อ.ดร.นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล

ความหวังใหม่” ของผู้ป่วยมะเร็ง

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 47 | คอลัมน์ Giving

 “ทุกคนมีความเสี่ยงสูงถึง 40% ที่จะเป็นมะเร็ง และเมื่อเป็นแล้วมีโอกาสถึง 50% ที่จะเสียชีวิต” นี่คือความจริงเกี่ยวกับอุบัติการณ์การเกิดโรคมะเร็ง และทำให้หลายคนท้อแท้สิ้นหวัง เมื่อรับรู้ว่าตนนั้นเจ็บป่วยเป็นมะเร็งร้าย แต่วันนี้โลกได้ค้นพบวิธีการรักษารูปแบบใหม่ ที่จุดประกาย “ความหวัง” ให้กับผู้ป่วยมะเร็ง อีกทั้งนักวิจัยของไทยกลุ่มหนึ่งก็กำลังพยายามอย่างหนักที่จะพัฒนายาตัวนี้ออกมาเพื่อคนไทยโดยเฉพาะ

แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของการรักษาโรคมะเร็ง

ทุกวันนี้ การรักษาโรคมะเร็งใช้วิธีผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด ฮอร์โมนบำบัด หรือผสมผสานหลายวิธีร่วมกัน เพื่อทำลาย หรือหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ซึ่งบางครั้งเซลล์ปกติหรืออวัยวะอื่นๆ อาจพลอยได้รับผลข้างเคียงไปด้วย ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยหลังการรักษานั้นย่ำแย่ เมื่อใจพ่ายแพ้ ร่างกายอ่อนแอ จึงเป็นเหตุให้ผู้ป่วยมะเร็งส่วนใหญ่ต้องจากไปก่อนเวลาอันควร

แต่วิธีการรักษาใหม่ที่เอาชนะมะเร็งร้ายได้เรียกว่าการใช้ “ระบบภูมิคุ้มกัน” ในร่างกายมนุษย์ มาบำบัดรักษาโรคมะเร็ง อ.ดร.นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ (System Biology Center) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การรักษาด้วยระบบภูมิคุ้มกันตนเองถูกหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นระดับโลก เป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของผู้ป่วยมะเร็ง ภายหลังจาก James P Allison และ Tasuku Honjo สองนักวิจัยผู้ค้นพบวิธีรักษามะเร็งด้วยระบบตามธรรมชาติของมนุษย์ตั้งแต่ปี 1995 ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ประจำปี 2018

“ผมเชื่อว่ามะเร็งเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ ขณะนี้ในทางการแพทย์เราสามารถคุมโรคนี้ได้ประมาณ 50% ที่ผ่านมาบริษัทยาและศูนย์วิจัยในต่างประเทศได้นำวิธีการใหม่ไปต่อยอดพัฒนา จนได้ “ยาภูมิคุ้มกัน” หรือ “ยาแอนติบอดี้” รักษามะเร็งออกมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ในต่างประเทศถึงกับบอกว่าการรักษามะเร็งด้วยระบบภูมิคุ้มกันเป็น The Beginning of The End of Cancer ที่เปลี่ยนโฉมหน้าวงการแพทย์เลยทีเดียว

“ยาแอนติบอดี้ไม่ใช่ยาฆ่ามะเร็ง แต่เป็นยาที่เข้าไปทำให้ภูมิต้านทานที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์เรากลับมาดีขึ้น แข็งแรงขึ้นอีกครั้ง โดยมองว่ามะเร็งเป็นความป่วยของภูมิต้านทาน นี่เป็นการมองมุมใหม่ ถ้าภูมิต้านทานแข็งแรงมันจะคอยรักษาสมดุลภายในร่างกาย แต่น่าเสียดายที่ยา Biologics มีราคาสูงถึงหลอดละ 200,000 บาท และผู้ป่วยต้องได้รับการฉีดอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเฉพาะคนที่มีกำลังทรัพย์เท่านั้นถึงจะมีโอกาสเข้าถึงได้”

