลักประกันสุขภาพ เพราะหากเราจำเป็นต้องขอค่าสินไหมเพื่อรักษาโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง หรือต้องเข้ารับการรักษาบ่อยครั้ง หากบริษัทประกันปฏิเสธการต่ออายุกรมธรรม์ไป เพราะเคลมสูงหรือเคลมบ่อย เราจะไม่มีโอกาสทำประกันสุขภาพกับบริษัทอื่นได้อีกเลย เท่ากับว่าความเสี่ยงที่เราต้องใช้เงินที่เก็บสะสมมาตลอดชีวิตเพื่อรักษาโรคยามเจ็บป่วยมีสูงขึ้นมาก

เพราะฉะนั้นการปรับแก้ไขความเชื่อผิดๆ ด้านการวางแผนหลักประกันสุขภาพให้ถูกต้องนั้นเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ เพราะหากเราเชื่อสิ่งที่ผิดไป จะทำให้เราเกิดความเสี่ยงในการดำรงชีวิตและเป้าหมายทางการเงินอีกมาก เพราะฉะนั้นคนที่กำลังพิจารณาตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพเพื่อวางแผนเป้าหมายทางการเงินระยะยาว จะต้องศึกษาหาข้อมูลและเงื่อนไขความคุ้มครองและเงื่อนไขการต่ออายุกรมธรรม์จากตัวแทนหรือนายหน้าที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญกับแบบประกันเป็นอย่างดีและมีจรรยาบรรณโดยไม่นำเสนอข้อมูลเกินความจริง เพียงเพื่อต้องการขายให้ได้ตามเป้าหมายเท่านั้น

================================================

เผยแพร่ครั้งแรกใน Biz Week กรุงเทพธุรกิจ ประจำวันที่ 13 ต.ค. 2562

บทความล่าสุด

ลงทุนกลุ่ม Global Quality สร้างผลตอบแทนได้แม้ในยามผันผวน

โพสต์เมื่อ 8 กันยายน 2567

ตลาดหุ้นทั่วโลกเผชิญความผันผวนสูงในช่วงเดือนที่ผ่านมา เป็นสัญญาณชี้ว่าตลาดหุ้นมีความอ่อนไหวต่อตัวเลขเศรษฐกิจและประเด็นต่าง ๆ มากขึ้น การลงทุนในช่วงนี้จึงควรเน้นลงทุนในกลุ่มหุ้นที่มีคุณภาพสูง (Quality) มีความแข็งแกร่งและยังสามารถสร้างผลตอบแทนได้ท่ามกลางความผันผวน

อ่านต่อ >>

จัดพอร์ตแบบไหน ไม่ต้องกลัวตลาดผันผวน

โพสต์เมื่อ 8 กันยายน 2567

นับตั้งแต่ต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกกลับมาเผชิญความผันผวนที่รุนแรงอีกครั้ง โดยมีชนวนเหตุมาจากตัวเลขอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ที่ออกมาสูงกว่าคาด ส่งผลให้ตลาดกลับมากังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย

อ่านต่อ >>

Thai ESG เวอร์ชั่นใหม่ น่าสนใจมากขึ้น

โพสต์เมื่อ 8 กันยายน 2567

กองทุน Thai ESG หรือ กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนเป็นตัวเลือกการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการทั้งผลตอบแทนและความยั่งยืนไปพร้อมกัน รวมถึงการลดหย่อนภาษี ซึ่งกำหนดให้ลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ของไทย ตามหลักการ ESG

อ่านต่อ >>