กิจกรรม M&A กำลังจะกลับมา กลุ่ม Biotechnology ได้ประโยชน์สูงสุด

กิจกรรม M&A กำลังจะกลับมา กลุ่ม Biotechnology ได้ประโยชน์สูงสุด

นอกจากนวัตกรรมการค้นคว้ายาชนิดใหม่รวมถึงการนำเทคโนโลยีอย่าง AI เข้ามาช่วยในการวิจัยยารักษาโรคหายาก กิจกรรมการควบรวมกิจการ หรือ M&A ก็นับเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีความสำคัญต่อราคาหุ้นของกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology)

โดยข้อมูลจาก Janus Handerson แสดงให้เห็นการหดตัวลงของกิจกรรม M&A ในกลุ่ม Biotechnology ในช่วงปี 2021 – 2022 ซึ่งเป็นผลมาจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.อัตราดอกเบี้ยและต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นและ 2.แนวโน้มความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลให้บริษัทยาขนาดใหญ่ชะลอการควบรวมกิจการออกไป 

อย่างไรก็ตามเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวอีกครั้งของกิจกรรม M&A ของกลุ่ม Biotechnology ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะดีลขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าสูงกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กลับมาเพิ่มขึ้นและมีมูลค่าโดยรวมสูงถึง 1.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงสุดเป็นอันดับ 2 ในรอบทศวรรษเป็นรองเพียงแค่ในปี 2019 (ในช่วงการแพร่ระบาด COVID19) และยังคาดว่าในอนาคตกิจกรรม M&A ในกลุ่ม Biotechnology ยังจะฟื้นตัวต่อได้ด้วย 2 เหตุผลหลัก ดังนี้

1. บริษัทยาขนาดใหญ่กำลังเผชิญหน้ากับการหมดอายุของสิทธิบัตรยา หรือ Patent cliff

ข้อมูลจาก Bloomberg แสดงให้เห็นว่าภายในปี 2030 ยามากกว่า 170 ชนิดจะเผชิญหน้ากับการหมดอายุของสิทธิบัตร ส่งผลต่อยอดขายของผู้ผลิตยารายใหญ่ทั่วโลกโดยเฉพาะในสหรัฐฯและยุโรปกว่าปีละ 3.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้บริษัทยาต้องเร่งมือในการพัฒนายาใหม่หรือใช้ทางเลือกในการเข้าซื้อกิจการบริษัทที่มีการวิจัยยาที่สำเร็จหรือใกล้จะสำเร็จ(Phase3)แทน นอกจากนี้การทำ M&A จะช่วยให้บริษัทในกลุ่ม Biotechnology สามารถปลดปล่อยมูลค่าที่แท้จริง(Intrinsic value) ของนวัตกรรมที่อยู่นอกเหนืองบการเงินได้และจะสามารถช่วยเติมเต็มช่องว่างปัญหาสิทธิบัตรยา นอกจากนี้ EY ประเมินว่าในปีที่ผ่านมา ฝั่งผู้ซื้อกิจการจะเสนอคำสั่งซื้อบริษัทชีวภาพในราคาที่สูงกว่ามูลค่า (Premium) เฉลี่ย 71%

2. ราคาของกลุ่ม Biotech ยังอยู่ในระดับที่ถูกเมื่อเทียบกับ 2 ปีที่ผ่านมา

ผลกระทบจากเงินเฟ้อและดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลให้ราคาหุ้นทั้งโลกปรับตัวลง ดัชนี Nasdaq Biotechnology ยังอยู่ต่ำกว่าจุดสูงสุดในปี 2021 กว่า 24% กลายเป็นผลดีต่อผู้ซื้อในกลุ่มบริษัทยาขนาดใหญ่ที่ก่อนหน้านี้ถือเงินสดสำรองไว้เตรียมรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ สวนทางกับบริษัทด้านชีวภาพที่ยังคงเดินหน้าในการทำวิจัยยาใหม่ต่อเนื่อง และเมื่อความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจเริ่มลดลงบริษัทเหล่านี้เริ่มมองหาบริษัทที่มีนวัตกรรมที่น่าสนใจรวมถึงราคาที่ปรับตัวลงมาจากช่วงก่อนหน้า ทำให้บริษัทยาขนาดใหญ่สามารถเจรจาดีลได้ในราคาที่สมเหตุสมผลมากขึ้น

ตัวอย่างการควบรวมในปีที่ผ่านมา ดีลที่มีความน่าสนใจมากที่สุดคงหนีไม่พ้น ดีลการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท Pfizer ที่เป็นบริษัทยาขนาดใหญ่กับบริษัท Seagen ซึ่งเป็นบริษัทที่เชียวชาญด้านยารักษาโรคมะเร็ง โดยการควบรวมในครั้งนั้น Pfizer ได้ใช้เงินสดที่มีอยู่ในบริษัททำการซื้อ Seagen มูลค่ากว่า 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือเทียบเท่าราคา 229 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อหุ้น สูงกว่าราคาตลาดขณะนั้นที่ 172 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 33% ส่งผลให้ราคาหุ้น Seagen ปรับตัวเพิ่มขึ้นทันที 15% ในวันรุ่งขึ้น

อีกตัวอย่างที่พึ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อเดือน ก.พ. 2024 ที่ผ่านมา บริษัท Abbvie ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Abbott เข้าซื้อกิจการของ Immunogen ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความชำนาญด้าน antibody-drug conjugate (ADC) ที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความชำนาญเป็นอันดับต้นของโลก โดยการควบรวมครั้งนี้ช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์ยาที่เกี่ยวข้องกับการรักษาเนื้องอกและมะเร็งเม็ดเลือดให้กับ Abbvie โดย Abbvie ได้ทำคำเสนอซื้อ Immunogen ที่ราคา 31.26 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อหุ้น สูงกว่าราคาตลาดอยู่ที่ 15 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อหุ้น ส่งผลให้ราคาหุ้น Immunogen ปรับตัวขึ้นทันที 83% หลังตลาดทราบข่าว 

หากมองภาพในระยะยาวจะเห็นว่าการลงทุนในกลุ่ม Biotechnology เป็นหนึ่งในธีมการลงทุนที่น่าสนใจทั้งการเติบโตที่ชัดเจนในระยะยาวขณะที่มีปัจจัยสนับสนุนด้าน M&A ที่โดดเด่นในปีนี้ แต่นักลงทุนส่วนใหญ่มักจะมองข้ามการลงทุนในกลุ่มนี้เนื่องจากมองว่าเป็นกลุ่มที่เข้าใจยากเพราะต้องทำความเข้าใจในตลาดเทคโนโลยีชีวภาพ ทั้งขั้นตอนของการพัฒนายารวมถึงโอกาสการเติบโตในอนาคต ทำให้การลงทุนในกลุ่มนี้จำเป็นต้องอาศัยการลงทุนในกองทุนเชิงรุก (Active management fund) ที่ผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญรวมถึงจบการศึกษาตรงในด้านที่เกี่ยวข้องกับยาหรือเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งจะทำให้ช่วยให้คัดสรรบริษัทที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต รวมถึงการเติบโตของเงินลงทุนด้วย

file Source : Janus Henderson
file Source : Bloomberg, TISCO Wealth Advisory

 

 บทความโดย ยศรวี จงแสงทอง AFPT™

Senior Wealth Manager ธนาคารทิสโก้

บทความล่าสุด

4 ปัจจัยหนุนหุ้นไทยขึ้นต่อ รับดอกเบี้ยโลกขาลง

โพสต์เมื่อ 7 ตุลาคม 2567

ตลาดหุ้นไทยกลายเป็นตลาดที่น่าจับตามองหลังดัชนี SET Index ปรับตัวขึ้นมาบริเวณ 1,460 จุด หรือปรับตัวขึ้นนับจากจุดต่ำสุดกว่า 200 จุด ส่งผลให้ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยสร้างผลตอบแทนสูงถึง 8.8% และสูงสุดในประเทศกลุ่มอาเซียน

อ่านต่อ >>

4 เหตุผลที่ต้องมีหุ้น Healthcare ติดพอร์ตในไตรมาส 4

โพสต์เมื่อ 7 ตุลาคม 2567

วัฏจักรดอกเบี้ยขาลงได้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมากถึง 0.5% จากระดับ 5.25 - 5.5% สู่ระดับ 4.75 - 5% ซึ่งถือเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่มากกว่าตลาดคาด

อ่านต่อ >>

เปิดนโยบาย Trump vs Harris จับทิศการลงทุน

โพสต์เมื่อ 7 ตุลาคม 2567

ผ่านไปแล้วกับการขึ้นเวทีดีเบตระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ และ คามาลา แฮร์ริส ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้ง 2 ฝ่ายต่างแสดงวิสัยทัศน์และนโยบายที่จะใช้บริหารประเทศที่โดดเด่นและมีความแตกต่างกัน นโยบายของผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้นำคนสำคัญของโลกจะเป็นเข็มทิศสำคัญต่อการวางแผนการลงทุน

อ่านต่อ >>