file

แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ จีน สู่ “China Innovation”

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 56 | คอลัมน์ Wealth Manager Talk

จีนเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจที่มาแรง จากบริษัทเทคโนโลยีที่ก้าวเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากในปัจจุบัน ด้วยการเน้นการพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 5 ปี (2021-2025) และมีรายงานจาก Xinhua (ณ วันที่ 11 ก.พ. 2021) ว่า จีนมีแผนที่จะทุ่มเงินกว่า 1.3 ล้านล้านหยวน เพื่อพัฒนา 300 โครงการที่สำคัญ ซึ่งเป็นโครงการที่ครอบคลุมทั้งด้านการพัฒนาชีวิต นวัตกรรม และเทคโนโลยีระดับสูง รวมไปถึงคงปฏิเสธไม่ได้ว่า จีนอาจจะแซงสหรัฐฯ ขึ้นเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2028 ตามผลการวิจัยจาก Centre for Economics and Business (ณ วันที่ 27 ธ.ค. 2020) ซึ่งเร็วกว่าการคาดการณ์ในปี 2019 ถึง 5 ปี จากการที่จีนสามารถรับมือและฟื้นตัวจากการระบาดของ COVID-19 ได้ดีกว่าสหรัฐฯ เห็นได้จากตัวเลขเศรษฐกิจจีนในปี 2020 ที่ขยายตัว 2.3% YoY ขณะที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ยังคงหดตัว (ดังแผนภาพที่ 1) และจีนยังเป็นประเทศที่มีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าประ        เทศอื่นๆ โดย Bloomberg Consensus คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนในปี 2021 จะขยายตัวสูงถึง 8.1% จากอุปสงค์ทั้งในและนอกประเทศที่ฟื้นตัว

file

ประกอบกับมีการคาดการณ์จาก UBS ว่า ในปี 2025 การบริโภครวมของจีนจะสูงถึง 12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมากกว่าปี 2020 เกือบ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการยกระดับการบริโภคของจีนตามรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น และความต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงนำไปสู่การใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ การพัฒนาตนเอง และการซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งหนึ่งในเบื้องหลังที่ทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง คือ การนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลนำมาใช้วางเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะปานกลาง โดยปกติจะมีการจัดทำทุกๆ 5 ปี สำหรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับล่าสุดคือ ฉบับที่ 14 ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2021 - 2025 (China’s 14th Five-Year Plan) โดยมีประเด็นที่สำคัญ คือ

1. การพัฒนาเชิงคุณภาพ มากกว่าเชิงปริมาณ

โดยจีนต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน เช่น การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อลดการพึ่งพาต่างประเทศ การกระจายรายได้ และการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ในปีนี้รัฐบาลจีนได้ประกาศเป้าหมาย GDP ที่อัตราสูงกว่า 6% สร้างตำแหน่งงานในเมืองให้มากกว่า 11 ล้านตำแหน่ง เพื่อให้อัตราการว่างงานในเมืองอยู่ที่ประมาณ 5.5% (จากเดิมที่ระดับ 6%) และตั้งเป้าหมายเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับประมาณ 3%

2. ยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนาน (Dual Circulation)

หรือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เน้นความแข็งแกร่งของอุปสงค์ในประเทศ (Internal Circulation) เพื่อสร้างตลาดผู้บริโภคคุณภาพขนาดใหญ่ให้เกิดขึ้นภายในจีน ควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ (External Circulation) เพื่อเพิ่มแรงดึงดูดเงินทุนให้ไหลเข้ามาลงทุนในจีนได้อย่างมหาศาล จากการทยอยเปิดเสรีภาคการเงิน ทั้งในส่วนตลาดตราสารทุนและตราสารหนี้

3. การปรับสมดุลทางเศรษฐกิจ (Rebalancing)

เพิ่มบทบาทการบริโภคภายในประเทศ โดยเน้นการบริโภคภาคเอกชนที่ยังต่ำกว่าหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น รวมทั้งรายได้และเพิ่มสวัสดิการทางสังคม พร้อมยกระดับความเป็นสังคมเมือง (Urbanization) ทั้งนี้ Morgan Stanley คาดว่าสัดส่วนประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองของจีนจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 75% ในปี 2030

