TISCO Investment Portfolio Strategy
JUNE 2023
สถานการณ์ในภาคธนาคารที่ค่อยๆคลี่คลายลงในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าคาด ดูจะเป็นปัจจัยหลักหนุน Sentiment การลงทุนในตลาดหุ้น และผลักดันให้ดัชนี S&P500 ทรงตัวในระดับสูงถึง 4,100 จุดตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา และมองข้ามปัจจัยเสี่ยง 3 ประการ ดังนี้
ประการแรก ความเสี่ยงในภาคอสังหาฯเพื่อการพาณิชย์ (Commercial real estate) ซึ่งอาจจุดชนวนให้หุ้นแบงค์ถูกเทขายอีกระลอก จากรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการระบาดของ COVID ที่ถึงแม้จะมีการกลับมาเปิดเมือง ทำกิจกรรมนอกบ้านตามปกติ แต่พนักงานก็ไม่ได้กลับเข้าออฟฟิศ 100% ตามเดิม ประกอบกับแนวโน้มดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในตลาด ทำให้ภาคอสังหาฯเพื่อการพาณิชย์เป็นกลุ่มที่เปราะบางมากกว่ากลุ่มอื่น ในขณะที่ตลาดยังไม่ได้ให้ความสนใจกับประเด็นความเสี่ยงนี้ ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงแย่ลงในระยะข้างหน้า ก็อาจเป็นข่าวร้ายที่จะจุดชนวนการเทขายหุ้งแบงค์อีกระลอก
ประการที่สอง ความล่าช้าในการยกระดับเพดานหนี้สาธารณะ ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิตเรตติ้ง คล้ายกับการผ่านกฏหมายในช่วงปี 2011 ซึ่งความล่าช้าครั้งนั้น ส่งผลให้สหรัฐฯถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit rating) ลงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงมากถึง -15% และถึงแม้สหรัฐฯจะไม่ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ แต่การยกระดับเพดานหนี้ก็ทำให้สภาพคล่องลดลง เป็นปัจจัยลบต่อตลาดหุ้น
ประการสุดท้าย เงินเฟ้อที่อาจกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี อาจกดดันให้ Fed ต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติม เป็นลบต่อตลาดหุ้น โดยในอดีตช่วงภาวะเงินเฟ้อสูงตลาดหุ้น (S&P500) มักจะให้ผลตอบแทนติดลบช่วง 6 เดือนหลัง Fed ขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้าย สะท้อนว่าในภาวะเงินเฟ้อสูง ตลาดมีความกังวลต่อความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะกลับมาเพิ่มขึ้นหลัง Fed หยุดขึ้นดอกเบี้ย จากการทำแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ พบว่าเงินเฟ้อมีโอกาสสูงที่จะกลับมาเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่เดือน ก.ค. เป็นต้นไป เป็นความเสี่ยงที่ Fed ต่อแนวโน้มดอกเบี้ยที่อาจปรับสูงขึ้นอีก ทำให้เรามองตลาดหุ้นมีความเสี่ยงขาลงมากกว่าขาขึ้น
ดังนั้น ในระยะข้างหน้า เราเชื่อว่าตลาดจะให้น้ำหนักกับประเด็นความเสี่ยงเหล่านี้มากขึ้น เราจึงมองตลาดหุ้นน่าจะมีแนวโน้มลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี