file

“สุรภีร์ โรจนวงศ์” จากความชอบสู่นักสะสมผ้าและงานส่งเสริมหัตถกรรม

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 46 | คอลัมน์ Living Art

ถือเป็นบุคคลต้นแบบผู้ประสบความสำเร็จในด้านธุรกิจสำหรับ คุณสุรภีร์ โรจนวงศ์ ประธานกรรมการบริษัทในเครือเกษรกรุ๊ป นอกจากนี้สิ่งที่ผู้บริหารท่านนี้ทำควบคู่กันมาอย่างต่อเนื่องคือ การทำงานเพื่อสังคมในฐานะนายกสมาคมการค้าส่งเสริมหัตถกรรมไทย (THTA) ประธานคณะกรรมการสมาคมส่งเสริมและพัฒนาหัตถกรรมอาเซียน (AHPADA Forum) นายกสมาคมส่งเสริมและพัฒนาหัตถกรรมอาเซียน (AHPADA, Thailand) แม้ปัจจุบันจะมิได้ดำรงตำแหน่งในบางตำแหน่งแล้ว ทว่าก็ยังคงเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ เข้าร่วมประชุม ดูงาน รวมถึงเสนอข้อแนะนำในหลายกิจกรรมทั้งในและนอกประเทศ

ด้านความชอบส่วนตัว คุณสุรภีร์เป็นผู้หนึ่งที่นิยมแต่งกายด้วยผ้าไทยมาอย่างยาวนาน และเป็นหนึ่งในผู้สะสมผ้าซิ่น ผ้าทอ ผ้าพื้นบ้าน และอื่นๆ อีกนับหมื่นชิ้น มีทั้งที่ทอเป็นผ้านุ่ง ผ้าทอเป็นผืนยาวหลายเมตรสำหรับนำไปตัดชุด ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ฯลฯ

“ดิฉันชอบผ้ามาตั้งแต่เด็ก ชอบเรื่องเย็บปักถักร้อย ไปเรียนหนังสือที่ประเทศอังกฤษก็ได้ประกาศนียบัตรด้านการตัดเย็บเสื้อผ้าด้วย เพราะรักงานด้านนี้ ลงมือทำแพทเทิร์น ตัดเย็บเสื้อผ้าและชุดราตรีด้วยฝีมือตัวเอง เรียกว่าทำงานผ้าได้ทุกชนิด ตอนนั้นอายุแค่ 15 เท่านั้น แล้วคุณแม่ก็เป็นคนชอบผ้าไทยมาก ท่านก็สะสมผ้าเช่นกัน นั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เราสนใจผ้าและสะสมผ้าก็ได้นะ”

จากการเดินทางไปงานบุญยังจังหวัดในภาคอีสานและได้พูดคุยกับชาวบ้านที่ประสบปัญหาความยากจน คุณสุรภีร์จึงแนะนำให้ชาวบ้านทอผ้าขายโดยจะช่วยหาตลาดจำหน่ายให้ จนนำมาสู่งานพัฒนาส่งเสริมหัตถกรรมต่างๆ  อีกทั้งยังช่วยอุดหนุนผ้าทอของชาวบ้าน ซึ่งถือเป็นการเริ่มสะสมผ้าไทยตั้งแต่นั้นมา

file

“ดิฉันไปทำบุญ ได้เจอชาวบ้าน เขาทอผ้าสวย เราก็ซื้อมา เป็นการให้กำลังใจ ไม่ใช่ชมแต่ปาก ก็เลยซื้อสะสมมาเรื่อย มีเป็นหมื่นกว่าชิ้น เลือกเองหมดเลย ซื้อทุกอย่าง ของต่างประเทศก็ซื้อ คือ ดิฉันใช้ตาเลือก ของสวยก็ซื้อเพราะเห็นคุณค่าของคนที่เขาทำ บางทีมีชิ้นเดียว ไม่ว่าจะเป็นผ้าทอของไทยในจังหวัดต่างๆ ผ้าบาติก ผ้าเพ้นต์ ของอินโดนีเซียและมาเลเซีย ผ้าแต่ละผืน แต่ละคนทอ แต่ละชาติก็มีคาแรกเตอร์เป็นของตัวเอง ถ้าชอบก็ซื้อหมดทั้งนั้น”

