Investment Outlook 2023 : The Year of Opportunities

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 63 | คอลัมน์ Wealth Manager Talk

file

เข้าสู่ปี 2023 เศรษฐกิจทั่วโลกยังเผชิญความท้าทายที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากปีที่ผ่านมา บรรดาธนาคารกลางทั่วโลกนำโดย Fed และ ECB ได้ดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ทะยานสูงสุดในรอบ 40 ปี ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ทั้งหุ้น ตราสารหนี้ REITs รวมถึงทองคำปรับตัวลดลงตั้งแต่ต้นปี นอกจากนี้ ยังตามมาด้วยความเสี่ยงที่เศรษฐกิจหลายประเทศในปี 2023 จะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) โดยเฉพาะเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างสหรัฐฯ และยุโรป

จากบทเรียนในอดีตช่วงทศวรรษที่ 1970 ต่อเนื่องถึงทศวรรษที่ 1980 นั้น Fed ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงเพื่อจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อ จนนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบ Hard Landing ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกมีการประเมินว่า  ในครั้งนี้ Fed จะทำการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับที่สูงจนกว่าจะแน่ใจว่าอัตราเงินเฟ้อลดลงสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% ทำให้สภาพแวดล้อมการลงทุนในปีนี้จะเป็นปีที่อัตราดอกเบี้ยทรงตัวในระดับสูง ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทยอยปรับตัวลดลง

กลยุทธ์การลงทุนในปี 2023 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว อัตราดอกเบี้ยทรงตัวในระดับสูงและเงินเฟ้อเริ่มปรับตัวลดลง นักลงทุนจะต้องทำการ Selective อย่างระมัดระวัง เลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งและกระจายการลงทุนไปยัง 3 ธีมการลงทุน ดังนี้

1. High Potential

ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจในหลายประเทศมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะ Recession ซึ่งจะส่งผลกระทบไปยังการลงทุนในตลาดหุ้น ทั้งในแง่ของกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ถูกปรับลดประมาณการลงและการปรับลด Valuation ของนักลงทุนเพื่อสะท้อนความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอตัว ดังนั้น ตลาดหุ้นที่มีแนวโน้มจะ Outperform จะต้องเป็นตลาดหุ้นของประเทศที่เศรษฐกิจยังมีอัตราการขยายตัวของ GDP อยู่ในระดับที่สูง มีการเติบโตของกำไรต่อหุ้นที่แข็งแกร่ง และที่สำคัญคือ มี Valuation ที่ถูกมากเพียงพอเพื่อที่จะทำให้เกิด Margin of Safety ในการลงทุน

China IMF คาดการณ์ว่า ปี 2023 เศรษฐกิจจีนจะกลับมามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและมีอัตราการเติบโตของ GDP ในระดับ 4.4% โดยได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศ (Reopening) ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นไตรมาสที่ 2/2023 หลังจากจบการประชุม 2 สภาและมีการเข้ารับตำแหน่งของคณะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ 

file

การผ่อนคลายนโยบาย Zero-COVID จะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งภาคการผลิตและภาคบริการกลับมาฟื้นตัว โดยอุตสาหกรรมที่นักวิเคราะห์คาดว่า ผลประกอบการจะกลับมาเติบโตอย่างโดดเด่นในตลาดหุ้นจีน ได้แก่ กลุ่ม Healthcare (+40.2% YoY) Consumer Discretionary (+29.2% YoY) และ Consumer Staples (+23.5% YoY) ทั้งนี้ ปัจจุบัน Valuation ของตลาดหุ้นจีนปรับตัวลดลงมาซื้อขายที่ Forward PE เพียง 11 เท่า ใกล้เคียงค่าเฉลี่ย 10 ปี ในขณะที่ EPS Growth เติบโตได้สูงถึง 17.3% YoY โดดเด่นที่สุดเมื่อเทียบตลาดอื่น ๆ

Vietnam เวียดนามถือเป็นประเทศที่ IMF คาดการณ์ว่า จะมีการเติบโตของ GDP ที่ 6.2% นับเป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นกว่าประเทศอื่น ๆ โดยได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภายในประเทศที่ยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากรายได้ของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบาย China+1 และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนถึง 10% ของ GDP

ปัจจุบัน Valuation ของตลาดหุ้นเวียดนามกำลังซื้อขายอยู่ในระดับที่ต่ำสุดในรอบ 10 ปี สะท้อนจากค่าอัตราส่วนราคาต่อกำไรล่วงหน้า (Forward PE) ที่ระดับ 8.56 เท่า ในขณะที่กำไรต่อหุ้นมีแนวโน้มเติบได้สูงถึง 13.2% YoY สวนทางกับตลาดหุ้นประเทศอื่น ๆ ที่มีการเติบโตของผลประกอบการที่ชะลอตัวลง

2. High Demand

การเลือกอุตสาหกรรมที่หุ้นจะ Outperform  ตลาดได้ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวควรเน้นลงทุนในกลุ่มที่สินค้าและบริการมีความต้องการใช้งานอยู่ในระดับสูงและเติบโตตามกระแสการเปลี่ยนแปลงหลัก (Megatrends) ของโลก ซึ่งจะส่งผลให้รายได้และกำไรของธุรกิจไม่เปลี่ยนแปลงตามภาวะเศรษฐกิจ  กลุ่มธุรกิจที่เรามองว่าเป็นกลุ่ม High Demand ได้แก่

