สนทนี นทพล วาด “โอกาส” ที่ ณ กิตติคุณ

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 65 | คอลัมน์ Giving

file

ริมถนนศรีอยุธยา ข้างวังสวนผักกาด แทบไม่น่าเชื่อว่ามองจากด้านหน้าที่เห็นเพียงอาคารคริสตจักรกรุงเทพ  หากเดินลึกเข้าไปด้านในจะได้พบบ้านหลังย่อมที่ร่มรื่นด้วยความรักซ่อนตัวอยู่ พื้นที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งของ มูลนิธิ ณ กิตติคุณ ซึ่งมีกลุ่มบุคคลผู้มีความต้องการพิเศษราว 15 - 20 ชีวิต เข้ามารวมตัวกันเป็นประจำในวันจันทร์-ศุกร์ และวันเสาร์สำหรับเด็กรุ่นเล็ก เพื่อทำกิจกรรมพัฒนาทักษะเพื่อใช้ชีวิตตามศักยภาพผ่านการร้องเพลง เล่นดนตรี วาดภาพ ทำงานศิลปะ ภายใต้การดูแลของผู้เริ่มก่อตั้ง ครูปุ๊-สนทนี นทพล โดยดำเนินการมาเกือบ  20 ปีแล้ว นิตยสาร TRUST ฉบับนี้ ได้เข้าไปเยี่ยมเยือนพร้อมชวนคุยถึงเรื่องราวของการเปิดโอกาสสำหรับกลุ่มคนพิเศษกับการสร้างสรรค์ผลงานอันแสนวิเศษ 

จุดเริ่มก่อร่าง...สร้างพื้นที่แห่งโอกาส

“พระเจ้าทรงเรียกเราให้ทำงานนี้” รอยยิ้มจุดขึ้นที่มุมปากและแววตาขณะครูปุ๊เอ่ยถึงบางอย่างที่น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญในผลักดันสู่เส้นทางนี้ แม้ในช่วงแรกจะมีอุปสรรคท้าทายหลายประการ เริ่มจากรับสอนดนตรีให้เด็กที่มีความต้องการพิเศษแบบตัวต่อตัว โดยพยายามหาวิธีที่จะสอนให้เด็กสามารถเล่นโน้ตหรือร้องออกมาได้ และถูกบอกปากต่อปากกระทั่งนักเรียนเพิ่มจำนวนขึ้น จนได้รับการขอร้องจากเหล่าผู้ปกครองให้ดำเนินการอย่างจริงจัง กระทั่งนำไปสู่รูปแบบมูลนิธิ 

“ผู้ปกครองหลายท่านมาคุยเรื่องการที่จะทำให้มีที่ที่ลูก ๆ จะได้มีโอกาสเรียน มีโอกาสพัฒนาทักษะด้วยวิธีการที่คิดว่าจะเกิดประโยชน์กับเขา อีกทั้งเมื่อเด็ก ๆ เหล่านี้เติบโตขึ้น เขาควรมีเพื่อนที่เข้าใจกัน ทำกิจกรรมด้วยกัน ใจเราเองพร้อมจะรับทำทั้ง ๆ ที่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เรายังไม่รู้อะไรมากเลยเกี่ยวกับคนพิเศษ แต่เพราะใจกล้า รู้น้อย ก็เลยไม่กลัว ตอนนั้นตามไปหาทุกที่ ทดลองทุกแบบว่าเราจะเอาวิธีไหนมาใช้ในการสอน แต่ผู้ปกครองคนหนึ่งบอกว่า ครูทำอะไรได้ ทำอันนั้นสิ เราทำสิ่งที่ดีที่สุดได้ อย่าไปตามใคร เรามองว่ามันมหัศจรรย์ เพราะมีอุปสรรคเยอะ ไม่น่าทำได้ แต่อย่างหนึ่งที่สำคัญสำหรับเราซึ่งเป็นคริสเตียน คือการทรงเรียกของพระเจ้า รู้สึกว่าฝืนเสียงเรียกนั้นไม่ได้เลย ชีวิตเราต้องทำสิ่งนี้”

file

ดนตรี ศิลปะ กีฬา การเรียนรู้เพื่อเพิ่มโอกาส    

จากจุดเริ่มต้นการเรียนดนตรีที่มีครูปุ๊เป็นผู้สอนเอง ผ่านกระบวนการค้นหากิจกรรมที่สอดคล้องเหมาะสมกับการฝึกพัฒนาการทั้งทางสมองและร่างกาย ในที่สุดจึงมาลงตัวที่ดนตรี ศิลปะ กีฬาหรือออกกำลังกาย ล่าสุดยังเพิ่มเติมเบเกอรี่เข้ามาด้วย 

