โจทย์ใหญ่ธนาคารทิสโก้เติบโต “มั่นคงและยั่งยืน” ท่ามกลางวิกฤต

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 57 | คอลัมน์ Exclusive

file

 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ธุรกิจธนาคารต้องเผชิญกับความท้าทายหลากหลายรูปแบบ ที่ต่างเดินหน้าเข้ามาปะทะเพื่อพิสูจน์ความเข้มแข็งของการดำรงอยู่ กระทั่งมาถึงปัจจุบัน ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ปรากฏตัวขึ้น และนับได้ว่าเป็นความท้าทายครั้งใหม่ที่ธุรกิจธนาคารต้องระมัดระวังอย่างสูง เพื่อให้พร้อมรับมือทุกด้าน

TRUST ฉบับนี้ ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณเมธา ปิงสุทธิวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) คนล่าสุด ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ในเรื่องยุทธศาสตร์และแนวทางการดำเนินธุรกิจของธนาคารทิสโก้ เพื่อก้าวข้ามความท้าทายต่างๆ รวมถึง “โจทย์ใหญ่” ในการนำพาธนาคารไปสู่การเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

28 ปีแห่งประสบการณ์ด้านตลาดทุน

ตลอด 28 ปีของการทำงานในกลุ่มทิสโก้ คุณเมธา คลุกคลีอยู่ในแวดวงตลาดเงินตลาดทุนมาโดยตลอด เริ่มต้นจากบทบาท Executive Trainee ที่ดูแลด้านการลงทุน ซึ่งได้สั่งสมประสบการณ์ องค์ความรู้ ทักษะ และสร้างผลงานจนได้รับความไว้วางใจกระทั่งได้ดูแลธุรกิจ Wealth Management ล่าสุดได้รับการแต่งตั้งให้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารทิสโก้

ในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมธนาคารต้องเผชิญกับวิกฤตตลาดเงินและตลาดทุนอยู่หลายต่อหลายครั้ง มีทั้งเกี่ยวข้องกับประเทศไทยโดยตรง และได้รับผลกระทบโดยทางอ้อม แต่ทุกวิกฤตทิสโก้ก็สามารถยืนหยัดเติบโตมาได้อย่างแข็งแกร่ง

โดยวิกฤตแรกที่คุณเมธาได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนให้ทิสโก้ผ่านพ้นมาได้ คือ “วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540” หรือ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากเขาเริ่มทำงานได้เพียง 3 ปี นับเป็นวิกฤตที่ท้าทายอย่างมาก เพราะส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถาบันการเงินจนหลายแห่งต้องล้มหายไป

“ในขณะนั้น ผมดูแลเรื่องการลงทุนในบทบาท Fund Manager แต่ด้วยภาวะการลงทุนที่ไม่ค่อยดีนัก ผมจึงมีโอกาสได้ใช้ความรู้ไปช่วยวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์การเงินการลงทุน โดยพิจารณาคุณภาพของหุ้นกู้ ว่าหุ้นกู้ตัวไหนควรลงทุน หรือหุ้นกู้ตัวไหนกำลังมีปัญหา พร้อมกับหาโอกาสลงทุนในผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่จะสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีได้ ซึ่งนี่ก็เป็นบทบาทของการเข้าไปมีส่วนร่วมกับวิกฤตในก้าวแรกของการทำงานด้านสถาบันการเงิน”

ขณะที่ “วิกฤตการเงินโลกปี 2008” หรือ “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” ที่กระทบกับตลาดทุนในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยนั้น ทำให้เกิดความท้าทายภายใต้วิกฤต คือการทำให้ลูกค้าเชื่อมั่นว่า คำแนะนำทางด้านการลงทุนที่ให้ไปนั้นจะส่งผลดีต่อพอร์ตการลงทุนในระยะยาว และไม่ตัดสินใจที่จะขายกองทุนที่ขาดทุนเร็วจนเกินไป ด้วยความกังวลในเรื่องของความผันผวนในระยะสั้น ทั้งที่กองทุนเหล่านั้นมีศักยภาพในการสร้างกำไรและผลตอบแทนที่ดีได้ในอนาคต ซึ่งการให้คำแนะนำในวิกฤตครั้งนั้นก็สามารถช่วยให้ลูกค้าได้กำไรจากการฟื้นตัวของตลาดหุ้นได้เป็นอย่างดี

