ภัทรีวิภา ทันด่วน ผู้ก่อตั้ง Practika เฟอร์นิเจอร์ไทยเบื้องหลังโครงการใหญ่ สร้างชื่อเสียงระดับสากล

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 65 | คอลัมน์ People

เฟอร์นิเจอร์สำนักงาน คือหนึ่งในสิ่งที่สะท้อนตัวตนขององค์กร ซึ่งการออกแบบให้สวยงามสอดคล้องกับอัตลักษณ์ ทั้งยังตอบโจทย์การใช้งานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่สำหรับแบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติไทยที่ชื่อว่า “แพรคติก้า” (Practika) สามารถเนรมิตทุกชิ้นงานได้ตามความต้องการ โดยที่ลูกค้าได้มีส่วนร่วมในการออกแบบ และผลิตด้วยระบบอุตสาหการเพื่อความประณีตสูงสุด จึงได้รับความไว้วางใจจากองค์กรชั้นนำทั้งในไทยและระดับโลก อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) BMW และ Volkswagen ซึ่งผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จคือคุณภัทรีวิภา ทันด่วน สถาปนิกหญิงที่จับมือกับสามีปลุกปั้นโรงงานเฟอร์นิเจอร์เล็ก ๆ เมื่อ 37 ปีก่อน ให้กลายเป็น Practika เฉกเช่นทุกวันนี้

เรามีโอกาสพูดคุยกับคุณภัทรีวิภาที่ออฟฟิศอันร่มรื่นของ Practika ซึ่งมีพื้นที่กว่า 14 ไร่ ภายในประกอบด้วยโรงงานที่พรั่งพร้อมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเต็มรูปแบบ แยกส่วนโรงเหล็ก โรงไม้ โรงบุ หุ้มห่อไว้อย่างเป็นสัดส่วน รวมถึงพื้นที่โชว์รูมขนาดใหญ่ที่จัดแสดงผลงานกว่า 3 ทศวรรษของบริษัทฯ

file

    “เราเพิ่งทําแค็ตตาล็อกของบริษัทเสร็จไปเมื่อปีที่แล้วนี่เองค่ะ” คุณภัทรีวิภากล่าวก่อนอธิบายว่าที่ผ่านมาการทํางานของ Practika ไม่ได้ทําเฟอร์นิเจอร์สําเร็จรูปที่ให้ลูกค้าเลือกสินค้าจากแค็ตตาล็อก ในทางกลับกัน บริษัทจะนําโจทย์ความต้องการจากลูกค้า มาออกแบบเป็นชิ้นงานที่แสดงให้เห็นถึงตัวตน แล้วนํามาขึ้นต้นแบบก่อนจะเข้าสู่กระบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรม เพื่อให้ได้คุณภาพมาตรฐานที่สมํ่าเสมอของทุกชิ้นงาน พร้อมทีมงานจัดส่งติดตั้ง และบริการหลังการขายทั้งในและต่างประเทศ เรียกได้ว่าครบวงจร “เราจะบอกกับลูกค้าเสมอว่า ให้ฝันมาได้เลยว่าอยากทําอะไร แล้วเราจะทําตามฝันนั้นให้”

file

เส้นทางจากสถาปนิกสู่ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์

    กว่าจะมาเป็น Practika ดังเช่นในปัจจุบัน คุณภัทรีวิภาหรือคุณหนิ่งเล่าว่า เธอและสามีเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเรียนจบก็ได้ทํางานตรงกับสาขาที่เรียนมา โดยเธอได้เข้าทํางานที่กองออกแบบ สํานักการโยธา กรุงเทพมหานคร มีโอกาสได้ออกแบบอาคารมากมาย ประกอบกับได้ทุนการศึกษาจากรัฐบาลของประเทศเนเธอร์แลนด์ ให้ไปเรียนต่อด้าน Housing, Planning and Building หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้พักใหญ่จึงตัดสินใจเปิดสํานักงานออกแบบร่วมกับสามี โดยเธอดูแลงานด้านอินทีเรีย ส่วนสามีดูแลด้านงานสถาปัตย์ ในเส้นทางเติบโตของ Practika คุณภัทรีวิภาได้กล่าวอย่างซาบซึ้งใจถึงพี่ ๆ น้อง ๆ สถาปนิกที่ได้ให้ความไว้วางใจและสนับสนุนงานของ Practika มาโดยตลอด ทั้ง ๆ ที่ตัวเธอและสามีทําการตลาดไม่เป็นเลยจวบจนวันนี้ แต่สิ่งที่เป็นหมุดหมายของแบรนด์คือต้องทํางานที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า ซึ่งไว้วางใจเอาเงินที่หามาได้ด้วยความยากลำบากมาให้ Practika ทำงานให้

