TISCO Wealth Advisory คัดสรรกองทุน Top in Class สร้างผลตอบแทนเหนือวิกฤต

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 53 | คอลัมน์ Exclusive

อีกครั้งกับความสำเร็จในการทำหน้าที่ผู้ให้บริการบริหารความมั่งคั่งอย่างครบวงจรของ TISCO Wealth ในฐานะผู้เปิด “ทัศนมิติ (Perspective)” ที่ทำให้นักลงทุนไทยได้รู้จักและลงทุนในกลุ่มธุรกิจ Megatrends จากทั่วโลกก่อนใคร อีกทั้งลูกค้ายังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่โดดเด่นกว่า 30% เหนือดัชนีตลาดหุ้นท่ามกลางสถานการณ์การลงทุนที่ผันผวน และเศรษฐกิจถดถอย ฝ่าทุกสถานการณ์ของตลาดทุนได้ในระยะยาว

TRUST ฉบับนี้ ขอพาทุกท่านไปถอดรหัสความสำเร็จของทีม TISCO Wealth พร้อมทั้งเปิดเผยให้เห็นแง่มุมความทุ่มเทในการทำงานท่ามกลางวิกฤต COVID-19 และเศรษฐกิจถดถอย โดยจะพาไปเจาะลึกตั้งแต่วิธีการคิดวิเคราะห์ คัดสรรผลิตภัณฑ์การลงทุน การมุ่งเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเพื่อสร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่า ไปจนถึงการให้คำปรึกษาด้านการลงทุนอย่างมืออาชีพ โดยยึดถือผลประโยชน์สูงสุดของลูกค้าเป็นสำคัญ

file

เปิดมิติการลงทุนรับกระแส Megatrends โลก

อาจกล่าวได้ว่า TISCO เป็นธนาคารแรกที่เปิดมุมมองและให้ความสำคัญกับการลงทุนในธีม Megatrends เหตุผลก็เป็นเพราะว่า รายได้ของธุรกิจที่จัดอยู่ในกลุ่ม Megatrends สามารถเติบโตได้ดีในระยะยาว ตามวิถีชีวิตและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้ ในยามที่เกิดวิกฤต ธุรกิจกลุ่มนี้จะฟื้นตัวเร็วกว่ากลุ่มอื่นๆ จึงน่าจะเป็นทางเลือกเดียวของนักลงทุนในช่วงเวลาการลงทุนที่ยากลำบาก ไม่เพียงเท่านี้ TISCO ยังวิเคราะห์ลึกลงไปถึง Sub-sector เพื่อค้นหาว่ากลุ่มไหนที่จะโดดเด่นและมาแรงที่สุด ดังนั้น กว่าที่ทีม TISCO Wealth จะคัดสรร Megatrends ดาวเด่น ที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนสูงมาแนะนำให้กับลูกค้าและนักลงทุนไทยได้นั้นบอกเลยว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้!!

“TISCO มีทีมเวิร์คที่แข็งแรง เรามองตั้งแต่ภาพใหญ่ อย่าง Megatrends ซึ่งเป็นเทรนด์ใหญ่ที่จะมาดิสรัป (Disrupt) สิ่งที่เคยเป็น โดยเราจะทำงานร่วมกัน 3 ทีม เริ่มจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ (TISCO ESU) ที่จะคอยให้ภาพเศรษฐกิจและการลงทุน จากนั้นทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุน (Wealth Product Development) และทีมที่ปรึกษาการลงทุน (Wealth Advisory) จะมาช่วยกันวิเคราะห์ว่าจากมุมมองของ TISCO ESU นั้น เรามี “ตัวเลือก” อะไรที่น่าสนใจและมีคุณค่าในการลงทุนที่เหมาะจะนำเสนอแก่ลูกค้าได้บ้างแล้วก็มาช่วยกันดูเรื่องของการจับจังหวะที่เหมาะสมในการลงทุน เรามีการพูดคุยกันตลอดเพื่อกลั่นกรองให้ได้ไอเดียที่ดีที่สุด” คุณณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ Head of TISCO Wealth Advisory อธิบาย

แนะนำลูกค้า “จัดพอร์ตลงทุนรูปแบบใหม่”

