4 เหตุผลที่ตลาดหุ้น Emerging Markets กำลังเป็นขาขึ้นรอบใหญ่

file

เข้าสู่โค้งสุดท้ายของไตรมาส 2 ปี 2024 ตลาดหุ้นโลกยังคงเดินหน้าทำ New high อย่างต่อเนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ยังคงแข็งแกร่ง นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งปีหลังจากเงินเฟ้อที่มีเริ่มชะลอตัวลง ทำให้ค่าเงินดอลลาร์มีโอกาสพลิกกลับมาอ่อนค่าและ Bond Yield สหรัฐฯ มีทิศทางเป็นขาลง ภาวะดังกล่าวเอื้ออำนวยกับสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะตลาดหุ้นที่ยังคงเคลื่อนไหว Laggard ตลาดหุ้นโลกอย่าง “หุ้นกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets)” โดย 4 เหตุผลที่สนับสนุนให้ตลาดหุ้น EM กลับมาเป็นขาขึ้นรอบใหญ่อีกครั้ง ได้แก่

1. เศรษฐกิจกลุ่ม EM เป็นต้นน้ำสำคัญในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีของโลก

   ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เทคโนโลยีได้เข้ามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง หลายประเทศในกลุ่ม EM ถือเป็นต้นน้ำสำคัญของเทคโนโลยีและมีความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก ยกตัวอย่างเช่น เกาหลีใต้และไต้หวัน ที่เป็นผู้นำในการผลิต Semiconductors ของโลก ซึ่งถือเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการประมวลผลข้อมูลของเทคโนโลยียุคใหม่อย่าง AI 5G และ Data Center รวมไปถึงมีความสำคัญต่อการผลิตสินค้าอย่าง สมาร์ทโฟน เครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย นอกจากนี้ ประเทศในกลุ่ม EM อย่างอินเดีย ก็มีความโดดเด่นในด้านธุรกิจ IT อันเนื่องมาจากแรงงานที่มีทักษะด้าน STEM (Science Technology Engineering and Mathematics) สูงเป็นอันดับต้นๆของโลก ค่าแรงถูกและสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว ทำให้บริการด้าน IT Outsourcing ของอินเดียสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ประเด็นเหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่าประเทศในกลุ่ม EM สามารถเติบโตเกาะ Megatrend ด้านเทคโนโลยีของโลกได้อย่างแข็งแกร่ง

2. หลายประเทศใน EM ได้อานิสงส์จากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯกับจีน

ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังคงถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะกำหนดทิศทางการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 โดยความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯมีโอกาสทวีความรุนแรงขึ้น ก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯในช่วงเดือน พ.ย. นี้ จากการหาเสียงของ Candidate ประธานาธิบดีทั้งสองคนที่มุ่งเน้นไปที่มาตรการกีดกันทางการค้ากับจีน ซึ่งอาจนำไปสู่ “สงครามการค้าเฟส 2” และสร้างผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)

ประเด็นดังกล่าวได้ก่อให้เกิดแนวโน้มการโยกย้ายฐานการผลิตรวมถึงห่วงโซ่อุปทานไปทั่วโลกไปยังหลายประเทศในกลุ่ม Emerging Markets อันเนื่องมาจากต้นทุนค่าแรงที่ต่ำ จำนวนประชากรที่มากและอายุเฉลี่ยน้อย ตลอดจนการเมืองที่มีเสถียรภาพ ยกตัวอย่างเช่น เม็กซิโก ที่กำลังได้ประโยชน์จากการที่บริษัทในสหรัฐฯเข้าไปตั้งฐานการผลิตสินค้า เนื่องจากมีพรมแดนที่ติดกัน (Nearshoring) หรือ ประเทศอย่างอินเดีย อินโดนีเซียและเวียดนาม ที่เป็นมิตรทางการเมืองกับทุกฝ่ายและกลายเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการกระจายฐานการผลิตออกจากจีน (Friendshoring) เพื่อลดบทบาทของจีนที่เคยเป็นโรงงานของโลกและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการที่ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักอย่างที่เคยเกิดขึ้นช่วงวิกฤต COVID-19

3. หุ้น EM ได้ประโยชน์จากการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์

