“เพราะคุณแม่เป็นเบาหวาน” จุดพลิกชีวิตเชฟขนมหวาน เปษิกา ธัญพิทยากุล สู่เจ้าของ Chef Pe Keto

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 62 | คอลัมน์ All Around Me

file

เพราะผลตรวจสุขภาพประจำปีของคุณแม่วัยเกษียณที่ได้รับการยืนยันจากคุณหมอว่า “คุณแม่เป็นเบาหวาน” เมื่อ 7 ปีก่อน ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของเชฟเป-เปษิกา ธัญพิทยากุล ซึ่งมีอาชีพเป็นเชฟขนมหวานมาสู่การค้นพบ “น้ำตาลทดแทน” และ “ศาสตร์การกินแบบคีโตเจนิก” ที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับผู้ป่วยเบาหวาน จนสามารถรังสรรค์เป็นเมนูสุขภาพสำหรับมื้ออร่อยของคุณแม่ และต่อยอดเป็นธุรกิจร้านอาหารคีโตเจนิกเจ้าใหญ่ในจังหวัดนครปฐมและสินค้าภายใต้แบรนด์ “Chef Pe Keto” ขึ้น

เมื่อก่อนงานหลักของเชฟเปคือการเดินสายสอนทำขนมและเบเกอรีทั่วประเทศ ซึ่งมีนักเรียนตั้งแต่เหนือจรดใต้ โดยมีคุณแม่เป็นผู้ช่วย และด้วยความที่เป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ทั้งคู่จึงใช้ชีวิตตัวติดกันตลอด หลังจากที่ท่านเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด (Early Retirement) เมื่ออาชีพของเธอต้องขลุกอยู่กับขนมทั้งวัน จึงทำให้ขนมกลายเป็นส่วนหนึ่งในมื้ออาหารของคุณแม่

“ปกติคุณแม่ชอบทานขนมอยู่แล้ว และยิ่งอายุมากขึ้น ท่านก็เริ่มรู้สึกไม่อยากทานอาหารคาวแต่ยังทานขนมได้ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ทำให้เราชื่นใจ ที่ผ่านมาเราจะพาท่านไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุก ๆ หกเดือนอยู่แล้ว โดยทุกครั้งคุณหมอก็จะกล่าวชมตลอดว่าแข็งแรงและค่าต่าง ๆ ก็เป็นปกติดี ทำให้เราไม่ได้ห้ามปรามการทานอาหารของท่าน จนวันหนึ่งผลตรวจสุขภาพออกมา คุณหมอกลับแจ้งว่า “คุณแม่เป็นเบาหวาน” วันนั้นทำให้รู้สึกเหมือนโลกถล่มและเต็มไปด้วยความกังวล พร้อมโทษตัวเองว่าเป็นต้นเหตุให้ท่านป่วยเป็นเบาหวาน เพราะการทานขนมของเราทุกวัน”

ทันทีที่กลับถึงบ้าน เชฟเปเล่าว่าเธอรีบเคลียร์ของออกจากตู้เย็นจนหมด พร้อมทำทุกอย่างตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัด ทั้งลดอาหารประเภทแป้ง งดของหวาน งดน้ำตาล แม้แต่น้ำจิ้มและซอสก็ไม่ได้เด็ดขาด รวมไปถึงงดผลไม้ที่มีน้ำตาลสูงทุกชนิด ซึ่งการห้ามแทบจะทั้งหมดของเธอ ก็ทำให้คุณแม่รู้สึกทานอาหารไม่อร่อยและมีความเครียดสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นเหตุให้ทะเลาะกัน