หากย้อนดูกระบวนการทำงานจากปีที่ผ่านมา ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ หรือ ทีม TISCO ESU เริ่มส่งสัญญาณให้นักลงทุนระแวดระวังภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากมีโอกาสที่ราคาสินทรัพย์ทุกประเภทจะปรับตัวลงและผันผวน ดังนั้น ด้วยการทำงานที่ประสานกันเป็นอย่างดี TISCO Wealth จึงขานรับมุมมองการวิเคราะห์ดังกล่าว ด้วยการแนะนำให้ลูกค้า “จัดพอร์ตการลงทุนในรูปแบบใหม่” โดยเปลี่ยนคำแนะนำให้ลูกค้ากระจายการลงทุนในกองทุนที่เกี่ยวข้องกับ Megatrends แทนการจัดพอร์ตกระจายสินทรัพย์ (Asset Allocation) แบบดั้งเดิมที่อาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจซึ่งเติบโตอย่างเปราะบาง

ส่วนการกระจายการลงทุนไปยัง Subsector หรือ กลุ่มธุรกิจที่โดดเด่น มีโอกาสสร้างผลตอบแทนสูงในภาวะเศรษฐกิจถดถอยและเติบโตได้ดีในยุค New Normal นั้น ช่วงระยะแรก TISCO Wealth มองว่ามี 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มธุรกิจการแพทย์ (Healthcare) เช่น เทคโนโลยีทางการแพทย์ (Digital Healthcare) และไบโอเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Biotechnology) ซึ่งจะได้รับอานิสงส์เชิงบวกระยะยาวจากสังคมผู้สูงอายุ และได้รับประโยชน์โดยตรงจากความต้องการดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19

ต่อมาคือกลุ่มเทคโนโลยี (Technology) ซึ่งในที่นี้ครอบคลุมทั้ง ธุรกิจด้านอีคอมเมิร์ซ (E-commerce) และ ธุรกิจด้านคลาวด์ คอมพิวติง (Cloud Computing) ที่มีโอกาสเติบโตอย่างมาก ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และกลุ่มการศึกษาออนไลน์ (Edutainment) ที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากในแวดวงการศึกษา ในช่วงที่ผู้คนทั่วโลกต้องรักษาระยะห่างทางสังคม

“ปกตินักลงทุนไทยจะคุ้นชินกับการซื้อหุ้นไทย แต่ธุรกิจกลุ่ม Megatrends เป็นสิ่งที่ตลาดหุ้นไทยไม่มี อย่างกลุ่ม Healthcare ตลาดหุ้นไทยมีแค่กลุ่มโรงพยาบาล แต่ตลาดหุ้นทั่วโลก มีทั้งหุ้นกลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มบริษัทยา กลุ่มนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ ฯลฯ ซึ่งกองทุนในธีม Megatrends ที่เรานำเสนอ เราจะคัดเลือกหุ้นตัวที่โดดเด่นของเทรนด์นั้นจากตลาดหุ้นทั่วโลกมาให้ ดังนั้นลูกค้าของ TISCO Wealth จึงถือได้ว่ามีโอกาสด้านการลงทุนที่มากกว่า” คุณวรสินี เศรษฐบุตร Head of TISCO Wealth Product Development กล่าว

file

รู้ได้อย่างไร…กองทุนไหนคือ ดาวเด่น?

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่จะคัดเลือกกองทุน “Top in Class” จากหลากหลายกองทุนออกมาได้ คุณวรสินี ในฐานะหัวหน้าทีม Wealth Product Development อธิบายว่า กระบวนการทำงานของทีมจะวางหลักการทำงานอย่างเป็นขั้นตอน และสร้างมาตรฐานในการทำงานอย่างเข้มข้น เริ่มตั้งแต่การคัดกรองกองทุนรวมที่เน้นสร้างผลตอบแทนเชิงรุก (Active Fund) ไปจนถึง “การวิเคราะห์ข้อมูล” ซึ่งทีมงานจะต้องพิจารณาในหลากหลายมิติ เช่น ประสบการณ์และชื่อเสียงของผู้จัดการกองทุน แนวคิดการลงทุนแต่ละครั้ง ขนาดกองทุน ผลตอบแทนที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนเทียบกับความเสี่ยงความผันผวน ฯลฯ รวมถึงยังมีการวางมาตรฐานด้าน “การติดตามข้อมูลกองทุน” ซึ่งทีมงานจะต้องอัพเดตให้ทันต่อสถานการณ์ รวมถึงยังต้องสามารถพูดคุยกับผู้จัดการกองทุนต่างประเทศได้โดยตรง เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกได้

