เต้นลีลาศ...ชะลออัลไซเมอร์วัยเกษียณ

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 65 | คอลัมน์ Exclusive Sport

file

โรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปี ซึ่งหากป่วยแล้วจะรักษาไม่หาย ดังนั้นหนทางที่ดีที่สุดคือการป้องกันหรือชะลอให้เกิดโรคช้าลง ด้วยการดูแลสุขภาพ หมั่นทำกิจกรรมบริหารสมอง และออกกำลังกายเป็นประจำ ซึ่งมีการวิจัยกึ่งทดลองพบว่าการเต้นลีลาศส่งผลดีต่อผู้สูงอายุ เพราะได้ฝึกการเคลื่อนไหวร่างกาย นอกจากนี้ เสียงเพลงยังสร้างความสนุกสนานเพลิดเพลิน ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด และลดการหลั่งสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสมองได้อีกด้วย 

การเต้นลีลาศเป็นกิจกรรมเข้าจังหวะที่เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่อย่างต่อเนื่อง มีความหนักและความเหนื่อยในระดับเดียวกับการเดินค่อนข้างเร็ว หรือระดับปานกลาง (Moderate Intensity) ไปจนถึงการเคลื่อนไหวร่างกายระดับหนัก (Vigorous Intensity) ส่งผลให้มีระดับชีพจรมากกว่าร้อยละ 60 - 70 ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด การเต้นลีลาศอย่างต่อเนื่องจึงเป็นการฝึกแบบแอโรบิก (Aerobic Training) ที่เสริมสร้างประสิทธิภาพของระบบหัวใจและหลอดเลือด และส่งผลดีต่อสุขภาพ 

ประเภทของการเต้นลีลาศ 

สำหรับผู้เริ่มต้นฝึกเต้นลีลาศควรเริ่มที่จังหวะไม่เร็วมากนัก และค่อย ๆ เพิ่มจังหวะให้เร็วขึ้น โดยการเต้นลีลาศแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้

1. ประเภทบอลรูม หรือสแตนดาร์ด (Ballroom or Standard)

เป็นการลีลาศในจังหวะช้า นิ่มนวล สง่างาม ลำตัวจะตั้งตรง ลีลาศประเภทนี้เป็นกิจกรรมเพิ่มระดับความหนักให้การทำงานของระบบหายใจ และการไหลเวียนโลหิตระดับปานกลาง-หนัก ขึ้นอยู่กับความเร็วของการเคลื่อนไหวไปตามจังหวะเพลง ได้แก่ วอลซ์ (Waltz), แทงโก้ (Tango), เวียนนีส วอลซ์ (Viennese Waltz) หรือควิกวอลซ์ (Quik Waltz), สโลว์ฟอกซ์ทรอท (Slow Foxtrot) และควิกสเต็ป (Quickstep)

file

2. ประเภทลาตินอเมริกัน (Latin American)

เป็นการลีลาศที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา เร้าใจ และสนุกสนาน เน้นการใช้กล้ามเนื้อและร่างกายแต่ละส่วน เช่น ลำตัว แขน ขา สะโพก เอว และศีรษะ ไปตามจังหวะเพลง เป็นกิจกรรมที่เพิ่มระดับการทำงานหนักของระบบหายใจและการไหลเวียนโลหิตในระดับปานกลาง-หนักเช่นกัน โดยลีลาศประเภทนี้มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่แตกต่างกันของแต่ละจังหวะ ได้แก่ ชะชะช่า (CHA-CHA-CHA), รุมบ้า (Rumba), แซมบ้า (Samba), พาโซ-โดเบิล (Paso Doble) และไจวฟ์ (Jive)

เต้นลีลาศป้องกันอัลไซเมอร์ให้ชาวสูงวัย 

การเต้นลีลาศ คือกิจกรรมนันทนาการที่เหมาะกับผู้สูงอายุ เพราะชาวสูงวัยส่วนใหญ่มักเจอปัญหาสมรรถภาพทางการเคลื่อนไหว ความสัมพันธ์ระหว่างกล้ามเนื้อและข้อต่อต่าง ๆ ซึ่งการเต้นลีลาศจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว เนื่องด้วยได้ออกกำลังกายทุกส่วนของร่างกาย แต่ก็เป็นกิจกรรมที่ไม่หนักหน่วงเกินไป เพราะมีการทิ้งน้ำหนักลงที่ปลายเท้าและย่อตัวเบา ๆ จึงช่วยลดการกระแทก และช่วยให้กล้ามเนื้อ ข้อต่อ รวมถึงเส้นเอ็นต่าง ๆ มีความแข็งแรงและยืดหยุ่นมากขึ้น

โดยในระหว่างเต้น ผู้เต้นจะต้องใช้ความคิดตลอดเวลาว่าจังหวะนี้ท่าทางต้องเป็นอย่างไร แล้วท่าทางต่อไปต้องเป็นอย่างไร ซึ่งแต่ละท่วงท่าจะต้องมีการประสานงานกันระหว่างแขนและขา เพื่อเคลื่อนไหวไปในทิศทางต่าง ๆ จึงเป็นการพัฒนาสมองในส่วนควบคุมการเคลื่อนไหว (Motor Control) แตกต่างจากการเดินหรือวิ่งที่จะมีทิศทางตรงไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียว ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวจะดำเนินไปพร้อมกับจังหวะเพลงด้วย ดังนั้นการเต้นลีลาศจึงเป็นกิจกรรม Dual Task Training หรือการทำสองอย่างในเวลาเดียวกัน จึงช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพในการพัฒนาสมอง ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ การเต้นลีลาศยังต้องเต้นกันเป็นคู่หรือเป็นกลุ่ม จึงถือเป็นกิจกรรมทางสังคมที่ผู้สูงอายุจะได้พบปะผู้คน สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูง ช่วยให้ผู้สูงอายุไม่รู้สึกเหงาอีกด้วย

การที่ร่างกายได้เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องผ่านการเต้นลีลาศ นอกจากจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังได้ความสนุกเพลิดเพลินผ่านเสียงเพลง ส่งผลพลอยได้ทำให้เกิดจินตนาการทางอารมณ์ ทั้งยังได้สร้างมิตรภาพผ่านการรวมกลุ่มเต้นลีลาศอีกด้วย ดังนั้น “ลีลาศ” จึงเป็นกิจกรรมชะลออัลไซเมอร์ได้อย่างเห็นผล และช่วยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพกายและใจที่สมบูรณ์ หากมีเวลาว่างแนะนำให้หาโอกาสไปเต้นลีลาศดูสักครั้ง

คลาสสอนลีลาศเพื่อชาวสูงวัย

1. The Artists Dance Studio ถนนสุขุมวิท 101 (เปิดสอนไพรเวตตัวต่อตัว)

เว็บไซต์: theartistsdancestudio.com

โทร. 09 5480 4646, 08 5496 2696

2. Moda Dance Studio ชั้น 9 อาคาร 42 ทาวเวอร์

เว็บไซต์: www.modadancestudio.com

โทร. 09 6419 4919

3. ครูวิ สอนลีลาศ โดยวิลาศินี รัตนพิมพ์

Facebook: รับสอนลีลาศ วัยเกษียณ เรียนง่ายๆ

โทร. 09 6854 0039, Line ID: @872nvwbb

4. ศูนย์สร้างสุขทุกวัยกรุงเทพมหานคร จำนวน 15 ศูนย์

Facebook: สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม.

โทร. 0 2203 2710

Trust Magazine by TISCO