file

China’s Innovative Healthcare โอกาสและการเติบโตอันมหาศาล กับกลุ่มเป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดในโลก

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 57 | คอลัมน์ Wealth Manager Talk

เป็นเวลากว่าสองทศวรรษที่รัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายว่า ประเทศจีนจะต้องพัฒนาความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก เพื่อยกระดับจากการเป็นโรงงานของโลกสู่การผลิตสินค้าไฮเทคที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และพัฒนาธุรกิจภาคบริการและการบริโภคภายในประเทศให้เป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเหมือนดังเช่นประเทศในฝั่งตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา โดยการขับเคลื่อนไปตามเป้าหมายที่วางไว้ต้องมีองค์ประกอบสำคัญ คือ การพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีควบคู่ไปกับการสนับสนุนจากภาครัฐบาลที่ชัดเจน 

ย้อนกลับไปในปี ค.ศ.1980 ปธน. เติ้ง เสี่ยวผิง มีแนวคิดอยากสร้างเมืองแห่งนวัตกรรม และได้เริ่มก่อตั้ง Special Economic Zone (SEZ) ขึ้นที่เมืองเซินเจิ้น โดยให้สิทธิประโยชน์เรื่องภาษี และการเคลื่อนย้ายเงินทุน ซึ่งการพัฒนาเมืองเซินเจิ้นจากเมืองเศรษฐกิจธรรมดาที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกับเกาะฮ่องกงมาสู่ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในภาคใต้ของจีนช่วยเพิ่มการขยายตัวของ GDP จีนถึงปีละประมาณ 3%

เซินเจิ้นในปัจจุบันถูกเปรียบเสมือนเป็น Silicon Valley ในสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่อย่าง Tencent, Huawei และ ZTE ทำให้กว่า 90% ของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งออกไปทั่วโลกมีจุดกำเนิดมาจากเซินเจิ้น นอกจากนี้อีกหนึ่งบริเวณที่ถูกเปรียบเสมือนเป็น Silicon Valley และเป็นแหล่งรวมของบริษัทเทคโนโลยีในจีน คือ นิคมวิทยาศาสตร์จงกวนชุน (Zhongguancun) ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งของบริษัท Lenovo, JD.COM, Baidu, Bytedance, Didi, Xiaomi และ Meituan Dianping ซึ่งมีการคาดการณ์ว่ารายได้ทั้งหมดในเขตนิคมจงกวนชุนจะแตะ 6 ล้านล้านหยวนในปี 2025

ด้วยการสนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยีของรัฐบาล ทำให้อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในประเทศจีนมีจำนวนสูงที่สุดในโลกที่ระดับ 1 พันล้านคน และมี 882 ล้านเลขหมายที่ใช้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน ส่งผลให้จีนกลายเป็นหนึ่งในตลาดที่มีการเติบโตในธุรกิจ Next Generation Field สูงที่สุดในโลก ไม่ว่าจะเป็น E-commerce ด้วยยอดขาย 2.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในปี 2020 คิดเป็นกว่า 50% ของยอดขาย E-commerce ทั้งโลก และจีนยังเป็นหนึ่งในประเทศที่สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด (Cleantech) มากที่สุด โดยกว่า 80% ของแผ่น Polycarbonate ที่เป็นอุปกรณ์หลักในแผงโซลาร์เซลล์นั้นมาจากประเทศจีน เช่นเดียวกับการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมซึ่งเป็นหัวใจหลักของรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 80% ก็ถูกผลิตขึ้นในประเทศจีน จะเห็นได้ว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศจีนกำลังพัฒนาไปใกล้เคียงหรือทำได้ดีกว่าประเทศทางฝั่งตะวันตก ด้วยการสนับสนุนที่จริงจังจากภาครัฐบาล และสภาวะแวดล้อมที่ผู้ประกอบการจีนมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง โดยอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่ตลาดกำลังจับตามอง เนื่องจากเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ถูกบรรจุไว้ในแผนเศรษฐกิจ 5 ปีฉบับที่ 14 คือ “Healthcare”

ในอดีตประเทศจีนมีอัตราการใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพที่ต่ำเพียง 6% ต่อ GDP เทียบกับประเทศชั้นนำอย่างสหรัฐฯ ที่ 17% ต่อ GDP กลุ่มประเทศยูโรโซนและญี่ปุ่นที่ระดับ 10% ต่อ GDP สาเหตุหลักมาจากการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ที่น้อยเพียง 2 คน ต่อประชากร 1,000 คน เทียบกับ 2.6 คนในสหรัฐฯ 3.4 คน ในฝรั่งเศส และ 4.3 คน ในเยอรมนี นอกจากปัญหาเรื่องการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และเม็ดเงินลงทุนแล้ว การให้บริการยังกระจุกตัวอยู่ในหัวเมืองที่เป็นมณฑลหลักที่มีความมั่งคั่งสูงและไม่ได้กระจายไปตามมณฑลรองหรือชนบท ทำให้การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในประเทศจีนมีมาตรฐานที่แตกต่างกัน โดยในมณฑลรองมักจะประสบกับปัญหาเรื่องของการรักษาที่ไม่มีคุณภาพและใช้เวลามาก ซึ่งสร้างประสบการณ์ที่ไม่ดี

เมื่อรัฐบาลจีนเห็นปัญหาเช่นนั้น จึงได้ประกาศปรับเปลี่ยนโครงสร้างครั้งใหญ่ในปี 2019 โดยได้ประกาศแผน Healthy China 2030 ที่เน้นการปฏิรูปโครงสร้างของกลุ่มอุตสาหกรรม Healthcare ในระยะยาว ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การให้บริการด้านสาธารณสุขโดยภาครัฐ ลงทุนในเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้ในการป้องกัน วินิจฉัย และรักษาโรคเรื้อรัง สนับสนุนการทำวิจัยค้นพบตัวยาใหม่ๆ และเพิ่มรายชื่อยาในโครงการหลักประกันสุขภาพเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาได้ในราคาที่ต่ำลง มีการสนับสนุนให้ประชากรจีนมีประกันด้านสุขภาพครบทุกคน และมีนโยบายส่งเสริมให้ชาวจีนมีสุขภาพที่ดีขึ้น เช่น สนับสนุนให้ประชาชนลดการสูบบุหรี่ เมื่อประชากรมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจมีการเติบโตได้อย่างยั่งยืน

file

ประกอบกับมีการคาดการณ์จาก UBS ว่า ในปี 2025 การบริโภครวมของจีนจะสูงถึง 12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมากกว่าปี 2020 เกือบ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากการยกระดับการบริโภคของจีนตามรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น และความต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงนำไปสู่การใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ การพัฒนาตนเอง และการซื้อสินค้าผ่านทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งหนึ่งในเบื้องหลังที่ทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง คือ การนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลนำมาใช้วางเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะปานกลาง โดยปกติจะมีการจัดทำทุกๆ 5 ปี สำหรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับล่าสุดคือ ฉบับที่ 14 ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2021 - 2025 (China’s 14th Five-Year Plan) โดยมีประเด็นที่สำคัญ คือ

