file

ภูหลวง อาณาจักรแห่งพรรณไม้หลากสี

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 41 | คอลัมน์ Going Away

ภูในเขตเมืองเลยนั้นมีมากมายหลายแห่ง ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วไปแน่นอนนั่นคือ ภูกระดึงและภูเรือ ส่วน “ภูหลวง” ที่เราจะพาทุกท่านไปสัมผัส อาจไม่มีทะเลหมอกตระการตาที่สวยบาดใจ แต่เป็นภูเขาสูงใหญ่ที่ถูกยกให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่มีพืชพรรณนานาชนิดแต่งแต้มให้ผืนป่าภูหลวงดูมีสีสัน จนได้รับการขนานนามให้เป็น ภูแห่งพรรณไม้ ที่มีอาณาเขตกว้างและสูงที่สุดบนแผ่นดินอีสาน

 

Bootstrap Image Preview
 

ภูหลวงมีความหมายว่าภูเขาที่ยิ่งใหญ่ หรือหมายถึงภูเขาของพระเจ้าแผ่นดิน นับเป็น สิริมงคลนามที่บรรพบุรุษได้ตั้งชื่อไว้ เสน่ห์ ของการท่องเที่ยวบนภูหลวงคือการเดินป่า เพื่อศึกษาเส้นทางธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดานักท่องเที่ยวที่มีความสนใจในพืชพรรณไม้ ชนิดต่างๆ ที่นี่เปรียบเสมือนสวรรค์บนดิน ขนาดย่อมเลยก็ว่าได้ เพราะมีทั้งกล้วยไม้ป่า ทุ่งดอกไม้ที่สมบูรณ์สวยงาม

สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปของภูหลวง เป็นเทือกเขาใหญ่ แนวเขตเริ่มที่ระดับความสูง ประมาณ 400 เมตร จากระดับน้ำทะเล ปานกลาง ยอดเขาที่สูงที่สุดของภูหลวงมีความสูง ประมาณ 1,571 เมตร เทือกเขาซีกตะวันออก มีลักษณะเป็นภูเขาลูกใหญ่ที่มีที่ราบบนหลัง เขาที่ระดับความสูง 1,200-1,500 เมตร เนื้อที่ ประมาณ 100 ตารางกิโลเมตร เทือกเขาซีก ตะวันตกเป็นภูเขาลูกเล็กๆ ตั้งชันสลับสับซ้อน เป็นลูกคลื่นระดับความสูง 600-800 เมตร และด้วยความอุดมสมบูรณ์ถึงขีดสุด ภูหลวง จึงเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญถึง สองสาย ได้แก่ แม่น้ำเลยและแม่น้ำป่าสัก

สำหรับเส้นทางการเดินป่าเพื่อศึกษา ธรรมชาติมีหลากหลายเส้นทางให้เลือก ทั้งระยะสั้นแค่ 1,870 เมตร และระยะไกล 14 กิโลเมตร โดยเส้นทางที่ขึ้นชื่อได้แก่ ลานสุริยัน ผาสมเด็จ ผาช้าง ผาเตลิ่น และรอยเท้า ไดโนเสาร์ (ควรเดินตามเส้นทางที่กำหนดไว้ และอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่ป่าไม้เท่านั้น) มาทำความรู้จักแต่ละเส้นทางกันหน่อย

“ลานสุริยัน” เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ แบบเรียบง่าย มีระยะทางเดินรวม 1,870 เมตร เดินเป็นวงรอบไม่ย้อนกลับทางเดิม เส้นทางนี้ เหมาะกับนักท่องเที่ยวทุกเพศทุกวัยเพราะ เป็นทางทรายราบเรียบ ไม่ต้องขึ้นเขาลงห้วย ใช้เวลาเดินประมาณ 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง สิ่งที่น่าสนใจในลานสุริยันคือป่าดิบแคระ มีไม้เด่นจำพวกก่อ เช่น ก่อดำ ก่อหนู ส้มแปะ กุหลาบแดง กุหลาบขาว ขึ้นอวดโฉมสลับ ตามลานหิน และยังมีกล้วยไม้ชนิดต่างๆ เช่น เอื้องตาเหิน เอื้องสำเภางาม เอื้องพลายงาม สิงโตสยาม สิงโตใบพาย สิงโตรวงข้าว เอื้องขยุกขยุย ออกมาสร้างสีสันให้ชมตลอดทั้งปี