“วันนั้นขณะที่เรากำลังพูดคุยกับท่านให้ระมัดระวังการทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง ปรากฏว่าท่านเริ่มร้องไห้ แล้วบอกว่า “ถ้าทานอะไรไม่ได้เลย ก็ให้แม่ทานตอนตายเลยแล้วกัน” ซึ่งนั่นทำให้เรารู้สึกเสียใจที่เลือกใช้วิธีที่หักดิบมากเกินไป เพราะปกติเราไม่เคยทะเลาะกันเลย และทำให้ต้องกลับมาคิดทบทวนวิธีการดูแลท่านใหม่ ด้วยการเริ่มหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อมองหาความเป็นไปได้อื่น ๆ ที่จะทำให้ท่านทานอาหารได้อย่างมีความสุขมากขึ้น ซึ่งนั่นทำให้เราได้รู้จักกับ “สตีวิโอไซด์ (Stevioside)” สารให้ความหวาน (Sweetener) ที่สกัดจากหญ้าหวาน สามารถใช้ทดแทนน้ำตาล (Sugar Substitute) แต่ไม่กระตุ้นอินซูลิน หรือไม่ส่งผลกับโรคเบาหวาน”

เมื่อศึกษาจนมั่นใจแล้ว เชฟเปจึงทดลองใช้วิชาชีพที่สั่งสมมาทั้งชีวิต คิดค้นและปรุงเมนูต่าง ๆ “โชคดีที่เราเป็นเชฟ จึงทำให้เราใช้พื้นฐานนี้มาปรุงอาหารให้คุณแม่ ซึ่งในช่วงแรกต้องยอมรับว่ารสชาติยังไม่คงที่ ต้องปรับสูตรหลายครั้ง กว่าจะออกมาเป็นเมนูที่มีรสชาติถูกใจท่าน และเมื่อจับทางได้ เราจึงคิดค้นสูตรออกมาเป็นเมนูมากมาย ทั้งซอส น้ำจิ้ม น้ำพริก อาหารหลากหลายเมนู รวมถึงขนมหวานอย่างเค้ก เบเกอรี และเครื่องดื่มต่าง ๆ ที่สามารถปรุงรสโดยใช้ส่วนประกอบจากน้ำตาลหญ้าหวาน

file

“ผู้ป่วยแต่ละคนมีสภาพจิตใจไม่เหมือนกัน สำหรับคุณแม่ ความสุขในวัยเกษียณของท่านคือการได้ลิ้มรสอาหารอร่อย เมื่อวันหนึ่งความสุขนั้นถูกพรากไป มันจึงเป็นเรื่องยากในการปรับตัว ดังนั้น หน้าที่คนดูแลผู้ป่วยคือกุญแจสำคัญ เพราะเราคือผู้เลือกสรรอาหาร เราจึงต้องศึกษาหาข้อมูล และช่วยท่านในการปรับเปลี่ยนวิถีการทานอาหาร” เชฟเปย้ำว่าความเข้าใจต่อสภาพจิตใจของผู้ป่วยเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง

ในเวลาเพียง 3 เดือน เมื่อถึงการนัดตรวจเพื่อติดตามโรคอีกครั้ง ก็พบว่าค่าน้ำตาลของคุณแม่ลดลงจนเกือบเท่าระดับปกติ และจากที่เคยต้องทานยารักษาเยอะ ๆ ก็ลดลงเหลือเพียงโดสน้อย ๆ เพื่อควบคุมอาการของโรคเท่านั้น ปัจจุบันคุณแม่ของเชฟเปสามารถอยู่ร่วมกับโรคเบาหวานได้อย่างมีความสุข อาการไม่ทรุด หัวใจไม่โทรม เพราะมีเมนูอร่อยไร้น้ำตาลฝีมือเชฟเปให้กินทุกวัน และจากการศึกษาอย่างลึกซึ้งในครั้งนั้น ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เชฟเปได้รู้จักโลกของอาหารคีโตเจนิก (Ketogenic Diet) ด้วยเช่นกัน

เชฟเปอธิบายถึงอาหารคีโตเพื่อให้เข้าใจมากขึ้นว่า อาหารคีโตเจนิก (Ketogenic Diet) เป็นการลดอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล โดยให้น้ำหนักกับการทานไขมันและโปรตีนมากขึ้น เพื่อให้ร่างกายรู้สึกว่าอดอาหารและไปสลายไขมันที่สะสมอยู่ในร่างกาย ไขมันที่ถูกสลายไปเรียกว่า “คีโตน” ซึ่งส่งผลดีในการช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดระดับอินซูลิน และลดความดันในผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ที่ต้องการลดระดับไขมัน แม้เมนูคีโตจะโดดเด่นในเรื่องการดูแลสุขภาพ แต่ไม่ได้หมายความว่าอาหารคีโตจะเหมาะกับทุกคนและทุกปัญหาสุขภาพ ดังนั้น จึงต้องจัดหมวดก่อนว่า ปัญหาสุขภาพของคุณคืออะไร ถ้าเป็น “โรคเบาหวาน” คำตอบคือ “ใช่” แต่ถ้าเป็นโรคเกี่ยวกับไต หัวใจ คือไม่ใช่เลย เพราะอาหารคีโตในแง่ของโภชนาการมีลักษณะของ High Sodium จึงอาจไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยโรคอื่น ๆ

