วัยเกษียณต้องรู้! วิธีบริหารเงินให้อุ่นใจ & จัดการค่าเบี้ยประกันสุขภาพ

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 68 | คอลัมน์ Wealth Manager Talk

file

ช่วงเกษียณอายุ เป็นช่วงที่ใครหลายคนอาจคิดว่าสามารถนำเงินออมและเงินลงทุนตลอดระยะเวลาการทำงานของเรามาใช้จ่ายได้อย่างเต็มที่ แต่ในความจริงนั้นเงินที่สะสมไว้อาจไม่เพียงพอ เพราะคนไทยมีอายุขัยเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นมากกว่าในอดีต ด้วยผลจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย และการหันมาดูแลรักษาสุขภาพกันมากขึ้น ทำให้เราจำเป็นต้องเตรียมเงินในจำนวนที่มากขึ้นเพื่อใช้จ่ายในช่วงหลังเกษียณอายุ หรืออาจทำให้เราต้องนำเงินเกษียณบางส่วนมาลงทุนต่อ แต่การลงทุนที่ “มีความเสี่ยงสูง” ในช่วงที่เราเกษียณอายุไปแล้วอาจเป็นทางเลือกการลงทุนที่ผิดพลาด และอาจสร้างความเสียหายต่อเงินต้นที่คาดว่าจะนำมาใช้หลังเกษียณได้ 

ทำไมต้องลงทุนต่อหลังเกษียณ

    สมมติว่า เรามีเงินราว 5,400,000 บาท เพื่อใช้ในยามเกษียณ หากโดยปกติแล้วเราใช้เงินราวเดือนละ 45,000 บาท ถ้าเราไม่ลงทุนเพิ่มเลย เงินจำนวนดังกล่าวจะใช้ได้นาน 10 ปี แต่ถ้านำเงินไปลงทุนได้อัตราผลตอบแทนที่ 3% 4% และ 5% ต่อปี เงินเกษียณของเราจะใช้ได้นานขึ้นถึง 13 ปี 14 ปี และ 15 ปีตามลำดับ (ดังแผนภาพที่ 1) 

file จะเห็นได้ว่า ยิ่งลงทุนได้ผลตอบแทนมากขึ้นเท่าไหร่ เงินเกษียณของเราก็จะสามารถใช้ได้ยาวนานขึ้น

ลงทุนอย่างไรให้อุ่นใจ ในวัยเกษียณ

    รู้หรือไม่ว่าในปัจจุบัน การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นหลังจากเข้าสู่ช่วงเกษียณอายุ อาจไม่สามารถทำให้เรากินอิ่มนอนหลับอย่างสบายใจได้อย่างแท้จริง เพราะหากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงแรง เงินที่เราเก็บออมไว้ใช้ยามเกษียณอาจหายไปจากการขาดทุนได้

    ในทางกลับกัน ทางเลือกทางการลงทุนที่เสี่ยงต่ำกว่าอย่างพันธบัตรรัฐบาลอาจสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงไม่แพ้การลงทุนในหุ้น เพราะปัจจุบันตลาดหุ้นสหรัฐฯ (S&P 500 Index) มี Valuation ที่ตึงตัว โดยซื้อ-ขายในระดับราคาที่แพงที่ Forward P/E ราว 20.61 เท่า ซึ่งอยู่ที่บริเวณ +1 S.D. ในรอบ 10 ปี (as of Feb 23, 2024) อาจทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มี Upside จำกัด ประกอบกับผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นที่ต่ำมาก โดยนับตั้งแต่ปี 1998-2023 (ดังแผนภาพที่ 2) จะพบว่า หากเราเข้าลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ที่ระดับ Earnings yield gap: EYG (มาจาก Forward earnings yield of S&P500 Index ลบด้วย US 10Y bond yield) ราว 0.48% อย่างเช่นในปัจจุบัน ตลอดระยะเวลาการลงทุน 5 ปีต่อมา จะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยไม่ถึง 1% ต่อปีเท่านั้น

file

    ขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 5 ปี และ 10 ปี ปัจจุบันอยู่ที่ระดับเกิน 4% สูงกว่าผลตอบแทนจากสถิติย้อนหลังในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้เรามองว่า การลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีความเสี่ยงต่ำ มีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นในเวลานี้

    อีกทั้งในปี 2024 เรามองว่า จะเป็นปีที่อัตราดอกเบี้ยของธนาคารหลักทั่วโลกถึงจุดสูงสุด และมีแนวโน้มปรับตัวเป็นขาลง ซึ่งถือเป็นจังหวะที่เหมาะสมสำหรับการเข้าลงทุนพันธบัตรโลก โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าตลาดหุ้น และยังช่วยกระจายความเสี่ยง รวมถึงช่วยลดผลขาดทุนของพอร์ตโดยรวมในกรณีที่เศรษฐกิจชะลอตัวได้อีกด้วย

