หุ้น ESG จากทางเลือกสู่ทางรอดที่ยั่งยืน
นิตยสาร Trust ฉบับที่ 68 | คอลัมน์ Investment Strategy
ตัวเลข GDP และกำไร บจ. Q4 ที่ต่ำกว่าคาด ถ่วงหุ้นไทย Q1 แกว่งไซด์เวย์ไม่ไปไหน… SET Index ไตรมาส 1/2024 ที่ผ่านมา เคลื่อนไหวขึ้น-ลงในกรอบจำกัด 1,350-1,440 จุด นับเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกันและถือว่าอ่อนแอกว่าตลาดหุ้นโลกที่ส่วนใหญ่ปรับขึ้น MSCI World Index ตั้งแต่ต้นปีนี้ปรับตัวขึ้นราว 5% หลังตัวเลข GDP ไทยไตรมาส 4/2023 และภาพรวมกำไร บจ. ออกมาต่ำกว่าคาดมาก ขาดแรงส่งจากเม็ดเงินงบประมาณปี FY2024 ที่มีความล่าช้า และ บจ.ขนาดใหญ่มีการบันทึกผลขาดทุนในรายการพิเศษเป็นจำนวนมากจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเงินลงทุนในต่างประเทศ (แต่เป็นการเพิ่มความระมัดระวังในการดำเนินธุรกิจเพื่อแนวโน้มกำไรที่ดีขึ้นในอนาคต)
…แต่มองเป็นจังหวะสะสมหลังราคาหุ้นสะท้อนปัจจัยลบไปมากพอสมควรแล้ว
อย่างไรก็ดี ณ ระดับการประเมินมูลค่าหุ้นไทยในปัจจุบันที่คิดเป็น 12m Fwd. PER ที่ 13.6 เท่า และ PBV ที่ 1.3 เท่า หรือต่ำกว่าระดับ -1S.D. จากค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 17 เท่า และ 1.7 เท่า ตามลำดับ ทำให้เรามองซึมซับปัจจัยลบไปมากพอสมควรแล้ว เรามองเป็นจังหวะดีในการทยอยสะสมหุ้นไทยจากเม็ดเงินงบประมาณคาดว่าจะได้รับความเห็นชอบและเริ่มเบิกจ่ายได้ภายในไตรมาสนี้ หรืออย่างช้าสุดไม่เกินเดือนพฤษภาคม จะกลับมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผสานกับแนวโน้มการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่องในปีนี้จากฟรีวีซ่าจีนที่เริ่มต้นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คาดจะเป็นผลดีต่อทิศทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก ทำให้แนวโน้ม GDP ปีนี้คาดยังเติบโตที่ระดับ +-3% แม้จะถูกหั่นคาดการณ์ลงมา แต่ยังเป็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดในรอบ 5 ปี ดังนั้นตลาดหุ้นไทยที่เคลื่อนไหวในทิศทางแย่กว่าตลาดหุ้นโลก (Underperform) ตั้งแต่ปีที่แล้วต่อเนื่องถึงต้นปีนี้น่าจะกลับมาปรับตัวดีขึ้น ผสานกับฐานกำไร บจ.ที่ต่ำมากในปีที่แล้ว จะทำให้อัตราการเติบโตของกำไรในปีนี้ดูเด่นมาก อิงจากคาดการณ์ของตลาดโดยรวม (Bloomberg Consensus) SET EPS ปี 2024-25F จะเติบโต +16% และ +12% ตามลำดับ
แนวโน้มการลงทุนอย่างยั่งยืน
การลงทุนในหุ้นที่ให้ความสำคัญ ESG อาจไม่ใช่แค่กระแสอีกต่อไป แต่สามารถจับต้องได้มากขึ้นในปัจจุบัน เพราะนอกจากบริษัทจดทะเบียนจะร่วมเปิดเผยข้อมูล ESG ตามเกณฑ์ One Report และบริษัทหลักทรัพย์ออกบทวิเคราะห์ที่ครอบคลุม ESG เพิ่มมากขึ้นแล้ว รัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้าน ESG ด้วยการเห็นชอบการจัดตั้งกองทุน TESG เพื่อสนับสนุนการออมระยะยาว คล้าย ๆ กับกองทุน LTF ในอดีต โดยให้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาทมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว และปัจจุบันมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนออกกองทุนประเภทนี้แล้วกว่า 30 กองทุนมีเม็ดเงินลงทุนรวมประมาณ 6 พันล้านบาทในปัจจุบัน และเราเชื่อว่าจะมีขนาดเติบโตต่อเนื่องในระยะข้างหน้า
จากการศึกษาความเคลื่อนไหว SETESG Index (หรือเดิม คือ SETTHSI Index ที่เปลี่ยนชื่อในปีที่แล้ว) และ SET Index ย้อนหลัง 2 ปีล่าสุด (ตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมา) พบว่า SETESG Index ให้ผลตอบแทนดีกว่า 2 ปีซ้อน เราเชื่อว่าจะเห็นความแตกต่างของผลตอบแทนทั้ง 2 ดัชนีมากขึ้นในระยะยาว
