3 ประโยชน์ดี ๆ ที่เราควรมี “ประกันโรคร้ายแรง”

file

หลายคนอาจคิดว่าสิทธิสวัสดิการของบริษัทนายจ้าง หรือประกันสุขภาพแบบเหมาจ่ายน่าจะเพียงพอ จึงไม่จำเป็นต้องซื้อประกันสุขภาพแบบอื่นเพิ่มเติม แต่หากเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงที่มีค่าใช้จ่ายสูง เช่น โรคมะเร็ง โรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดอุดตัน เป็นต้น อาจมีโอกาสที่วงเงินความคุ้มครองจะไม่เพียงพอต่อการรักษา อีกทั้งหลังการรักษาโรคร้ายแรง เมื่อสิ้นสุดการเป็นผู้ป่วยในของโรงพยาบาลแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จำเป็นช่วงหลังพักฟื้นด้วย ซึ่ง “ประกันโรคร้ายแรง” สามารถให้ผลประโยชน์เพิ่มเติมจากจุดอ่อนที่กล่าวมาได้ โดยมี 3 ผลประโยชน์หลักดังนี้

ผลประโยชน์ที่ 1 สำหรับประกันสุขภาพโรคร้ายแรง คือ ช่วยเสริมความคุ้มครองโรคร้ายแรงจากประกันสุขภาพแบบเหมาจ่ายที่มีวงเงินจำกัดได้ จากข้อมูลสถิติการเจ็บป่วยปีพ.ศ. 2564 โดยกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยค่าใช้จ่ายผู้ป่วยในทุกโรคโดยเฉลี่ยต่อครั้งสำหรับโรงพยาบาลรัฐฯ อยู่ที่ 15,500-64,000 บาท และจะสูงขึ้นไปถึงครั้งละ 80,000 บาทสำหรับค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลเอกชน หากสมมติเจ็บป่วยประมาณ 3-5 ครั้งต่อปี ก็ดูเหมือนจะเพียงพอที่จะทำประกันสุขภาพบนวงเงิน 5 แสนบาทต่อปี แต่ค่ารักษาที่มักจะบานปลายส่วนใหญ่เกิดจากโรคร้ายแรงเป็นหลักซึ่งประกันสุขภาพที่วงเงินเพียง 5 แสนบาทอาจไม่เพียงพอ โดยบริษัท Roche หนึ่งในบริษัทยาชั้นนำของโลกประมาณค่ารักษาโรคมะเร็งเริ่มต้นที่การผ่าตัด 2 แสนบาท ไปจนถึงการใช้ยารักษาแบบพุ่งเป้า (Targeted therapy) ที่มีค่าใช้จ่ายสูงราว 2 ล้านบาทซึ่งสูงกว่าค่าใช้จ่ายโรคทั่วไปเฉลี่ยหลายเท่า ซึ่งประกันโรคร้ายแรงนั้นสามารถให้ความคุ้มครองสูงเพียงพอที่จะนำเงินไปรักษากลุ่มโรคร้ายแรงนี้ได้ เมื่อเทียบค่าเบี้ยประกันสุขภาพแบบเหมาจ่ายที่เท่า ๆ กัน

ผลประโยชน์ที่ 2 คือ การให้ความคุ้มครองเป็นเงินก้อนแก่ผู้เอาประกันโดยตรง เพราะโดยทั่วไปหลังจากการรักษาโรคร้ายแรงเสร็จสิ้นก็อาจมีผลข้างเคียงจากการรักษาจนส่งผลการดำรงชีวิตซึ่งอาจสูญเสียความสามารถในการหารายได้ หรือมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเพื่อรักษาคุณภาพชีวิตหลังพักฟื้น เช่น ค่าใช้จ่ายรายเดือนภายในครอบครัว, บริการพยาบาลส่วนตัว, การปรับปรุงบ้านให้เหมาะสมกับผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุ หรือแม้กระทั่งโอกาสในการรักษาโดยแพทย์ทางเลือกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพจากการรักษาแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งการเบิกเคลมประสุขภาพแบบเหมาจ่ายหรือการใช้สวัสดิการจะเป็นการจ่ายค่ารักษาต่าง ๆ ให้โรงพยาบาลโดยตรงตามจริง แต่ประกันโรคร้ายแรงจะให้ผู้เอาประกันเป็นเงินก้อนโดยตรงทำให้เราสามารถวางแผนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากในโรงพยาบาลที่กำลังรักษาได้อีกด้วย

