วางแผนเกษียณอย่างไร ? ในวันที่ไทยรั้งท้ายระบบบำนาญโลก

file

 

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2022 ที่ผ่านมา บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของสหรัฐอเมริกาอย่าง Mercer และสถาบันผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนอย่าง CFA Institute ได้มีการเปิดเผยรายงานการสำรวจที่ชื่อว่า “Mercer CFA Insititute Global Pension Index” ครั้งที่ 14 ซึ่งเป็นการศึกษาและวิเคราะห์คุณภาพของระบบบำนาญใน 44 ประเทศ ครอบคลุมประชากรกว่า 65% ของโลก โดยพิจารณาจาก 3 ด้าน ได้แก่ ความเพียงพอของเงินบำนาญ ความยั่งยืนของระบบบำนาญ และความโปร่งใสของระบบบำนาญ

ผลสำรวจดังกล่าวพบว่า ประเทศไอซ์แลนด์ คือประเทศที่มีระบบบำนาญที่ดีที่สุดในโลก ได้คะแนนรวมสูงถึง 84.7 คะแนน และถูกจัดเกรดอยู่ในระดับ A ร่วมกับอันดับที่สองและอันดับที่สามอย่างเนเธอร์แลนด์และเดนมาร์ก ที่ได้คะแนนรวมในระดับ 84.6 และ 82 คะแนน ตามลำดับ

แต่ไฮไลต์สำคัญคือประเทศที่ได้อันดับที่ 44 จากทั้งหมด 44 ประเทศ นั่นก็คือประเทศไทยของเรา ที่ได้คะแนนรวมเพียงแค่ 41.7 คะแนน จัดอยู่ในระดับเกรด D โดยหากเทียบกันในระดับเอเชียแล้ว ระบบบำนาญของไทยยังได้รับผลคะแนนที่เป็นรองประเทศในเอเชียอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย จีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย อินเดีย และฟิลิปปินส์

ในอีกด้านหนึ่ง สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง อัตราเงินเฟ้อทรงตัวอยู่ในระดับสูงและอัตราดอกเบี้ยปรับตัวเป็นขาขึ้นในปัจจุบัน ก็ได้ส่งผลต่อสถานะความมั่นคงของระบบบำนาญของหลายประเทศเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น กองทุน Pension Fund ของสหราชอาณาจักร (UK) ที่เริ่มมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะการล้มละลาย อันเนื่องมาจากการดำเนินนโยบายการคลังที่ผิดพลาดของรัฐบาลและนำไปสู่การเทขายพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษ จนธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ต้องเข้ามาช่วยเหลือและออกมาตรการแทรกแซงเพื่อป้องกันการล้มละลายดังกล่าว ทั้ง ๆ ที่ UK ได้รับการจัดอันดับระบบบำนาญเป็นอันดับที่ 10 ของโลก ได้คะแนนรวม 73.7 คะแนนและถูกจัดระดับอยู่ในเกรด B แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็สะท้อนให้เห็นว่า ความไม่แน่นอนมีอยู่เสมอ แม้กระทั่งกับประเทศที่มีระบบบำนาญที่ดีที่สุดติด Top 10 ของโลก ดังนั้น การวางแผนเกษียณด้วยการรอรับเงินบำนาญจากรัฐเพียงอย่างเดียว จึงไม่ใช่การวางแผนเกษียณที่มั่นคงและยั่งยืนในยุคนี้อีกต่อไป

ประเด็นดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญที่คนไทยยุคใหม่จะต้องตระหนัก เตรียมตัวรับมือและเริ่มวางแผนการเงินตั้งแต่วันนี้ เพื่อให้เรามีชีวิตหลังเกษียณที่มั่นคงและมีคุณภาพ การรอให้ภาครัฐยกระดับการพัฒนาระบบบำนาญให้มีคุณภาพทัดเทียมกับต่างประเทศ อาจจะสายเกินไปสำหรับการวางแผนเกษียณของใครหลายคน โดยเราสามารถเริ่มต้นจากการปรับวิธีคิดและเปลี่ยนรูปแบบการวางแผนทางการเงินเป็นแบบ “Megatrends Retirement Planning” ซึ่งมีหลักการง่าย ๆ 3 ข้อ คล้ายการจัดตำแหน่งในกีฬาฟุตบอลที่ประกอบไปด้วยตำแหน่งกองหน้า กองกลางและกองหลัง ดังนี้

เริ่มที่ตำแหน่งกองหน้า ซึ่งปกติมักจะต้องเป็นตัวทำประตู สร้างผลตอบแทนสูง ๆ ให้กับทีม เปรียบเสมือนกับ “การวางแผนการลงทุน” ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่งคั่งและสร้างเงินก้อนก่อนเกษียณ ทำได้โดยการออกแบบพอร์ตการลงทุนที่เน้นหุ้นในอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตสูงในระยะยาวตาม Megatrends เช่น หุ้นกลุ่ม Biotechnology, Digital Health,  Cloud Computing, Cybersecurity หรือ Clean Energy รวมไปถึงหุ้นในประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงในระยะยาว อย่างเช่น จีน เวียดนามและอินโดนีเซีย ด้วยธีมการลงทุนที่หลากหลาย นักลงทุนสามารถที่จะออกแบบพอร์ตการลงทุนเพื่อการเกษียณและกระจายความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม ตลอดจนสามารถเพิ่มโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่สูงในระยะยาว การสร้างความมั่งคั่งและเงินก้อนก่อนเกษียณที่มากเพียงพอ จะทำให้เรามีชีวิตหลังเกษียณที่มีคุณภาพและมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาเงินบำนาญจากภาครัฐน้อยลง