ปัจจุบันจีนมีมูลค่าตลาดของกลุ่ม Healthcare เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูงที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าตลาดแตะ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นการเติบโตปีละ 11% CAGR ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา และประเมินว่าในปี ค.ศ. 2026 มูลค่าตลาดของกลุ่ม Healthcare ในจีนจะใหญ่เป็น 10 เท่า หากเทียบกับปี ค.ศ. 2016 และถึงแม้ประเทศจีนจะมีอัตราการใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพที่ต่ำเพียง 6% ต่อ GDP แต่อัตราการขยายตัวต่อจากนี้ประเมินว่าจะสูงถึงปีละ 15% CAGR ไปจนถึงปี ค.ศ. 2030 โดยมีปัจจัยเร่งคือประชากรจีนกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วน 12% ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นแตะ 16.9% ในปี 2030 นอกจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ประชากรจีนยังมีการย้ายถิ่นฐานเข้าไปทำงานในเมือง ทำให้รายได้และมาตรฐานการดำรงชีวิตเพิ่มสูงขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับสังคมเมือง คือ การเกิดโรคเรื้อรัง ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตของผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี กว่า 80% มีสาเหตุมาจากโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน เป็นต้น โดยคาดการณ์ว่าในปี 2030 กว่า 40% ของกลุ่มประชากรผู้สูงอายุจะเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เมื่อการเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกับรายได้ จะส่งผลให้ความต้องการนวัตกรรมทางการแพทย์สมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง ใช้เวลาน้อย ผลข้างเคียงและอาการบาดเจ็บจากการรักษาต่ำ ได้รับความนิยมมากขึ้น

file

นอกเหนือจากสังคมผู้สูงอายุที่เป็นแนวโน้มหลักของการเติบโตในอุตสาหกรรม Healthcare ในจีนแล้ว การระบาดของ COVID-19 ยังช่วยเร่งให้ธุรกิจต่างๆ เช่น โรงพยาบาลต้องปรับตัวเข้าสู่ Online Medical Services ทำให้การเติบโตของ  Health Tech ในจีน ตั้งแต่ Telemedicine ไปจนถึง Online Pharmacy เติบโตอย่างก้าวกระโดดในปีที่ผ่านมา ข้อมูลจาก China Hospital Information Management Association พบว่า ในช่วงก่อนเดือน ก.พ. 2020 มีโรงพยาบาลเพียง 6 แห่งเท่านั้นที่มีบริการ Online Medical Services ขณะที่ในปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่ให้บริการกว่า 60 แห่ง ในระหว่างนั้น Ping An Good Doctor และ Ali Health ได้เริ่มเสนอบริการ Telemedicine ซึ่งสามารถปรึกษาแพทย์ออนไลน์สำหรับโรคที่ไม่มีความซับซ้อนอย่างไข้หวัดได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทำให้จำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าในปีที่ผ่านมา และมองว่าถึงแม้จะการระบาดของไวรัสจะสิ้นสุดลง ณ จุดใดจุดหนึ่งในอนาคต แต่พฤติกรรมของคนที่เคยได้รับความสะดวกสบายไปแล้วนั้นยากที่จะเปลี่ยนกลับมาเป็นเช่นเดิม

การที่ประเทศจีนมีประชากรมาก ซึ่งจัดว่าเป็นข้อมูลที่สำคัญในระบบ Big Data และ มีระบบ Cloud ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ ประกอบกับสภาวะแวดล้อมที่ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี AI ทำให้จีนเป็นหนึ่งในผู้นำแนวหน้าในการใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยเหลือทางด้านการแพทย์ หรือที่เรียกว่า Medical AI ในปี 2018 Ali Health บริษัทลูกของ Alibaba เปิดตัว AI Software ที่ช่วยตีความผลลัพธ์ของภาพ CT Scan โดยอาศัย Deeplearning Algorithms เข้ามาช่วยทำให้ตีความผลลัพธ์ได้มีความแม่นยำเกือบ 100%

อีกหนึ่งเทคโนโลยีของจีนในการแพทย์สมัยใหม่นอกเหนือจากการใช้ AI คือ การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เนื่องจากอัตราการเป็นโรคมะเร็งของประชากรจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งกระเพาะ และโรคมะเร็งหลอดอาหาร ซึ่งโรคมะเร็งทั้ง 3 ชนิดนี้คิดเป็นกว่า 55% ของผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งหมดในจีน ทำให้มีการคาดการณ์ยอดขายยารักษาโรคมะเร็งประเภท Immunotherapy อย่าง PD-1 และ PD-L1 จะเติบโตถึงปีละ 36% CAGR จนถึงปี 2025 ปัจจุบันบริษัทที่ได้รับการอนุมัติให้สามารถใช้ PD-1 และ PD-L1 ในจีน มีเพียงแค่ 4 บริษัทเท่านั้น หนึ่งในนั้นคือ Jiangsu Hengrui Medicine และ Beigene ซึ่งมีแผนก R&D ที่ใหญ่ที่สุดในจีน

