อัลไซเมอร์ โรคร้ายแรง...ที่ไม่ใช่แค่หลงลืม

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 65 | คอลัมน์ Health Protection Advisory

file

โรคอัลไซเมอร์เป็นความผิดปกติทางระบบประสาทที่พบได้บ่อย ส่งผลให้เกิดการสูญเสียความจำและความสามารถของสมองในด้านการคิดไปทีละน้อย จนในที่สุดอาจสูญเสียความสามารถที่จะช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน ซึ่งโรคนี้กระทบกับผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก การทำความเข้าใจโรคอัลไซเมอร์ในแง่มุมต่าง ๆ จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพื่อให้เราเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือทั้งในด้านสุขภาพและด้านการเงิน

เข้าใจโรคอัลไซเมอร์

โรคอัลไซเมอร์เกิดจากการสะสมโปรตีนที่ผิดปกติในสมอง ส่งผลให้การเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทมีปัญหา และทำให้เกิดการตายของเซลล์ประสาทในที่สุด นำไปสู่ภาวะเสื่อมสภาพของสมอง เกิดความผิดปกติด้านความจำ ความคิด และพฤติกรรม สาเหตุที่แท้จริงของโรคอัลไซเมอร์ยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างชัดเจน แต่อายุ พันธุกรรม และปัจจัยด้านการดำเนินชีวิตอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรค

อาการโรคอัลไซเมอร์

อาการของโรคอัลไซเมอร์มักพัฒนาช้า ๆ และค่อนข้างรุนแรงขึ้นตามเวลา อาการเด่นที่สุดของโรคคือการสูญเสียความจำ นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นที่อาจเป็นข้อสงสัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ เช่น

1.       หลงลืมบ่อยและรุนแรงขึ้น แม้ว่าโดยทั่วไปเราอาจมีอาการหลงลืมบ้างในชีวิตประจำวัน แต่อาการหลงลืมของโรคอัลไซเมอร์จะมีความถี่และความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ถามหรือพูดซ้ำ ๆ การวางสิ่งของผิดที่ หลงทางแม้ว่าเป็นสถานที่ที่คุ้นเคย ลืมบทสนทนาหรือนัดหมาย นึกคำเรียกชื่อของสิ่งที่ต้องการพูดถึงไม่ออก หรือหากมีอาการมากอาจลืมชื่อของสมาชิกในครอบครัว

2.       การคิดและการใช้เหตุผลที่แย่ลง โรคอัลไซเมอร์ทำให้ความสามารถในการจดจ่อหรือการคิดวิเคราะห์แย่ลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านตัวเลข เช่น อาจจ่ายเงินหรือทอนเงินผิดบ่อยกว่าปกติ

3.       การตัดสินใจแย่ลง การตัดสินใจต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การแต่งตัว หรือการขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนนอาจได้รับผลกระทบจากโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาอื่นได้ เช่น อุบัติเหตุจราจร

4.       บุคลิกภาพและพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป โรคอัลไซเมอร์ยังส่งผลกระทบต่อสภาวะอารมณ์และพฤติกรรมของผู้ป่วยเช่นกัน อาการที่พบได้ เช่น ภาวะซึมเศร้า การหลีกหนีจากสังคม อารมณ์แปรปรวน โมโหหงุดหงิดง่าย ขาดการยับยั้งชั่งใจ

หากสงสัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ ก็จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง ซึ่งการตรวจพบโรคที่เร็วขึ้นจะช่วยให้วางแผนการรักษาได้ดีขึ้น ส่งผลดีกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและคนรอบข้าง

file

© Mayo Foundation for Medical Education and Research (MFMER). All rights reserved.

ปัจจัยเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์

ปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปสาเหตุที่แน่ชัดของโรคอัลไซเมอร์ได้ แต่จากการศึกษาพบว่าปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมีหลายด้านและส่งผลแตกต่างกัน เช่น

1.       อายุ พบว่าอายุที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์มากขึ้น ในคนอายุ 65 - 74 ปี อาจพบผู้ป่วยประมาณ 4 รายต่อ 1,000 คน ขณะที่คนอายุ 85 ปีขึ้นไป พบผู้ป่วยสูงถึง 76 รายต่อ 1,000 คน อย่างไรก็ตาม โรคอัลไซเมอร์ไม่ใช่ภาวะปกติในผู้สูงอายุ ดังนั้นหากมีอาการสงสัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ ควรรับการตรวจรักษาโดยแพทย์

2.       ประวัติครอบครัวและพันธุกรรม หากมีประวัติบุคคลในครอบครัวที่ใกล้ชิด เช่น บิดา มารดา หรือพี่น้องป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค ทั้งนี้ปัจจุบันสาเหตุที่เกิดจากพันธุกรรมยังไม่เป็นที่เข้าใจมากนัก

3.       โรคประจำตัวบางชนิด ผู้ที่เป็นโรคดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) จะมียีนที่ผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้เกิดการสร้างโปรตีนที่พบในโรคอัลไซเมอร์ และผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจพบโรคอัลไซเมอร์ได้เร็วกว่าประชากรทั่วไป 10 - 20 ปี

4.       ประวัติการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ ผู้ที่อายุมากกว่า 50 ปี ที่มีประวัติสมองได้รับการกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ยิ่งมีความรุนแรงต่อสมองมากขึ้น ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อโรค

5.       ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น การบริโภคแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก การนอนหลับไม่เป็นเวลา หรือโรคหัวใจ อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์

การรักษาโรคอัลไซเมอร์

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคอัลไซเมอร์ แต่หากเข้ารับการตรวจรักษาอย่างสม่ำเสมอ แม้จะไม่ทำให้ความผิดปกติหายไป แต่ก็ช่วยชะลอการดำเนินของโรคได้ นอกจากนี้การรักษาตามอาการ เช่น การรักษาด้านสภาวะอารมณ์หรือพฤติกรรม ก็จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น

การรับมือโรคอัลไซเมอร์

เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ อาจทำให้ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดรู้สึกตกใจ กังวล หรือเสียใจ ทั้งเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและคนใกล้ชิด จนถึงเรื่องความมั่นคงทางการเงิน แต่หากมีความเข้าใจและวางแผนระยะยาวเป็นอย่างดี ก็จะรับมือกับโรคอัลไซเมอร์ได้ด้วยความเบาใจ

สำหรับการรับมือในด้านสุขภาพ อาจมุ่งเน้นการตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสร้างระบบการดำเนินชีวิตที่เป็นระเบียบแบบแผน การรักษาความสัมพันธ์ทางสังคม การมีกิจกรรมที่กระตุ้นการคิดเชิงบวก และการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยขั้นต้น นอกจากนี้ ผู้ที่ดูแลผู้ป่วยควรให้ความสำคัญกับการดูแลตนเอง ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจเช่นกัน

ส่วนการรับมือด้านการเงินก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากโรคอัลไซเมอร์อาจส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถหารายได้ได้เท่าเดิม รวมถึงมีค่าใช้จ่ายในการรักษาและการดำรงชีวิตประจำวันที่สูงขึ้น ดังนั้น การวางแผนรับมือด้านการเงิน เช่น มีความคุ้มครองโรคร้ายแรงบางผลิตภัณฑ์ ก็จะช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินได้ เนื่องจากโรคอัลไซเมอร์ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคร้ายแรงทางสมองที่ได้รับความคุ้มครอง

ข้อสรุป

โรคอัลไซเมอร์ยังคงเป็นภาวะสุขภาพที่มีผลกระทบในระดับโลก รวมถึงกระทบต่อบุคคลและครอบครัวอย่างลึกซึ้ง ทั้งด้านคุณภาพชีวิตและความมั่นคงทางการเงิน ซึ่งเราสามารถเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและสนับสนุนผู้ป่วยได้โดยการเข้าใจสาเหตุของโรค ทราบถึงอาการที่น่าสงสัย ปัจจัยเสี่ยง และแนวทางการรักษาเบื้องต้น ที่สำคัญคือควรเตรียมรับมือกับโรคอัลไซเมอร์ทั้งด้านสุขภาพ และการวางแผนด้านการเงินตั้งแต่ต้น ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว

file

Trust Magazine by TISCO