สำหรับตำแหน่งกองกลาง ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นห้องเครื่องของทีม คอยจ่ายบอลไปทั่วสนาม เปรียบเสมือนกับ “การสร้างเครื่องจักรผลิตเงินสดในวัยเกษียณ” ซึ่งทุกคนสามารถสร้างระบบบำนาญส่วนตัวให้กับตนเองได้ ผ่านการทำ “ประกันชีวิตแบบบำนาญ” ซึ่งเป็นประกันชีวิตที่ผู้เอาประกันจ่ายเบี้ยประกันไปในช่วงก่อนเกษียณ เพื่อที่จะได้รับเงินบำนาญที่สม่ำเสมอตลอดช่วงหลังเกษียณไปจนกว่าจะเสียชีวิต โดยสามารถเลือกรับเงินบำนาญได้ทั้งแบบรายเดือนหรือรายปี การมีกระแสเงินสดจากประกันชีวิตแบบบำนาญ เปรียบเสมือนการมีแหล่งรายได้ที่มั่นคงในยามเกษียณ อีกทั้งยังเป็นการกระจายความเสี่ยงจากระบบบำนาญของรัฐอีกด้วย

และสุดท้ายคือ ตำแหน่งกองหลัง ซึ่งมักทำหน้าที่ป้องกันการเสียประตู ปิดความเสี่ยงให้กับทีม เปรียบเสมือนกับ “การวางแผนประกันสุขภาพ” ที่จะทำหน้าที่ในการปกป้องความมั่งคั่งที่เราสั่งสมมาอย่างยาวนาน เนื่องจากค่าใช้จ่ายหลักในวัยเกษียณมักจะเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งในทุกวันนี้มีราคาสูงและปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในแต่ละปี โดยการทำประกันสุขภาพควรเริ่มต้นให้เร็วที่สุดเพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงปัญหาต่าง ๆ เช่น การถูกยกเว้นความคุ้มครองสำหรับโรคที่เคยเป็นมาก่อน การถูกเพิ่มเบี้ยประกันและการถูกปฏิเสธการรับประกัน ทั้งนี้ การวางแผนประกันสุขภาพที่ดีจะทำให้เราสามารถเข้าถึงคุณภาพการรักษาพยาบาลที่ดียิ่งขึ้น บริหารค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนพึ่งพาสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลจากภาครัฐน้อยลง

แม้ในวันนี้ระบบบำนาญของประเทศไทยจะถูกจัดอันดับรั้งท้ายในเวทีโลกและเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องเร่งแก้ปัญหา พัฒนาและบริหารจัดการระบบบำนาญให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น แต่จะเห็นได้ว่า การวางแผนเกษียณที่มีประสิทธิภาพนั้น สามารถบริหารจัดการได้ด้วยตัวเราเองและเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนสามารถเริ่มต้นทำได้ตั้งแต่วันนี้ เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนรูปแบบต่าง ๆ ในอนาคตที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในวัยเกษียณของพวกเราคนไทยทุกคน 

 

====================================================

บทความโดย ภาคภูมิ พีรยวัฒนา AFPT Wealth Manager ธนาคารทิสโก้

เผยแพร่ครั้งแรกใน SET

 

บทความล่าสุด

กิจกรรม M&A กำลังจะกลับมา กลุ่ม Biotechnology ได้ประโยชน์สูงสุด

โพสต์เมื่อ 4 พฤษภาคม 2567

นอกจากนวัตกรรมการค้นคว้ายาชนิดใหม่รวมถึงการนำเทคโนโลยีอย่าง AI เข้ามาช่วยในการวิจัยยารักษาโรคหายาก กิจกรรมการควบรวมกิจการ หรือ M&A ก็นับเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีความสำคัญต่อราคาหุ้นของกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology)

อ่านต่อ >>

FDA อนุมัติยาสูงสุดในรอบ 5 ปี โอกาสทองลงทุน Biotech

โพสต์เมื่อ 4 พฤษภาคม 2567

FDA สหรัฐฯ กลับมาอนุมัติยาสูงสุดในรอบ 5 ปี ( FDA คือ องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ) โดยในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนยาที่ได้รับอนุมัติจาก FDA เพิ่มขึ้นถึง 100% โดยเฉพาะปี 2023 ที่ FDA มีการอนุมัติยาสูงสุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่ 55 รายการ

อ่านต่อ >>

Biotech หุ้นนวัตกรรมยายุคใหม่ ที่ต้องมีไว้ในพอร์ต

โพสต์เมื่อ 4 พฤษภาคม 2567

หากนึกถึงหุ้นกลุ่ม Healthcare นักลงทุนส่วนใหญ่มักนึกถึงบริษัทยาขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงแต่มีการเติบโตที่ช้า ทำให้นักลงทุนมักเหมารวมหุ้นกลุ่ม Healthcare เป็นหุ้นกลุ่ม Defensive ที่ไม่ได้คาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงและเป็นเพียงแค่หลุมหลบภัยในช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวนเท่านั้น

อ่านต่อ >>