หลายประเทศในกลุ่ม EM ยังมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติที่หลากหลาย ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวขึ้น จะผลักดันให้ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ให้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและเป็นปัจจัยบวกต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์และส่งผลให้เศรษฐกิจในกลุ่ม EM เป็นผู้ได้รับประโยชน์ ยกตัวอย่างเช่น บราซิล ที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก เช่น น้ำมันพืช ถั่วเหลือง น้ำตาล กาแฟ หรือ ซาอุดิอาระเบีย ที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก รวมถึง อินโดนีเซีย ที่ส่งออกทั้งถ่านหิน ทองแดงและน้ำมันปาล์ม ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลในอดีตย้อนหลังไป 20 ปี พบว่า ตลาดหุ้น Emerging Markets มักมีความสัมพันธ์ (Correlation) เชิงบวกที่ค่อนข้างสูงกับทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยรวม

4. หุ้น EM การเติบโตสูง และ Valuation ไม่แพง

ปัจจุบัน Valuation ของตลาดหุ้นโลก (MSCI World Index) ปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับ Forward PE ราว 19.4 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ระดับ 18 เท่า หากนำมาเทียบกับตลาดหุ้น Emerging Markets ที่ยังซื้อขายอยู่ที่ระดับ Forward PE เพียงแค่ 13 เท่า สะท้อนให้เห็นว่า ตลาดหุ้นกลุ่ม Emerging Markets กำลังซื้อขาย “Discount” หุ้นโลกราว 33% ซึ่งถือเป็นส่วนต่างที่มากที่สุดนับตั้งแต่วิกฤต COVID-19 ปี 2020 ทั้งนี้ Bloomberg consensus คาดการณ์อัตราการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนของหุ้นกลุ่ม Emerging Markets ในปีนี้ว่าจะเติบโตได้อย่างโดดเด่นถึง +15.2% YoY สูงกว่าดัชนีตลาดหุ้นโลกที่คาดว่าจะเติบโตได้เพียงแค่ราว +5.5% YoY ถึง 3 เท่าตัว ทำให้ตลาดหุ้น EM มีโอกาส Outperform ตลาดหุ้นโลกในช่วงครึ่งปีหลัง

สำหรับนักลงทุนที่มีสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นจีนในพอร์ตมากแล้วและไม่ต้องการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นจีน สามารถจัดพอร์ตให้มีความสมดุลและเลือกลงทุนในธีม “Emerging

Markets ex China” เพื่อเพิ่มน้ำหนักประเทศอื่นๆในตลาดหุ้น Emerging Markets ที่มีศักยภาพในการเติบโตที่สูง เพื่อรับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในรอบนี้และจากอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่กำลังกลับทิศเป็นขาลง

 

บทความโดย ภาคภูมิ พีรยวัฒนา AFPT™

Senior Wealth Manager ธนาคารทิสโก้

บทความล่าสุด

ลงทุนกองทุนต่างประเทศแบบไหนดี ระหว่าง Hedge vs. Unhedge

โพสต์เมื่อ 22 ตุลาคม 2567

การลงทุนในกองทุนต่างประเทศ นอกจากต้องคำนึงถึงผลตอบแทนที่มาจากสินทรัพย์ลงทุนแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงไม่แพ้กัน นั่นคือ ผลตอบแทนที่มาจากอัตราแลกเปลี่ยน ที่มีผลกระทบต่อผลตอบแทนรวมที่จะได้รับด้วย

อ่านต่อ >>

สภาวะ Un-inversion กับโอกาสลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้น

โพสต์เมื่อ 22 ตุลาคม 2567

ภาวะ Un-inversion คือภาวะที่ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้ระยะยาวกับระยะสั้นที่คำนวณจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีและ 2 ปีที่เริ่มพลิกกลับมาเป็นบวก หรือเป็นรูปแบบ Yield curve ในภาวะปกติ

อ่านต่อ >>

4 ปัจจัยหนุนหุ้นไทยขึ้นต่อ รับดอกเบี้ยโลกขาลง

โพสต์เมื่อ 22 ตุลาคม 2567

ตลาดหุ้นไทยกลายเป็นตลาดที่น่าจับตามองหลังดัชนี SET Index ปรับตัวขึ้นมาบริเวณ 1,460 จุด หรือปรับตัวขึ้นนับจากจุดต่ำสุดกว่า 200 จุด ส่งผลให้ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยสร้างผลตอบแทนสูงถึง 8.8% และสูงสุดในประเทศกลุ่มอาเซียน

อ่านต่อ >>