มาถึงวิกฤต COVID-19 คุณเมธามองว่า เป็นช่วงที่ท้าทายที่สุดอีกครั้งในชีวิตการทำงาน เพราะในมิติของผลกระทบต่อเศรษฐกิจนั้นเป็นวงกว้าง ครอบคลุมทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ไปจนถึงระดับประชาชน และมีความยืดเยื้อกว่าที่คาด ทำให้ธุรกิจที่ “สายป่านสั้น” ต้องหยุดกิจการ รายได้ของภาคครัวเรือนหายไป และแน่นอนย่อมส่งผลต่อกำลังซื้อและความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลง

“บทเรียนจากวิกฤตปี 2540 มีส่วนช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสถาบันการเงินไทย ทั้งการกำหนดนโยบายเสริมสร้างเงินกองทุนของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือการที่แต่ละธนาคารดำเนินนโยบายแบบระมัดระวังมากขึ้น ทำให้หลายแห่งยังแข็งแกร่ง แม้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จะเพิ่มขึ้นและกำไรจะลดลงไปบ้างก็ตาม แต่โดยภาพรวมก็ยังไม่น่ากังวลนัก”

file

ดังนั้น จากหลากหลายเหตุการณ์ที่ท้าทาย จึงทำให้ธนาคารทิสโก้ ดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ในอัตราที่สูงที่สุดในอุตสาหกรรม ตามปรัชญาการดำเนินธุรกิจที่เน้นการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน และนำไปสู่นโยบายการดำเนินธุรกิจที่รอบคอบรัดกุม โดยโฟกัสที่คุณภาพสินทรัพย์เป็นหลัก

TISCO Advisory ยืนหยัดสร้างผลตอบแทน

สำหรับวิกฤต COVID-19 ซึ่งสร้างผลกระทบรุนแรงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกนั้น นับเป็นสิ่งที่เข้ามาท้าทายธุรกิจและการลงทุนเช่นกัน เพราะแม้วัคซีนจะถูกกระจายออกเป็นวงกว้างขึ้น แต่ดูเหมือนสถานการณ์ COVID-19 จะยังคงยืดเยื้อต่อไป ด้านเศรษฐกิจโลกก็ยังมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่ตลาดหุ้นก็ยังมีทีท่าฟื้นตัวได้อย่างไม่เต็มที่นัก สะท้อนว่า ภาพรวมการลงทุนทั้งโลกค่อนข้างเปราะบาง

อย่างไรก็ตาม ในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของที่ปรึกษาการเงินที่ดี (Top Advisory) ในการแสวงหาโอกาสการลงทุนที่ซ่อนอยู่มานำเสนอ เพื่อให้ลูกค้าไม่พลาดทุกโอกาสในการลงทุนและมีโอกาสรับผลตอบแทนตามความคาดหวัง

“ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ ลูกค้าอาจมีความกังวลที่จะเข้ามาลงทุน ดังนั้น ที่ปรึกษาการลงทุนจึงมีหน้าที่ให้คำแนะนำ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า โดยที่ผ่านมาที่ปรึกษาการลงทุนของทิสโก้ได้พยายามคัดสรรและให้คำแนะนำการลงทุนในสินทรัพย์ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุดและมีพื้นฐานที่ดี และได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมมนุษย์เนื่องจาก COVID-19 หรือสามารถเติบโตได้ดีอย่างมากท่ามกลางวิกฤต นั่นคือธุรกิจที่เป็น Megatrends เช่น กองทุนที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมทางแพทย์ ซึ่งแน่นอนว่าสินค้าหลัก (Core Product) ที่เรามอบให้แก่ลูกค้า ไม่ใช่แค่เพียงผลิตภัณฑ์การลงทุน แต่ยังรวมถึงการให้คำแนะนำในการบริหารพอร์ตการลงทุน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว” 