“ผาสมเด็จ” เส้นทางเดินไปผาสมเด็จ เริ่มจากโคกนกกระบาไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นจุดชมวิวที่สวยงามมาก มองออกไปจะเห็นแนวเทือกเขาทอดยาว และ แนวชั้นหินของผาเตลิ่นเผยเป็นชั้นๆ ดังแนวกำแพงธรรมชาติ บริเวณผาสมเด็จ มีลานให้ยืนถ่ายรูป ความสูงประมาณ 1,480 เมตร และยังมีไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งชื่อว่า ต้นสร้อยสมเด็จ ซึ่งค้นพบเป็นแห่งแรกจึงเรียก ผานี้ว่าผาสมเด็จ

“ผาเตลิ่น” เป็นภาษาถิ่น เตลิ่นหมายถึง ลาดลื่น อยู่ห่างจากโคกนกกระบาไปประมาณ 3.5 กิโลเมตร (ไปทางเดียวกับผาสมเด็จ) เป็นแนวหินริมผาด้านตะวันออก สูงราว 1,055 เมตร ทอดตัวยาวกว่า 3 กิโลเมตร ผาเตลิ่น เป็นจุดชมวิวชั้นดีเหมือนผาสมเด็จ บางมุม มีพรรณไม้แคระ กุหลาบแดง กุหลาบขาว และบีโกเนีย แซมอยู่ตามชะง่อนหิน จากจุดนี้ มองเห็นภูกระดึงได้อย่างชัดเจน

“รอยเท้าไดโนเสาร์” เดินถัดจากผาเตลิ่น ไปอีกประมาณ 700 เมตร จะพบรอยเท้า ไดโนเสาว์ราวๆ 15 รอยบนแผ่นหินทราย อายุ 100-140 ล้านปี เป็นไดโนเสาร์พวกคารโนซอร์ หรือไดโนเสาร์กินเนื้อเป็นอาหาร พบเมื่อปี พ.ศ. 2525 ถือได้ว่าเป็นการพบรอยเท้าครั้งแรก แถบเอเชียอาคเนย์

“ผาช้างผ่าน” อยู่ทางทิศตะวันออกของ โคกนกกระบา ระยะทางเดินประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นจุดดูพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าที่สวยงาม เนื่องจากบริเวณนี้เป็นทางเดินของช้างตัดผ่าน จะมีช้างป่าเดินผ่านเป็นประจำ จึงเรียกผานี้ ว่าผาช้างผ่าน มีความสูงประมาณ 1,480 เมตร (ต้องระวังช้างด้วย)

 

Bootstrap Image Preview
 

 

“น้ำตกตาดเลย” อย่ห่างจากโคกนกกระบา ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 6 กิโลเมตร เส้นทางเดินค่อนข้างชัน เป็นต้นกำเนิดของ แม่น้ำเลย เป็นน้ำตกชั้นเดียว ตกจากหน้าผาสูง ประมาณ 70 เมตร

สำหรับการเดินศึกษาธรรมชาติครั้งนี้ เราใช้เส้นทางจากหน่วยโคกนกกระบา ผาช้างผ่าน ผาเสด็จ ผาเตลิ่น รอยเท้าไดโนเสาร์ จากนั้นขับรถไปที่โคกห้วยเตย แล้วย้อนกลับ มาที่โคกนกกระบาเพื่อบันทึกภาพอาทิตย์ อัสดง

เช้าตรู่ เริ่มต้นกันที่โคกนกกระบา คนเมือง ก้าวเท้าตามเจ้าหน้าที่ป่าไม้มือดีไปบนทาง สายแคบ สองข้างทางแน่นหนาไปด้วยพรรณไม้ นานา ช่วงนี้มีดอกไม้เล็กๆ ผุดพราวให้เราเห็น ตลอดทาง เช่น ดอกเอนอ้า บานอ้า ดอก ไข่ดาว ดอกเทียนดอยหรือเทียนภูหลวง ดอกไข่มุก มอส เฟิร์น รวมถึงข้าวตอกฤาษี ไม้คลุมดินที่พบได้ในป่าชื้นเท่านั้น

ระหว่างเดินจากผาช้างผ่านมาที่ผาเสด็จ เส้นทางถูกปกคลุมไปด้วยม่านหมอก อากาศ เยียบเย็น ระหว่างเดินมีสิ่งหนึ่งซึ่งก่อให้เกิด ความกังวลใจและไม่ค่อยไว้วางใจนั่นคือช้าง ระยะห่างในการมองเห็นตอนนี้ไม่เกิน 20 เมตร หากจ๊ะเอ๋กันแบบไม่ตั้งตัวกลัวว่ามันจะวิ่งตรง เข้ามาตามนิสัย โดยปกติช้างไม่ตั้งใจทำร้ายคน แต่ถ้ามันตกใจและรู้สึกหวงถิ่นขึ้นมาก็ไม่แน่ เวลาไปเที่ยวป่า ใครหลายคนอยากเจอช้าง แต่ไม่เจอจะดีกว่า เพราะถ้าเคยเจอจะรู้ว่ามัน วิ่งเร็วมาก มากกว่าที่เราคิดหลายเท่า แต่โชคดี เช้านี้ไม่มีอะไรให้ตื่นเต้น