4. ยกระดับการพัฒนาและผลิตเทคโนโลยี

เพื่อทำให้ประเทศเป็น Tech-power House สามารถพึ่งพาตนเองได้ (Technology Self-reliance) โดยเฉพาะ Semiconductor ที่เป็นเบื้องหลังหลายๆ เทคโนโลยีที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น AI, IoT, 5G, Next Generation Smartphone, Supercomputing, Renewable Energy, New Energy Vehicles และ Biotechnology ซึ่ง Reuters รายงานว่า จีนมีการนำเข้า Semiconductor จากต่างประเทศมากถึง 300 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี จากการผลิตภายในประเทศได้เพียง 16% ของความต้องการใช้งานทั้งหมด โดยจีนได้ตั้งเป้าหมายจะเพิ่มงบประมาณการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่ระดับ 7% ของ GDP ส่งผลให้จีนเป็นประเทศที่มีงบประมาณการวิจัยและพัฒนาสูงที่สุดในโลก ทั้งในมิติมูลค่าและสัดส่วนต่อ GDP 

5. ให้ความสำคัญกับ Green Economy

ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และรถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่ (New Energy Vehicles) โดย Bloomberg รายงานว่าจีน เป็นประเทศที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก ซึ่งคิดเป็นประมาณ 28% ของทั้งโลก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนอาจแตะระดับสูงสุดในปี 2030 ตามการคาดการณ์ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง โดยจีนตั้งเป้าหมายจะบรรลุ Carbon Neutrality ภายในปี 2060 หรือให้มีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับศูนย์ เพื่อลดปัญหาโลกร้อนตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) อีกทั้งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ยังได้ประกาศว่า ในปี 2025 กว่า 20% ของยอดขายรถยนต์ใหม่ในจีนจะเป็นรถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 50% ในปี 2035 จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 5%

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า หุ้นจีนกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ข้างต้น จะเป็นกลุ่มที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ หรือมีการนำนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ หรือที่เราเรียกว่า “กลุ่ม China Innovation”

file
file

กลุ่ม China Innovation เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของคนจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับในช่วงการระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนแปลงไป มีความต้องการใช้งานเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น โดยมีรายงานจาก Asia Times ว่า ในปี 2020 จีนมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตแตะ 989 ล้านคน จากประชากร 1,393 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่าน Smartphone ถึง 99.7% และรายงานจากศูนย์ข้อมูลเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแห่งประเทศจีน (CNNIC) พบว่า จีนมีอินเทอร์เน็ตครอบคลุมพื้นที่คิดเป็นประมาณ 76.3% ของพื้นที่ทั้งหมดแล้ว ยกตัวอย่างบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในจีนอย่าง Huawei ในปี 2019 พบว่า เป็นบริษัทที่มีการจดสิทธิบัตรเป็นอันดับ 1 ในยุโรป โดยมียอดขอจดสิทธิบัตรทั้งสิ้นกว่า 3,524 ฉบับ ซึ่งมีการยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรกลุ่มการสื่อสารดิจิทัลมากที่สุด แสดงถึงการพัฒนาของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว

แม้ระยะหลังมานี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของจีนจะถูกทางการกดดันอย่างหนัก เช่น Alibaba บริษัท E-commerce และเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีน โดนหน่วยงานกำกับดูแลด้านการตลาดของจีนปรับเงิน 500,000 หยวน จากการทำผิดกฎด้านการผูกขาดโดยการเข้าซื้อกิจการและไม่ส่งรายงานให้กับหน่วยงานกำกับดูแลฯ 

อย่างไรก็ตาม จากกรณีดังกล่าวน่าจะทำให้ตลาดเทคโนโลยีของจีนมีกฎระเบียบที่รัดกุมมากขึ้น เป็นธรรมกับผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลในทางบวกต่อการเติบโตของตลาดเทคโนโลยีของจีนอย่างทั่วถึงในระยะยาว สอดคล้องกับคาดการณ์จาก E-market (ณ ธ.ค. 2020) ว่า ยอดค้าปลีก E-commerce ในจีนจะเติบโตถึง 21% ในปี 2021 ขณะที่ยอดค้าปลีกรวมเติบโตเพียง 4% เท่านั้น (ดังแผนภาพที่ 2)