นอกจากการเติบโตของอุตสาหกรรม Healthcare จะมาจากความต้องการในประเทศ รัฐบาลจีนยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพเพื่อลดการพึ่งพิงบริการและผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ ซึ่งมีการกำหนดนโยบายที่ส่งเสริมการร่วมทุนระหว่างบริษัทข้ามชาติและบริษัทในประเทศ เช่น บริษัท Hisun มีการร่วมทุนในลักษณะ Joint Venture กับ Pfizer ขณะที่ Fosun Pharma มีการร่วมทุนกับ Intuitive นอกจากนี้ในปี 2019 รัฐบาลจีนยังเพิ่มประเภทของวัตถุดิบที่สามารถนำไปผลิตวัคซีน ไปจนถึงยาประเภท Cell Therapy Drug และอุปกรณ์ทางการแพทย์บางรายการได้ รวมถึงมีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ลดการเก็บค่าเช่าสถานที่ในการประกอบกิจการ และยังอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติมีสัดส่วนการถือหุ้นได้ถึง 100% ในธุรกิจโรงพยาบาล

มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐดังกล่าว ช่วยสร้างการเติบโตของอุตสาหกรรม Clinical Research Services ซึ่งเป็นกระบวนการคิดค้น วิจัยและพัฒนา ทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาและวัคซีนก่อนที่จะนำไปขออนุมัติ และดำเนินการผลิตเข้าสู่ตลาด หรือเรียกบริษัทที่ทำธุรกิจประเภทนี้ว่า Contract Research Organization (CROs) โดยการเติบโตของธุรกิจประเภท CROs ในจีน นอกจากจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลแล้ว ยังมาจากข้อจำกัดด้านการวิจัยและพัฒนายาที่ต้องใช้ระยะเวลานานหากไม่มีความเชี่ยวชาญ รวมถึงใช้เงินลงทุนสูง จึงทำให้บริษัทยามักมองหาบริษัท CROs ที่มีการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการวิจัยและพัฒนายาของจีนยังอยู่ในระดับต่ำเพียงแค่ 30-40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับการพัฒนายาในสหรัฐฯ ที่มีต้นทุนสูงถึง 3-4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ธุรกิจ CROs ในจีนมีการเติบโตกว่า 30% ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา และมูลค่าตลาดของ CROs ในจีน ก้าวขึ้นมาเป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากสหรัฐฯ และยุโรป

file

สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนในจีนที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ หลังจากองค์การอนามัยโลก (WHO) อนุมัติให้วัคซีน Sinopharm จากจีนเป็นหนึ่งในวัคซีนที่สามารถใช้ป้องกัน COVID-19 ได้นั้น อุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนภายในจีนยังสามารถแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ Category-1 และ Category-2 ซึ่งมีข้อแตกต่าง คือ Category-1 จะเป็นการจัดหาวัคซีนฟรีให้กับประชาชน เช่น วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โดยมีผู้เล่นหลักที่มีส่วนแบ่งตลาดกว่า 40% คือ รัฐวิสาหกิจ ขณะที่ Category-2 จะเป็นการจัดหาวัคซีนที่เป็นทางเลือกให้กับประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วบริษัทที่ผลิตและจำหน่ายวัคซีนประเภท Category-2 จะเป็นบริษัทเอกชนที่เสริมเข้ามาจากรัฐวิสาหกิจ เช่น Walvax, Sinovac และ Sino Biopharma ซึ่งจะเห็นได้ว่าบริษัทเหล่านี้ก็เป็นผู้ผลิตวัคซีน COVID-19 ที่กำลังแจกจ่ายไปทั่วโลก การเติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนของจีนในอนาคตยังมีโอกาสอีกมาก และจีนกำลังพัฒนาวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA แบบเดียวกับ Pfizer-BioNTech และ Moderna และบริษัทอย่าง CanSinoBIO ที่ก็กำลังคิดค้นวัคซีน COVID-19 ชนิดสูดดมหายใจควบคู่กับวัคซีนแบบเข็ม