คุณเมธาย้ำว่า การดำเนินธุรกิจของธนาคารทิสโก้เน้นการให้คำแนะนำ (Advisory) เป็นหลัก โดยเริ่มจากคำแนะนำด้านการลงทุน (Investment Advisory) จากนั้นจึงได้ต่อยอดความเชี่ยวชาญมาสู่การให้คำแนะนำทางการเงินแบบองค์รวม (Holistic Financial Advisory) โดยนอกเหนือจากคำแนะนำในการสร้างความมั่งคั่ง (Wealth Creation) การสะสมความมั่งคั่ง (Wealth Accumulation) และการส่งต่อความมั่งคั่ง (Wealth Distribution) แล้ว การปกป้องความมั่งคั่ง (Wealth Protection) ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน

ดังนั้น การยกระดับบริการสู่การให้คำแนะนำในการเลือกผลิตภัณฑ์ประกัน ไม่ว่าจะเป็น ประกันสุขภาพ ประกันโรคร้ายแรง หรือประกันเพื่อการวางแผนการเงินและการเกษียณ จึงถือเป็นเครื่องมือช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะเข้ามากระทบกับความมั่งคั่งของลูกค้าได้ในอนาคต

file

“ความเสี่ยงทางการเงินในชีวิตคนเรา ส่วนใหญ่มาจากค่ารักษาพยาบาล เพราะความมั่งคั่งที่สะสมมาอาจหมดไปได้กับค่ารักษาโรคร้ายแรง ฉะนั้น เพื่อลดความเสี่ยงในอนาคต การทำประกันสุขภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ ธนาคารทิสโก้จึงจริงจังกับการให้คำแนะนำด้านประกันสุขภาพ เพราะถือเป็นการรักษาความมั่งคั่งให้กับลูกค้าในระยะยาว รวมถึงให้ความสำคัญกับการวางแผนความคุ้มครองความเสี่ยงตลอดช่วงอายุของลูกค้า ครอบคลุมภาระทางการเงินทั้งหมด”

ทุกวันนี้ ธนาคารทิสโก้เป็น “Top Investment Advisory” หรือ “ที่ปรึกษาด้านการลงทุนที่ดีที่สุด” อยู่แล้ว ฉะนั้น เป้าหมายถัดไปก็คือ การเดินหน้าเต็มตัวเพื่อสร้างความเป็น “Holistic Financial Advisory” ด้วยการพัฒนาสินค้าและบริการให้โดดเด่น เพื่อให้เรามีบริการสร้างความมั่งคั่งแก่ลูกค้าที่เหนือกว่าที่เคยเป็น

การเป็น Holistic Financial Advisory อย่างยั่งยืนด้วย “3 Good”

คุณเมธาเชื่อว่า หัวใจความสำเร็จของการให้คำแนะนำมาจากความเชื่อมั่น (Trust) ที่ลูกค้ามีต่อธนาคารทิสโก้ว่าจะสามารถตอบโจทย์ให้กับพวกเขาได้ ทั้งในสถานการณ์การลงทุนภาวะปกติและภาวะวิกฤต โดยกุญแจที่จะไขไปสู่ความเชื่อมั่นนั้น ประกอบด้วย “ความดีพร้อมทั้ง 3 ด้าน” ได้แก่ การมีผลิตภัณฑ์ที่ดี การมีบทวิเคราะห์ที่ดี และการให้คำแนะนำที่ดี

กุญแจดอกแรก บทวิเคราะห์ที่ดี (Good Research) เป็นจุดแข็งที่ทิสโก้สั่งสมมาตั้งแต่ยังเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ คุณเมธาเล่าว่า ธนาคารทิสโก้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการออกบทวิเคราะห์ที่ดีและเท่าทันสถานการณ์การลงทุน จึงได้จัดตั้ง “ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU)” เพื่อทำหน้าที่ศึกษาแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางการลงทุนในภาพใหญ่ ทั้งในเชิงลึกและกว้างจากทั่วโลก แล้วจึงนำข้อมูลที่น่าเชื่อถือนี้มาสังเคราะห์เป็นมุมมองการลงทุนของทิสโก้เอง (House View) ที่มีความรวดเร็ว ถูกต้อง และแม่นยำ

