Alzheimer...โรคร้ายวัยเกษียณ ที่ไม่ใช่แค่การหลงลืม   

file

              ในยุคที่ประชากรทั่วโลกมีอายุยืนยาวขึ้นจากนวัตกรรมทางการแพทย์ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาพยาบาล ทำให้อายุขัยเฉลี่ย (Life Expectancy) เพิ่มขึ้นจาก 73 ปี ในปี ค.ศ. 2023 เป็น 82 ปี ในปี ค.ศ. 2100 ซึ่งเท่ากับว่าเราจำเป็นต้องเตรียมเงินไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณที่มากขึ้น นอกจากนั้นด้วยอายุขัยที่ยาวนานขึ้นยังทำให้มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคผู้สูงอายุอย่างโรคAlzheimerเพิ่มขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะมีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมหรือ Alzheimer ราว 1 ใน 14 ราย และสัดส่วนดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สู่ระดับ 1 ต่อ 6 รายในช่วงอายุ 80 ปี หรือคิดเป็นราว 16% และเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 85 ปี พบว่ามีความเสี่ยงเป็น Alzheimer มากถึง 40% เลยทีเดียว

โรค Alzheimer เป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม ซึ่งความเสี่ยงที่จะเป็นโรค Alzheimer จะเพิ่มขึ้นตามอายุ หรืออาจเกิดจากการติดต่อทางพันธุกรรม โดยสมาคมโรค Alzheimer หรือ Alzheimer’s Association International Conference (AAIC) รายงานตัวเลขประมาณการแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยโรค Alzheimer พบว่า ในปี 2019 มีจำนวนผู้ป่วยราว 57.6 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 152.8 ล้านคน ในปี 2050 หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึงราว 2.5 เท่า และสำหรับในประเทศไทยคาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคAlzheimerมากถึงราว 2.4 ล้านคนในปี 2050 เพิ่มขึ้นมากถึง 3.56 เท่า จากปี 2019 และจากสถิติพบว่าหากผู้ป่วยที่มีอาการโรคสมองเสื่อมหรือ Alzheimer มักจะมีชีวิตอยู่ได้อีกราว 7 – 10 ปีเท่านั้น

อาการของผู้ป่วย Alzheimer อาจแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ โดยในระยะแรก ผู้ป่วยจะเริ่มมีความจำถดถอยจนตัวเองรู้สึกได้ พูดเรื่องเดิมซ้ำ สับสนทิศทาง และเริ่มมีอาการของโรคซึมเศร้า แต่ยังสามารถสื่อสารและทำกิจวัตรประจำวันได้ ในระยะที่ 2 หรือระยะกลาง ผู้ป่วยจะมีอาการที่รุนแรงขึ้น ความจำแย่ลง พฤติกรรมเปลี่ยนไปอย่างมาก อาทิ เดินออกจากบ้านโดยไม่มีจุดหมาย ก้าวร้าว เริ่มมีปัญาในการใช้ชีวิตประจำวัน กระวลกระวาย เพ้อฝัน และในระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะมีการตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างลดลง สุขภาพทรุดลงคล้ายผู้ป่วยติดเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ สมองเสื่อมเป็นวงกว้าง ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ซึ่งนำไปสู่การติดเชื้อและเสียชีวิตในที่สุด

ในด้านการรักษาพยาบาล ถึงแม้ค่ารักษาโรค Alzheimer โดยตรงอาจไม่ได้สูงเท่าโรคร้ายแรงอย่างมะเร็งหรือโรคหัวใจ แต่ก็อาจอยู่ในระดับหลายแสนบาทต่อปี ด้วยมีค่าใช้จ่ายหลายด้านด้วยกัน อาทิ การใช้ยา Tacrine, Donepezil, Rivastigmine และ Galantamine อย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเพิ่มระดับ Aceetylcholine ในสมองส่วน Cerebral Cortex (เปลือกสมอง) หรือตัวยาล่าสุดที่ได้รับการอนุมัติจาก FDA สหรัฐฯ (U.S. Food and Drug Administration) ที่เรียกว่า Leqembi โดยบริษัท Eisai และ Biogen ที่มีค่าใช้จ่ายราว 26,500 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 900,000 บาทต่อปี นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์  ค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ดูแลผู้ป่วย ค่าอาหารเสริม เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ดี บทวิจัยโดย National Institute on Aging (NIH) พบว่า ผู้ป่วยโรค Alzheimer มีโอกาสสูงที่จะป่วยเป็นไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อาทิ โรคหัวใจ, โรคระบบไหลเวียนโลหิต, โรคเส้นเลือดสมอง และโรคเบาหวาน ได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ป่วยด้วยโรค Alzheimer ซึ่งค่ารักษาพยาบาลในโรคกลุ่มดังกล่าวอาจสูงถึงหลายล้านบาทได้ ทำให้การเตรียมตัวรับมือกับค่ารักษาพยาบาลหรือเหตุไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก

ค่ารักษาพยาบาลในการดูแลรักษาจากการเจ็บป่วยด้วยโรค Alzheimer ตลอดจนโรค NCDs ต่างๆ สามารถจัดการได้ด้วยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างประกันสุขภาพหรือประกันโรคร้ายแรงที่ให้ความคุ้มครองหลายกลุ่มโรคซึ่งจะช่วยปิดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงได้อย่างดี นอกจากนี้เรายังควรเลือกประกันที่ให้วงเงินค่ารักษาที่สูง ตลอดจนเป็นกรมธรรม์ที่เปิดโอกาสให้เราสามารถต่ออายุกรมธรรม์ได้ต่อเนื่องยาวนานหลังช่วงเกษียณอายุ อาทิ 98-99 ปี เนื่องจากความเสี่ยงในการเจ็บป่วยด้วยโรคดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นตามอายุขัยของเรานั่นเอง

จะเห็นได้ว่าเมื่อเรามีอายุมากขึ้น ความเสี่ยงในการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงต่างๆก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งผู้สูงอายุจำนวนมากมีโอกาสที่จะป่วยด้วยโรค Alzheimer ตลอดจนโรคร้ายแรงอื่นๆ ทำให้การเตรียมตัว และการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ อย่างไรก็ดีการใช้เครื่องมืออย่างประกันสุขภาพหรือประกันโรคร้ายแรงจะเป็นเครื่อง “การันตี” ให้กับเราว่าเมื่อถึงเวลาที่จำเป็นเราจะมีเงินเพียงพอสำหรับการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพเพื่อรับมือกับโรคร้ายที่เราต้องเผชิญ

 

บทความโดย วิศรุต จารุอนันตพงษ์ AFPT Wealth Manager ธนาคารทิสโก้

เผยแพร่ครั้งแรก :เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

บทความล่าสุด

กิจกรรม M&A กำลังจะกลับมา กลุ่ม Biotechnology ได้ประโยชน์สูงสุด

โพสต์เมื่อ 8 พฤษภาคม 2567

นอกจากนวัตกรรมการค้นคว้ายาชนิดใหม่รวมถึงการนำเทคโนโลยีอย่าง AI เข้ามาช่วยในการวิจัยยารักษาโรคหายาก กิจกรรมการควบรวมกิจการ หรือ M&A ก็นับเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีความสำคัญต่อราคาหุ้นของกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology)

อ่านต่อ >>

FDA อนุมัติยาสูงสุดในรอบ 5 ปี โอกาสทองลงทุน Biotech

โพสต์เมื่อ 8 พฤษภาคม 2567

FDA สหรัฐฯ กลับมาอนุมัติยาสูงสุดในรอบ 5 ปี ( FDA คือ องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ) โดยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนยาที่ได้รับอนุมัติจาก FDA เพิ่มขึ้นถึง 100% โดยเฉพาะปี 2023 ที่ FDA มีการอนุมัติยาสูงสุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่ 55 รายการ

อ่านต่อ >>

Biotech หุ้นนวัตกรรมยายุคใหม่ ที่ต้องมีไว้ในพอร์ต

โพสต์เมื่อ 8 พฤษภาคม 2567

หากนึกถึงหุ้นกลุ่ม Healthcare นักลงทุนส่วนใหญ่มักนึกถึงบริษัทยาขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงแต่มีการเติบโตที่ช้า ทำให้นักลงทุนมักเหมารวมหุ้นกลุ่ม Healthcare เป็นหุ้นกลุ่ม Defensive ที่ไม่ได้คาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงและเป็นเพียงแค่หลุมหลบภัยในช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวนเท่านั้น

อ่านต่อ >>