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังเริ่มเผยแพร่ผลประเมินหุ้นยั่งยืนในรูปแบบเรตติ้งเป็นครั้งแรกในช่วงปลายปีที่แล้ว โดยแบ่งเป็นเรตติ้ง 4 ระดับ คือ (1) AAA (2) AA (3) A และ (4) BBB เราจึงได้จำลองดัชนีผลตอบแทนจากการลงทุนหุ้น ESG ตามเรตติ้งในระดับต่าง ๆ นับตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นมาพบว่า หุ้นที่มีเรตติ้งระดับ AAA แม้ให้ผลตอบแทนที่ -5.6% แต่ยังเคลื่อนไหวดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับหุ้น ESG เรตติ้งระดับอื่น ๆ และดีกว่า SET Index ที่ -18.1% ขณะที่การลงทุนหุ้น ESG เรตติ้งระดับ BBB แม้ให้ผลตอบแทนแย่ที่สุดที่ -23.7% แต่ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะหุ้น ESG เรตติ้งระดับ BBB มีค่อนข้างน้อย ทำให้มีการกระจุกตัวค่อนข้างสูง
กล่าวโดยสรุป นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับหุ้นที่มี ESG เรตติ้งระดับ A ขึ้นไป เพราะแนวโน้มผลตอบแทนมีโอกาสจะชนะตลาด อนึ่ง ปัจจุบันหุ้นที่อยู่ในการคำนวณ SETESG Index มีทั้งหมด 121 ตัว แบ่งเป็นเรตติ้งระดับ AAA, AA, A และ BBB จำนวน 29 ตัว 51 ตัว 28 ตัว และ 13 ตัว ตามลำดับ
คัดเลือกหุ้นน่าลงทุนที่ตอบโจทย์ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ด้วยการลงทุนในหุ้นที่ให้ความสำคัญ ESG ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีโอกาสชนะตลาด คาดจะสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว เราจึงได้คัดเลือกหุ้นพื้นฐานดีขนาดใหญ่-กลางที่อยู่ทั้งใน SET100 Index และ SETESG Index และมี ESG เรตติ้งระดับ AAA ด้วยเกณฑ์ต่าง ๆ ทั้งในแง่ของลักษณะธุรกิจ, แนวโน้มการเติบโต, ฐานะการเงิน และการประเมินมูลค่าหุ้นที่ตอบโจทย์การลงทุนระยะสั้นสำหรับไตรมาสนี้ และระยะยาวสำหรับในช่วง 1 - 2 ปีข้างหน้า หุ้นเด่นที่เราแนะนำในไตรมาส 2/2024 คือ AMATA, CPALL, CRC, PTTGC และ SCGP
AMATA: บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) - ผู้ประกอบธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ (เวียดนาม ลาว พม่า) เรามองแนวโน้มผลประกอบการปี 2024F เติบโตจากยอดขายที่ดินและยอดโอนแข็งแกร่ง โดยยอดขายที่ดินในเวียดนามที่เพิ่มขึ้นในปี 2023 จะช่วยหนุน Backlog ยอดโอนในปี 2024 ขณะที่บริษัทตั้งเป้ายอดจองปี 2024 ของไทยและเวียดนาม ที่ 1,500 ไร่ และ 200 ไร่ ตามลำดับ นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างความร่วมมือพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแบบ Smart City Zones กับไต้หวัน จีน เกาหลี และญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยดึงดูดการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ จ่ายเงินปันผลสำหรับงวดผลการดำเนินงานปี 2023 ที่อัตราหุ้นละ 0.40 บ. ขึ้น XD 9 พฤษภาคม คงคำแนะนำ “ซื้อ” ที่เป้าพื้นฐาน 26 บาท
CPALL: บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) - ผู้ประกอบธุรกิจร้านสะดวกซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้า 7-Eleven และลงทุนในธุรกิจอื่นที่สนับสนุนธุรกิจหลักของบริษัท เราคาดยอดขายยังคงเติบโตแข็งแกร่ง จากแนวโน้มการบริโภคในประเทศที่สดใส รวมทั้งได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่อัตรากำไรขยายตัวจากความพยายามในการเปลี่ยน Product Mix ไปสู่สินค้าที่มีอัตรากำไรสูง เช่น อาหารพร้อมทาน และสินค้า Personal Care นอกจากนี้ยังมีการปรับรูปแบบร้านค้าใหม่ เช่น ร้านค้า “ชุมชน” ซึ่งเป็นร้านค้าที่รวม 7-Eleven, พื้นที่จอดรถ และพื้นที่ให้เช่าสำหรับร้านค้าภายนอกเข้าไว้ด้วยกัน และ “All Select” คาเฟ่รูปแบบใหม่ที่คุณภาพและราคาสูงกว่าปกติ (All Cafe) จ่ายเงินปันผลสำหรับงวดผลการดำเนินงานปี 2023 ที่อัตราหุ้นละ 1.00 บ. ขึ้น XD 7 พฤษภาคม คงคำแนะนำ “ซื้อ” ที่เป้าพื้นฐาน 76 บาท
CRC: บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) - ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกสินค้าหลากหลายประเภทผ่านรูปแบบและช่องทางที่หลากหลายในประเทศไทย ประเทศอิตาลี และประเทศเวียดนาม โดยการดำเนินงานในเวียดนามอยู่ในแนวโน้มเชิงบวก อานิสงส์นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นและการส่งออกแข็งแกร่งในเดือนมกราคม (เพิ่มขึ้น 40%) หลังจากการดำเนินงานในเวียดนามเป็นปัจจัยกดดันผลประกอบการในปี 2023 นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการหาดีล M&A/JV เพื่อขยายธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันราคาหุ้นยังถูก เนื่องจากถูก Overhang หลังนักลงทุนรอดูความชัดเจนของดีลและแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการบริโภค จ่ายเงินปันผลสำหรับงวดผลการดำเนินงานปี 2023 ที่อัตราหุ้นละ 0.55 บาท ขึ้น XD 3 พฤษภาคม คงคำแนะนำ “ซื้อ” ที่เป้าพื้นฐาน 49 บาท
PTTGC: บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) - ผู้ประกอบธุรกิจเคมีภัณฑ์ (Chemical Flagship) ของกลุ่ม ปตท. เรามองผลประกอบการ 1Q24F ยังอ่อนตัวจากราคาและอัตรากำไร แต่มีปัจจัยบวก ได้แก่ กำไรจากโรงแยกก๊าซ และค่าการกลั่นที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม Risk-Reward อยู่ในระดับที่น่าสนใจ และคาดตลาดเคมีภัณฑ์จะเริ่มฟื้นตัวใน 2H24F โดยเราปรับประมาณการกำไรในปี 2024-25F ขึ้น 9% และ 6% และเราเชื่อว่า PTTGC ได้ประโยชน์จากแนวโน้มตลาดเคมีภัณฑ์ที่เข้าสู่ระดับมีเสถียรภาพมากขึ้น ด้วยบริษัทมีการกระจายพอร์ตมากกว่าผู้เล่นรายอื่น ขณะที่ราคาหุ้นในปัจจุบันซื้อขายอยู่ใกล้กับ -2SD เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต คงคำแนะนำ “ซื้อ” ที่เป้าพื้นฐาน 45 บาท อิงจาก P/B 2024F ที่ 0.69x เท่า
SCGP: บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) - ผู้ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจหลักในการให้บริการโซลูชันด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร เรามองผลประกอบการใน 1Q24F ไม่น่าจะลดลง QoQ ประกอบกับได้ปัจจัยบวกในอินโดนีเซียจากการฟื้นตัวด้านราคาช่วยหนุน (ต่ำสุดในเดือนตุลาคม จากนั้นดีดตัวขึ้น +6% ในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม) รวมทั้งความสามารถในการหาเศษกระดาษรีไซเคิล (RCP) ในประเทศที่ราคาต่ำกว่า จะช่วยหนุนผลประกอบการเมื่อเทียบกับราคา RCP ที่สูงขึ้นในภูมิภาค นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการพิจารณาเข้าซื้อหุ้นเพิ่มเติมใน Fajar จ่ายเงินปันผลสำหรับงวดผลการดำเนินงานปี 2023 ที่อัตราหุ้นละ 0.30 บ. ขึ้น XD 2 เมษายน คงคำแนะนำ “ซื้อ” ที่เป้าพื้นฐาน 39 บาท จาก 45 บาท อ้างอิง EV/EBITDA ที่ 12.0 เท่า