กุญแจดอกที่สอง ผลิตภัณฑ์ที่ดี (Good Product) โดยช่องทางแรกที่ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีมาจากการขับเคลื่อนของ “ทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ธุรกิจธนบดี (Wealth Product Development)” ที่นำบทวิเคราะห์ของ TISCO ESU มาศึกษาเจาะลึก เพื่อเสาะหากองทุนต่างประเทศที่น่าสนใจ แล้วจึงเลือกเทรนด์ที่มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนที่ดีทั้งในระยะสั้นและระยะยาวมานำเสนอเป็นธีมกองทุนให้กับลูกค้า ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น คือ กองทุนรวมธีม “Megatrends” ที่ลงทุนในธุรกิจแห่งอนาคตที่เกี่ยวกับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงสำคัญของโลก ซึ่งทิสโก้เป็นเจ้าแรกของอุตสาหกรรมการลงทุนที่ริเริ่มแนะนำการลงทุนนี้ โดยผลตอบแทนในปัจจุบันก็อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพึงพอใจ

file

“เรามีนวัตกรรม (Innovation) ในการคิดและออกแบบผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ๆ ที่นำตลาด จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ของเราส่วนใหญ่มีความนำเทรนด์ (Ahead Trends) หรือไม่ก็สอดคล้องกับเทรนด์ในตลาดโลกอยู่เสมอ” และอีกช่องทางที่ทำให้ธนาคารทิสโก้มีผลิตภัณฑ์ที่ดีให้ลูกค้าได้เลือกอย่างหลากหลาย คือการที่ธนาคารมีแพลตฟอร์มเสนอขายกองทุนแบบเปิดกว้าง (Open Architecture : OA) ทำให้สามารถคัดสรรกองทุนที่ดีที่สุด (Top in Class) และตอบโจทย์ลูกค้าได้มากที่สุดจาก บลจ. ใดก็ได้มานำเสนอให้กับลูกค้า เพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีที่สุด บนความเสี่ยงที่ลูกค้ารับได้ โดยในปี 2563 กองทุนที่ธนาคารทิสโก้ได้เลือกมานำเสนอให้ลูกค้า ก็สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยสูงถึง 65.71%

“แต่ละ บลจ. มีความชำนาญในตลาดที่แตกต่างกัน ซึ่งข้อดีของการมีแพลตฟอร์ม OA คือ ทำให้เราสามารถคัดสรรสิ่งที่ดีที่สุดจากเกือบทุก บลจ. มาแนะนำให้กับลูกค้าได้อย่างครอบคลุม โดยที่ไม่ต้องออกผลิตภัณฑ์เองทั้งหมด เช่นเดียวกับในหมวดของประกันสุขภาพ Health Protection Advisory ที่เราใช้แพลตฟอร์ม OA ด้วยคอนเซ็ปต์เดียวกันนี้ในการเลือกความคุ้มครองที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า” 

และกุญแจดอกสุดท้าย การให้คำแนะนำที่ดี (Good Advice) ส่งมอบโดย Relationship Manager (RM) โดยกลไกเบื้องหลังการให้คำแนะนำที่ดี มาจากบทวิเคราะห์ที่ดีของทีม TISCO ESU ข้อมูลเชิงลึกด้านผลิตภัณฑ์จากทีม Wealth Product Development และการทำงานประสานกับทีม Wealth Manager ซึ่งสนับสนุนการร่าง (Formulate) พอร์ตและกลยุทธ์การลงทุนอย่างชาญฉลาด เพื่อให้ RM มีคำแนะนำที่เจาะลึก เข้มข้น และมี Solution ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าแต่ละคน รวมถึงหัวใจสำคัญในเรื่องคุณภาพของ RM ซึ่ง RM ของธนาคารทิสโก้ทุกคนต้องมี Single License และธนาคารยังสนับสนุนให้ RM พัฒนาตัวเองยิ่งขึ้น ด้วยการสอบเป็นนักวางแผนการเงิน (CFP) ซึ่งปัจจุบันมี RM ที่ได้รับ CFP License แล้วมากถึง 30% 