ช่องทางการลงทุนที่ได้รับความนิยม ซึ่งมีความครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรม Healthcare ในประเทศจีนทั้งหมด คือ การลงทุนผ่าน ETF ที่ชื่อว่า KraneShares MSCI All China Healthcare ETF (NYSE:KURE) ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนการลงทุนในกลุ่ม Phramaceutical Company 34%, Biotechnology 21%, Life Sciences Tools & Services Companies 17% โดยจดทะเบียนในจีนแผ่นดินใหญ่ 58% ในฮ่องกง 35% และจดทะเบียนในรูปแบบตราสารแสดงสิทธิ (ADRs) ในสหรัฐฯ 7% โดยมีรายชื่อบริษัทที่เป็นที่นิยมอย่าง WuXi Biologics ผู้นำด้าน Platform สำหรับการวิจัยและพัฒนาตัวยาในจีน ที่มีการเติบโตจากทั้งในประเทศและยังทำการร่วมมือกับต่างชาติ คือ WuXi Biologics ที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก (5%) โดยบริษัทมีรายได้ในปี 2020 ทั้งสิ้น 859 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปี 2019 ถึง 40% และมีรายได้เฉลี่ยเติบโตปีละประมาณ 58% ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีกลุ่มของบริษัทที่ผลิตยารักษาโรคมะเร็งแบบ Immunotherapy อย่าง Jiangsu Hengrui Medicine และ Beigene บริษัทผลิตเครื่องช่วยหายใจส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอย่าง Shenzhen Mindray ไปจนถึงกลุ่มผู้ผลิตวัคซีนอย่าง Sinovac, Sino Biopharma และ CanSioBIO

หากเทียบผลตอบแทนจากต้นปีจนถึงวันที่ 15 มิ.ย. 21 (YTD) KURE ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น +14% สูงกว่าดัชนี CSI 300 ที่ยังให้ผลตอบแทน -0.9% จากต้นปี สาเหตุสำคัญมาจากการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะหลังจากเกิดการระบาดของ COVID-19 และการเติบโตของบริษัทผู้ผลิตวัคซีน ทำให้นักวิเคราะห์คาดการณ์การเติบโตของกลุ่ม China Healthcare ในปี 2021 ไว้สูงถึง 60% ขณะที่ในปี 2022 อยู่ที่ระดับ 30% และในปี 2023 อยู่ที่ระดับ 25% ซึ่งจัดว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตที่สูงที่สุดในประเทศจีน และเติบโตได้สูงกว่ากลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสินค้าฟุ่มเฟือย (Consumer Discretionary) จะเห็นได้ว่า อุตสาหกรรม Healthcare ในจีนที่ในอดีตมักจะมีภาพจำเพียงแค่ร้านขายยาจีนแผนโบราณ กำลังจะกลายมาเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจจีน โดยเทคโนโลยีทันสมัยที่ประเทศทางฝั่งตะวันตกทำได้ จีนในปัจจุบันก็สามารถทำได้ ดังที่เราจะเห็นการเติบโตของทั้งกลุ่มเทคโนโลยีในจีนนั้นไม่ได้ด้อยไปกว่าฝั่งตะวันตก สินค้าไฮเทคของจีนก็เริ่มมีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลกมากขึ้น ยืนยันถึงทิศทางการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจจีนที่เอาจริงเอาจัง และอุตสาหกรรม Healthcare ในจีนนั้นก็จัดได้ว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ยังมีโอกาสในการพัฒนาได้อีกมหาศาลต่อจากนี้ในอนาคต

Trust Magazine by TISCO