    “ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ประเทศไทยเปิดประเทศ เรามีโอกาสได้รับความไว้วางใจให้ทํางานร่วมกับดีไซเนอร์ต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทย ทําให้พบปัญหาว่าพอเป็นงานออกแบบออฟฟิศ สถาปนิกมักจะหาเฟอร์นิเจอร์ที่ตอบโจทย์ไม่ได้ เนื่องจากตอนนั้นโรงงานเฟอร์นิเจอร์ระบบอุตสาหกรรมของไทยมีอยู่เพียง 2 - 3 ราย แต่ละรายมีแค็ตตาล็อกสินค้าให้เลือกไม่มาก เราจึงต้องช่วยหาโรงงานที่จะสามารถทําเฟอร์นิเจอร์ได้ตรงกับที่เขาออกแบบ สุดท้ายพองานสําเร็จได้ด้วยดี เราก็เริ่มได้รับการพูดถึงและแนะนําแบบปากต่อปากในหมู่ดีไซเนอร์” คุณภัทรีวิภาเล่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องบังเอิญอีกว่าราวปี 2529 โรงงานเฟอร์นิเจอร์ที่เธอส่งงานให้นั้น เจ้าของกําลังอยากเลิกกิจการ เธอและสามีจึงตัดสินใจรับซื้อโรงงานนั้น และเริ่มต้นก่อตั้ง Practika มานับแต่นั้น

file

ช่วงเริ่มต้นเธอเคยทําเฟอร์นิเจอร์ให้ออฟฟิศที่ตั้งอยู่ในอาคารธนิยะพลาซ่า ในช่วงต้น ๆ ปี 2530 เป็นอาคาร Office Building ที่มีขนาดใหญ่และดีที่สุดอาคารหนึ่งในกรุงเทพฯ ขณะนั้น ตอนที่เพิ่งก่อสร้างเสร็จทําโพรเจกต์แรกยังไม่ทันจบ เมื่อผู้เช่ารายอื่นได้มาเห็นผลงาน Practika ก็ได้รับการติดต่อให้ทําโพรเจกต์เพิ่ม จนสุดท้ายกลายเป็นรายเดียวที่แทบจะทําเฟอร์นิเจอร์ให้ทุกออฟฟิศในตึก คุณภัทรีวิภาเชื่อว่างานของเธอแตกต่างจากผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์รายอื่นในตลาดทั่วไป คือการนําคอนเซปต์ที่ดีไซเนอร์หลักของลูกค้าออกแบบไว้ มาตีโจทย์ให้กลายเป็นชิ้นงานที่ใช้ได้จริง และควบคุมคุณภาพด้วยแนวทางการผลิตแบบอุตสาหกรรม

“ด้วยความที่เป็นสถาปนิกทั้งคู่ ดิฉันและสามีจะมีกฎเหล็กเลยว่า ห้ามทําสินค้าที่ไม่มีคุณภาพเด็ดขาด งานของเราต้องสวย แข็งแรงทนทาน และสิ่งที่เราตั้งใจกันไว้ตั้งแต่ต้นคือ อยากจะทําให้เฟอร์นิเจอร์ของไทยสามารถเดินขึ้นไปเทียบเท่ากับของต่างประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีไซน์หรือคุณภาพ” คุณภัทรีวิภากล่าว

ผลงานที่ภาคภูมิใจ

    ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของ Practika แบ่งได้เป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์สําหรับสํานักงาน (Workplace) สาขาของธนาคารและโชว์รูมสินค้า (Retail) โรงพยาบาล (Healthcare) โรงเรียนและมหาวิทยาลัย (Education) ที่พักอาศัย (Residential) และโรงแรม (Hospitality) สําหรับตัวอย่างผลงานที่น่าภาคภูมิใจ อาทิ เฟอร์นิเจอร์สําหรับสํานักงาน การเป็นผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งโชว์รูมทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กับรถยนต์ BMW และ Volkswagen เพียงรายเดียวของโลก นอกเหนือจากโรงงานในประเทศเยอรมนีในช่วงแรกที่ทั้ง 2 แบรนด์เข้ามาในตลาดเมืองไทย โดยทํางานร่วมกับสถาปนิกจากเยอรมนีอยู่ราว ๆ ครึ่งปี จึงเริ่มเข้าสู่กระบวนการผลิต ทั้งยังมีโชว์รูมของ iStudio ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตึกเพชรของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เฟอร์นิเจอร์สําหรับทางการแพทย์ของโรงพยาบาล MedPark และเฟอร์นิเจอร์ของโรงแรม So Bangkok โดยครั้งนั้นได้ทํางานร่วมกับคริสเตียน ลาครัวซ์ ดีไซเนอร์ระดับโลกชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ออกแบบงานอินทีเรียให้โรงแรม