มุ่งมั่นผลิตยา ต่อลมหายใจของผู้ป่วย

แม้การวิจัยและผลิตยาแอนติบอดี้รักษามะเร็งจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ แต่ก็ไม่ใช่เทคโนโลยีที่ไกลเกินเอื้อมหรือยากเกินที่จะเรียนรู้ อ.ดร.นพ.ไตรรักษ์ เองสนใจและเชี่ยวชาญด้านแอนติบอดี้เป็นทุนเดิม ทั้งยังเคยทำงานที่สถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (National Institutes of Health หรือ NIH) ประกอบกับถูกดึงไปเข้ากลุ่มสังคมออนไลน์ได้ติดตามความก้าวหน้า ความสำเร็จของการคิดค้นยาภูมิคุ้มกันที่นักวิจัยทั่วโลกเข้ามาอัพเดตทุกวัน รวมทั้งผู้ป่วยมะเร็งและญาติผู้ป่วยที่คอยรายงานผลการรักษาที่ดี เล่าถึงชีวิตใหม่ที่เต็มไปด้วยความหวัง นั่นทำให้คุณหมอนักวิจัยท่านนี้ทนอยู่นิ่งเฉยไม่ได้

 “ผลการรักษาเป็นที่น่าอัศจรรย์มาก ปัจจุบันยาแอนติบอดี้สามารถรักษามะเร็งได้แล้ว 15 ชนิด จากทั้งหมด 30-40 ชนิด เช่น มะเร็งผิวหนัง มะเร็งปอด มะเร็งไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ฯลฯ และเรายังจะมีข่าวดีออกมาเรื่อยๆ จากนักวิจัยทั่วโลก ผมรับรู้ได้ถึงความหวังที่เพิ่มขึ้น ความทุกข์ทรมานที่น้อยลง แต่ถ้าคนไข้เดินเข้ามาหาเรา แล้วเขาบอกไม่มีเงิน เราจะไม่มียาให้เขาหรือ ผมเองเคยเป็นหมอโรคไต ก่อนหน้านี้การเบิกจ่ายล้างไตยังไม่ค่อยดี คนไข้เบิกไม่ได้ ไตวาย เสียชีวิต ผมรู้สึกผิดและเสียใจมาจนถึงวันนี้ เราจะพูดกับคนไข้อย่างไร คุณมีทางเลือกในการรักษานะ แต่คุณเลือกไม่ได้ เพราะคุณไม่มีเงิน ผมทนกับความรู้สึกตรงนั้นไม่ได้ เลยหันมาทำวิจัยดีกว่า

“เราเองเป็นแพทย์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ ศูนย์ชีววิทยาเชิงระบบของเรามีองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้ ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาวิจัยเรื่องแอนติบอดี้แบบครบวงจร เพื่อใช้ในการวินิจฉัยหรือศึกษาหาสาเหตุของโรค แต่เราไม่ได้คิดจะพัฒนายามาก่อน เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่ยากมาก จุดเปลี่ยนอยู่ที่ตัวผมเองซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ได้นานแค่ไหน โครงการวิจัยและพัฒนายาแอนติบอดี้รักษามะเร็ง จึงเป็นเหมือนจุดมุ่งหมายของชีวิต เป็น Last Will ก่อนตายว่าเราจะต้องลงมือทำ ไม่ทำ...ไม่ได้แล้ว”

นอกจากนี้ การได้เห็นสมาชิกในครอบครัวที่เป็นโรคมะเร็ง มีอาการดีวันดีคืน หลังจากได้รับการฉีดยาแอนติบอดี้ภายใต้คำแนะนำของคุณหมอ มิใช่เพียงแค่ผู้ป่วย แต่ทั้งครอบครัวที่เคยหดหู่ หมดกำลังใจ กลับมามีความหวังในชีวิตอีกครั้ง ประสบการณ์ที่สัมผัสมากับตัวเองจึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่สนับสนุนให้คุณหมอเดินหน้าทำวิจัยและผลิตยาเพื่อคนไทยอย่างจริงจัง เพื่อทดแทนการนำเข้ายาจากต่างประเทศ 100%

ทีมงานศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ

วิจัยต่อเนื่อง 10 ปี ผลิตยาที่ทุกคนเอื้อมถึงได้

การวิจัยครั้งนี้มิใช่เป็นความมุ่งมั่นตั้งใจของ อ.ดร.นพ.ไตรรักษ์ ที่จะทำให้สำเร็จเพียงคนเดียว แต่ยังเป็นความพยายามทุ่มเทของทีมนักวิจัยประจำศูนย์ชีววิทยาเชิงระบบ อีกหลายท่าน รวมทั้งความร่วมมือภายในที่แข็งแกร่งโดยการนำของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเล็งเห็นถึงความสำคัญของโครงการที่ประชาชนคนไทยจะได้รับประโยชน์โดยตรง จึงได้อนุมัติทุนวิจัยจำนวน 100 ล้านบาท ให้คุณหมอได้ใช้ตั้งต้นและสานต่อโครงการ ซึ่งถือเป็นโปรเจกต์ใหญ่ในรอบ 100 ปี ของสถาบันแห่งนี้