“วิธีการทำงานของเรา ไม่ใช่แค่นั่งรอข้อมูลที่ส่ง (Feed) มาจากกองทุนต่างประเทศ แล้วแต่ว่าเขาจะส่งอะไรมา แต่เราทำงานแบบ Active คือ เมื่อเห็นอะไรที่ดูมีความผิดปกติก็จะพยายามหาคำตอบว่ามันกระทบกับกองทุนไหน ใครได้ประโยชน์ เสียประโยชน์ ผลกระทบคืออะไร ฯลฯ หาข้อมูลแบบลงลึก ก่อนจะสื่อสารไปยังทีมที่ปรึกษาการลงทุน และลูกค้า เพราะเราต้องรู้ข้อมูลให้ลึกเสียก่อน จึงจะให้คำแนะนำที่ดีแก่ลูกค้าได้”

คุณวรสินี กล่าวว่า ด้วยการทำงานที่ทุ่มเทอย่างหนัก บวกกับอีกจุดแข็งสำคัญของ TISCO คือ การเป็น “Open Architecture” ที่สามารถให้คำแนะนำการลงทุนแบบไม่จำกัดค่าย จึงทำให้มีพันธมิตรนักลงทุนสถาบันและบริษัทจัดการลงทุนจากทั่วโลก ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ช่วยให้ทีมงานเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับกองทุนได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังสามารถแลกเปลี่ยนมุมมองความรู้กับผู้จัดการกองทุนในต่างประเทศได้อย่างทันท่วงที จนส่งผลให้ TISCO Wealth สามารถคัดเลือก Sub-sector ที่โดดเด่นในแต่ละ Megatrends ได้อย่างแม่นยำ

“เรามั่นใจว่าเรามาถูกทางในการหาผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในกระแส Megatrends มาให้กับลูกค้า ฉะนั้น สิ่งที่ทีมของเราต้องทำอยู่ตลอดเวลา คือ ติดตามข้อมูล กระแสโลกเทรนด์ใหม่ๆ จากทั่วโลก เพื่อพยายามหาธีมการลงทุนใหม่ๆ ดูว่ามีจุดไหนที่เป็น Megatrends ที่กำลังจะมาในเวลาอันใกล้ แล้วยังเติบโตต่อไปได้ในระยะยาว”


กระจายความเสี่ยงเพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีกว่า

คุณณัฐกฤติ ในฐานะหัวหน้าทีมที่ปรึกษาการลงทุน กล่าวถึง ภาพรวมการทำงานของที่ปรึกษาด้านการลงทุนและการบริหารความมั่งคั่งว่า ปัจจุบันพรมแดนของโลกการลงทุนเปิดกว้างขึ้น ในขณะเดียวกันก็มีความผันผวนและความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น หากลูกค้าลงทุนด้วยตัวเองอาจมีโอกาสผิดพลาดสูง เพราะความไม่คุ้นชินและไม่ได้ใกล้ชิดกับตลาดทุนในต่างประเทศ บทบาทของ Wealth Advisory เลยยิ่งทวีความสำคัญเพิ่มขึ้น

“หัวใจในการทำงานของทีมเราคือ ให้คำแนะนำในการจัดพอร์ตการลงทุน เพื่อตอบโจทย์ให้ลูกค้าบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ รวมถึงช่วยติดตามพอร์ตฯ ของลูกค้าเพื่อให้สร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุด และอยู่ในระดับความเสี่ยงที่ลูกค้ายอมรับได้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งนั่นแปลว่าเราต้องติดตามการลงทุนตลอดเวลาเช่นกันว่าพอร์ตฯ ลูกค้าตอนนี้เป็นยังไง ควรปรับหรือยัง มีกองทุนหรือผลิตภัณฑ์ตัวไหนจากตลาดหุ้นทั่วโลกที่น่าสนใจ ฯลฯ และต้องคอยหาจังหวะการลงทุนให้กับลูกค้า ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องมีการประมวลผลข้อมูลจำนวนมากอย่างละเอียดแบบวันต่อวัน เพื่อที่เราจะสามารถให้ข้อมูลและ “ทางเลือก” ที่ดีที่สุดจากทั่วโลกให้กับลูกค้า ซึ่งหุ้นทั่วโลกมีเป็นหมื่นๆ ตัว มันยากที่ลูกค้าจะเข้าถึงข้อมูลหรือติดตามข้อมูลเองได้ตลอดเวลา”

