โยทะกา จุลโลบล  เล่าเรื่อง “บทส่งท้ายที่ไม่ท้ายสุด”  กับสุนทรียศาสตร์แห่งความงามจากคลังศิลปะสะสมทิสโก้ 

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 65 | คอลัมน์ Living Art

file

สวัสดีค่ะผู้อ่านที่รักทุกท่าน จากบทความฉบับที่แล้วที่ตัวผู้เขียนพาทุกท่านผ่านประสบการณ์ในการเยี่ยมชมคลังศิลปะสะสมของ บมจ.ทิสโก้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลงานศิลปะระดับมาสเตอร์พีซ และแน่นอนว่าฉบับเดียวคงจะเล่าถึงเรื่องราวของประสบการณ์ และความสนุกสนานในการชมผลงานศิลปะอันล้ำค่าได้อย่างไม่เพียงพอ ครั้งนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงการชมผลงานศิลปะในแบบฉบับของศิลปินบ้างค่ะ  

file

หลายท่านอาจจะสงสัยว่า มุมมองของนักสะสมงานศิลปะและบุคคลทั่วไป กับมุมมองทางด้านศิลปะของศิลปินนั้นแตกต่างกันอย่างไร ในแง่ของสุนทรียศาสตร์นั้นอาจจะแตกต่างกันในเรื่องของความงามธรรมชาติและรสนิยม ซึ่งขึ้นอยู่กับความคิดเห็น มุมมอง และประสบการณ์ รวมถึงเป้าหมายต่อศิลปะนั้น ๆ ซึ่งสุดท้ายก็จะอยู่ที่ว่าชอบหรือไม่ชอบ และก็จะแยกออกไปอีกว่า “ชอบเพราะอะไร” “ไม่ชอบเพราะอะไร”

ในสายตาของบุคคลทั่วไปก็อาจจะมองเพียงแค่สวยหรือไม่สวย แต่หากเป็นมุมมองของนักสะสมงานศิลปะเพื่อการลงทุน ก็คงจะต้องมองถึงมูลค่าของผลงานศิลปะชิ้นนั้น ๆ แต่สำหรับศิลปินแล้ว จุดสำคัญในการมองผลงานศิลปะคงจะมุ่งเน้นเรื่องเทคนิคและการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ แต่ความจริงคือศิลปะที่ดีอาจจะไม่มีคำตอบก็ได้ว่าเพราะอะไร เหมือนที่เราพยายามหาคำตอบของคำว่า “รัก” แต่บางทีก็ยังหาเหตุผลไม่ได้ว่าทำไมถึงรัก

ฉบับที่แล้วได้กล่าวถึงผู้ร่วมเดินทางกลุ่มสำคัญในทริปนี้ คือเหล่าบรรดาศิลปินชั้นนำของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นอาจารย์สมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2560 ร่วมด้วย อาจารย์เริงศักดิ์ บุณยวาณิชย์กุล อาจารย์ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ อาจารย์จินตนา เปี่ยมศิริ อาจารย์เนติกร ชินโย อาจารย์ชัชวาล รอดคลองตัน ซึ่งแต่ละท่านเป็นศิลปินระดับท็อปของประเทศไทยทั้งสิ้น  

การที่กลุ่มศิลปินได้มาดูคลังศิลปะสะสมของ บมจ.ทิสโก้ครั้งนี้ เหตุผลหลัก ๆ ที่ทำให้ทุกคนรู้สึกตื่นตาตื่นใจ คือการมีโอกาสเห็นผลงานที่อยู่ในประวัติศาสตร์ศิลป์ของประเทศไทยหลายชิ้น รวมถึงผลงานในยุคเริ่มต้นของศิลปินหลายท่าน ที่ปัจจุบันกลายเป็นศิลปินแห่งชาติและศิลปินในตำนาน จึงเป็นเหมือนแรงบันดาลใจของจุดเริ่มต้นในการพัฒนางานจนเป็นที่ยอมรับ

นี่คือจุดเด่นของ บมจ.ทิสโก้ที่ได้เริ่มต้นให้การสนับสนุนผลงานของศิลปินหลายท่าน ตั้งแต่เมื่อครั้งที่บางท่านยังเป็นนักศึกษาอยู่ ยกตัวอย่างไม่ไกลคือท่านศิลปินแห่งชาติผู้มากความสามารถอย่างอาจารย์สมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ ซึ่งที่นี่เก็บสะสมผลงานของอาจารย์เอาไว้หลายชิ้น โดยเฉพาะผลงานจิตรกรรมระดับตำนานเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษาอยู่ คือ “Gray Memories” ที่ติดตั้งอยู่ด้านหน้าห้องของคุณศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ โดยเมื่ออาจารย์ได้มาเห็นผลงานชิ้นนี้ก็มีท่าทีตื่นเต้นมาก และได้เล่าที่มา รวมถึงเทคนิคในการสร้างสรรค์ผลงาน Abstract ชิ้นนี้ให้ออกมามีรูปแบบดังที่ปรากฏ 

