นโยบายเปลี่ยนทิศ ตลาดหุ้นเปลี่ยนทาง เวียดนาม Comeback

file

ตลาดหุ้นเวียดนาม ถือเป็นอีกหนึ่งตลาดหุ้นต่างประเทศที่เป็นขวัญใจของนักลงทุนชาวไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา สะท้อนจากความนิยมในการลงทุนผ่านกองทุนรวม ตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศที่มีหลักทรัพย์อ้างอิง (DR) และหลักทรัพย์รายตัว โดยในปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นเวียดนามได้ปรับตัวลดลงอย่างหนักราว 33% กลายเป็นหนึ่งในตลาดหุ้นที่ผลตอบแทนแย่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก อันเนื่องมาจากภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นทั่วโลกที่กดดันให้ ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 4% สู่ระดับ 6% เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินและควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น อีกทั้งเวียดนามยังเผชิญกับปัญหาสภาพคล่องในภาคอสังหาริมทรัพย์จากการปราบปรามการทุจริตของภาครัฐ ส่งผลให้ในปีที่แล้วนักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่นต่อตลาดหุ้นเวียดนามไปพอสมควร

อย่างไรก็ตาม นโยบายการเงินที่เปลี่ยนทิศจากโหมด “เข้มงวด” มาสู่ “ผ่อนคลาย” รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐและการออกกฎหมายเพื่อสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีปัญหาการขาดสภาพคล่อง ถือเป็นปัจจัยที่ได้กลับมาสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนอีกครั้ง สะท้อนผ่านดัชนีตลาดหุ้นเวียดนาม (VN Index) ที่ปรับตัวขึ้นราว 10% นับตั้งแต่ต้นปี ด้วย Valuation ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ Upside ในการลงทุนตลาดหุ้นเวียดนามยังคงมีความน่าสนใจ โดยมี 3 ปัจจัยที่จะสนับสนุนตลาดหุ้นเวียดนามในระยะถัดไป ดังนี้้

ปัจจัยแรก คือ นโยบายการเงินที่กลับมา “ผ่อนคลาย” จากอัตราดอกเบี้ยที่เข้าสู่ขาลง โดยนับตั้งแต่ต้นปี ธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Refinancing rate) ลง 3 ครั้งติดต่อกันจาก 6% สู่ระดับ 4.5% เพื่อสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อและกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อของเวียดนามได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยลดลงจากต้นปีที่ี่ 4.89% ลงมาอยู่ที่ 2.43% ในเดือนพ.ค. จากราคาอาหารและพลังงานที่ปรับตัวลดลง ประเด็นดังกล่าวถือเป็นแรงสนับสนุนให้ธนาคารกลางเวียดนามไม่จำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดอีกต่อไป เนื่องจากเงินเฟ้อลงมาอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ 4.5% เป็นอย่างมาก

ปัจจัยที่สอง คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ยกตัวอย่างเช่น แผนการปรับลด VAT ของรัฐบาลเวียดนามจาก 10% ลงเป็น 8% ที่คาดว่าจะเริ่มในวันที่ 1 ก.ค. 2023 ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอยสินค้าภายในประเทศ ในขณะที่ เวียดนามยังมีอัตราส่วนหนี้สินของภาครัฐต่อ GDP ที่ต่ำเพียงแค่ 44.3% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศอาเซียนที่ 52% ทำให้เวียดนามยังมีช่องว่างในการเพิ่มเม็ดเงินการลงทุนภาครัฐเพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศได้

ปัจจัยที่สาม คือ ความกังวลในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง หลังจากที่รัฐบาลเวียดนามได้ออกกฎหมาย “Decree 8/2023” เพื่อบรรเทาความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ โดยอนุญาตให้บริษัทผู้ออกตราสารหนี้ยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไปได้ 2 ปี โดยต้องได้รับความยินยอมจากผู้ถือหุ้นกู้ก่อนและอนุญาตให้ผู้ออกตราสารหนี้ สามารถชำระหนี้ได้ด้วยสินทรัพย์ที่ไม่ใช่เงินสด รวมถึงได้มีการผ่อนคลายความเข้มงวดในการออกตราสารหนี้ชุดใหม่ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและลดความเสี่ยงการขาดสภาพคล่องของธุรกิจภายในประเทศ

ปัจจุบัน ภาคอสังหาริมทรัพย์ของเวียดนามได้เห็นสัญญาณการฟื้นตัวจากยอดการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 1/2023 ที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับยอดอนุมัติการเปิดโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ฟื้นตัวขึ้น ในขณะที่ ปัญหาหนี้เสี้ย (NPL) ในระบบธนาคารพาณิชย์ในช่วงไตรมาส 1/2023 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.9% ต่ำกว่าระดับ NPL เป้าหมายของภาครัฐที่ 3% สะท้อนให้เห็นว่าความเสี่ยงในระบบการเงินของเวียดนามยังอยู่ในระดับที่ต่ำ

ในฟากฝั่งของตลาดหุ้น พบว่าปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นเวียดนามเริ่มกลับมาแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน สอดคล้องกับ ตัวเลขการเปิดบัญชีหุ้นของนักลงทุนรายย่อย ซึ่งคิดเป็นกว่า 90% ของปริมาณซื้อขายของตลาด ที่เพิ่มขึ้นแตะระดับ 104,624 บัญชี สูงสุดในรอบ 9 เดือน แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่กลับมาอีกครั้ง

แม้จะเผชิญแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว แต่ Bloomberg Consensus ยังคงประมาณการณ์การเติบโตกำไรของบริษัทจดทะเบียนของเวียดนามในปี 2023 ไว้ที่ 12% และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องอีก 25% ในปี 2024 ทำให้ ณ ระดับราคาปัจจุบัน Valuation ของตลาดหุ้นเวียดนามยังคงซื้อขายที่ Forward PE เพียงแค่ 10 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 12.5 เท่าอยู่ประมาณ 25% 

เรามองว่าจุดต่ำสุดของตลาดหุ้นเวียดนามได้ผ่านไปแล้วและราคาหุ้น ณ ระดับปัจจุบันยังมีความน่าสนใจในการลงทุน เนื่องจากตลาดยังไม่ได้ซึมซับปัจจัยบวกจากนโยบายการเงินที่กลับมาผ่อนคลาย มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง ความกังวลในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่คลี่คลายลง ตลอดจนการฟื้นตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียนในช่วงครึ่งปีหลัง

สำหรับนักลงทุนที่สนใจการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม การเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวมหุ้นเวียดนามหรือตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศที่มีหลักทรัพย์อ้างอิง (DR) ถือเป็นช่องทางที่น่าสนใจ ทั้งในแง่ของความสะดวกรวดเร็วในการซื้อขายและการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนสามารถสร้างผลตอบแทนที่ยอดเยี่ยมไปกับตลาดหุ้นเวียดนาม “The Rising Star of Asia” ได้ในระยะยาว

 

บทความโดย ภาคภูมิ พีรยวัฒนา AFPT™ 

Wealth Manager ธนาคารทิสโก้

เผยแพร่ครั้งแรก เว็บไซต์ setinvestnow

บทความล่าสุด

จับตาการกลับมาของหุ้นจีน

โพสต์เมื่อ 17 พฤษภาคม 2567

หุ้นจีนถูกจับตามองอีกครั้งหลังฟื้นตัวขึ้นมาอย่างโดดเด่นในปีนี้ ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่เริ่มฟื้นตัว ในขณะที่มูลค่าหุ้นจีนยังอยู่ในระดับที่ถูกมาก ซึ่งหากเศรษฐกิจจีนยังฟื้นตัวต่อเนื่องนับจากนี้ มีโอกาสที่จีนประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ จะเรียกคืนความเชื่อมั่นกลับมายืนได้อีกครั้งบนเวทีการลงทุนโลก

อ่านต่อ >>

กิจกรรม M&A กำลังจะกลับมา กลุ่ม Biotechnology ได้ประโยชน์สูงสุด

โพสต์เมื่อ 17 พฤษภาคม 2567

นอกจากนวัตกรรมการค้นคว้ายาชนิดใหม่รวมถึงการนำเทคโนโลยีอย่าง AI เข้ามาช่วยในการวิจัยยารักษาโรคหายาก กิจกรรมการควบรวมกิจการ หรือ M&A ก็นับเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีความสำคัญต่อราคาหุ้นของกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology)

อ่านต่อ >>

FDA อนุมัติยาสูงสุดในรอบ 5 ปี โอกาสทองลงทุน Biotech

โพสต์เมื่อ 17 พฤษภาคม 2567

FDA สหรัฐฯ กลับมาอนุมัติยาสูงสุดในรอบ 5 ปี ( FDA คือ องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ) โดยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนยาที่ได้รับอนุมัติจาก FDA เพิ่มขึ้นถึง 100% โดยเฉพาะปี 2023 ที่ FDA มีการอนุมัติยาสูงสุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่ 55 รายการ

อ่านต่อ >>