จับจังหวะทำกำไร กับขาขึ้นรอบใหม่ของตลาดหุ้น Asia

file
file

 

ตลาดหุ้นเอเชีย (Asia ex Japan) ถือเป็นตลาดหุ้นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงไม่แพ้ตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Markets) โดยเฉพาะในฝั่งของภาคการผลิตที่บริษัทยักษ์ใหญ่จากภูมิภาคเอเชีย ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในหลายอุตสาหกรรมการผลิตของโลก ไม่ว่าจะเป็น เซมิคอนดักเตอร์ รถยนต์ไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนเครื่องจักรอุตสาหกรรม ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลก มักจะมีผลต่อทิศทางของตลาดหุ้นเอเชีย

ปัจจุบัน เศรษฐกิจโลกมีโอกาสกลับมาเข้าสู่โหมดฟื้นตัว (Recovery) อีกครั้ง โดยดัชนีที่เป็น “Leading indicator” ในการบอกแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้าก็คือ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม (Global Composite Purchasing Manager Index) ซึ่งเป็นสำรวจแนวโน้มคำสั่งซื้อของผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อทั้งในภาคการผลิตและภาคบริการทั่วโลก หากดัชนีดังกล่าวอยู่ที่ระดับเกิน 50 จุด มักจะบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจกำลังขยายตัว นอกจากนี้ หากดัชนีมีการเร่งตัวขึ้นเกินระดับ 50 จุดอย่างต่อเนื่องในแต่ละเดือน ก็จะยิ่งถือเป็นสัญญาณที่บ่งชี้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้าได้เป็นอย่างดี

ย้อนกลับไปในอดีต 10 ปีที่ผ่านมา ในช่วงที่ดัชนี Global Composite PMI ขยายตัวและมีการเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง มักจะเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นเอเชียสามารถสร้างผลตอบแทนเอาชนะ (Outperform) ตลาดหุ้นโลกได้ ยกตัวอย่างเช่น ช่วงปี 2016-2017 ซึ่งเศรษฐกิจโลกเริ่มมีการฟื้นตัวจากวิกฤตราคาน้ำมันและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวขึ้น 47% ชนะตลาดหุ้นโลกที่เพิ่มขึ้นราว 31% หรือ ในช่วงปลายปี 2020 ที่เริ่มมีการเปิดเมือง หลังจากที่เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับวิกฤต COVID-19 ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวขึ้น 60% มากกว่าตลาดหุ้นโลกที่เพิ่มขึ้นประมาณ 47% ในช่วงเวลาเดียวกัน

ล่าสุด ดัชนี Global Composite PMI เริ่มส่งสัญญาณว่า เศรษฐกิจโลกกำลังกลับมาเข้าสู่โหมดฟื้นตัว (Recovery) อีกครั้ง โดยยืนอยู่เหนือระดับ 50 จุด อีกทั้งยังมีการเร่งตัวขึ้น 5 เดือนติดต่อกันจาก 50 จุดในเดือน ต.ค. ปี 2023 ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 52.1 จุดในเดือน ก.พ. 2024 ซึ่งหากแนวโน้มดังกล่าวยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง นี่อาจเป็นสัญญาณขาขึ้นรอบใหม่ของตลาดหุ้นเอเชีย

นอกจากนี้ ในปี 2024 ที่นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ทั่วโลกต่างมีมุมมองที่สอดคล้องกันว่า จะเป็นปีแห่งการ “ลดดอกเบี้ย” เนื่องจาก อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นตลอดสองปีที่ผ่านมาได้ปรับตัวลดลงกลับมาใกล้เคียงกับเป้าหมายของธนาคารกลางทั่วโลกแล้ว ส่งผลให้แบงค์ชาติทั่วโลก นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เริ่มส่งสัญญาณว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง

จากสถิติย้อนหลังไปจนถึงปี 1989 พบว่า หลังจากที่ Fed เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย ตลาดหุ้นเอเชียมักจะปรับตัวขึ้นได้มากกว่า (Outperform) ตลาดหุ้นโลก โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในช่วง 12 เดือนที่สูงถึง 19% เปรียบเทียบกับ ตลาดหุ้นโลก ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในช่วงเวลาเดียวกันเพียงแค่ 9% สะท้อนให้เห็นว่า หุ้นเอเชียเป็นตัวเลือกในการเข้าลงทุนที่ดีกว่าตลาดหุ้นโลก ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยของโลกเข้าสู่วัฏจักรขาลง

ในแง่มุมของ Valuation ตลาดหุ้นเอเชียยังคงซื้อขายบน Forward PE เพียงแค่ 13 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวและเป็นระดับ PE ที่ “Discount” ตลาดหุ้นโลกมากถึง 30% ซึ่งเป็นการ Discount ที่ใกล้เคียงกับช่วงวิกฤต COVID-19 ปี 2020 ในขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นเอเชียยังมีความน่าสนใจจากการเติบโตของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่โดดเด่นกว่าตลาดหุ้นโลก อ้างอิงข้อมูลจาก Bloomberg Consensus ที่มีการคาดการณ์ว่า การเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ของตลาดหุ้นเอเชียในปีนี้จะสูงถึง +18% YoY ซึ่งมากกว่า EPS Growth ของตลาดหุ้นโลกซึ่งอยู่ที่เพียงแค่ +6% YoY เท่านั้น

การลงทุนในรูปแบบของ “กลุ่มประเทศ” อย่างตลาดหุ้นเอเชีย จึงถือเป็นทั้งการกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนในประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตสูง อย่างไรก็ตาม การคัดเลือกหุ้นลงทุนในตลาดหุ้นเอเชีย รวมถึงการปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปตามสภาวะเศรษฐกิจของแต่ละประเทศและอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน อาจเป็นงานที่ไม่ง่ายนักสำหรับนักลงทุน จึงต้องอาศัยกลยุทธ์การลงทุนแบบ “Active management” ในการบริหาร ดังนั้น กองทุนรวมประเภท Active Fund จึงถือเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมกับการลงทุน เพื่อคว้าโอกาสทำกำไรจากขาขึ้นรอบใหม่ของตลาดหุ้นเอเชีย

 

บทความโดย ภาคภูมิ พีรยวัฒนา AFPT™

Senior Wealth Manager ธนาคารทิสโก้

บทความล่าสุด

ลงทุนกลุ่ม Global Quality สร้างผลตอบแทนได้แม้ในยามผันผวน

โพสต์เมื่อ 7 กันยายน 2567

ตลาดหุ้นทั่วโลกเผชิญความผันผวนสูงในช่วงเดือนที่ผ่านมา เป็นสัญญาณชี้ว่าตลาดหุ้นมีความอ่อนไหวต่อตัวเลขเศรษฐกิจและประเด็นต่าง ๆ มากขึ้น การลงทุนในช่วงนี้จึงควรเน้นลงทุนในกลุ่มหุ้นที่มีคุณภาพสูง (Quality) มีความแข็งแกร่งและยังสามารถสร้างผลตอบแทนได้ท่ามกลางความผันผวน

อ่านต่อ >>

จัดพอร์ตแบบไหน ไม่ต้องกลัวตลาดผันผวน

โพสต์เมื่อ 7 กันยายน 2567

นับตั้งแต่ต้นเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกกลับมาเผชิญความผันผวนที่รุนแรงอีกครั้ง โดยมีชนวนเหตุมาจากตัวเลขอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ที่ออกมาสูงกว่าคาด ส่งผลให้ตลาดกลับมากังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย

อ่านต่อ >>

Thai ESG เวอร์ชั่นใหม่ น่าสนใจมากขึ้น

โพสต์เมื่อ 7 กันยายน 2567

กองทุน Thai ESG หรือ กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืนเป็นตัวเลือกการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการทั้งผลตอบแทนและความยั่งยืนไปพร้อมกัน รวมถึงการลดหย่อนภาษี ซึ่งกำหนดให้ลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ของไทย ตามหลักการ ESG

อ่านต่อ >>