    “ผลงานที่พวกเราทุกคนที่ Practika ภาคภูมิใจมากที่สุดคือ การได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมดสำหรับอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่เกียกกาย ก่อนเริ่มทำงาน เราจัดประชุมพนักงานทั้งบริษัทฯ เพื่อแจ้งให้เขาทราบว่า นี่คือผลงานแห่งเกียรติยศที่เราทุกคนในหมู่บ้านช่างนี้ต้องตั้งใจทำให้ดีที่สุด ซึ่งปรากฏว่าเราสามารถทำงานเฟอร์นิเจอร์ของรัฐสภาทั้งหมดสำเร็จสวยงาม และได้ใช้งานอย่างเรียบร้อยสมบูรณ์ นำความภาคภูมิใจมาให้ชาว Practika ทุกครั้งที่ได้เห็นผลงานของเราตามข่าวทั้งในทีวีและสื่อต่าง ๆ

file
file

    “นอกจากนี้ ผลงานที่เราเคยออกแบบและผลิตมาทั้งหมด มีหลายชิ้นที่ได้รางวัลระดับประเทศ เช่น โต๊ะ Mega Foster ที่ชนะรางวัล Design Excellence Award 2009 (Demark) และรางวัล Priminister Export Award ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม เพราะดีไซน์ของเรามีความแตกต่างที่รายละเอียด ทุกดีเทลต้องออกแบบอย่างดี ยกตัวอย่างเช่น โต๊ะ ทั้งขาโต๊ะและตัวยึดขาโต๊ะ ตัวรับท็อปโต๊ะ เราออกแบบอย่างประณีต และทําด้วยเครื่องจักรทั้งหมดเพื่อความสมบูรณ์แบบและแม่นยําในทุก ๆ จุด หากจะเทียบกับผู้หญิงก็คงต้องบอกว่าเป็นผู้หญิงที่สวยตั้งแต่หัวจรดเท้า” คุณภัทรีวิภากล่าว

file

ความลงตัวของ Art, Innovation และ Technology

คอนเซปต์การทํางานของ Practika ในปัจจุบัน ตกผลึกมาสู่ Art, Innovation และ Technology นอกเหนือจากทีมงานและนักออกแบบที่พร้อมสร้างสรรค์ผลงานต่าง ๆ จุดเด่นสําคัญของที่นี่คือการนําเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาใช้ในการผลิตชิ้นงานที่สวยงามลงตัว ทั้งยังเป็นโซลูชันที่ตอบโจทย์ทั้งงานออกแบบของดีไซเนอร์และการใช้งานของลูกค้า End User ให้ได้มากที่สุด หนึ่งในตัวอย่างของผลงานที่ตอบโจทย์ด้านโซลูชัน คือการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ในโรงพยาบาล ที่เพิ่มฟังก์ชันการใช้งานเฟอร์นิเจอร์ให้เหมาะสมกับการดูแลผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นชั้นและลิ้นชักเก็บของที่ได้รูปทรงพอดีกับเครื่องมือแพทย์ การเลือกใช้บานพับสเตนเลสทั้งหมด เพื่อป้องกันสนิมและสารอันตรายต่าง ๆ

file
file

นอกเหนือจากโซลูชันด้านการใช้งาน Practika ยังคํานึงถึงความเป็นตัวตนของลูกค้าด้วยการใช้เทคโนโลยีมาควบคู่กับงานดีไซน์ เช่น การใช้เลเซอร์คัต ตัดเป็นรูปโลโก้แบรนด์ของลูกค้า การใช้เครื่อง Flatbed Inkjet ชนิดพิเศษที่ใช้หมึกสีแบบที่สามารถใช้งานกลางแจ้ง พรินต์ลงบนเฟอร์นิเจอร์เป็นลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์สําหรับลูกค้าแต่ละรายได้อย่างสวยงาม

“สําหรับประเทศไทยในเวลานี้ ในแง่ของเฟอร์นิเจอร์ ถ้าใครจะทําอะไรที่ยากมาก ๆ ต้องมาที่เรา ที่นี่มีเครื่องมือพร้อม แม้แต่หุ่นยนต์ที่ช่วยในการผลิตสินค้าก็ยังมีเช่นกัน เฟอร์นิเจอร์ในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิมมาก มีรายละเอียดที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น โต๊ะที่สามารถยกขึ้นลงได้ หรือแม้แต่เฟอร์นิเจอร์ที่มีลักษณะเป็น Telephone Booth ขั้นตอนการทํายุ่งยาก แต่หลักการทํางานของดิฉันและทุกคนที่นี่คือเราต้องทํางานให้ดีที่สุด เราเรียกตัวเองว่าเป็นหมู่บ้านช่าง คําว่าหมู่บ้านช่างหมายความว่าทุกคนมีจิตวิญญาณเดียวกัน คือเราจะทํางานที่สวยและดีให้กับลูกค้าด้วยใจ”