ในการพูดถึงที่มาของผลงานนั้น ยังไม่เท่ากับการที่อาจารย์เล่าถึงเทคนิคกว่าที่จะได้ผลงานชิ้นนี้ ซึ่งตรงจุดนี้ล่ะค่ะคือสิ่งสำคัญ และแตกต่างไปจากมุมมองของบุคคลทั่วไปหรือนักสะสม เพราะศิลปินจะให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ผลงานมากที่สุด หรือที่เรียกกันว่าเทคนิคนั่นเอง ซึ่งศิลปินแต่ละท่านล้วนแล้วแต่มีเทคนิคในการทำงานที่เฉพาะ

ตัวอย่างผลงานชิ้นนี้ อาจารย์สมศักดิ์เล่าว่าเมื่อครั้งปี 2515 ที่อาจารย์ยังศึกษาอยู่นั้น ผลงาน Abstract ของอาจารย์จะมีลักษณะพื้นผิวที่ดูธรรมดา แต่สำหรับชิ้นนี้มันแสดงถึงการพัฒนาเทคนิคในการทำงานที่มีมากยิ่งขึ้น หากคุณผู้อ่านมีโอกาสได้เห็นของจริงจะเห็นว่า ในชิ้นงานมีร่องรอยเป็นจุด ๆ เกิดขึ้นเต็มไปหมด ซึ่งเราคงจะรู้สึกงงงวยว่า จุดเหล่านั้นมันคืออะไร  ร่องรอยนั้น อาจารย์ต้องการให้มีลักษณะของฟองอากาศเกิดขึ้นบนพื้นผิว เพื่อให้ดูไม่เรียบจนเกินไป ดูเป็นละอองของไอน้ำ ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ไม่อึดอัด โดยในยุคสมัยนั้น อาจารย์ชอบใช้เทคนิคที่เรียกว่า Colorfeel Painting คือการใช้สีมาสร้างบรรยากาศของผลงาน สร้างความรู้สึกให้ดูอ่อนไหวฟุ้งฝัน

file

นอกจากนี้ ผลงานชิ้นนี้ก็มีการต่อของชิ้นผ้า ซึ่งหลายท่านเข้าใจว่าเป็นเทคนิคอันลึกลับซับซ้อนของอาจารย์ที่สร้างเอาไว้ แต่ที่จริงก็คือเนื่องจากสมัยก่อน ความกว้างของผ้ามีอยู่จำกัด เมื่ออาจารย์ต้องการสร้างผลงานชิ้นที่ใหญ่ขึ้น จึงนำผ้ามาต่อกันและเย็บขึ้นมา จนดูคล้ายเทคนิคที่ตั้งใจให้ดูซับซ้อนขึ้นนั่นเอง 

วันนั้นผู้ร่วมชมต่างได้รับการไขความลับจากปากของผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานโดยตรง เรียกว่า “ร้องอ๋อ” และสร้างรอยยิ้มให้กับทุกคนจริง ๆ ค่ะ นอกจากนี้ อาจารย์สมศักดิ์ยังกล่าวชื่นชม บมจ.ทิสโก้ที่เก็บรักษาผลงานชิ้นนี้ไว้เป็นอย่างดีในสภาพที่สมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นความยากอย่างยิ่ง เพราะผลงานศิลปะชิ้นนั้น ๆ จะต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี

ในวันดังกล่าว ศิลปินแต่ละท่านต่างก็มีผลงานจิตรกรรมที่สร้างสรรค์โดยศิลปินในดวงใจ ยกตัวอย่างอีก 1 ท่านคืออาจารย์เริงศักดิ์ บุณยวาณิชย์กุล ศิลปินชื่อดังมือรางวัลระดับเอเชีย ที่ให้เกียรติร่วมทริปในครั้งนี้ กับชิ้นงานที่ตื่นตาตื่นใจของผู้ช่วยศาสตราจารย์มานิตย์ ภู่อารีย์ ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ 2542 สาขาทัศนศิลป์ (ภาพพิมพ์) ผู้ล่วงลับ 

file

สำหรับผลงาน “ทิพย์แห่งทะเล” นั้นสร้างความประทับใจและตรึงตราตรึงใจได้จริง ๆ เพราะเพียงแค่เดินผ่าน เราก็จะนึกว่าผลงานจิตรกรรมที่อยู่ตรงหน้านั้น เป็นเพียงแค่ผลงานสีเหลืองธรรมดาที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่หากสังเกตอย่างพินิจพิเคราะห์จะเห็นถึงการไล่ระดับของสีอ่อนและสีเข้ม รวมถึงแสงพระอาทิตย์ที่ส่องประกายอยู่เส้นขอบฟ้าเพียงแค่เราหรี่ตามองก็จะเห็นความแตกต่างของระดับสีที่ไล่เฉดจากเข้มมาอ่อน และอ่อนไปเข้ม แทนรัศมีของดวงอาทิตย์ที่กำลังจะลับขอบฟ้า ยิ่งยืนพินิจนาน ๆ จะสัมผัสได้ถึงไออุ่น ๆ ที่ออกมาปะทะกายของเรา เหมือนกำลังยืนมองอยู่ริมชายฝั่งทะเลและเห็นพระอาทิตย์อยู่เบื้องหน้า กับกลิ่นไอของทะเลและความอุ่นของพื้นทรายที่เรากำลังยืนอยู่ 

