ภิพัชรา แก้วจินดา ทุกก้าวของ PIPATCHARA สู่แบรนด์แฟชั่นที่เติบโตจาก Sustainable Mind
นิตยสาร Trust ฉบับที่ 68 | คอลัมน์ New Generation
Sustainable Mind คืออะไร คุณเพชร ภิพัชรา แก้วจินดา ดีไซเนอร์และผู้ก่อตั้ง PIPATCHARA แบรนด์แฟชั่นระดับไฮเอนด์ที่โดดเด่นอย่างแตกต่างด้วยหัตถกรรมจากชุมชนไทยแท้ ๆ ได้บอกเล่าความหมายแห่งคำนี้ว่า นี่คือแนวคิดของผู้คนยุคใหม่ที่อยากเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันดูแลโลก ด้วยการเลือกแบรนด์สินค้าที่ใส่ใจโลกและสังคมอย่างยั่งยืน โดยแบรนด์ PIPATCHARA เองก็ได้สร้าง Sustainable Mind นี้ไปพร้อมกับเป้าหมาย Fashion for Community สู่จุดยืนแบรนด์ที่ชัดเจนและเติบโตอย่างแข็งแรง
ย้อนกลับไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว จากจุดเริ่มต้นของพลังชุมชนสู่คอลเล็กชันเครื่องหนังหลากหลายดีไซน์ มาถึงวันนี้แบรนด์กำลังต่อยอดในทิศทางประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม อีกความท้าทายในธุรกิจด้านแฟชั่นที่เต็มเปี่ยมด้วยพลังการทำงานจากแพสชันของตัวเอง “การเดินหน้าธุรกิจภายใต้ความยั่งยืนยากกว่าที่เพชรคิดไว้เยอะมาก ๆ แต่ก็ได้ความท้าทายที่มีมากกว่าที่คิดไว้เยอะเลยเช่นกัน ทั้งการต้องควบคุมต้นทุนการผลิต ทำให้ลูกค้าเข้าใจราคาของแบรนด์ในระดับนี้ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการต้องพยายามทำให้สิ่งที่เราพูดกันไว้ให้เกิดขึ้นได้จริง นั่นคือเรื่องของความยั่งยืน แน่นอนว่าการทำสินค้าต้องคิดเรื่องการตลาด เรื่องการขาย และอีกหลายอย่าง แต่เมื่อแบรนด์ชัดเจนว่า Sustainability ต้องมี ก็ต้องทำให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง แล้วเราก็สร้างให้ PIPATCHARA เป็น Fashion for Community มาจนถึงวันนี้ได้”
สร้างคอมมูนิตี้ร่วมชุมชนฉบับ PIPATCHARA
คุณเพชรได้ก่อตั้งแบรนด์ PIPATCHARA ร่วมกับพี่สาว (คุณทับทิม จิตริณี แก้วจินดา) ที่เธอยกเครดิตเรื่อง Sustainable หรือความยั่งยืนให้ทั้งหมด โดยยอมรับว่าช่วงแห่งการร่ำเรียน Fashion Design จาก Academy of Art University สหรัฐอเมริกา รวมถึงการไปเป็นนักเรียนทุนที่ École de la Chambre Syndicale de la Couture Parisienne ณ เมืองปารีส ฝรั่งเศส กระทั่งผ่านงานแบรนด์แฟชั่นแถวหน้ามากมาย ไม่ว่าจะเป็น Ralph Lauren, Cholé และ Givenchy นั้น ไม่ได้ทำให้เธอมองมิติด้านความยั่งยืนได้เท่ากับวันนี้
“แค่เทรนด์ที่ต้องตามให้ทันของ Fashion House ในตอนนั้น เราเห็นเลยว่า แฟชั่นกับความยั่งยืนไม่ได้ไปด้วยกัน แต่วันที่เพชรคุยกับพี่ทิมเพื่อสร้างแบรนด์ PIPATCHARA แน่นอนเพชร Strong ด้านแฟชั่น แต่เงื่อนไขของพี่ทิมในการเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ คือคอนเซปต์ Sustainability ต้องมีในแบรนด์อย่างชัดเจน ต้องช่วยเหลือชุมชนและสังคม”
ดังนั้น โจทย์ต่อไปของทั้งสองพี่น้อง คือการเอาแฟชั่นกับ Sustainability มาผสมผสานแล้วคิดต่อยอดว่า ทำอย่างไรให้เกิดขึ้นได้จริง และ Fashion for Community ก็เกิดขึ้น นำสู่ Fashion Sustainability อันเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ PIPATCHARA ด้านความยั่งยืนเพื่อชุมชน
“เราอยากให้ทุกชิ้นงานมีส่วนร่วมกับ Community และจุดเริ่มต้นที่พี่ทิมเข้าไปสอนชุมชนถักมาคราเม่ (Marcrame: ศิลปะยุคบาบิโลน เป็นการมัดหรือถักเชือกเส้นยาวให้เกิดลวดลายต่าง ๆ ต่อยอดเป็นงานคราฟต์ได้มากมาย) และได้กลายเป็นคอนเล็กชันแรกของกระเป๋า PIPATCHARA และสร้างซิกเนเจอร์ของแบรนด์ที่ไม่เหมือนใคร โดยตอนนั้น ในชุมชนมีส่วนร่วมผลิตชิ้นงานเพียง 8 คนเท่านั้น แต่ตอนนี้เพิ่มจำนวนมาถึง 60 คน ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน และกรุงเทพฯ ซึ่งการขยายชุมชน ในอนาคตอาจมีเพิ่มขึ้น แต่วันนี้เรายังไม่รีบเพราะอยากทำให้ชุมชนแต่ละแห่งเข้มแข็งมากขึ้นและอยู่ได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น เป้าหมายสำคัญคือการที่เราสามารถดูแลให้ชุมชนมีส่วนร่วมสร้างศักยภาพให้ชิ้นงานและยังสร้างรายได้อย่างยั่งยืน”
คุณเพชรบอกด้วยว่า ความสำเร็จของ PIPATCHARA สำหรับเธอไม่ใช่การที่แบรนด์เป็นที่รู้จักในเวทีแฟชั่นระดับโลก แต่เป็นการทำให้ Fashion for Community เกิดขึ้นได้จริง การคืนสู่สังคมที่ไม่ใช่แค่สร้างรายได้เสริมให้ชุมชน แต่การพัฒนาฝีมือ การให้ความรู้เรื่องศิลปะและงานฝีมือ ยังได้สร้างความภาคภูมิใจให้แก่สมาชิกในชุมชนด้วยว่า พวกเขาสามารถทำงานหัตถกรรมมีคุณภาพระดับส่งออกได้
จากหัตถกรรม Marcrame สู่ Infinitude แผ่นพลาสติกรีไซเคิล
Infinitude เป็นวัสดุรีไซเคิลที่แบรนด์ PIPATCHARA พัฒนาจากพลาสติกรีไซเคิล เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นช่วง COVID-19 ที่ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นมากมายเหลือเกิน คุณเพชรเล่าว่า ใช้เวลานานถึง 2 ปีในการพัฒนาวัสดุและสินค้าจากพลาสติกที่นำไปรีไซเคิลแล้วไม่คุ้มค่า เช่น ถาดอาหาร ถุงร้อน ช้อนส้อมพลาสติก ฯลฯ โดยแบรนด์ได้ร่วมมือกับโรงงานขยะที่มีการจัดการขยะที่ดี แยกขยะตามประเภทวัสดุและตามสีอย่างเรียบร้อย ซึ่งสองสาวพี่น้องลงมือศึกษาเรื่องวิธีการแปรรูปจากพลาสติกหลาย ๆ ชนิดและมีการทดลองหลากหลายวิธี เพื่อมาทำเป็นวัสดุแฟชั่นที่มีเอกลักษณ์ สวยงาม ไม่เหมือนใคร กระทั่งได้แผ่นพลาสติกรีไซเคิลสีสวยที่ถูกตั้งชื่อว่า Infinitude วัสดุรักษ์โลกและถูกนำไปสร้างชิ้นงานผ่านชุมชนทำงานคราฟต์คนไทยออกสู่ระดับสากลอีกครั้ง
“Infinitude ก็ต่อเนื่องกลับไปเรื่องเดิมคือ Fashion for Community เราไม่ใช่แค่ใช้ Material ที่มาจาก Sustainability เท่านั้น แต่เรากำลังทำ Fashion for Community ด้วย เราเข้าไปสอนให้ต่อชิ้นงาน Infinitude ซึ่งการต่อง่ายกว่างานถักเสียอีก (หัวเราะ) แต่อาจใช้เวลาเยอะกว่า โปรเจกต์นี้เราทำสำเร็จในปี 2020 และวันนี้ก็ยังอยู่ มีความต้องการจากกลุ่มลูกค้า ซึ่งไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่าจะเกิดขึ้น และความกังวลแรกที่ว่า คนจะเข้าใจเรื่องราคากระเป๋าจากขยะในราคา 20,000-30,000 บาทหรือไม่ แต่ถ้าจะให้ขายต่ำกว่านั้น ต้นทุนที่สูงในแง่ธุรกิจก็ทำไม่ได้อยู่ดี ซึ่งผลปรากฏว่าขายดีมาก มีกลุ่มลูกค้าให้ Value ชิ้นงานนี้ เราจึงพัฒนาจากกระเป๋ามาเป็นรองเท้า เป็นเสื้อผ้า เป็น Accessories และตอนนี้พูดได้ตรง ๆ ด้วยว่า ผลิตชิ้นงานกันออกมาไม่ทันแล้ว”
ปีนี้ PIPATCHARA มีโปรเจกต์ใหม่ที่คุณเพชรวางแผนให้เกิดขึ้นในช่วงกลางปี ในเดือนวันสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งเป็นวันครบรอบปีที่ 6 ของแบรนด์ PIPATCHARA พอดิบพอดีด้วย “จะมี another project out ที่เราจะใช้ Waste ที่ไม่ใช่แค่ฝาน้ำ แต่ทำมากขึ้นไปอีก วันที่คุยกันวันนี้ยังไม่เกิดขึ้น แต่กำลังดำเนินการและภาวนาให้เพชรทำสำเร็จได้ตามแพลนที่วางไว้ ผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ ก็จะเป็นอีกโปรดักต์ที่จะได้เห็น PIPATCHARA แตกไลน์สินค้าเพิ่มขึ้นไปอีก”
Fashion for Community
โลกที่เปลี่ยนไป ถึงเวลาที่ต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืน หลายคนอาจเพิ่งสนใจเรื่องนี้ไม่มากก็น้อย แต่วันนี้เราต้องสนใจเรื่องนี้ “เราต้องทำให้ความยั่งยืนอยู่กับตัวเรา และในความนึกคิดอยู่เสมอ เพชรกับพี่ทิมอาจโชคดีที่ชอบเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราอยู่ด้วยเลยไม่รู้สึกว่าไกลตัว ไม่ต้องพยายาม อยู่กับมันได้ทุกวันอย่างสนุกและมีความสุข สร้างพลังให้อยากพัฒนา PIPATCHARA ต่อไป”
คุณเพชรบอกว่า อนาคตของ PIPATCHARA ไม่ได้ถูกมองแค่แบรนด์ที่กลุ่มลูกค้ารู้จักเท่านั้น แต่ถ้าฝันใหญ่ยิ่งกว่า ที่อยากให้ทุกคนมองให้เป็น Community เพื่อในอนาคตสามารถผันตัวเองไปได้หลาย ๆ อย่าง
“สิ่งสำคัญวันนี้ คือ จุดเริ่มต้นที่สำเร็จว่า “เฮ้ย มันทำได้จริงแล้ว มัน Successful มาก ๆ” ซึ่งเป็นจุดที่พยายามสร้างกันขึ้นมา แต่ถ้าหากต้องมองในภาคธุรกิจระดับประเทศ หรือไปถึงระดับโลก เพชรรู้สึกว่า เราเป็นประเทศที่เล็กมาก ๆ ถ้าเราแข่งขันกันเองแทบไม่ได้อะไรเลย แต่ถ้าเราจับมือเป็นพาร์ตเนอร์ร่วมกัน เราจะไปได้ไกลกว่า มันไม่ใช่แค่ว่าเราทำธุรกิจแค่เมืองไทย ดังนั้น อนาคตของเพชรจะเข้าไปร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ธุรกิจต่าง ๆ เยอะกว่านี้อย่างแน่นอน”
หากติดตามข่าวคราวคุณเพชร หลายคนได้เห็นเรื่องราวดี ๆ และน่ายินดีในด้านความรักของเธอกับหนุ่ม ฌอห์ณ จินดาโชติ นักแสดง นักเขียน ผู้กำกับ ที่ควงคู่เข้าพิธีแต่งงานไปเมื่อปลายปีที่แล้ว และวันนี้คุณฌอห์ณก็เป็นอีกคนสำคัญที่เข้าร่วมขับเคลื่อนให้แบรนด์ PIPATCHARA เติบโตในเส้นทาง Fashion Sustainability ตลอดไป
พี่ฌอห์ณเป็นคนที่คิดภาพใหญ่เสมอ ส่วนเพชรคิดภาพเล็ก แต่จะมีคำพูดที่ทำให้เราชัดเจนกับสิ่งที่ทำว่า สิ่งที่เพชรทำคืออะไร ประโยชน์ที่เพชรทำคืออะไร ที่สำคัญคือพี่ฌอห์ณเข้าใจในสิ่งที่เพชรทำมากและช่วยเหลือได้เยอะมากเช่นกัน รวมไปถึงเรื่องของสารคดีเรื่องเล่าต่าง ๆ ของ PIPATCHARA ที่หากมีโอกาสได้ติดตามกัน จะเห็นเลยว่าแบรนด์ฯ แข็งแรงขึ้นมากเมื่อพี่ฌอห์ณมองภาพใหญ่และวางคอนเซปต์ต่าง ๆ วันนี้แบรนด์ถูกสร้างเป็น Documentary ที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจมากมาย
หลายคนอาจตั้งคำถามว่า สมัยนี้ใครจะดูสารคดี แต่สำหรับเพชรแล้วคือต้องมี สมมติว่าโลกนี้ไม่มีคนทำสารคดี เอ๊ะ...แล้วมันจะมีคนพูดถึงเรื่องดี ๆ ของคนอื่นกันไหม เรื่องดี ๆ ที่ส่งต่อและสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นอีกเยอะแยะ นี่จึงเป็นเหตุผลที่เพชรให้ความสำคัญไม่แพ้กัน และอาจเป็นโชคดีอีกอย่างหนึ่ง ที่เราสองคนอยู่ในสายงานที่ไม่ต่างกันมากด้วย