ส่งต่อความยั่งยืนสู่สังคม

ประสบการณ์ที่ผ่านมาของ Practika ตลอดจนการทำงานที่ได้มาตรฐานในปัจจุบัน ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ภายในองค์กรเท่านั้น แต่คุณภัทรีวิภาเลือกแบ่งปันและส่งต่อให้กับนักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจเสมอมา แต่ละปีจะมีสถาบันการศึกษาติดต่อเข้ามาดูงาน เช่นเดียวกับการติดต่อขอเข้ามาทำโพรเจกต์ของนักศึกษาที่เรียนด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) ในระดับมหาวิทยาลัย ที่บริษัทฯ สนับสนุนทั้งวัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อที่จะขึ้นชิ้นงานต้นแบบตามที่นักศึกษาได้ออกแบบไว้

“เราอยากเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานให้เขา ในอนาคตไม่ว่าเขาจะไปทำงานที่ใดก็ตาม เขาจะได้เข้าใจในระบบอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และหากเป็นไปได้ เขาอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตขึ้นไปได้อีกเช่นกัน” คุณภัทรีวิภากล่าว

file
file

นอกเหนือจากการส่งต่อองค์ความรู้ คุณภัทรีวิภายังมีแนวคิดเกี่ยวกับการช่วยเหลือสังคม ในที่นี้เธอแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือการช่วยเหลือสังคมภายใน นั่นคือพนักงานกว่า 500 ชีวิตที่ Practika ส่งเสริมให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสอนให้ทุกคนช่วยดูแลสังคมต่อไป ที่นี่มีสวนพืชผักสวนครัวออร์แกนิก 100% สําหรับพนักงาน ให้เก็บไปรับประทานกับครอบครัวที่บ้าน อีกส่วนคือการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมให้มีการคัดแยกขยะมาอย่างยาวนาน และสนับสนุนให้พนักงานนำกลับไปสอนคนในครอบครัวด้วย

ในแง่ของโรงงานเอง Practika ถือเป็นต้นแบบของโรงงานสีเขียว ที่ให้ความสําคัญด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมมานานหลายสิบปี สีพ่นที่ใช้กระบวนการผลิตเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นเป็น Biochemical ที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ฝุ่นที่เกิดจากการตัดไม้จะถูกดูดไปรวมกันเพื่อนําไปทําธูป ส่วนเศษไม้ที่เหลือจะถูกรวบรวมแล้วนําไปทําเป็นโต๊ะ ตู้ หรือเฟอร์นิเจอร์อื่น ๆ เพื่อบริจาคให้กับโรงเรียน หรือห้องสมุดในโรงเรียนต่างจังหวัด บางครั้งยังจัดกิจกรรมร่วมกับมูลนิธิ เดอะ โบว์มอนท์ พาร์ทเนอร์ชิพ ที่ได้สร้างโรงเรียนโบว์มอนท์ร่วมพัฒนา สําหรับเด็กด้อยโอกาสที่จังหวัดชัยภูมิ

“บางครั้งก่อนไปเราจะมีกิจกรรมภายใน เป็นแคมเปญให้พนักงานแข่งกันออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ผลงานที่ชนะการประกวดจะนําไปทําชิ้นงานจริงเพื่อบริจาคให้กับโรงเรียน ที่ทําเช่นนี้เพราะเราอยากเอางานดีไซน์เข้าไปใส่ และอยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการทํากิจกรรม เราเคยมีคอนเซปต์ถึงขั้นว่าเราผลิตชิ้นส่วนไปแล้ว แต่ยังไม่ประกอบ เพื่อที่ว่าเมื่อไปถึงที่โรงเรียน จะได้ชวนให้นักเรียนมาช่วยกันประกอบโต๊ะ เก้าอี้ที่จะเป็นของเขา ซึ่งเด็ก ๆ จะภูมิใจกันมาก และในอีกแง่มุมหนึ่งก็ถือเป็นการสอนเรื่องงานดีไซน์และงานช่างไปในตัวด้วย” คุณภัทรีวิภากล่าวทิ้งท้าย

“ด้วยความที่เป็นสถาปนิกทั้งคู่ ดิฉันและสามีจะมีกฎเหล็กเลยว่า ห้ามทําสินค้าที่ไม่มีคุณภาพเด็ดขาด งานของเราต้องสวย แข็งแรงทนทาน และสิ่งที่เราตั้งใจกันไว้ตั้งแต่ต้นคือ อยากจะทําให้เฟอร์นิเจอร์ของไทยสามารถเดินขึ้นไปเทียบเท่ากับของในต่างประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีไซน์หรือคุณภาพ”

Trust Magazine by TISCO