“การจะให้คำแนะนำที่ดีให้กับลูกค้าได้นั้น เราต้องมีพร้อมทั้งข้อมูลและองค์ความรู้ มีความตื่นตัวในการติดตามข้อมูลข่าวสารด้านเศรษฐกิจการลงทุนจากทั่วโลก มีความทุ่มเทในการพัฒนาตัวเอง เพื่อให้รู้ลึกและรู้จริง มีความกระตือรือร้นที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และมีจิตวิญญาณในการทำงานเป็นทีม เพื่อทำงานสอดประสานจนนำไปสู่การส่งมอบคำแนะนำที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า”

 

คุณเมธา มองนิยามของคำว่า “Good Advice” นอกจากจะหมายถึง คำแนะนำการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีทั้งในระยะสั้นและระยะยาวแล้ว ยังหมายถึงการให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างลูกค้ากับ RM นำไปสู่การพัฒนาทักษะการลงทุนของลูกค้าและทักษะการให้คำแนะนำของ RM ด้วย

“จุดหนึ่งที่ทำให้เราก้าวขึ้นมาเป็น Top Advisory ด้านการลงทุนได้ เพราะสไตล์การ Advisory ที่แตกต่าง เราไม่ได้แค่แนะนำกองทุนแล้วจบ แต่เรายังให้ข้อมูลเชิงความรู้ด้านการลงทุนแก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตหรือภาวะขาดทุน เรายิ่งต้องอธิบายและให้คำแนะนำที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้ลูกค้าเสียประโยชน์จากผลการตัดสินใจระยะสั้น”

โดยคุณเมธาย้ำว่า “ความดีพร้อมทั้ง 3 ด้าน (3-Good)” นี้ของทิสโก้ ได้ถูกนำไปขยายผลกับการให้คำแนะนำลูกค้าในทุกๆ ผลิตภัณฑ์ 

file

DNA แห่งความสำเร็จอย่างยั่งยืน

คุณเมธาเชื่อว่า ไม่ว่าธุรกิจธนาคารจะต้องเผชิญกับวิกฤตใดอีกในอนาคต “กุญแจสำคัญ”ที่จะทำให้ทิสโก้ผ่านพ้นทุกวิกฤตได้ และปูทางสู่การเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนให้กับกลุ่มทิสโก้ ก็คือ “คนที่มีคุณภาพ” ซึ่งใมุมมองของคุณเมธา ต้องประกอบด้วย 3 DNA ได้แก่ จิตวิญญาณในการทำงานเป็นทีม (Teamwork) การรู้ลึกรู้จริงในงานที่รับผิดชอบ (Mastery) และการเปิดโอกาสให้กับพนักงานได้แสดงความสามารถ (Opportunity) นอกจากนี้ ยังควรมีคุณสมบัติพื้นฐานอีก 3 ประการ คือ ขยัน อดทน และซื่อสัตย์

“งานในสาย Wealth Management ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม เพราะลักษณะงานมีความหลากหลาย เหมือนทีมฟุตบอลที่ต้องมีทั้งผู้เล่นในกองหน้า กองกลาง และกองหลัง ไม่สามารถขาดผู้เล่นคนใดคนหนึ่งไปได้ ณ ตอนนี้ผมมีบทบาทที่เปรียบเสมือนเป็น “โค้ช” ที่ต้องทำหน้าที่วางตัวผู้เล่น วางรูปแบบการเล่น และคอยแก้เกมของฝั่งตรงข้าม ซึ่งเวลาที่กองหน้ายิงประตูได้ ทุกคนในทีมก็จะร่วมดีใจด้วยกัน หรือหากกองหลังพลาดพลั้ง มีช่องโหว่ กองหน้าก็พร้อมที่จะลงไปเล่นเกมรับเพื่อให้ทีมผ่านวิกฤตไปได้ด้วยกัน นี่คือสปิริตของทีมเวิร์ก”

file

คุณเมธาเชื่อว่า Teamwork Spirit เป็น DNA ที่คนทิสโก้ถูกปลูกฝังมายาวนาน ผ่านวัฒนธรรมองค์กร และคำสอนจากรุ่นสู่รุ่นว่า “ที่ทิสโก้ เราไม่มี One Man Show ไม่เน้นสร้าง Superman แต่เราจะสร้าง Super Team”