จากประสบการณ์ด้านการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน คุณณัฐกฤติ มองว่า ในอดีตการที่นักลงทุนไทยพอใจกับผลตอบแทนจากตลาดหุ้นไทย เป็นเพราะคิดว่าการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศมีความเสี่ยงมากกว่าเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นไทย ซึ่งสาเหตุก็อาจเกิดจากความไม่รู้ ไม่มีเวลาศึกษา การเข้าไม่ถึงข้อมูล ฯลฯ แต่วันนี้ ด้วยผลตอบแทนในตลาดหุ้นไทยที่ลดลงอย่างมาก ยิ่งเมื่อเทียบกับโอกาสสร้างผลตอบแทนในตลาดหุ้นต่างประเทศ และกลไกการลงทุนที่เอื้ออำนวยมากขึ้น เขามองว่าเป็นความเสี่ยงที่จะเสียโอกาสยิ่งกว่า หากนักลงทุนไทยจะยังยึดติดอยู่กับแค่ตลาดหุ้นไทย

“ในช่วง 2 ปีนี้ เศรษฐกิจทั้งโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ไม่ว่าจะมาจาก COVID-19 สงครามการค้าที่รออยู่ หรือมาตรการของ FED รวมถึงความไม่แน่นอนต่างๆ ทำให้การลงทุนมีความเสี่ยง มีความผันผวนเพิ่มขึ้นมาก ฉะนั้น การจะรักษาพอร์ตฯ ให้เติบโตอยู่ได้ นักลงทุนต้องเลือกลงทุนในกลุ่มที่มีการเติบโต อย่างกลุ่ม Megatrends ดังนั้นผมอยากเห็น New Normal ของนักลงทุนไทย คือไปลงทุนในตลาดต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งถ้ามาที่ TISCO Wealth ทีมของผมพร้อมจะสรุปข้อมูลให้ฟัง”

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทีม TISCO Wealth Advisory สามารถเข้าถึงข้อมูลรอบด้านจำนวนมาก และสามารถประมวลผลออกมาเป็นข้อมูลเชิงลึกเพื่อสื่อสารกับลูกค้าได้ทันสถานการณ์ คุณณัฐกฤติ มองว่ามาจากจุดแข็งในด้านวัฒนธรรมความเป็น TISCO ที่เน้นการทำงานแบบ “ทีมเวิร์ค” ตั้งแต่การทำงาน “สามประสาน” ซึ่งทำให้ได้ทั้งข้อมูลอัพเดตทั้งเรื่องเศรษฐกิจและเรื่องของผลิตภัณฑ์จากทั่วโลก ขณะที่การทำงานอย่างใกล้ชิดกับ Relationship Manager (RM) ก็ช่วยให้ทีมเข้าถึงข้อมูลพอร์ตฯ และความต้องการเชิงลึก (Insights) ของลูกค้าได้

“ทีมเวิร์คเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของ TISCO ซึ่งช่วยให้การประมวลผลและอัพเดตข้อมูลต่างๆ ออกมาเป็น “ทางเลือก” ที่ตอบโจทย์การลงทุนของลูกค้าแต่ละคนให้ดีที่สุด กลายเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก แต่ก็คงไม่ง่ายที่ใครจะเลียนแบบ”


Megatrends สร้างผลตอบแทน 30% เหนือกระแส New Normal

วิกฤตการแพร่ระบาดใหญ่ของเชื้อ COVID-19 ที่เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2020 ทำให้มนุษยชาติเกิดความตื่นตระหนกในเรื่องสุขอนามัยและความปลอดภัยในชีวิตเป็นอย่างมาก จนนำมาสู่มาตรการ “ปิดเมือง (Lockdown)” ในหลายประเทศ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมและวิถีการใช้ชีวิต รวมถึงวิถีการทำงานของผู้คน