ระบบการสอนของที่นี่ อันดับแรกคือการจัดระบบชีวิตให้อยู่ร่วมกันได้ด้วยดี เนื่องจากในช่วงแรกของการอยู่ร่วมกัน ครูปุ๊เล่าว่าเต็มไปด้วยอารมณ์ ความคับข้องใจของน้อง ๆ มากมายที่เราไม่เข้าใจ “จะมีเรื่องของการโวยวาย ไม่พอใจ ร้องไห้เสียงดัง บอกไม่ได้ว่าตัวเองต้องการอะไร พยายามวิ่งออกนอกโรงเรียน ทำลายข้าวของ ฯลฯ” สำหรับสิ่งที่เห็นในวันนี้ คือผลงานของการปรับชีวิตนักเรียนมาแล้วหลายปี

“ตอนนี้พวกเขาปรับจนสามารถเข้าใจระบบแล้วว่าต้องกินอะไร เวลาไหนทำอะไร ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับเพื่อนและครู โดยสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยคือ การที่พวกเขาเหล่านี้จะไปอยู่ข้างนอกตัวคนเดียว ดังนั้นการอยู่เป็นกลุ่ม ทำงานไปด้วยกัน จึงทำให้เขาไม่คับข้องใจ”  

file

ส่วนอันที่สองในระบบการสอนคือ  “ฝึกการทำซ้ำ เลียนแบบให้ได้” ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพ เล่นดนตรี

“ในช่วงแรกสอนตามความเป็นไปได้ของแต่ละคนโดยทดสอบว่า ถ้าให้เล่นเครื่องนี้จะทำได้ไหม หรือควรจะเปลี่ยนเป็นอะไร และต้องฝึกออกเสียงให้ชัด เด็กแต่ละคนจะได้รับการดูแลเรื่องการออกเสียงตัวอักษรที่ไม่ชัดโดยใช้เพลง บางทีร้องแบบดำน้ำ คือร้องไปแต่ไม่เป็นคำ ก็ต้องหยุดเพื่อให้พูดใหม่ให้ถูกต้อง ซึ่งทำให้การพูดของเขาดีขึ้น”

            ส่วนวิชาศิลปะ ที่นี่สอน 4 - 5 อย่าง  อาทิ ใช้ดินสอวาดเส้น ระบายสี และดูเหมือนว่าปัจจุบันมีวิชาใหม่ที่เด็ก ๆ ดูจะชอบกันมากคือปักผ้า “ก่อนหน้านี้เคยมีการปั้นด้วย แต่น้อยลงเพราะไม่มีที่เก็บ ซึ่งภาษาของรูปภาพก็เป็นภาษาหนึ่ง บางคนดูไม่ออกว่ารูปข้างหน้าคืออะไร ต้องฝึกให้ทำแล้วทำอีก บางคนตอนแรกวาดวน ๆ อยู่อย่างนี้ แต่วาดไปสักพัก เขาอาจจะเห็นรายละเอียดขึ้นมา ค่อย ๆ ให้เขาได้มองเห็นเป็นจุดไป เราจะเห็นพัฒนาการของการวาดเลยค่ะ”

เมื่อถามว่าอะไรคือหัวใจสำคัญที่ทำให้เด็ก ๆ กลุ่มนี้สามารถฉายศักยภาพด้านงานศิลปะออกมาได้อย่างดี ครูปุ๊ตอบตามตรงว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความสามารถพิเศษ แต่เป็นผลมาจากการฝึกฝนการทำงานร่วมกันอย่างแท้จริง นั่นเพราะหัวใจจริง ๆ คือ การฝึกทุกวันจนกระทั่งทำได้และต้องมีวินัยในการทำงาน การเรียนรู้​ขึ้นอยู่กับการทำซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยไม่ว่าจะกี่พันครั้งหมื่นครั้งก็ไม่เป็นไร นั่นเพราะจุดประสงค์ปลายทางคือให้เขาได้เรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับครู สามารถรับคำสั่งได้ มองรูปให้ออก และเขียนออกมาให้ได้ตามที่เห็น โดยทุกวันมีโจทย์ใหม่ ๆ รูปใหม่ ๆ มาให้ทำเสมอ เช่น นักดนตรี ดอกไม้ ทิวทัศน์