สำหรับการรู้ลึกรู้จริงในงานที่รับผิดชอบ (Mastery) คุณเมธาเชื่อว่า เป็น DNA ที่พนักงานทิสโก้ทุกคนถูกปลูกฝังตั้งแต่วันแรกของการทำงานที่นี่ ผ่านการเรียนรู้งานจากรุ่นพี่ หัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน ผู้บริหาร รวมถึงเรียนรู้จากการทำงาน เพื่อสร้างความเข้าใจในเนื้องานอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น

“ผมชอบลงรายละเอียดในการทำงาน ซึ่งการที่เราจะทำแบบนี้ได้ เราต้องรู้ลึกรู้จริงในสิ่งที่ทำ ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ อาจไม่ได้มาจากอะไรที่พิเศษกว่าคนอื่น แต่อาศัยว่าเป็นคนที่ใฝ่หาความรู้ และขยันสร้างความชำนาญ สร้างทักษะใหม่ๆ ให้ตัวเองและหมั่นฝึกฝน ผมเชื่อว่า พนักงานทิสโก้ทุกคนมีสิ่งเหล่านี้อยู่ในตัวเอง เพราะงานด้านการเงินมีการแข่งขันสูง การจะให้คำแนะนำที่ดีแก่ลูกค้าได้ ต้องเริ่มจากการรู้ลึกรู้จริงในสิ่งที่จะไปให้คำแนะนำกับลูกค้าก่อน”

DNA ตัวที่ 3 คือการเปิดโอกาส (Opportunity) ให้พนักงานได้แสดงความเห็นและแสดงความสามารถ รวมถึงแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ โดยเขาให้ความสำคัญกับการเปิดโอกาสให้พนักงาน “กล้าคิด” “กล้าทำ” ในสิ่งที่ไม่เคยทำ แต่เชื่อว่ามีศักยภาพที่จะทำได้

นอกจากนี้ ยังมีคุณสมบัติพื้นฐานอีก 3 ข้อที่คุณเมธายึดถือมาโดยตลอด นั่นคือ ขยัน-อดทน-ซื่อสัตย์ เพื่อสร้าง “รากฐาน” แห่งความก้าวหน้าและความสำเร็จในการทำงานอย่างยั่งยืน

“ผมมีสิ่งที่ยึดมั่น 3 ข้อ คือ ขยัน-อดทน-ซื่อสัตย์ 1) ขยันคือ ขยันทำงาน หาความรู้ รู้ให้ลึกกว่าคู่แข่ง พยายามพัฒนาตัวเองตลอดเวลา เพราะตลาดเงินตลาดทุนไม่เคยหยุดนิ่ง 2) อดทนคือ อดทนต่ออุปสรรค และรู้จักอดทนรอความสำเร็จ 3) ซื่อสัตย์ เป็นสิ่งที่ผมเน้นมาก เพราะเราเป็นสถาบันการเงิน ความน่าเชื่อถือสำคัญมาก ถ้าขาดความซื่อสัตย์ ความน่าเชื่อถือก็จะขาดหายไป ซึ่งทั้ง 3 ข้อนี้ฟังดูเหมือนทำง่าย แต่การจะปฏิบัติให้ดีเพียบพร้อม ถือว่าไม่ง่ายเลย”

คุณเมธามองว่า คุณสมบัติข้างต้น ไม่เพียงเป็น DNA แห่งการพัฒนาตัวเอง แต่ยังเป็น DNA ที่จะสร้างความแข็งแกร่งและนำไปสู่การเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน นี่จึงเป็นอีกหนึ่งภารกิจของเขา ในการทำหน้าที่กระตุ้นให้ “DNA” เหล่านั้นตื่นตัว และเติบโตในจิตวิญญาณความเป็นคนทิสโก้อยู่ตลอดเวลา

และไม่ว่าวิกฤตใดจะปรากฏตัวขึ้นอีก จึงมั่นใจได้ว่า ทิสโก้ จะนำพาลูกค้าผ่านพ้นไปได้ ควบคู่กับการนำพาองค์กรให้เติบโตอย่าง “มั่นคงและยั่งยืน” แน่นอน 

Trust Magazine by TISCO