3 เสาหลักของการท่องเที่ยวไทย เพื่อเพิ่มรายได้ต่อหัวนักท่องเที่ยว และกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวสู่ท้องถิ่น

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 65 | คอลัมน์ Smart Investing

file

ประเทศไทยนับเป็นจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยในปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยทั้งหมด 39.9 ล้านคน คิดเป็นรายรับจากการท่องเที่ยว 60.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสูงเป็นอันดับ 4 ของโลกโดยเป็นรองเพียงแค่สหรัฐฯ สเปน และฝรั่งเศสเท่านั้น ทำให้การท่องเที่ยวเป็นหัวใจหลักของเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยไทยมีสัดส่วนมูลค่าการท่องเที่ยวต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวม (GDP) คิดเป็นเกือบ 18% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ราว 10% 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าประเทศไทยจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เป็นจำนวนมาก คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย 10.7% ระหว่างปี 2553 - 2562 สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 3.5% แต่ในแง่การใช้จ่ายต่อนักท่องเที่ยวกลับเติบโตเพียงแค่ 0.9% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 1.7% ทำให้เกิดความกังวลว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยต่อจากนี้อาจเผชิญความท้าทายมากขึ้น ส่วนหนึ่งจากพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่อาจเปลี่ยนไปภายหลังเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ประเทศไทยต้องปรับตัวและสร้างจุดดึงดูดใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวในยุคหลัง COVID-19

โดยเรามองว่ามี 3 ช่องทางท่องเที่ยวหลักที่จะสามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยไปสู่รายได้ต่อหัวนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น, การกระจายรายได้ต่อชุมชนที่ดีขึ้น และตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวในยุคหลัง COVID-19 ได้ดีขึ้น ดังนี้

file

1. การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม

การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม นับเป็นกุญแจสำคัญในการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นและส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย ทั้งยังจะยกระดับการใช้จ่ายและระยะเวลาที่ใช้ของนักท่องเที่ยวด้วย โดยประเทศไทยมีเมืองที่ได้รับการยอมรับจากสากลและประกาศให้เข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (Creative City) ของ UNESCO จำนวน 6 เมือง ได้แก่ 1) ภูเก็ต เมืองแห่งอาหาร ประจำปี 2558 2) เชียงใหม่ เมืองแห่งหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ปี 2560 3) กรุงเทพฯ เมืองแห่งการออกแบบ ปี 2562 4) สุโขทัย เมืองแห่งหัตถศิลป์และศิลปะพื้นบ้าน ปี 2562 5) เพชรบุรี เมืองแห่งอาหาร ปี 2564 และ 6) เชียงราย เมืองแห่งการออกแบบ ปี 2564 แต่ก็ยังนับว่าน้อยกว่าประเทศที่มีความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอย่างญี่ปุ่น ที่มีเมืองที่เข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO จำนวน 10 เมือง

โดยการสนับสนุนอัตลักษณ์ของชุมชนนั้น นับเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสามารถผลักดันการตระหนักรู้จากชาวต่างชาติและดึงดูดนักท่องเที่ยวไปยังเมืองรองต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากกรุงเทพฯ ภูเก็ต และพัทยา ซึ่งจะทำให้เกิดการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างทั่วถึงมากขึ้น

file
file

2. การท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ

การท่องเที่ยวเชิงธุรกิจคือการท่องเที่ยวของกลุ่มนักเดินทางที่มีวัตถุประสงค์เชิงธุรกิจโดยเฉพาะการท่องเที่ยวแบบ MICE (Meetings, Incentives, Conferences and Exhibitions) จากการประเมินของ Statista ในปี 2563 ระบุว่าอุตสาหกรรม MICE ทั่วโลกมีมูลค่า 0.84 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าจะเติบโตเป็น 1.78 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2573 คิดเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปี ทำให้อุตสาหกรรม MICE เป็นตลาดสำคัญที่ไทยมีโอกาสคว้าเอาไว้