เมื่อถึงผาสมเด็จหมอกยังหนา ริมหน้าผา มองไม่เห็นอะไรนอกจากต้นสร้อยสมเด็จ ไม้ยืนต้นที่เอนไหวอยู่ในสายหมอก นอกนั้น ได้พบกล้วยไม้เอื้องสำเภางามเบ่งบานอยู่สอง สามกอ จากนั้นจึงมุ่งสู่ผาเตลิ่น ก่อนถึงผาเตลิ่น เราเดินหลุดออกมาจากป่าดิบ ผ่านทุ่งหญ้า บรรยากาศอบอวลไปด้วยหมอกขาว มีดอกหญ้า บัวหรือกฐินทุ่งบานอยู่เป็นระยะ มีดอกไม้ เล็กๆ ซุกซ่อนอยู่บนกอหญ้า เดินมาถึงริมผา ลมแรงช่วยพัดพาม่านหมอกออกไปบ้าง ถึงตอนนี้ได้เห็นผาเตลิ่นทอดตัวอยู่อย่าง สงบงาม

จากนั้นเดินเท้าสู่ป่าดิบอีกครั้ง ก่อนถึง แนวป่าแวะบันทึกภาพรอยเท้าไดโนเสาร์ เป็นรอยเท้าไดโนซอร์ประเภทกินเนื้อขนาดเล็ก บางรอยชัดบางรอยเลือน รอยที่พบกว้างประมาณ 30x35 เซนติเมตร ขณะเดินผ่านป่าดิบได้พบ ความชุ่มชื้นของผืนป่า ได้พบกล้วยไม้หายาก อย่าง เอื้องน้ำต้น พบรอยเล็บหมีฝากไว้ใน เปลือกไม้ สุดท้ายก้าวข้ามธารน้ำเล็กๆ หลุด จากป่าออกมาสู่ถนนลาดยางซึ่งเป็นจุดสิ้นสุด การเดินป่าในเส้นทางสายนี้

และนี่คือเรื่องราวส่วนหนึ่งของเขตรักษา พันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ภูแห่งความอุดมสมบูรณ์ ของไทย ภูที่สร้างความภูมิใจให้คนเมืองเลย หากใครชอบป่า ชอบชมพรรณไม้สวยงาม ชอบดวงดาว ชอบอากาศหนาวเหน็บ ที่นี่มี ทุกสิ่ง...ภูหลวง เมืองเลย

TRAVELER’S Guide

• เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย ครอบคลุมพื้นที่ตำบล ปลาบ่า ตำบลท่าศาลา อำเภอภูเรือ ตำบลโพนสูง ตำบลวังยาว ตำบลอีปุ่ม อำเภอด่านซ้าย ตำบลหนองงิ้ว ตำบลเขาหลวง ตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง ตำบลภูหอ ตำบลเลยวังไสย์ อำเภอภูหลวง

• การเดินทางจากจังหวัดเลยไปที่ทำการ เขตรักษาพันธุ์ป่าภูหลวง ใช้ทางหลวง สายเลย - ภูเรือ ระยะทางประมาณ 36 กิโลเมตร ถึงสามแยกบ้านสานตมแล้ว เลี้ยวซ้ายที่บ้านสานตมอีก 18 กิโลเมตร จะถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จากนั้นขับรถขึ้นเขาไปอีก 28 กิโลเมตร ถึงหน่วยฯ โคกนกกระบา

• การเดินทางมาภูหลวงมาได้ทุกฤดูกาล แต่ช่วงฤดูฝน ฝนตกชุก ไม่เหมาะกับ การเดินป่าระยะไกล แค่ลานสุริยัน น่าจะพอได้

• เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวงมีบ้าน พักขนาดใหญ่และเต็นท์บริการ ต้องขอ อนุญาตล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วันทำการ โดยสามารถติดต่อฝ่ายบ้านพักสำนัก อนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช หรือที่เขตรักษา พันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง ตู้ ปณ.52 ปทจ. เลย อ.เมือง จ.เลย 42000 หรือ โทร. 0 4280 1955