เป้าหมายคือ วิจัยแอนติบอดี้เพื่อผลิตยารักษามะเร็ง...ยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรค ในราคาที่คนไทยสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นจากยาหลอดละ 200,000 บาท จะเป็นไปได้ไหม ที่จะเหลือเพียง 20,000 บาท

แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้น อ.ดร.นพ.ไตรรักษ์ เผยว่าจะต้องดำเนินการวิจัยฝ่าด่านต่างๆ ไปให้ได้ ซึ่งคุณหมอได้วางแผนงานแบ่งออกเป็น 5 เฟสด้วยกัน คือ เฟส 1 (พ.ศ. 2560-2562) ผลิตยาแอนติบอดี้ต้นแบบ เฟส 2 (พ.ศ. 2562-2563) ปรับปรุงแอนติบอดี้ให้มีความคล้ายของมนุษย์ เฟส 3-เฟส 4 (พ.ศ. 2563-2566) เข้าโรงงานผลิตในปริมาณมาก และ ทดสอบในสัตว์ทดลอง เฟส 5 (พ.ศ. 2566) ทดสอบในมนุษย์โดยกรอบระยะเวลาดำเนินงานวางเอาไว้ประมาณ 10 ปี

“ถ้ามองในมุมของคนทำธุรกิจ โปรเจกต์นี้อาจจะไม่เกิดขึ้น เพราะมีความเสี่ยงสูง กินระยะเวลานาน และใช้ทุนวิจัยสูงถึงหลักพันล้าน มันเป็นความบ้ามหาศาล ประเทศไทยยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน แต่ผมอยากทำให้เป็นจริง ซึ่งมันมีโอกาสเป็นไปได้ เพราะนี่ไม่ใช่เทคโนโลยีที่ไปดาวอังคาร แต่เป็นเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วและเราได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและความร่วมมือจากสหรัฐอเมริกา เมื่อเรารู้ “กลไก” ของยา ก็เหมือนเรารู้ “สูตร” ในการปรุงอาหารซึ่งทำให้เราทำเก่งขึ้นกว่าเดิม 100 เท่า อันนี้ถือเป็นการก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี

เราทำวิจัยเพราะรู้สึกว่ามันสำคัญ เพื่อให้คนไทยกลุ่มที่สมควรจะได้รับยา มีโอกาสเข้าถึงยารักษามะเร็ง เพราะถ้าไม่มียากลุ่มนี้ผู้ป่วยมะเร็งก็เสียชีวิตหมด สำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย การได้อยู่ต่ออีก 6 เดือน แบบมีคุณภาพชีวิตที่ดี มันยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด ถ้าซื้อด้วยเงินได้ เขาก็คงซื้อ คนเราไม่ได้ต้องการอยู่แบบอมตะหรอก แต่ขออยู่อย่างมีความสุขสักหน่อย และมีเวลาเตรียมตัวก่อนจะจากไปก็พอแล้ว ยิ่งทำเร็วและมีคนมาช่วยกันมากเท่าไร โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็มีสูง”

โครงการวิจัยนี้ยังเป็นการวางรากฐานเทคโนโลยีแอนติบอดี้ในประเทศไทย ซึ่งสามารถต่อยอดผลิตยาภูมิคุ้มกันได้ไม่รู้จบ เช่น ยารักษาโรครูมาตอยด์ โรคสะเก็ดเงิน โรคภูมิแพ้ แน่นอนว่าเมื่อไทยผลิต ไทยใช้เอง ราคาย่อมถูกลงการลงทุนในครั้งนี้หากมองในระยะยาว ก็นับว่าคุ้มค่า

file

กำลังใจเกินคาด พร้อมเอาชนะทุกอุปสรรค

ความท้าทายในการวิจัยและพัฒนาแอนติบอดี้เพื่อผลิตยารักษาโรคมะเร็ง นอกจากความยากในการทำงานแต่ละเฟส