โดยก่อนวิกฤต COVID-19 (2562) มีนักท่องเที่ยวกลุ่ม International MICE กว่า 1.3 ล้านคน และมีค่าใช้จ่ายต่อหัวถึง 73,762 บาท อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 จำนวนนักท่องเที่ยวกลุ่ม International MICE ได้ปรับลดลงมาเหลือเพียง 3.5 แสนคน และมีค่าใช้จ่ายต่อหัว 53,879 บาท แม้จะต่ำกว่าระดับก่อนวิกฤต COVID-19 แต่ก็นับว่าสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปที่มีค่าใช้จ่ายต่อหัว 47,895 บาท (2562) โดยประเทศไทยได้ตั้งเป้าให้อันดับของจุดหมายปลายทางสำหรับการประชุมระดับนานาชาติตามดัชนี International Congress and Convention Association (ICCA) ขยับขึ้นมาอยู่ใน 20 อันดับแรกของโลกภายในปี 2570 จากปัจจุบันที่อยู่อันดับ 27 (ณ ปี 2563) โดยไทยต้องเพิ่มการให้สิทธิประโยชน์ รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการจัดงานเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งเมื่อสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายลง การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวกลุ่ม MICE ก็ดูมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และคาดว่าจะเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนรายได้ต่อหัวของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทยให้เพิ่มขึ้น

file

นอกจากนี้ ยังคงมีโอกาสอีกมากจากนักท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ อาทิ การเติบโตของกลุ่ม Digital Nomad หรือ กลุ่มคนที่ทำงานผ่านระบบออนไลน์จากที่ไหนก็ได้ของโลก โดยข้อมูลจาก nomadlist.com ระบุว่า กรุงเทพฯ มีความโดดเด่นในทุกด้านหลัก เช่น ค่าครองชีพ, อินเทอร์เน็ต, ความสนุกสนาน และความปลอดภัย และถูกจัดให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับ Digital Nomad เป็นอันดับ 3 ของโลก (ณ วันที่ 20 มิถุนายน 66) ทำให้มีจำนวน Digital Nomad เข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นต้นมา ดังนั้น การมีนโยบายที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ นอกจากรายได้จากการท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเพิ่มโอกาสในการดึงแรงงานที่มีความสามารถ (Talent) เข้ามาในประเทศอีกด้วย

file

3. การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

การท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ความงาม และการแพทย์แผนไทย นับเป็นกระแสการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูง จึงถือเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมศักยภาพภาคบริการสุขภาพของไทยให้เข้มแข็งในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว โดยการประเมินของสถาบัน Global Wellness Institute ระบุว่าการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ (Wellness Tourism) ทั่วโลกมีมูลค่า 0.72 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 8.1% ระหว่างปี 2561 - 2563 และมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่มูลค่าการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพในประเทศไทยนั้น มีการเติบโตเฉลี่ยสูงถึง 18.7% ระหว่างปี 2561 - 2563 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกมาก ทำให้นี่เป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญของไทยในการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูงเข้ามาในประเทศ โดยไทยได้ตั้งเป้าให้รายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพตามการจัดอันดับของสถาบัน Global Wellness Institute อยู่ใน 6 อันดับแรกของโลกในปี 2570

file

โดยสรุปอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยในอนาคตจำเป็นต้องเน้นไปที่การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ (Quality) มากขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มรายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยว เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนตามพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวเป็นสิ่งสำคัญทั้งในเรื่องการคมนาคมและการพัฒนาขีดความสามารถของการท่องเที่ยวท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการกระจายรายได้สู่ชุมชน รวมถึงการยกระดับคุณภาพของการบริการเพื่อรองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวเชิงธุรกิจและสุขภาพ อีกทั้งการพัฒนาแรงงานให้มีความสามารถที่จะรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ควรได้รับการพัฒนาไปพร้อม ๆ กันเพื่อให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนและยังคงสถานะการเป็นจุดหมายสำคัญของการท่องเที่ยวโลกต่อไปได้


Trust Magazine by TISCO