ปรากฏการณ์ดังกล่าวกลายเป็นตัวเร่งให้กลุ่มธุรกิจ Megatrends ที่ทีม TISCO Wealth มองไว้ เติบโตเร็วขึ้นมาก ตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในเวลาอันรวดเร็วจนกองทุนที่เกี่ยวข้องกับ Megatrends ที่แนะนำมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2562 สามารถสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นกว่า 30% ในรอบ 1 ปี

file

เปิดชื่อกองทุน “Top in Class”

“ผลตอบแทนย้อนหลัง” คงเป็นอีกหนึ่งในบทพิสูจน์ที่จะระบุได้ว่า Megatrends เป็นหุ้นกลุ่มที่จะช่วยสร้างผลตอบแทนให้ลูกค้าในช่วงวิกฤตต่างๆ ได้จริง โดยกองทุน Megatrends ที่ TISCO Wealth ได้เริ่มแนะนำมาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2019 เป็นกองทุนที่จับเอา 2 Megatrends สำคัญของโลก ทั้งกระแส Digital และ Healthcare มาผนวกกันเป็นกลุ่ม Digital Health นั่นก็คือกองทุนเปิด ทิสโก้ โกลบอล ดิจิตอล เฮลธ์ อิควิตี้ (TGHDIGI) ซึ่งมีนโยบายที่เน้นลงทุนในบริษัทที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการแพทย์ (Digital Health) ทั่วโลก

หากจะให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นว่ากองทุนนี้ลงทุนในบริษัทอะไรบ้าง คุณวรสินีได้ยกตัวอย่างบริษัท Teladoc ซึ่งเป็นบริษัทผู้พัฒนาแพลตฟอร์มให้คนไข้สามารถพบแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ และรับใบสั่งยาจากแพทย์เพื่อนำไปซื้อยาต่อได้ทันที ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปยังโรงพยาบาลที่อยู่ห่างไกล และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยในประเทศที่ไม่สามารถหาซื้อยาเองได้โดยไม่มีใบรับรองแพทย์ ทั้งยังสามารถเข้าถึงตัวยาและการรักษาได้ดีมากขึ้นโดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนของกองทุน TGHDIGI อยู่ในระดับ 30.38% ถือว่าโดดเด่นเหนือความผันผวนของตลาดหุ้น

และอีกหนึ่งกองทุนที่อยู่ในกลุ่มเฮลธ์แคร์ แต่มีความเฉพาะเจาะจงเรื่องของนโยบายกองทุนที่ TISCO Wealth แนะนำคือ “กองทุนเปิด ทิสโก้ ไบโอเทคโนโลยี เฮลธ์แคร์ (TBIOTECH)” โดยกองทุนนี้จะเน้นลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) การวินิจฉัยโรค และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตทั่วโลก มีความโดดเด่นตรงที่ผู้จัดการกองทุนหลัก Polar Capital มีความชำนาญด้านการลงทุนในธุรกิจทางการแพทย์มากว่า 20 ปี

ประกอบกับธุรกิจไบโอเทคโนโลยีทางการแพทย์มีลักษณะโดดเด่นที่จะหนุนให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นแรงจาก 2 ประการคือ 1) ยาที่คิดค้นใหม่ได้รับการอนุมัติจาก FDA 2) ราคาหุ้นมีโอกาสเติบโตแบบก้าวกระโดด เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่มักใช้วิธีซื้อหรือควบรวมกิจการกับบริษัทขนาดกลางและเล็กที่เล็งเห็นว่ามีศักยภาพในการวิจัยและพัฒนายา ซึ่งคุณวรสินี ทิ้งท้ายด้วยข้อมูลที่ว่า หลังจากเปิดตัวกองทุนดังกล่าวเมื่อเดือน มี.ค. ปัจจุบัน (กลางเดือน มิ.ย.) มูลค่าหน่วยลงทุนทุนปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงกว่า 40%

“วิกฤต COVID-19 สำคัญยังไงกับกลุ่มไบโอเทคโนโลยี นักวิเคราะห์คาดการณ์กันว่า วิกฤตนี้จะทำให้กลุ่มนี้มีรายได้ก้าวกระโดดขึ้นเป็น 1,000% แต่ก็ต้องเรียนว่า ไม่ใช่ว่าทุกบริษัทที่จะสำเร็จ บริษัทที่ล้มเหลวก็เยอะ ดังนั้น ต้องอาศัยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญช่วยเลือกสรรหุ้นให้”


Edutainment โดดเด่นในยุค New Normal

คุณวรสินี กล่าวถึงเหตุผลที่ TISCO เชื่อมั่นว่าธีมการศึกษาออนไลน์หรือ Edutainment น่าสนใจ เป็นเพราะว่าที่ผ่านมา ทุกคนตระหนักดีว่าปัญหาในเรื่องของการศึกษามีอยู่ค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ซึ่งสูงมากและเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเพิ่มขึ้นสูงกว่าการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อกว่า 4 เท่า อีกทั้งยังมีข้อจำกัดของระบบการศึกษาวิถีเดิม เช่น ผู้สอนที่มีความเก่งและความเชี่ยวชาญ ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด สถานที่เรียน เวลาเข้าเรียน จำนวนผู้เรียน ฯลฯ ขณะที่ธุรกิจด้าน Edutainment จะช่วยอำนวยความสะดวกให้การเรียนการสอนเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา และสามารถเข้าถึงการเรียนพร้อมกันได้เป็นหลักแสนหลักล้านคน นี่จึงทำให้กลุ่มธุรกิจนี้มีความตรงใจสำหรับผู้เรียนผู้สอนยุคใหม่มากกว่า

                คุณวรสินี ยกตัวอย่าง 2U บริษัทด้านการศึกษาออนไลน์ที่รวบรวมคอร์สเรียนของมหาวิทยาลัยชั้นนำกว่า 70 แห่งทั่วโลกมาไว้ในระบบ ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงการเรียนในมหาวิทยาลัยที่ต้องการได้ทุกที่ทุกเวลาด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำลงมาก ขณะอาจารย์ผู้สอนก็ทำการสอนได้ทุกที่ทุกเวลา จึงเติบโตอย่างมากในช่วงวิกฤต COVID-19 โดยที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 40% ต่อปีและมีผู้ใช้งานกว่า 8 หมื่นคน หรือ GSX บริษัทติวเตอร์ออนไลน์จากจีน ที่สามารถสอนเด็กพร้อมกันได้ถึง 1 แสนคน ซึ่งปีที่แล้ว บริษัทมีรายได้เติบโตกว่า 400% ขณะที่ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตในไตรมาส 2 ปีนี้ ก็ไม่ต่ำกว่า 400% โดยปัจจุบัน มีผู้เรียนกว่า 1.1 ล้านคน เป็นต้น

เธอมองว่า นับเป็นความน่าเสียดายอีกครั้งที่ธุรกิจกลุ่ม Edutainment ชั้นนำเหล่านี้ไม่อยู่ในเมืองไทย หรืออาจจะมีบ้าง แต่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ดังนั้น นักลงทุนไทยจึงจำเป็นต้องพึ่งพาการลงทุนต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีเพียงกองทุนเดียวที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ Edutainment บริษัทดังกล่าว คือกองทุนเปิด ยูไนเต็ด เอ็ดดูเคชั่น เทคโนโลยี ฟันด์ (UEDTECH) โดยลงทุนผ่าน Credit Suisse ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำของโลก


ธุรกิจเทคโนโลยี ดาวรุ่งแห่งโลกการลงทุน

คุณวรสินีเล่าว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญและแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค โดยเฉพาะธุรกิจ E-commerce ที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับชีวิตของเราอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านตัวกลางอย่าง eBay หรือ Amazon และการชำระค่าสินค้าและบริการผ่าน Paypal ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีจำนวนผู้ใช้ธุรกรรมซื้อขายสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมี COVID-19 เป็นตัวเร่งพฤติกรรมผู้บริโภคให้เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาด ผู้ที่ไม่เคยทดลองใช้บริการหันมาลองใช้บริการมากขึ้น และคาดว่าจะติดเป็นพฤติกรรมต่อเนื่องไปในอนาคต

และแม้ว่ากลุ่มธุรกิจ E-commerce ในปัจจุบันมักอยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เป็นหลัก แต่นักลงทุนสามารถลงทุนได้ผ่าน กองทุนเปิด วรรณ โกลบอล อีคอมเมิร์ซ (ONE-GECOM) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มนี้ปรับตัวขึ้นชนิดที่ว่าไม่มีหุ้นกลุ่มใดวิ่งตามได้ทัน หนุนให้กองทุนมีผลการดำเนินงานที่โดดเด่นอย่างมาก โดยผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือน 6 เดือน 1 ปี และตั้งแต่จัดตั้งกองทุนถึงปัจจุบัน ตามข้อมูลของมอร์นิ่งสตาร์ ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2563 อยู่ที่ 57.45% 38.31% 44.38% และ 35.00% ต่อปีตามลำดับ

file

นอกจากกลุ่มธุรกิจ E-commerce จะเป็นดาวเด่นใน Sub-sector กลุ่มเทคโนโลยีแล้วน้อยคนจะตระหนักว่า “คลาวด์ คอมพิวติง” เป็นเทคโนโลยีหลักที่อยู่เบื้องหลังของความสำเร็จของกลุ่มเทคโนโลยีทั่วโลก โดยเข้าไปเกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ไล่เรียงไปตั้งแต่ ธุรกิจซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน, ธุรกิจผู้พัฒนาและจัดทำแพลตฟอร์ม, ธุรกิจผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานในการจัดเก็บข้อมูล, บริษัทที่เป็นเจ้าของหรือบริหารจัดการพื้นที่จัดเก็บข้อมูล, ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ที่เกี่ยวข้องกับศูนย์จัดเก็บข้อมูล (Data Center) และธุรกิจผลิตหรือจัดจำหน่ายโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้ในการประมวลผลข้อมูล

“ธุรกิจคลาวด์ คอมพิวติงยังมีโอกาสเติบโตได้ดีรออยู่ ทั้งจากการเข้ามาของ Internet of Things (IoT) ในยุค 5G เพราะจะทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่รอบตัวผู้บริโภคเชื่อมต่อและสั่งการผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้อย่างหลากหลาย และคลาวด์ยังเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคมากขึ้น ผ่านการใช้งานแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น Google, Dropbox, Facebook และ Zoom รวมถึงภาคธุรกิจที่เร่งนำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนธุรกิจ เช่น การใช้ Big Data มาจับพฤติกรรมผู้บริโภคและปรับเปลี่ยนธุรกิจมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้นรับกับยุค New Normal โดยมี COVID-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดเร็วขึ้น”

แต่การลงทุนในธุรกิจที่นักลงทุนอาจยังไม่มีความเชี่ยวชาญมากนัก ประกอบกับเป็นธุรกิจที่มีขนาดไม่ได้ใหญ่มาก จำเป็นจะต้องกระจายการลงทุนไปยังหุ้นหลายๆ บริษัทเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น โดยสำหรับ Megatrends กลุ่มนี้ TISCO Wealth แนะนำให้ลงทุนผ่าน กองทุนเปิด ทิสโก้ Cloud Computing อิควิตี้ (TCLOUD) ที่มีนโยบายเน้นลงทุนในบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยี “คลาวด์ คอมพิวติง” ผ่านกองทุนอีทีเอฟ Global X Cloud Computing ETF

ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับเสียงตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี จนต้องปิดเสนอขายไอพีโอก่อนกำหนดเพราะนักลงทุนทราบว่า นอกจากกลุ่มเทคโนโลยีจะเติบโตได้ดีจาก COVID-19 แล้ว ในอนาคตก็ยังมีโอกาสเติบโตได้ต่อเนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

“Megatrends ทั้งหมดที่แนะนำนี้ ไม่ได้เติบโตแค่ช่วงวิกฤต COVID-19 เท่านั้น หลังวิกฤตจบ กลุ่มธุรกิจเหล่านี้ก็จะยังเติบโตได้ดี เพราะจะเติบโตไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คน แต่ในขณะเดียวกันหุ้นในกลุ่ม Megatrends ก็มีความเฉพาะเจาะจงสูง ทำให้นักลงทุนไทยอาจไม่สามารถติดตามข้อมูล รู้ข่าวหรือเหตุการณ์ได้ทัน ดังนั้น การลงทุนผ่านกองทุนที่คัดสรรหุ้นที่ดีที่สุดใน Megatrends เหล่านี้มาให้แล้ว จะช่วยต่อยอดการลงทุนได้ดีกว่า” คุณวรสินีทิ้งท้าย