ดูเหมือนจะเป็นภาพเรียบ ๆ แต่กลับให้ความรู้สึกมากมาย สีสันที่อาจารย์ประเทืองไล่เฉดสีนั้น มันยากยิ่งสำหรับการสร้างอารมณ์ และทำให้ภาพมีน้ำหนักไล่กันออกมาโดยไม่มีการกระโดดของความรู้สึก แต่ในขณะเดียวกัน สีน้ำเงินของน้ำทะเลก็ตัดกันกับสีเหลืองอย่างรุนแรง ผลงานชิ้นนี้จึงตรงกับคำนิยามว่า “น้อยแต่มาก” หมายถึงใช้เพียงไม่กี่สี แต่มากด้วยอารมณ์ 

ดังนั้น ภาพนี้จึงเป็นอีกผลงานที่น่าอัศจรรย์ใจที่อยากจะให้ได้มาเพ่งพินิจยืนชมนาน ๆ และปล่อยอารมณ์ล่องลอยไปตามจินตนาการของผู้ที่เข้าชมค่ะ

 

อาจารย์เริงศักดิ์ได้กล่าวถึงความประทับใจในผลงาน “มาลัยเสี่ยงรัก” ที่มีลายเส้นงดงาม ดูสดและได้อารมณ์ความรู้สึก ซึ่งหนึ่งในศิลปินที่เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมไทยของอาจารย์เริงศักดิ์ ก็คืออาจารย์มานิตย์นั่นเอง ผลงาน “มาลัยเสี่ยงรัก” เรียกได้ว่ามีครบองค์ประกอบของผลงานอาจารย์มานิตย์ ซึ่งหาชมได้ยากในปัจจุบัน ดังนั้นการที่ บมจ.ทิสโก้เปิดให้ผู้คนได้มารับชมงานศิลปะ ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของบุคคลที่สนใจงานศิลปะระดับชั้นครู

อีก 1 ผลงานที่ดูเหมือนจะธรรมดาแต่ไม่ธรรมดา ทำให้เหล่าศิลปินโดยเฉพาะผู้เขียนและอาจารย์จินตนา เปี่ยมศิริ ถึงขนาดยืนดูและวิเคราะห์กันอยู่หลายสิบนาที คงจะไม่พ้นภาพผลงานจิตรกรรมที่อยู่เบื้องหน้าขนาดใหญ่กว่า 2 เมตร สีเหลืองอำพันที่หากมองแล้วมีความลึกลับซับซ้อนมากกว่าสีเหลืองที่อยู่ตรงหน้า นั่นคือผลงานของอาจารย์ประเทือง เอมเจริญ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2548 ผู้ได้ชื่อว่าเป็นเทพแห่งสีสันพลังของธรรมชาติและจักรวาล

 

file

นอกจากเหล่าผลงานศิลปะที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีผลงานที่ทรงคุณค่าอีกมากมายของ บมจ.ทิสโก้ ซึ่งถึงตรงนี้แล้วก็อดอิจฉาเจ้าหน้าที่ของ บมจ.ทิสโก้ไม่ได้นะคะ ที่มีโอกาสอยู่ท่ามกลางผลงานศิลปะชั้นเยี่ยม และที่สำคัญอยากจะให้ท่านผู้อ่านที่มีความสนใจในงานศิลปะ ได้มีโอกาสมาชมผลงานศิลปะอันทรงคุณค่าเหล่านี้ ไม่ว่าจะเพื่อเป็นแรงบันดาลใจ หรือเพื่อการเสพสุนทรียภาพในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจของโลกดูเร่าร้อนแบบนี้ เชื่อเถอะค่ะว่า ผลงานศิลปะสามารถช่วยสร้างความภิรมย์ให้กับตัวของท่านและโลกใบนี้ได้ค่ะ 

สุดท้ายต้องขอขอบพระคุณคุณศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ และคุณไพรัช ศรีวิไลฤทธิ์ เลขานุการบริษัท ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สำนักกำกับดูแล ที่ให้เกียรติดูแลต้อนรับเป็นอย่างดี และให้เกียรติผู้เขียนได้บอกเล่าถึงประสบการณ์มุมมองทางด้านศิลปะของตนเองในนิตยสารที่สำคัญฉบับนี้ 

ขอบพระคุณผู้อ่านทุก ๆ ท่านที่ติดตามอ่านบทความของผู้เขียนทั้ง 2 ฉบับติดต่อกัน หวังว่าบทความเหล่านี้จะเป็นประโยชน์และแรงบันดาลใจ รวมทั้งสร้างรอยยิ้มและเข้าใจถึงสุนทรียภาพแห่งศิลปะกันได้ไม่มากก็น้อยนะคะ ขอบพระคุณทีมงานทุกท่านค่ะ

  

     *สำหรับบทความนี้ เขียนขึ้นด้วยทัศนคติส่วนตัวของผู้เขียนค่ะ             

ผู้เล่าเรื่อง โยทะกา จุลโลบล

 

Trust Magazine by TISCO