จัดการค่าเบี้ยประกันสุขภาพหลังเกษียณ ด้วยแหล่งเงินได้ที่หลากหลาย

    นอกจากการลงทุนหลังเกษียณข้างต้นแล้ว การใช้เครื่องมือทางการเงินอย่างประกัน ก็สามารถช่วยอุดช่องว่างให้แผนการเงินเพื่อยามเกษียณของเราได้เป็นอย่างดี เพราะหากมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้น จะได้ไม่กระทบเงินก้อนใหญ่ที่เราเก็บออมมาตลอดการทำงานเพื่อไว้ใช้ยามเกษียณด้วย โดยวัยหลังเกษียณควรเป็นวัยที่ทำประกันสุขภาพมาก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องจากอายุที่มากขึ้น อาจมีโรคประจำตัวที่ทำให้ไม่สามารถทำประกันสุขภาพได้ แต่หากทำได้ก็อาจไม่คุ้มครองโรคที่เป็นมาก่อนการทำประกัน อีกทั้งควรเตรียมรับมือกับค่าเบี้ยประกันสุขภาพหลังเกษียณที่เพิ่มขึ้นทุกปีด้วย

    โดยเงินที่จะนำมาชำระเบี้ยประกันสุขภาพหลังเกษียณนั้น อาจมาจากแหล่งเงินได้ประจำ อันได้แก่ ดอกเบี้ยเงินฝาก ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโดมิเนียม ที่ดิน อพาร์ตเม้นต์ เป็นต้น ซึ่งสามารถปรับขึ้นค่าเช่าได้ เงินบำนาญที่ได้รับจากประกันบำนาญ รวมถึงเงินบำนาญชราภาพจากกองทุนประกันสังคม แต่หากแหล่งเงินได้ประจำข้างต้นยังไม่เพียงพอกับการจ่ายค่าเบี้ยประกันสุขภาพหลังเกษียณ อาจมีอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้เกษียณอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่มีบ้านเป็นของตนเอง โดยสามารถยื่นขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage) ได้ ซึ่งจะได้รับสินเชื่อในรูปแบบเงินได้รายเดือน โดยนำบ้านมาจำนองเป็นหลักประกัน เป็นต้น

    แต่สำหรับผู้ที่ทำประกันสุขภาพไม่ทัน หรือไม่มีเงินเพียงพอชำระค่าเบี้ยประกันสุขภาพที่สูงหลังเกษียณ ก็อาจจะมีทางเลือก เช่น การทำประกันอุบัติเหตุสำหรับผู้สูงอายุที่คุ้มครองทั้งชีวิต ค่ารักษาพยาบาล และมีเงินชดเชยรายได้ ซึ่งมักจะมีค่าเบี้ยประกันเพียงไม่กี่พันบาทต่อปี ยิ่งไปกว่านั้นค่าเบี้ยประกันยังคงที่ไม่ปรับเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุ และยังสามารถต่ออายุประกันได้ถึงอายุ 100 ปี เป็นต้น เพราะอุบัติเหตุเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ในกลุ่มของการบาดเจ็บโดยไม่ตั้งใจของผู้สูงอายุ และจากข้อมูลของกรมควบคุมโรคในปี 2022 พบว่า มีผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปที่เสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มมากกว่า 1,255 รายต่อปี รวมถึงสุขภาพร่างกายที่อ่อนแอลงไม่สมบูรณ์เหมือนตอนหนุ่มสาว การทำประกันอุบัติเหตุสำหรับผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน

    จะเห็นได้จากสถิติว่า การลงทุนในตลาดหุ้น S&P 500 ในปัจจุบันอาจได้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่า 1% ต่อปีเท่านั้นในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า แต่ทางเลือกทางการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าอย่างพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ กลับให้ผลตอบแทนมากกว่า 4 เท่า เหมาะสำหรับการลงทุนในช่วงหลังเกษียณที่รับความเสี่ยงได้ไม่มากนัก นอกจากนี้ การใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างการทำประกัน อาทิ ประกันสุขภาพ ประกันบำนาญ ตลอดจนประกันอุบัติเหตุ ก็ล้วนช่วยอุดช่องว่างและปิดความเสี่ยงทางการเงินได้อย่างดี ซึ่งถึงแม้เราจะไม่ได้ทำงานประจำแล้ว แต่ยังคงมีแหล่งเงินได้อื่นอีกมากมายที่สามารถนำมาชำระค่าเบี้ยประกันของเราที่เกิดขึ้นในแต่ละปี อีกทั้งยังไม่กระทบกับเงินก้อนที่มีไว้เพื่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของเรานั่นเอง


Trust Magazine by TISCO