    นอกจากนี้ การทำงานกันเป็นกลุ่มถือเป็นการสอนที่ดี เนื่องจากพอได้เห็นเพื่อนทำก็อยากทำด้วย ต่างคนต่างทำด้วยผลลัพธ์และผลงานของแต่ละคนที่แตกต่างกัน “เวลาวาดภาพเขาไม่ต้องคิดว่าจะต้องทำให้คนอื่นดูแล้วสวย  เขาวาดไปอย่างที่ต้องการจะวาด นั่นคือความสำเร็จของเขา ไม่ต้องทำให้ใครพอใจ ฉันทำตามหน้าที่ของฉัน ไม่มีคนมากำหนด และส่วนใหญ่แล้วคนที่เป็นอาร์ทิสต์มักชอบงานของเด็ก ๆ นะคะ เขาบอกว่า เพราะมันมีชีวิตชีวา บางคนบอกว่ามันบริสุทธิ์ บางคนบอกคาดไม่ถึง น้อง ๆ วาดรูปเดียวกัน แต่ออกมาไม่เหมือนกันเลยสักภาพ ซึ่งความชอบของคนก็จะไม่เหมือนกัน”

    ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ “ครู” ที่อยู่ในระบบการสอนนี้ต้องยอมรับความช้าของเด็ก ครูต้องอดทนในแบบที่เรียกว่า “อึดมาก ๆ ในการที่จะฝึกให้เขาทำจนได้” นั่นเพราะเด็ก ๆ กลุ่มนี้ต้องทำแล้วทำอีกเป็นพัน ๆ ครั้ง โดยตัดความกังวลเรื่องความสามารถในการนั่งทำงานได้นาน ๆ ไปเลย “เขาเป็นคนธรรมดาเหมือนพวกเรานี่แหละค่ะ แต่มีความอดทนมาก ซึ่งหลายคนอาจมองว่าพวกเขาไม่มี แต่จริง ๆ ความอดทนคือชีวิตของพวกเขาเหล่านี้เลย”

    ปัจจุบัน โรงเรียนมีครูสอนศิลปะ 4 คน ครูปุ๊รับหน้าที่สอนดนตรีเป็นหลัก และห้องเรียนเบเกอรี่ที่จะมีครูมาวันอังคาร กับครูสอนออกกำลังกายที่จะประจำการทุกวันพฤหัสบดี

            “การทำงานกับเด็ก ๆ ทำให้เราเรียนรู้ชีวิต มันเป็นการใช้ชีวิตไปแล้ว สำหรับครูทุกคน เราข้ามเรื่องความอดทนไปนานแล้ว จึงไม่เป็นความเหนื่อยยาก คุณครูที่มาสอนเขามีความรักน้อง ๆ ที่มีความพิเศษเหล่านี้อยู่แล้ว พอเขามาเจอเรา รู้ว่าเราเอาจริงกับเรื่องนี้ และทำไปแล้วมันจะดีแน่นอน เราจึงเป็นเพื่อนร่วมงานที่จะทำงานไปด้วยกันโดยมีเป้าหมายเดียวกัน เราดีใจที่มีเพื่อนร่วมงานแบบนี้ อย่างครูมายด์เข้ามาช่วยเรา 10 กว่าปีแล้วตั้งแต่ตอนเพิ่งจบใหม่ ตอนที่ยังไม่รู้ว่าจะสอนอะไร เดี๋ยวนี้เชี่ยวชาญมาก รู้นิสัยใจคอเด็กหมดว่าคนไหนเป็นยังไง คิดว่ามันเป็นการอยู่ร่วมกันจนกระทั่งเข้าใจกัน”   

ผลงานท้าทายความสำเร็จ คืองานที่ทำตามโจทย์ได้ 

    นอกเหนือจากที่คนทั่วไปจะสามารถเข้าไปชื่นชมภาพวาดฝีมือของพวกเราได้ผ่านทาง IG @nakittikoon ของมูลนิธิฯ แล้ว พวกเรายังมีโอกาสได้แสดงศักยภาพด้านศิลปะหลายต่อหลายครั้ง ทุกผลงานล้วนสร้างความภูมิใจให้ครู ผู้ปกครอง และผู้ที่ช่วยในการแสดงงานเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นงานจัดแสดงนิทรรศการศิลปะแสดงภาพวาด เนื่องในวาระครบ 80 ปีธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อปีที่ผ่านมา งานแสดงภาพวาดและภาพปักบนผ้าไหมจิม ทอมป์สันที่ Att19 Gallery รวมถึงงานล่าสุดได้ร่วมแรงร่วมใจสร้างสรรค์ผลงานสตรีตอาร์ตบนบอร์ดผนังยาวประมาณ 5 เมตร เพื่อที่ทางบริษัท เจนก้องไกล จำกัด จะนำไปติดตั้งสร้างเป็นแลนด์มาร์กให้ลานจอดรถสถานีรถไฟใต้ดิน MRT 