กลุ่ม Healthcare เป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้อานิสงส์จากสังคมผู้สูงอายุและนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว สะท้อนจากยอดการใช้จ่ายทางด้านการแพทย์ทั่วโลกที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2023 นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มการแพทย์ยังมีความสม่ำเสมอของผลประกอบการที่สูง ไม่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ บริษัทส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมมีอำนาจในการปรับราคาสินค้าขึ้นตามเงินเฟ้อ (Pricing Power)

จากข้อมูลในอดีตที่ผ่านมา สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่า หุ้นกลุ่ม Healthcare เป็น Sector ที่ผลประกอบการสามารถเติบโตสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ทุกครั้งยกตัวอย่างเช่น  ในช่วงวิกฤต Dotcom ปี 2000 หรือในช่วง Recession ปี 2015 - 2016 ที่กำไรต่อหุ้นของหุ้นกลุ่ม Healthcare สามารถเติบโตได้ในระดับ 14.6% และ 14.2% ตามลำดับ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมย่อยในกลุ่ม Healthcare ที่กำไรสามารถเติบโตสวนสภาวะ Recession ได้อย่างแข็งแกร่ง ได้แก่ กลุ่ม Biotechnology และกลุ่ม Healthcare Equipment & Services ซึ่งมีอัตราการเติบโตของกำไรในช่วง Recession โดยเฉลี่ยสูงถึง 11% และ 7% ตามลำดับ 

file
file

กลุ่ม Technology ธุรกิจ Software & Services ถือเป็นหุ้นกลุ่ม Technology ที่มีการเติบโตของกำไรที่สม่ำเสมอตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แม้ในช่วง Recession เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีรายได้ประจำ (Recurring Income) เป็นสัดส่วนที่สูงจากการ Subscription ของฐานลูกค้าเดิมที่ใช้งานประจำและยังมีการเติบโตของรายได้อย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวของฐานลูกค้าใหม่ ตัวอย่างเช่น กลุ่ม Cloud Computing และ Cyber Security ซึ่งเป็นธุรกิจที่เติบโตตามเทรนด์ของ Digital Transformation ที่องค์กรทั่วโลกมีการลงทุนในระบบเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและลดต้นทุนการดำเนินงานในระยะยาว

กลุ่ม Utilities & Infrastructure ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่เป็นสินค้ามีความจำเป็นและมี Demand ที่สม่ำเสมอ ไม่แกว่งตัวตามภาวะเศรษฐกิจ อีกทั้งยังได้รับแรงหนุนจากภาวะขาดแคลนพลังงานที่ได้รับผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลให้รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และจีน ปรับนโยบายหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านพลังงานสะอาด เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนพลังงาน ลดการพึ่งพาพลังงานเชื้อเพลิงแบบดั้งเดิม เพื่อเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจเข้าสู่การเป็น Net Zero Carbon ในระยะยาว

3. High Stability

นอกจากการลงทุนในตลาดหุ้นแล้ว เรายังมีมุมมองเชิงบวกต่อสินทรัพย์ที่จะช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับพอร์ตการลงทุนอย่างพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ  จากแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้นมาทรงตัวอยู่ในระดับสูงในปี 2023 และมีแนวโน้มที่จะกลับมาลดลงในปี 2024 รวมถึงทองคำที่มักจะสร้างผลตอบแทนได้ดีในช่วงเศรษฐกิจถดถอยและเงินเฟ้อทรงตัวอยู่ในระดับสูง

Bond จากข้อมูลในช่วงปี 1984 ถึงปี 2018 มีการเกิด Recession ทั้งหมด 6 ครั้ง เราพบว่า พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ สามารถสร้างผลตอบแทนเป็นบวกได้ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย โดยอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีในช่วง 6 เดือน หลังจากที่ Fed หยุดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ระดับ 6.3% ในกรณีที่เศรษฐกิจชะลอตัวแบบ Soft Landing และ 10.3% ในกรณีเกิด Hard Landing

Gold การลงทุนในทองคำเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ทางเลือกในการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตในช่วงที่เงินเฟ้อสูงและเศรษฐกิจถดถอยได้ จากการศึกษาสถิติย้อนหลัง 30 ปีนับตั้งแต่ปี 1993 ถึงปี 2022 พบว่า มี 18 ปีที่อัตราเงินเฟ้อ (CPI) สูงเกินระดับ 2% และใน 18 ปีนี้ มีถึง 13 ปีที่ทองคำสร้างผลตอบแทนเป็นบวกได้ โดยมีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนที่สูงถึง 10.12% หรือคิดเป็น 72% ของจำนวนปีทั้งหมด นอกจากนี้ ทองคำยังให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยราว 5.72% ในช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน

file

แม้ว่าในปีที่ผ่านมา การกระจายความเสี่ยงการลงทุนไปยังหลากหลายสินทรัพย์จะให้ผลตอบแทนที่น่าผิดหวังสำหรับนักลงทุน เนื่องจากตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร รวมไปถึงทองคำและ REITs ให้ผลตอบแทนที่ติดลบ อย่างไรก็ตาม ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ เราเชื่อว่าปี 2023 จะเป็น “ปีแห่งโอกาส” ที่ราคาสินทรัพย์ที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งเริ่มกลับเข้าสู่มูลค่าที่แท้จริงและสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนได้อีกครั้ง