ที่มีโอกาสจะประสบความสำเร็จมากพอๆ กับความเสี่ยงที่จะล้มเหลว อีกอุปสรรคหนึ่งคือ เงินทุนในการทำวิจัย ซึ่งต้องมี “เพียงพอ” และ “ต่อเนื่อง” เพื่อที่จะสามารถดำเนินการในแต่ละเฟสได้อย่างราบรื่น ไม่มีสะดุด คุณหมอนักวิจัยจึงได้เริ่มต้นระดมทุนในภาคประชาชนขึ้นมาผ่านโครงการที่ชื่อว่า “กองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งจุฬาฯ”

สำหรับการวิจัยในเฟสที่ 1 และ 2 ได้นำงบประมาณ 140 ล้านบาท ที่ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสนับสนุน ไปลงทุนซื้อเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย และฝึกอบรมทักษะนักวิจัย ขณะนี้อยู่ระหว่างการลงมือวิจัยแอนติบอดี้ต้นแบบให้สำเร็จ สำหรับเฟสที่ 3 นั้น ต้องใช้เงินทุนอีกประมาณ 200 ล้านบาท ในการจ้างโรงงานผลิตยาแอนติบอดี้ ซึ่งหากคนไทยที่มีเงินเดือน 40 ล้านคน ช่วยกันบริจาคคนละ 5 บาท ก็จะช่วยให้ทีมงานทำวิจัยต่อได้ในปลายปีหน้า

“โปรเจกต์นี้มันมีโอกาสที่จะล้มเหลว เพราะสเกลมันค่อนข้างใหญ่ ปัญหาอุปสรรคมีทุกขั้นตอน แต่ล้มเหลวแล้วต้องหาทางแก้และเดินหน้าสู้ต่อ ขณะเดียวกันก็สร้างคนสร้างประสบการณ์ไปด้วย ผมอยากให้คนไทยเข้าใจถึงความยากและแผนงานการทำโปรเจกต์ยา และต้องกล้าที่จะลงทุนเหมือนกับประเทศพัฒนาแล้วที่เห็นความสำคัญของงานวิจัย หลายคนอาจมองว่าไม่มีทาง ขายฝัน ยากเกิน แต่เราจะพยายามทำทุกวิถีทางให้โครงการมีความคืบหน้าไปเรื่อยๆ หากสำเร็จก็ตั้งใจจะให้สภากาชาดไทยเป็นผู้จำหน่ายยาให้กับประชาชน

“โดยส่วนตัวผมได้รับแรงบันดาลใจ และกำลังใจเยอะมากจากผู้ป่วยมะเร็ง รวมทั้งญาติผู้ป่วยที่เชื่อว่าการรักษาด้วยภูมิต้านทานบำบัด เป็นวิธีเดียวที่จะพิชิตโรคนี้ มันคือ “ความเชื่อ” ที่เขามีต่อโปรเจกต์ของเรา เห็นว่าสิ่งที่เราทำนั้นถูกต้อง และมีประโยชน์ แม้จะไม่ใช่ต่อตัวเขาแต่กับครอบครัว กับลูกหลานของเขาในอนาคตผู้ป่วยบางรายถึงกับบริจาคเงินก้อนสุดท้ายของชีวิตให้กับเรา หรือญาติผู้ป่วยมะเร็งก็บริจาคเงินให้เรานำไปทำประโยชน์ต่อ องค์กรและบริษัทต่างมาช่วยกันทำกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อระดมทุนช่วยเหลือ คือมันไม่ใช่แค่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่มันมีความหวัง มีความรักที่ซ่อนอยู่มีความรู้สึกดีๆ ที่สัมผัสได้ มันมากกว่าเงินทองที่ได้รับ ผมอยากจะขอบคุณทุกคน และจะใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้มาทำวิจัยอย่างคุ้มค่าที่สุด”

เงินซื้อเวลาไม่ได้ เงินซื้อความสำเร็จไม่ได้ เพราะความสำเร็จเกิดจาก ความอดทน และความมุมานะ ซึ่ง อ.ดร.นพ.ไตรรักษ์ และคณะทีมทำงานมีอยู่เกินร้อย รวมถึงต้องการแรงสนับสนุนจากทุกภาคส่วนในระยะยาวเพื่อพัฒนายาแอนติบอดี้รักษาโรคมะเร็งที่ถือลิขสิทธิ์โดยคนไทย คุมราคาเพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงการรักษาในราคาที่ทุกคนสามารถเอื้อมถึงได้

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้เพื่อผู้ป่วยมะเร็ง

โดยติดตามความเคลื่อนไหวของการระดมทุน หรือดูรายละเอียดการบริจาคได้ที่เว็บไซต์