“งานนี้น้อง ๆ ชอบกันมาก เหมือนได้เปิดโลกใหม่เพราะเป็นภาพใหญ่ สามารถวาดอะไรได้เยอะ ทำให้ทุกคนที่อยู่ในโรงเรียน ไม่ว่าจะเด็กเล็ก พี่โตได้ทำงานกันหมด แม้จะคนละเล็กคนละน้อย แต่งานที่ออกมา เราได้เห็นถึงความรักในการวาดรูปของพวกเขาทุกคน เขาตื่นเต้น อยากทำ เราได้เห็นว่าพวกเขามีความสุขจริง ๆ ในการวาดภาพ สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างเหลือเชื่อ ทำให้เรารู้สึกดีมาก”

ก่อนหน้าที่ทาง ณ กิตติคุณ นำเสนอผลงานวาดรูปทั่วไปของเด็ก ๆ มาตลอด 18 - 19 ปี มีผลงานขายทางออนไลน์ที่มองว่าเป็นงานที่ทำให้ครูและน้องทุกคนได้เตรียมความพร้อมสำหรับงานระดับชาติและนานาชาติ ดังเช่นงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เข้ามาเปิดโลกให้ทุกคนกล้ารับคำท้าเมื่อปีที่แล้ว (2565) “พวกเราทำได้สำเร็จนะคะ มีผลงานของพวกเขาที่ได้รับเกียรติแสดงในงานครบรอบ 80 ปีของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งตัวแทนธนาคารกลางจากประเทศต่าง ๆ มาร่วมงานที่แบงก์ชาติของเรา จากวันนั้นก็มีงานขององค์กรอื่น ๆ เข้ามาเรื่อย ๆ” 

            ครูปุ๊ยอมรับจากส่วนลึกของหัวใจว่ายังรู้สึกเสียดายแทนคนพิเศษอีกจำนวนมาก ที่ไม่มีโอกาสได้เข้ามาเรียนและฝึกฝนแบบนี้ ด้วยข้อจำกัดหลายประการ แม้มีค่าใช้จ่ายอยู่เพียง 600 บาทต่อวัน ซึ่งเป็นเรตราคาดั้งเดิมตั้งแต่ 18 ปีที่แล้ว แต่ก็ใช่ว่าทุกครอบครัวจะสามารถจ่ายได้  

ให้โอกาสเพื่อไม่ด้อยโอกาสในการเรียนรู้  

“คำว่า ‘โอกาส’ ของบุคคลพิเศษก็คือ ต้องไม่ให้เขาเป็นคน ‘ด้อยโอกาส’ ที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่เขาเรียนได้” ครูผู้รับภารกิจดูแลใจกายของเด็กพิเศษในความรับผิดชอบมาเป็นเวลาเกือบ 20 ปีให้ความหมายของ “โอกาส” ไว้เช่นนั้น พร้อมขยายความต่อว่า

“ดังนั้น เราจึงต้องมีพื้นที่ให้เขาฝึกฝนเพื่อทำให้ชีวิตมีความหมาย มีบุคลากรที่ช่วยเขาด้วยความเข้าใจ และนับถือในความเป็นมนุษย์ เพื่อให้เขาเป็นคนที่สมบูรณ์ขึ้น พัฒนาความสามารถที่ทำได้เพิ่มขึ้น ให้มีชีวิตทั้งฝ่ายร่างกาย จิตใจ และวิญญาณที่ดี ทั้งหมดนี้คือการให้โอกาสเพื่อไม่ให้เขาด้อยโอกาส  

“อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้มีความต้องการพิเศษกลุ่มนี้ เขามีความบกพร่องในการสื่อสาร ซึ่งการสื่อสารต้องมีคนช่วยสื่อ ช่วยให้เขาได้มีโอกาสสื่อสารในส่วนของเขา และไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่ต้องมีผู้ดูแลให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอดเพื่อให้ชีวิตของเขาปลอดภัยจากโลกรอบข้าง ในการฝึกฝนความสามารถด้านศิลปะ เราจึงไม่คาดหวังว่าจะเป็นอาชีพเดี่ยวหรือทำออกมาด้วยตัวคนเดียว”

จุดประสงค์หลักของการทำโรงเรียนนี้ไม่ใช่เพื่อให้น้อง ๆ สามารถสร้างอาชีพเลี้ยงตัวได้ แต่เพื่อเป็นพื้นที่ให้เขาได้มีชีวิตจริง ๆ ทำให้เขามีเพื่อน มีชุมชน โดยไม่รู้สึกคับข้องใจกับการต้องอยู่บ้านอย่างเดียว ในส่วนรายได้จากการวาดภาพ มีคุณแม่ท่านหนึ่งใช้คำว่าโบนัส เพราะแม่ไม่ได้คาดหวังเลยว่าลูกจะทำงานได้เงิน สิ่งที่ได้มามันคือความภาคภูมิใจมากกว่า

