Sonite แปลงร่างวัสดุที่ถูกทิ้ง เป็นของใช้ดีไซน์เก๋

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 58 | คอลัมน์ Craft & Design

file
file
file

ถ้าคุณลองหลับตา แล้วจินตนาการถึง อ่างล่างหน้าที่ทำจากขวดพลาสติก ถ้วยน้ำชาที่ทำจากใยมะพร้าว ชามใส่อาหารที่ทำจากเปลือกข้าว สมุดโน้ตที่ทำจากธนบัตรชำรุด คุณอาจจะนึกถึงของธรรมดาทั่วไปที่ทำจากขยะรีไซเคิล ไม่ได้มีรูปลักษณ์ที่สวยงามหรือน่าสนใจ ใช่ไหม?

แต่กลับกันถ้าคุณได้มองเห็นข้าวของเครื่องใช้ที่สวยงาม และรู้ว่านี่คือผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลนวัตกรรมและการออกแบบจากสถาบันต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศมาแล้วกว่า 40 รางวัล คุณจะจินตนาการถึงสิ่งของที่ทำจากขยะรีไซเคิลเปลี่ยนไปหรือไม่?

เมื่อปี 2007 นิติพันธุ์ ดารกานนท์ เริ่มต้นปั้นแบรนด์ Sonite เพื่อนำเสนอวัสดุปิดพื้นผิว สำหรับการตกแต่งต่างๆ ด้วยนวัตกรรมโมเสก ที่คิดค้นและพัฒนาขึ้นจากวัสดุโพลิเมอร์ชนิดพิเศษ ซึ่งนอกจากจะมีดีไซน์ที่สวยงาม มีสีให้เลือกนับร้อยๆ แล้ว ยังมีขนาดและรูปทรงให้เลือกมากมาย อีกทั้งยังสามารถสั่งทำแบบและลายที่ไม่เหมือนใครและมีเพียงชิ้นเดียวในโลกได้ด้วย และที่สำคัญคือมีคุณสมบัติที่แข็งแรง ทนทาน น้ำหนักเบา และไม่ลามไฟ ด้วยคุณภาพและความสวยงามที่โดดเด่น จึงทำให้โมเสกของ Sonite ได้รับการขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรทั้งในและต่างประเทศ

จากจุดเริ่มต้นของการนำเอาดีไซน์และนวัตกรรมมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์โมเสกอันสร้างชื่อนั้นก็กว่า 12 ปีแล้ว ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ Sonite ไม่เคยที่จะหยุดพัฒนา พร้อมมองหาความแตกต่าง เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ควบคู่ไปกับการใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มต้นจากสิ่งใกล้ตัวอย่างเศษพลาสติกเหลือทิ้งจากการผลิตกระดุมและโมเสก มาชุบชีวิตใหม่ให้กลายเป็นหินสังเคราะห์ ตามด้วยการแปลงกากกาแฟเหลือทิ้งในร้าน Starbucks ให้กลายมาเป็นโต๊ะ เคาน์เตอร์ ถาด และจานรองแก้ว จนกลายเป็นโจทย์ครั้งใหญ่ว่า จะชุบชีวิตเศษวัสดุเหลือทิ้งอย่างเศษแกลบหรือเปลือกข้าวในประเทศไทยที่มีจำนวนมหาศาลนี้ให้กลายเป็นสิ่งของสวยงามและใครๆ ก็อยากที่จะใช้ได้อย่างไร เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรไทย 

แล้วปฏิบัติการนำเอาแกลบหรือเปลือกข้าวมาทำเป็นโมเสกก็เกิดขึ้นในช่วงปี 2015 โดยการนำแกลบมาทำความสะอาด แล้วกรองเอาแมลงตัวเล็กๆ ออก จากนั้นจึงนำไปตากแดดไล่ความชื้นและเชื้อรา ตามด้วยการเข้าเครื่องอบเพื่อพาสเจอไรซ์และเก็บไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสม ก่อนนำมาประกอบร่างขึ้นรูปตามดีไซน์ที่กำหนดไว้ และเสริมความคงทนด้วยตัวประสานอย่างโพลิเมอร์ จนรังสรรค์มาเป็นผลิตภัณฑ์ของตกแต่งของใช้ที่มีรูปลักษณ์สวยงามน่าใช้ ไม่เพียงแต่ได้รับคำชื่นชมจากผู้คนในวงการออกแบบ Sonite ยังได้รับรางวัล Green Innovation Award ในปี 2016 ด้วย และหลังจากนั้นเพียงไม่กี่ปี ของใช้ของตกแต่งบ้านที่ทำจากเปลือกข้าวภายใต้แบรนด์ Sonite Decor ก็ได้เกิดขึ้น 

file
file

โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์มากมาย ทั้งกระถางต้นไม้ ถาด จาน ชามใส่อาหาร ถ้วยเครื่องดื่ม จานรองแก้ว กล่องเก็บของ และอ่างล้างหน้า เป็นต้น และหลังจากวางจำหน่ายในระยะเวลาเพียงแค่ 6 เดือน ก็ได้รับความสนใจสั่งซื้อจากต่างชาติอย่างเกาหลีและฮ่องกง และเมื่อปลายปี 2019 ถ้วยน้ำจากเปลือกข้าวนี้ก็มีคนรู้จักมากขึ้น หลังจากถูกนำมาใช้ในงานเทศกาล Wonderfruit ถึง 10,000 ใบ 

แม้วัสดุตั้งต้นจะเป็นเศษสิ่งของเหลือทิ้ง แต่เมื่อผ่านการออกแบบและนวัตกรรมการผลิตที่ชาญฉลาด ก็ทำให้เศษสิ่งของที่เคยถูกมองว่าเป็นขยะนั้น แปลงร่างกลายเป็นของใช้ของตกแต่งที่มีเสน่ห์ จนทำให้โรงแรมดังอย่างโรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ โรงแรมคิมป์ตัน มาลัย โรงแรมสินธร เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ และ โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี นำมาใช้เป็นภาชนะสำหรับเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงเป็นของตกแต่งภายในห้องพัก

นอกจากเศษสิ่งของเหลือทิ้งอย่างกระดุมพลาสติก กากกาแฟ หรือเปลือกข้าวแล้ว Sonite ยังมองหาวัสดุเหลือทิ้งที่คนมองข้ามอย่างธนบัตรเก่าชำรุด (ซึ่งมีกองพะเนินไว้มากมายในแต่ละเดือนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย) ใยมะพร้าว เศษหิน และขยะขวดพลาสติกจากทะเลด้วย โดยการนำวัสดุเหล่านี้มาสร้างสรรค์เป็นของใช้ของตกแต่งที่มีรูปลักษณ์เรียบง่าย งดงาม มีผิวสัมผัสที่น่าจับต้อง และมีรายละเอียดบนผิวที่สื่อไว้อย่างแยบยลเพื่อให้เห็นว่าวัสดุที่ใช้ทำนั้นเริ่มต้นมาจากอะไร 

file

กระบวนการเล่นสนุกกับการออกแบบของ Sonite ยังคงใส่ใจในเรื่องของกระบวนการผลิตที่ไม่ทำร้ายโลก ด้วยการคงการผลิตให้มี Carbon Footprint ต่ำ หรือ การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากผลิตภัณฑ์ให้มีปริมาณน้อยที่สุด และในส่วนของการเลือกใช้วัสดุ ก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่การเลือกใช้วัสดุเหลือทิ้งชนิดใดชนิดเดียว แต่ยังเล่นกับการผสมผสานวัสดุเหลือใช้หลากชนิดเข้าด้วยกัน เช่น การผสมระหว่างเปลือกข้าว แก้ว และไม้ ที่กลายมาเป็นชุดน้ำชายามบ่ายหรูเรียบสะอาดตาในโรงแรมสินธร เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ และการเล่นกับการนำมาขึ้นรูปใหม่ได้เมื่อถึงเวลาร่างสลาย เช่น ถาดที่เสิร์ฟอาหารบนเครื่องบินของ Bangkok Airways ซึ่งนอกจากจะวนใช้ซ้ำได้ 3 ปี 5 ปีแล้ว ยังสามารถนำกลับมาบดเป็นเศษแล้วขึ้นรูปใหม่อีกครั้งได้ด้วย

นี่จึงไม่ใช่แค่เพียงการเล่นแปลงร่างงานดีไซน์ที่ไม่เหมือนใคร แต่ยังทำให้เราได้เห็นคุณค่าในสิ่งที่ดูเหมือนไม่มีค่าไปด้วยในเวลาเดียวกัน (ดูรายละเอียดผลิตภัณฑ์เพิ่มเติมได้ที่ www.sonitesurfaces.com)