“ถ้าพูดถึงผ้าไทยส่วนตัวมองว่ามีเสน่ห์ เพราะมีความหลากหลายมาก รวมถึงยังมีการผสมเทคนิคในการทำมากมาย เช่น มัดหมี่ มัดย้อม มาผสมกับขิด จก ผ้าแต่ละชิ้นอยู่ที่ดีไซน์ของแต่ละชิ้น แต่ละแหล่งก็ไม่เหมือนกัน อย่างผ้าทอ อำเภอชนบท ขอนแก่น จะชอบมากเลย มัดหมี่เขาสวยมาก และเราก็กำลังจะผลักดันให้เขาเป็นเมืองมัดหมี่โลก ส่วนภาคใต้ก็เช่น ผ้าเกาะยอ ผ้านาหมื่นศรี”

file

“ดิฉันซื้อผ้าเก็บสะสมมาตลอดจนถึงตอนนี้ก็เกือบ 50 ปี ซื้อตั้งแต่ผืนละ 50 บาท จนมาหลักร้อย หลักพัน จนถึงหลักหมื่น เราเห็น เราชอบ ก็ซื้อให้กำลังใจเขา เพราะผ้าแต่ละผืนทำมาไม่ใช่ง่าย เรายังทำไม่ได้เลย คือต้องคิดทั้งลวดลาย เรขาคณิตอยู่ในนั้น คิดดูสิว่าเขาคิดได้อย่างไร ลายแบบนี้ ต้องมีสีนี้ไปอยู่ตรงนั้นตรงนี้ แล้วจะไม่ให้ช่วยซื้อ ช่วยสนับสนุนได้อย่างไร”

นอกจากซื้อผ้าเพื่อให้กำลังใจผู้ทอหรือสนับสนุนชุมชนแล้ว ผ้าผืนต่างๆ คุณสุรภีร์ยังนำมาสวมใส่ในชีวิตประจำวันตลอดกว่า 50 ปี รวมถึงการแต่งกายเวลาไปประชุม สัมมนา ดูงานต่างประเทศ คุณสุรภีร์ก็เลือกผ้าทอ ผ้าไทยในการแต่งกาย รวมถึงซื้อเป็นของขวัญ ของฝากให้เพื่อนชาวต่างชาติ

“ดิฉันแต่งตัวอย่างนี้มาตั้งแต่สาวๆ ตอนแรกคิดว่าอยากใส่ผ้าไทย จะทำอย่างไรดี ให้ใครออกแบบก็ยังไม่ถูกใจ เลยออกแบบเอง เป็นเสื้อคอกลมแล้วใส่เสื้อคลุม ใส่คู่กับนุ่งซิ่นหรือกางเกงก็ได้ มีผ้าสไบเลือกให้เข้ากัน เวลาหนาวเราก็คลี่ออกห่ม และเป็นเครื่องประดับไปในตัว ส่วนผ้าทอลายเรียบๆ ก็เอามาตัดเสื้อ ผ้ามัดหมี่บางๆ ใส่กับผ้าซิ่นอะไรก็ได้ ผ้าไหมเนื้อบาง เราก็ใส่หน้าร้อน ผ้าไหมเนื้อหนา เส้นไหมจะหนา ไว้ใส่หน้าหนาว เราเลือกใส่ในแต่ละฤดูกาล ความจริงไหมใส่สบายมาก หน้าร้อนใส่ผ้าไหมก็ไม่ร้อน หนาวใส่แล้วก็อุ่น”

file

วันนี้ในวัย 73 ปี คุณสุรภีร์ยังคงทำงานด้านการส่งเสริมสินค้าหัตถกรรมและผ้าทออย่างต่อเนื่อง ด้วยความตั้งมั่นตามพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในความดี ความเพียรในการทำงาน เพื่อเป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยอนุรักษ์ศิลปะ หัตถกรรม รวมถึงเกื้อกูลสังคมต่อไป

วิธีดูแลผ้าของคุณสุรภีร์

  • ผ้าที่เก็บไว้ในหีบหรือตู้ ควรทำถุงผ้าบรรจุเม็ดพริกไทยใส่ลงไปเพื่อป้องกันแมลง
  • การซักผ้าไหม สามารถซักด้วยน้ำยาซักแห้งหรือน้ำยาปรับผ้านุ่ม เมื่อซักแล้วใช้ผ้าขนหนูซับน้ำจากผ้าไหมพอหมาด แล้วรีดทันทีไม่ควรรอให้แห้ง เพราะถ้าผ้าไหมแห้งแล้วเวลารีดจะเป็นคราบขาวและรีดยาก
  • หากซักผ้าไหมแล้วแต่ยังไม่สามารถรีดได้ ควรใส่ถุงพลาสติกแล้วนำไปแช่เย็น เมื่อจะใช้จึงนำออกจากตู้เย็น รอสักพักแล้วนำมารีด