             “สำหรับตัวเราเองและครูที่นี่เป็นส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ร่วมให้โอกาส ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะเราต้องมีสถานที่ มีโรงเรียน มีคนที่จะต้องทำ เราทำคนเดียวก็ไม่ได้ ต้องมีครู แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่ส่งเด็ก ๆ มา ก็ไม่ได้ทำ ถ้าไม่มีลูกค้าจากองค์กร เด็ก ๆ ก็ไม่มีที่ปล่อยของ ภาพวาดเหล่านี้ก็ทำไปเก็บไป เราจึงต้องการทุกคนมาช่วยกันในการร่วมให้โอกาส ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง ต้องการจากทั้งสังคมที่เราอยู่เลย

            “อีกอย่างที่สำคัญมากคือ เราต้องนับถือเขา ถึงแม้ว่าจะมีความไม่สามารถบางอย่าง แต่ว่าเขาเป็นคนเหมือนกับเรา และเขาก็จะสอนเราในสิ่งที่เราไม่รู้ คือ สอนเรื่องความรักให้กับเรา เป็นความรักที่เราต้องมาเจอเองจึงจะเข้าใจค่ะ วันหนึ่งในอนาคตเมื่อเขาอายุมากขึ้น เรายังไม่รู้เลยว่าแล้วจะอยู่ยังไง เราเองก็เปิดใจพร้อมที่จะทำเนอร์สซิ่งโฮมสำหรับกลุ่มคนพิเศษนะคะ เพียงแต่ยังสองจิตสองใจ เพราะก็ต้องอยู่ในเงื่อนไขที่เราทำได้ โดยจะต้องเป็นชุมชนที่มีอะไรให้เขาทำไปตลอด เขาถูกฝึกมาเยอะแล้ว และพวกเขาก็เชื่อฟัง ทำงานด้วยกันได้ ก็จะไม่เป็นคนแก่ที่นั่งเฉย ๆ แต่มีงานศิลปะที่ทำได้ด้วยกันทุกวัน”

ครูปุ๊อยากบอก...

 “สำหรับครอบครัวที่มีผู้มีความต้องการพิเศษ หาให้เจอค่ะว่าเราอยากให้เขาทำอะไร ทั้งที่ผู้ปกครองสนใจและตัวเขาเองสามารถทำได้ด้วย ยกตัวอย่างน้องคนหนึ่งมาวาดรูปกับเรา แบบไม่มีอารมณ์ศิลปินเลย แต่อีกด้านหนึ่งของชีวิต คุณแม่พาไปฝึกว่ายน้ำ กระทั่งเขาได้เป็นนักกีฬาว่ายน้ำระดับกีฬาเขต เพราะฉะนั้น แต่ละครอบครัวต้องหาให้เจอว่าจะฝึกฝนด้านไหน แต่อย่าปล่อยให้อยู่ไปวัน ๆ เด็ดขาด นอกจากนี้ สิ่งที่เราต้องการคือผู้ฝึกที่เข้าใจ อาจไม่จำเป็นต้องถึงขั้นเรียนจบมาด้านนี้โดยตรง แต่ต้องพยายามทำความเข้าใจให้ได้ว่าเขาคือใคร เขายอมและไม่ยอมทำอะไรแค่ไหน และมีวินัยยังไง ซึ่งสำคัญมาก เราคิดว่าที่เราพูดกันทั้งหมดก็คือวินัยล้วน ๆ เด็กออทิสติกจะต้องมีขอบเขตที่ดี จากนั้นเขาจะเรียนรู้ได้และปลอดภัย” 

สามารถร่วมมอบโอกาสที่ดีมากให้น้อง ๆ จาก ณ กิตติคุณ ด้วยการเข้าเยี่ยมชมงานศิลปะและอุดหนุนผลงาน สั่งพิมพ์ภาพหรือซื้อภาพวาดงานพิมพ์ในราคาไม่แพงไปประดับตกแต่ง เพื่อมอบเป็นของขวัญ หรือสามารถจ้างงานให้ทั้งกลุ่มได้ทำด้วยกัน 

ติดต่อได้ที่

IG: nakittikoon   

Line ID: @nakittikoon

เว็บไซต์: www.nakittikoon.org

Trust Magazine by TISCO