ทั้งนี้สำหรับการเลือกซื้อประกันโรคร้ายแรงที่อยากให้พิจารณาเพิ่มเติม เพื่อสร้างผลประโยชน์ที่ 3 คือ เลือกประกันโรคร้ายแรงที่สามารถรับเงินก้อนเพิ่มเติม หากตรวจพบโรคร้ายแรงต่างกลุ่มโรคพร้อมกันโดยไม่มีระยะเวลารอคอยได้ เพราะโรคร้ายแรงแต่ละกลุ่มโรคมีโอกาสตรวจเจอซ้ำซ้อนกันได้ เช่น ผู้สูงอายุเป็นมะเร็งและอยู่ในช่วงรักษาโรคมะเร็งด้วยเคมีบำบัดอาจมีร่างกายอ่อนแอลง ทำให้ขาดการออกกำลังกาย จนเกิดปัญหาไขมันสูงเป็นความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้อีก ซึ่งประโยชน์ของการแยกความคุ้มครองแต่ละกลุ่มโรค คือ เมื่อได้รับเงินก้อนจากการตรวจพบว่าเป็นมะเร็งไปแล้ว ยังมีโอกาสที่จะได้รับเงินก้อนหากมีการตรวจพบกลุ่มโรคร้ายแรงอื่นได้เพิ่มเติมด้วย ซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่โดดเด่นที่สุดเพราะไม่มีประกันสุขภาพแบบเหมาจ่ายที่ไหนให้แบบนี้ได้

เห็นได้ว่าประกันสุขภาพที่คุ้มครองโรคร้ายแรงเพิ่มเติม จะช่วยสร้างผลประโยชน์ความคุ้มครองเพิ่มเติมจากประกันสุขภาพแบบเหมาจ่าย และคุ้มค่ากว่าการซื้อประกันสุขภาพแบบเหมาจ่ายเพิ่มเติม เพราะโรคร้ายแรงมีค่ารักษาพยาบาลสูง และโรคประเภทนี้ยังมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ทั้งโรคเดิมหรือต่างกลุ่มโรค อีกทั้งยังต้องใช้เงินทุนเพื่อปรับคุณภาพชีวิตหลังการรักษา ซึ่งการได้รับเงินก้อนมาบริหารค่าใช้จ่ายได้ด้วยตัวเองก็เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยที่จะกำหนดคุณภาพชีวิตที่ดี และเหมาะสมกับทั้งตัวผู้ป่วยและครอบครัวด้วย

หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ prtisco@tisco.co.th  I

บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ CFP®

Wealth Manager ธนาคารทิสโก้

เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ

บทความล่าสุด

Biotech หุ้นนวัตกรรมยายุคใหม่ ที่ต้องมีไว้ในพอร์ต

โพสต์เมื่อ 27 เมษายน 2567

หากนึกถึงหุ้นกลุ่ม Healthcare นักลงทุนส่วนใหญ่มักนึกถึงบริษัทยาขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงแต่มีการเติบโตที่ช้า ทำให้นักลงทุนมักเหมารวมหุ้นกลุ่ม Healthcare เป็นหุ้นกลุ่ม Defensive ที่ไม่ได้คาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงและเป็นเพียงแค่หลุมหลบภัยในช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวนเท่านั้น

อ่านต่อ >>

หุ้นกลุ่ม Healthcare ทวงคืนตำแหน่ง Top Performer บนเวทีหุ้นโลก

โพสต์เมื่อ 27 เมษายน 2567

ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา หุ้นกลุ่ม Healthcare กลับมาสร้างผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่น จากแนวโน้มการเติบโตที่คาดว่าจะสูงกว่าตลาดโดยรวมในปีนี้ ในขณะที่ยังซื้อขายในระดับราคาที่ไม่แพงโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกลุ่มเทคโนโลยีที่เติบโตในระดับใกล้เคียงกัน ทำให้ปีนี้มีโอกาสสูงที่กลุ่ม Healthcare จะกลับมาทวงคืนตำแหน่ง Top Performer บนเวทีตลาดหุ้นโลก

อ่านต่อ >>

ปรับพอร์ตสร้างกำไร ขายหุ้นสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น เบนเข็มลงทุน “หุ้น Asia ex Japan”

โพสต์เมื่อ 27 เมษายน 2567

ในปี 2024 เศรษฐกิจโลกภาพรวมเติบโตดีกว่าคาด โดยภูมิภาคที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดคือ ภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่จะเติบโตได้ดีในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว และยังเป็นปีแห่งโอกาส

อ่านต่อ >>