สำหรับ China Innovation ที่สำคัญอีกหนึ่งกลุ่ม นั่นก็คือ กลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) จากโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีของจีนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น รวมถึงการเพิ่มขึ้นของประชากรชนชั้นกลาง และการขยายตัวของประชากรเมือง ทำให้เป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรม Healthcare ในประเทศจีน โดยข้อมูลจาก World Health Organization (ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2020) พบว่า อุตสาหรรม Healthcare ของจีนมีขนาดตลาด (Market Size) เป็นอันดับ 2 ของโลก และสามารถเติบโตได้เร็วที่สุดในโลก ด้วยอัตราเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีที่ประมาณ 13% ขณะที่สหรัฐฯ มีขนาดตลาดเป็นอันดับ 1 ของโลก และเติบโตเพียง 3% เท่านั้น อีกทั้งยังมีโอกาสในการเติบโตอีกมาก เนื่องจากค่าใช้จ่ายในด้าน Healthcare ของจีนยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ โดยจีนมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคน อยู่ที่ 501 ดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับค่าเฉลี่ย 8 ประเทศที่มีรายจ่ายด้าน Healthcare สูงสุดทีประมาณ 5,700 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคน (ดังแผนภาพที่ 3) ทั้งนี้มีการคาดการณ์จาก National Bureau of Statistics of China (ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2017) ว่า ประชากรสูงอายุในจีนจะมีโอกาสเป็นโรคร้ายแรงเพิ่มขึ้นถึง 40% ในปี 2030 

อีกทั้งมีรายงานจาก Bloomberg (ณ วันที่ 31 มี.ค. 2020) ว่า ในไตรมาส 1 ปี 2020 ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยเฉลี่ยของบริษัท Healthcare ของจีนเพิ่มขึ้นกว่า 85 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจีนมีการออกใบอนุญาตสำหรับการจำหน่ายยาที่คิดค้นขึ้นมาใหม่และสารเคมีที่ใช้สำหรับการวินิจฉัยโรค พร้อมทั้งสรรหาผู้ที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลการดูแลสุขภาพ ซึ่งส่งผลให้บริษัท Biotech ของจีนมีโอกาสเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว

file
file

ยกตัวอย่างบริษัท Biotech ในจีน เช่น บริษัท Beigene ผู้นำอันดับหนึ่งด้านนวัตกรรมยา Biotech ของจีน เน้นการผลิตและพัฒนายารักษาโรคมะเร็ง รวมถึงยากลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง (Immuno-Oncology) และบริษัท Mindray ผู้ผลิตเครื่องช่วยหายใจชั้นนำในจีน ผลิตเครื่องช่วยหายใจกว่า 3,000 เครื่องต่อเดือน (อ้างอิงจาก Bloomberg ณ วันที่ 25 มี.ค. 2020) ซึ่งจากการขาดแคลนเครื่องช่วยหายใจเนื่องจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้บริษัทสามารถขยายธุรกิจไปทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว

ถ้าดูในแง่ของ Valuation หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่ม Biotechnology ของจีนมีความน่าสนใจจากระดับของราคาที่ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี โดยปัจจุบัน Forward 12-Month P/E of CSI 300 IT Index (SH000915) ตัวแทนของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในจีนอยู่ที่ระดับ 27.11 เท่า ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ประมาณ 27.24 เท่า และ Forward 12-Month P/E of S&P China A300 - Pharmaceutical & Biotechnology Index (CSSPPHBX) ตัวแทนหุ้นกลุ่ม Biotechnology ในจีน อยู่ที่ระดับ 24.62 เท่า ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ประมาณ 24.76 เท่า (ณ วันที่ 22 มี.ค. 2021) เช่นกัน

จะเห็นได้ว่า หุ้นกลุ่ม China Innovation ยังคงมีความน่าสนใจในการลงทุน จากนวัตกรรมของจีนที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 ของจีน ที่มุ่งเน้นการพัฒนาและพึ่งพาการใช้เทคโนโลยีในประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในระยะยาว รวมถึงสนับสนุนเทคโนโลยีที่นำมาใช้เพื่อทำให้สุขภาพของคนในประเทศดีขึ้นอย่าง Biotechnology ซึ่งแน่นอนว่า ปัจจุบัน บริษัท Biotech ของจีนยังคงต้องใช้เวลา ในการเติบโตอย่างเต็มที่ แต่ในระยะยาว ความสามารถในการวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่เพิ่มมากขึ้นจากการสนับสนุนของทางการจีน จะทำให้บริษัท Biotech ของจีนสามารถเติบโตสูงขึ้นได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน