โครงการ “ปักจิตปักใจ” พาคนตาบอดก้าวข้ามขีดจำกัด สร้างคุณค่าแห่ง “ความพยายาม” สู่สังคม

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 59 | คอลัมน์ Giving

file

 

ร้องเพลง ขายลอตเตอรี่ นวดแผนโบราณ คนตาบอดหรือผู้ที่บกพร่องทางการมองเห็น ในความคิดของคุณ ทำอะไรได้อีกบ้าง? แต่สำหรับคุณผึ้งและคุณครูป้าหนูแห่งโครงการ “ปักจิตปักใจ” นั้น คนตาบอดมีศักยภาพในการทำงานได้ไม่ต่างจากคนตาดีเลยทีเดียว

“ปักจิตปักใจ” คือหนึ่งในกิจการเพื่อสังคมที่มองข้ามความน่าสงสารที่สังคมมอบให้คนตาบอด แล้วดึงศักยภาพบางอย่างที่คนตาดีสู้ไม่ได้มาพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นอาชีพเสริมช่วยสร้างตลาดและสร้างรายได้ด้วยงานปักผ้า “ซาชิโกะ” งานฝีมือที่ไม่ต้องใช้ตาก็สวยได้ด้วยใจ คุณผึ้ง-วันดี สันติวุฒิเมธี ผู้ริเริ่มโครงการ “ปักจิตปักใจ” เดิมทีก็เป็นเหมือนคนทั่วไปที่อุดหนุนสินค้าคนตาบอดเพียงเพราะ“ความสงสาร” แต่ทุกครั้งคุณผึ้งมักจะตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมเราถึงไม่สามารถภูมิใจกับงานเหล่านี้พอที่จะหยิบมาใช้หรือส่งต่อให้กับผู้อื่นได้

ครั้นเมื่อคุณผึ้งได้ไปเรียนปักผ้า “ซาชิโกะ” กับคุณครูป้าหนู-ภวัญญา แก้วนันตา คุณครูวิชาสังคมที่มาเปิดร้านงานคราฟท์เป็นอาชีพเสริม จึงได้เห็นว่าการนำเส้นไหมสีขาวขนาดใหญ่ปักลงบนพื้นสีน้ำเงิน จนกลายเป็นชิ้นงานทูโทนที่ดูดีสไตล์ญี่ปุ่นและสามารถใช้ได้ในหลากหลายโอกาสนี้ เป็นศิลปะการปักผ้าโบราณของสาวชาวญี่ปุ่นที่มักจะทำในเวลากลางคืน ซึ่งใช้แสงที่ค่อนข้างน้อย ทำให้คุณผึ้งเกิดปิ๊งไอเดีย และหันไปถามคุณครูป้าหนูว่า “คนตาบอดจะสามารถปักผ้าซาชิโกะได้ไหม?”

 “ถ้าเราสามารถให้คนตาบอดทำงานที่คนตาดีคิดไม่ถึงอย่างการปักผ้าได้ ก็จะเป็นการก้าวข้ามศักยภาพที่ไม่คิดว่าจะทำได้ ไม่ใช่แค่เพียงเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคม แต่เรายังช่วยให้คนตาบอดสามารถก้าวข้ามสิ่งที่ตัวเองก็ไม่เคยคิดว่าจะทำได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น หัวใจของโครงการปักจิตปักใจ คือ การก้าวข้ามตัวเองและทัศนคติของคนในสังคม” คุณผึ้งอธิบายถึงความตั้งใจที่เลือกทำงานกับคนตาบอด

หลังชั่งใจกับคำถามสักพัก คุณครูป้าหนูก็ตอบรับที่จะหาวิธีทำให้คนตาบอดสามารถทำงานนี้ได้ ซึ่งนวัตกรรมชิ้นแรกที่คุณครูป้าหนูคิดค้นขึ้นมา ก็คือ “ที่สนเข็มติดลูกกระพรวน”โดยใช้เข็มที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและใช้เสียงของลูกกระพรวน เพื่อช่วยให้คนตาบอดสามารถจับและสัมผัสอุปกรณ์ได้ง่ายขึ้น เพราะหากเริ่มสนเข็มเองไม่ได้ งานปักผ้าโดยคนตาบอดก็คงจะเกิดขึ้นไม่ได้ จากนั้นก็เริ่มขยายไปยังอุปกรณ์ต่างๆ อย่างกล่องเก็บด้าย เพื่อป้องกันด้ายหล่นหาย ตลอดจนเทคนิคในการจดจำลวดลาย ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวพร้อมกับการสัมผัสลายนั้นๆ รวมถึงการจัดระยะของลายด้วยการเปรียบเทียบกับสิ่งของ อาทิ ระยะสั้น เท่ากับ เม็ดข้าวสาร ระยะยาว เท่ากับ ก้านไม้ขีดไฟ ส่วนทางด้านคุณผึ้งก็รีบประสานไปยัง คุณต่อพงศ์ เสลานนท์ (นายกเติร์ด) นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยในยุคนั้นทันที และในที่สุดการทดลองให้คนตาบอดปักผ้าจึงได้เริ่มต้นขึ้น โดยพี่อารีย์เป็นคนแรกที่เข้ามาช่วยทำการทดลองและก็สามารถสนเข็มได้ด้วยตัวเองตั้งแต่วันแรก นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการปักจิตปักใจ ด้วยเงินทุนจากสมาคมคนตาบอด และมีนักเรียนตาบอดรุ่นสานฝันหรือดรีมทีมรุ่นแรกจำนวน 6 คน 

“ในชีวิตของคนตาบอดบางคนแทบจะไม่เคยกล้าเอามือไปจับเข็มเลย เพราะสำหรับเขาแล้ว คำว่า เข็ม คือความน่ากลัว แต่วันแรกที่เริ่มสอน เราได้พบความมหัศจรรย์มาก คือ การทำวงกลม ซึ่งเมื่อเทียบกับคนตาดีแล้ว การปักผ้าเป็นวงกลมของคนตาบอดสามารถทำวงโค้งได้ดีกว่าเสียอีก หากใครที่ได้สนับสนุนงานของปักจิตปักใจก็จะเห็นเลยว่า วงกลมของคนตาบอดนั้นสวยแบบที่คนตาดีทำยังไงก็ไม่เหมือน” คุณผึ้งกล่าวด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น

เมื่อหลักสูตรอบรมในช่วง 2 เดือนได้จบลงทางโครงการฯ ก็จะจัดส่งกล่องอุปกรณ์ชุดงานไปให้ถึงบ้าน โดยคุณครูป้าหนูจะสื่อสารกับนักเรียนผ่านคลิปเสียงหรือวิดีโอคอลเพื่อส่งงานหรือตรวจการบ้าน ซึ่งทางโครงการฯ จะจ่ายค่าแรงให้ตามคุณภาพและจำนวนชิ้นงาน โดยเริ่มต้นที่ 25-50 บาท สำหรับลายพื้นฐานอย่างวงกลม หากเป็นลายยากๆ อย่างกวาง หรือปลาวาฬพ่นน้ำจะอยู่ที่ 80-100 บาท รวมๆ แล้วเขาจะมีรายได้เสริมจากงานปักผ้าอยู่ที่ประมาณ 3,000-4,000 บาทต่อเดือน หากช่วงที่มีออร์เดอร์เข้ามามากๆ มือปักขั้นเทพอย่างป้าภัทร ก็สามารถทำได้หลักหมื่นเลยทีเดียว

file

“อุปกรณ์ทุกอย่างเราจะจัดส่งให้ทั้งหมด และมีบริษัท ไปรษณีย์ จำกัด เป็นตัวกลางในการจัดส่งเครื่องมือและรับชิ้นงานที่เสร็จสมบูรณ์แล้วกลับมาส่งให้เรา โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งการให้ค่าแรงนั้น โครงการปักจิตปักใจจะให้ค่าแรงตามคุณภาพ ความยากของลาย และจำนวนงานที่ทำ โดยเราก็จะมีเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจนและเที่ยงตรง” คุณครูป้าหนูเล่า

ทุกช่วงค่ำของวันศุกร์ จะเป็นช่วงเวลาที่ผลงานใหม่ๆ ของพวกเขาได้ออกมาโลดแล่นผ่านเฟซบุ๊ก “ปักจิตปักใจ” เพื่อให้ลูกค้าได้เข้ามาจับจอง ซึ่งครั้งแรกที่เปิดจำหน่าย ก็เป็นที่สนใจและถูกจับจองในเวลาอันรวดเร็วที่สำคัญคือลูกค้าซื้อเพราะความสวยงามของสินค้า ใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่ใช่เพราะความสงสาร โดยผลงานชิ้นแรกที่ขายได้ คือกระเป๋าใส่ดินสอ ราคา 300 กว่าบาท ที่ทำเอาเจ้าของผลงานดีใจจนน้ำตาไหล เพราะในชีวิตเคยขายที่มัดผมได้ราคาเพียง 10-20 บาทเท่านั้น คุณผึ้งเล่าต่อว่าการตั้งราคาสินค้าที่สูง เพราะจุดขายของงานคือมูลค่าของความพยายาม ซึ่งกว่าที่คนตาบอดจะปักผ้าออกมาได้สวยงาม ไม่ใช่แค่ต้นทุนค่าใช้จ่าย แต่มันคือต้นทุนชีวิต คือการฝึกฝน คือคุณค่าทางจิตใจ เราจึงต้องให้ค่าตอบแทนที่คุ้มค่ากับพวกเขา

“พวกเขาคือ สัญลักษณ์ของความพยายาม เป็นตัวอย่างของความลำบากและความพยายามในการใช้ชีวิต” คุณครูป้าหนูพูดถึงความรู้สึกที่ได้เข้ามาเป็นครูผู้ถ่ายทอดวิชาให้กับคนตาบอด และเพิ่มเติมว่า “ตอนแรกป้าหนูเรียกพวกเขาว่าผู้พิการทางสายตา เขากลับบอกว่าเขาไม่ได้พิการ เขาตาบอด ซึ่งก็แค่มองไม่เห็น แต่ชีวิตที่เขาเกิดมา เขาก็มีแรงที่พร้อมจะสู้” จากที่เคยคิดว่าตัวเองลำบากหรือมีปัญหามากมาย หากมาทำงานกับคนตาบอดก็จะรู้เลยว่าเราสบายมาก

file
file

ลูกค้าที่ซื้อสินค้าเคยบอกคุณครูป้าหนูว่า “แค่มีกระเป๋าใบเล็กๆ ของคนตาบอดอยู่ในกระเป๋าทำงาน ได้กำงานของคนตาบอดไว้ในมือ ก็ทำให้เขามีพลัง มีแรงที่จะยืนและเดินต่อไปในชีวิต” และการที่คนตาบอดเรียกป้าหนูว่า “ครู” ยิ่งเป็นแรงส่งให้คุณครูป้าหนูในวัย 58 ปียังมีพลัง มีความอิ่มใจ และตั้งใจดูแลตัวเองเพื่อสร้างประโยชน์ในช่วงวัยใกล้เกษียณต่อไป สำหรับอุปสรรคหนึ่งของการสร้างงานให้คนตาบอดก็คือ “เงินทุนที่จะใช้สร้างตลาด” ให้สินค้าที่พวกเขาผลิต ซึ่งปักจิตปักใจเป็นโครงการแรกที่จัดอบรมพร้อมสร้างตลาดให้คนตาบอด โดยค่าจัดอบรมและวิทยากรนั้น ได้รับการสนับสนุนมาจากสมาคมคนตาบอดฯ ส่วนค่าผ้าและค่าอุปกรณ์ต่างๆ มาจากเงินทุนส่วนตัวของคุณผึ้งล้วนๆ

“หลายครั้งที่ถูกถามว่า ทำไมคุณผึ้งไม่ขอทุนมาสร้างตลาด เราก็ถามกลับไปว่า ถ้าเราขอทุน พวกเราจะพยายามกันขนาดนี้เหรอ เราก็จะรู้ว่า เราจะได้รับเงินสนับสนุนมาแบบฟรีๆ แต่ทุกวันนี้ที่พวกเราพยายามกันอยู่ เพราะเรารู้ว่าถ้าไม่ตั้งใจ ปักไม่สวย งานไม่มีคุณภาพ งานปักผ้าของพวกเราก็จะมีเข้ามาน้อยลง” 

และด้วยเป็นเงินทุนของตัวเอง คุณผึ้งจึงเลือกใช้วัสดุที่ดีในการผลิต เช่น ผ้าหม้อห้อมเกรดเอ ผ้าใยกัญชง และแพ็กเกจที่ช่วยเสริมสินค้าให้ดูดีขึ้นมาจนเกิดการกระจายข่าวต่อ ทุกวันนี้นอกจากจะขายผ่านเฟซบุ๊กแล้ว ยังมีออร์เดอร์จากภาคธุรกิจที่มาสั่งสินค้าเพื่อไปเป็นของกำนัลให้ลูกค้า ซึ่งเป็นอีกแรงส่งให้โครงการฯ มีรายได้เพียงพอหล่อเลี้ยงตัวเองและจ่ายค่างานให้กับคนตาบอดได้ทุกเดือน และนั่นคือจุดที่ทำให้คุณผึ้งและคุณครูป้าหนูรู้ว่าสังคมไทยพร้อมสนับสนุนสินค้าของผู้พิการอยู่เสมอ เพียงแต่ต้องเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ด้วย 

“เราก็ดีใจว่าโครงการปักจิตปักใจไม่ได้ยืนอยู่ลำพัง เช่นเดียวกับที่ทิสโก้ได้สนับสนุนผลิตภัณฑ์ของเราเพื่อนำไปมอบให้กับผู้ที่เข้ามาบริจาคโลหิต เรารับรู้ได้ว่าในสังคมยังมีคนใจบุญและพร้อมที่จะให้โอกาสกับผู้ที่มีโอกาสน้อยกว่า” คุณครูป้าหนูกล่าวผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ได้สร้างข้อจำกัดให้บริษัท ห้างร้าน ไม่สามารถจัดงานการประชุมได้ ซึ่งส่งผลต่อออร์เดอร์ให้ลดลงตามไปด้วย ปักจิตปักใจจึงไม่ได้เปิดอบรมเพิ่มมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว แม้จะมีคนตาบอดรายใหม่ที่รอเข้าโครงการฯ อยู่ก็ตามเพราะแนวทางของคุณผึ้งคือ “ต้องสร้างงานก่อนสร้างคน” ดังนั้น ในปี 2565 นี้คุณผึ้งจึงมีแผนที่จะร่วมมือกับบริษัทที่ต้องการทำ CSR เพื่อสร้างออร์เดอร์ที่ต่อเนื่อง และเมื่อตลาดฟื้นกลับมาจึงเริ่มฝึกคนเพิ่มต่อ

เป้าหมายต่อไปคุณผึ้งเตรียมที่จะยกระดับการรับรู้ของคนในสังคม ด้วยการพัฒนาคนตาบอดไปสู่การเป็น “ศิลปิน” ผลิตงานศิลป์ซึ่งมีมูลค่าชิ้นงานที่สูงกว่างานปักผ้า โดยได้ประสานงานกับแบรนด์ Craft de Quarr และแกลเลอรีของ อ.เทพศิริ สุขโสภา เพื่อสร้างผลงานศิลปะของคนตาบอด และคาดว่าจะจัดแสดงนิทรรศการได้ราวปลายปี 2565

file

“สิ่งที่คนตาบอดขาดก็คือ ความก้าวหน้าในอาชีพ แต่ถ้าเรายกระดับความชำนาญ พัฒนาไปสู่งานศิลปะ วันหนึ่งเขาอาจจะทำงานสวยๆ ชิ้นเดียวได้เงินเหมือนศิลปินดังๆ เราอยากให้คนตาบอดเห็นว่าเขาสามารถพัฒนาไปสู่อีกจุดหนึ่งได้ แต่ก็ต้องรอจังหวะที่พวกเขาพร้อมด้วย เราทำมา 4 รุ่นแล้ว ตอนนี้ฝีมือก็ขั้นเทพกันหมด”

นอกจากนี้ คุณผึ้งยังต่อยอดจากคนตาบอดไปสู่ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวด้วย โดยให้พวกเขาเข้ามาใช้ศักยภาพที่มีในการประกอบชิ้นงานปักของคนตาบอดให้ขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่พร้อมจัดจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็น พวงกุญแจ กระเป๋า และอีกหลากชิ้นงานในโครงการฯ ซึ่งถือได้ว่าผลิตภัณฑ์จากปักจิตปักใจนั้นเป็นผลงานของผู้พิการโดยสมบูรณ์

“อยากให้ปักจิตปักใจเป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งของการใช้ศักยภาพที่แตกต่างของคนที่ไม่พิการกับคนที่พิการ มาสร้างสรรค์อาชีพและรายได้ให้สังคมน่าอยู่มากขึ้น”คุณผึ้งทิ้งท้าย 

file

ช่องทางสนับสนุนโครงการปักจิตปักใจ

  • เฟซบุ๊ก: Pakjitpakjai (ทางเพจฯ จะเปิดจำหน่ายสินค้า ทุกวันศุกร์ เวลา 20.00 น.)
  • โทร. 06 1624 1451