file

ในฐานะที่เชฟเปมีประสบการณ์ตรงในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานและทานอาหารคีโตเพื่อควบคุมน้ำหนัก เธอจึงเข้าใจเป็นอย่างดีถึงความยากในการปรับเปลี่ยนวิถีการกิน จนอยากแบ่งปันอาหารมื้ออร่อยที่เป็นมิตรกับผู้ป่วยเบาหวาน ด้วยการเปิดร้าน “เชฟเป คีโต Chef Pe Keto” และพร้อมแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ภายใต้แบรนด์นี้ โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จะเป็นสินค้าจำพวกซอสมะเขือเทศ ซอสเย็นตาโฟ น้ำจิ้ม น้ำพริก ผงปรุงรส ฯลฯ ซึ่งมีทั้งแบบขายปลีกและขายส่ง โดยสามารถสั่งซื้อผ่านทางออนไลน์ หรือผ่านตัวแทนจำหน่ายหลากหลายแห่ง ส่วนเมนูในร้านอาหารที่ทางร้านภูมิใจนำเสนอก็คือเบเกอรีคีโต ที่มีทั้งเค้ก เครื่องดื่ม และไอศกรีมรสชาติต่าง ๆ ซึ่งผู้ป่วยเบาหวานสามารถทานได้อย่างปลอดภัย อีกทั้งยังมีเมนูอาหารคีโตมากมาย อาทิ ผัดไทยกุ้งสดคีโต ข้าวน้ำพริกอ่องคีโต ฯลฯ นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มเมนูอาหารทั่วไปสำหรับลูกค้าที่ไม่ทานคีโต แต่อยากพาคุณพ่อคุณแม่หรือเพื่อนมาทานอาหารที่นี่ด้วย

นอกจากนี้ เธอยังทำเฟซบุ๊กแฟนเพจที่ชื่อว่า “แม่ฉันเป็นเบาหวาน” ที่บอกเล่าวิธีทำอาหารและขนม รวมถึงวิธีดูแลจิตใจผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคเบาหวานแบบไม่มีหวงสูตร จนกล่องข้อความของเพจกลายเป็นคอมมิวนิตี้เล็ก ๆ ของคนหัวอกเดียวกัน นั่นคือบรรดาลูก ๆ ที่กำลังทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยสูงวัยที่ป่วยด้วยโรคเบาหวานแบบเดียวกับที่เชฟเปทำ และอนาคตต่อจากนี้ เชฟเปตั้งใจว่าจะเดินหน้าขยายธุรกิจออกสู่ตลาดต่างประเทศ โดยปักหมุดที่ประเทศกัมพูชา ซึ่งคาดว่าในปีหน้าจะได้เห็นร้าน Chef Pe Keto อีกสาขาที่นั่น

“นอกจากความสุขที่ได้เห็นคุณแม่มีสุขภาพที่แข็งแรงขึ้นแล้ว เปยังมีความสุขที่ได้ช่วยทำให้คุณพ่อคุณแม่ของลูกค้าทุกคนได้ทานอาหารที่อร่อยและดีต่อสุขภาพด้วย เวลาลูกค้าบอกเราว่า “เชฟเป...ขอบคุณนะคะ ขอกอดหน่อย พ่อพี่ค่าเบาหวานลดลงแล้ว แม่พี่น้ำหนักลดลงแล้ว” คำพูดเหล่านี้เหมือนเป็นขนมหวานที่เติมเต็มหัวใจและสร้างความสุขให้กับเราได้เป็นอย่างดี” เชฟเปทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม