3 ตัวช่วยวางแผนการเงินสำหรับชาว Sandwich Generation

file

ปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นและเกี่ยวเนื่องมาจากสังคมผู้สูงอายุ คือ Sandwich Generation หรือคนช่วงวัย Sandwich ซึ่งเป็นที่กล่าวถึงมากในยุคปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย เพราะคนช่วงวัยนี้จะเป็นเสาหลักครอบครัวที่กำลังเผชิญแรงบีบอัดจากครอบครัวด้านบนที่เป็นตัวแทนรุ่นบุพการี และด้านล่างที่เป็นตัวแทนบุตรหลานตนเอง โดยทั่วไปแล้ววัย Sandwich นี้มักอยู่ในช่วงอายุ 35-45 ปี เพราะต้องดูแลทั้งบุตรตนเองและอาจรวมไปถึงบุพการีที่รายได้หลังเกษียณไม่เพียงพอใช้ชีวิตยามบั้นปลายด้วย

ดังนั้นภาระค่าใช้จ่ายของคนวัยนี้มักจะมากกว่าวัยอื่น และมีโอกาสให้ผิดพลาดได้ไม่มาก ทำให้การวางแผนการเงินมีความจำเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจต้องอาศัย 3 ตัวช่วยบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม เพื่อให้ครอบครัวชาว Sandwich สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่สมาชิกครอบครัวและตนเองต้องการได้ ดังนี้

1.ประกันชีวิตเพื่อการปรับตัวของครอบครัว

เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับครอบครัวที่ขาดเสาหลักคือขาดรายได้มาหล่อเลี้ยงคนในครอบครัว ดังนั้นควรมีหลักประกันเพื่อมั่นใจได้ว่าหากคนวัย Sandwich ที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้ครอบครัวจากไปก่อนวัยอันควร สมาชิกครอบครัวที่เหลือยังมีเงินทุนเพื่อการปรับตัวก่อนที่สมาชิกครอบครัวที่เหลือสามารถสร้างรายได้ทดแทนในอนาคต ซึ่งจำนวนเงินอาจคำนวณได้ง่าย ๆ จากค่ายใช้จ่ายทั้งหมดของครอบครัวต่อปีที่ส่งเสีย คูณด้วยจำนวนปีที่ต้องการปรับตัว เช่น หากมีสมาชิกในครอบครัวนอกจากตนเอง 4 คนมีค่าใช้จ่ายรวมปีละ 1 ล้านบาท หากมีบุตรคนโตกำลังจะเรียนจบพร้อมกับคาดว่าคู่สมรสสามารถหารายได้มาทดแทนภายใน 10 ปี ก็ต้องทยอยรวบรวมเงินทุนเตรียมไว้ให้ถึง 10 ล้านบาท

โดยปกติการเก็บเงินจำนวนนี้ในระยะเวลาอันสั้นและมีภาระค่าใช้จ่ายอยู่ก่อนแล้ว คงเป็นเรื่องยากสำหรับสมาชิกในครอบครัวที่เหลืออยู่ ซึ่งการใช้ประกันชีวิตชั่วระยะเวลาสามารถให้เงินทุน 10 ล้านบาททันทีเมื่อเสาหลักจากไปด้วยค่าเบี้ยประกันราว 7,500 บาทต่อเดือนในวัย 35-45 ปีเท่านั้น และควรทำประกันชีวิตชั่วระยะเวลาตามอายุของทรัพย์สินที่ยังติดจำนองอยู่เพิ่มเติม เพื่อคุ้มครองหนี้สินและไม่เป็นภาระของสมาชิกในครอบครัวเมื่อเสาหลักจากไป และหากเราต้องการวางแผนมรดกให้บุตรในอนาคต เราก็สามารถซื้อประกันชีวิตแบบตลอดชีพจนถึงอายุ 99 ปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเมื่อเราจากไปสมาชิกในครอบครัวจะได้รับเงินมรดกตามเป้าหมายที่เราต้องการได้โดยไม่เป็นภาระทางภาษีเพิ่มเติม

2.ประกันสุขภาพและโรคร้ายแรง

แน่นอนว่าปัจจัยสำคัญของการบริหารความเสี่ยงภายในครอบครัว คือ การลดความเสี่ยงที่ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นหรือรายได้ลดลง โดยในอีกกรณีหนึ่งแม้เสาหลักยังมีชีวิตอยู่ แต่อาจเกิดเหตุด้านสุขภาพทำให้สูญเสียความสามารถในการหารายได้มาจุนเจือครอบครัว สิ่งที่ต้องปิดความเสี่ยงค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นและรายได้ลดลงคือวางแผนประกันสุขภาพ โดยเลือกประกันสุขภาพที่มีความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล, ค่าห้องพักในโรงพยาบาล แบบเหมาจ่ายรายปี เพราะจะได้มีวงเงินรักษาพยาบาลต่อเนื่องและไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาที่เพิ่ม และหากประกอบอาชีพอิสระที่อาจสูญเสียรายได้หากเจ็บป่วย ก็ควรมีความคุ้มครองชดเชยรายได้เพื่อมาสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนในครอบครัวระหว่างที่รักษาตัวด้วย นอกจากนี้ก็ควรวางแผนประกันสุขภาพให้คนในครอบครัวเพิ่มเติม โดยเฉพาะครอบครัวที่มีบุตรช่วงอายุปฐมวัยและบุพการีที่ยังสามารถทำประกันสุขภาพได้

3.ประกันอุบัติเหตุสำหรับผู้สูงอายุ

เพราะความรุนแรงของผลกระทบทั้งร่างกายคนในครอบครัวและค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาผู้สูงอายุจะสูงกว่าคนวัยหนุ่มสาว เนื่องจากความแข็งแรงของร่างกายเสื่อมถอยลง ซึ่งสถิติการเจ็บป่วยจากปัจจัยภายนอกของผู้สูงอายุของกรมกิจการผู้สูงอายุ ปี พ.ศ.2564 ระบุว่าเกิดจากอุบัติเหตุพลัดตก หกล้ม เป็นอันดับ 1 หรือกว่า 60,000 ราย และมีโอกาสที่ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลจะเพิ่มขึ้นหากมีภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วย

ทั้งหมดนี้คือ 3 ตัวช่วยในการบริหารความเสี่ยงของชาว Sandwich ที่เป็นเสาหลักครอบครัวในการลดผลกระทบจากเหตุต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับทั้งตนเองและสมาชิกในครอบครัว ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้ค่าใช้จ่ายของครอบครัวเพิ่มขึ้น โดยควรจัดลำดับปิดความเสี่ยงก่อนหรือหลังความสำคัญจากผลกระทบต่อครอบครัวมากที่สุดเป็นอันดับแรก ดังนั้นควรวางแผนเพื่อปิดความเสี่ยงเสาหลักครอบครัวก่อนอย่างประกันชีวิต เพื่อให้มีเงินทุนในการปรับตัวสำหรับครอบครัวยามที่เสาหลักครอบครัวจากไปก่อนวัยอันควร และควบคู่กับการใช้ประกันสุขภาพ เพื่อรองรับค่ารักษาพยาบาลและเงินชดเชยรายได้เพื่อให้ไม่กระทบต่อค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของครอบครัวที่จำเป็น

หลังจากนั้นอาจเสริมด้วยประกันอุบัติเหตุสำหรับผู้สูงอายุ เพราะมีโอกาสที่จะเกิดเหตุและความรุนแรงของผลกระทบด้านร่างกายที่อาจมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นกว่าคนวัยอื่น และสุดท้ายคือประกันบำนาญเพื่อสร้างกระแสเงินสดสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นหลังเกษียณ ซึ่งทำให้เราไม่ตกเป็นภาระของบุตรหลานที่อาจเติบโตมาเป็นเสาหลักของครอบครัวในอนาคต และเป็นส่วนหนึ่งในการลดปรากฏการณ์คนวัย Sandwich ได้อีกด้วย

หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ prtisco@tisco.co.th  I

บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ CFP® Wealth Manager ธนาคารทิสโก้

เผยแพร่ครั้งแรก เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ

บทความล่าสุด

Biotech หุ้นนวัตกรรมยายุคใหม่ ที่ต้องมีไว้ในพอร์ต

โพสต์เมื่อ 27 เมษายน 2567

หากนึกถึงหุ้นกลุ่ม Healthcare นักลงทุนส่วนใหญ่มักนึกถึงบริษัทยาขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงแต่มีการเติบโตที่ช้า ทำให้นักลงทุนมักเหมารวมหุ้นกลุ่ม Healthcare เป็นหุ้นกลุ่ม Defensive ที่ไม่ได้คาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงและเป็นเพียงแค่หลุมหลบภัยในช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวนเท่านั้น

อ่านต่อ >>

หุ้นกลุ่ม Healthcare ทวงคืนตำแหน่ง Top Performer บนเวทีหุ้นโลก

โพสต์เมื่อ 27 เมษายน 2567

ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา หุ้นกลุ่ม Healthcare กลับมาสร้างผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่น จากแนวโน้มการเติบโตที่คาดว่าจะสูงกว่าตลาดโดยรวมในปีนี้ ในขณะที่ยังซื้อขายในระดับราคาที่ไม่แพงโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกลุ่มเทคโนโลยีที่เติบโตในระดับใกล้เคียงกัน ทำให้ปีนี้มีโอกาสสูงที่กลุ่ม Healthcare จะกลับมาทวงคืนตำแหน่ง Top Performer บนเวทีตลาดหุ้นโลก

อ่านต่อ >>

ปรับพอร์ตสร้างกำไร ขายหุ้นสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น เบนเข็มลงทุน “หุ้น Asia ex Japan”

โพสต์เมื่อ 27 เมษายน 2567

ในปี 2024 เศรษฐกิจโลกภาพรวมเติบโตดีกว่าคาด โดยภูมิภาคที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดคือ ภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่จะเติบโตได้ดีในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว และยังเป็นปีแห่งโอกาส

อ่านต่อ >>