มะเร็งลำไส้ใหญ่-กระเพาะอาหาร ภัยเงียบคร่าชีวิตคนไทย หยุดยั้งได้ด้วย “การตรวจสุขภาพ” และ “นวัตกรรม FTRD”

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 65 | คอลัมน์ Health Focus

คงไม่เกินจริงไปนัก หากจะกล่าวว่า “การตรวจสุขภาพประจำปีแบบเจาะลึก” ช่วยชีวิตคุณได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับ “โรคมะเร็ง” เพราะยิ่งรู้เร็ว ยิ่งเพิ่มโอกาสรักษาให้หายขาด ซึ่ง TRUST ฉบับนี้จะพาไปพบกับนวัตกรรมล้ำสมัยอย่าง Full-Thickness Resection Device (FTRD) หนึ่งในความหวังใหม่ของผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งทางเดินอาหารระยะเริ่มต้น โดยเฉพาะมะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งลำไส้ใหญ่ สองสาเหตุสำคัญที่คร่าชีวิตคนไทย เห็นได้จากปัจจุบันคนไทยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ราว 11,000 คนต่อปี มีอัตราการเสียชีวิตราว 6,000 คนต่อปี ส่วนมะเร็งกระเพาะอาหารพบผู้ป่วยราว 4,200 คนต่อปี และมีอัตราการเสียชีวิตสูงราว 3,200 คนต่อปี

file

ใครบ้างที่ต้องตรวจคัดกรองมะเร็ง

เพราะมะเร็งคือภัยเงียบ ผู้ป่วยระยะเริ่มต้นมักจะไม่แสดงอาการ อีกทั้งมนุษย์ทุกคนต่างมีเซลล์มะเร็งอยู่ในร่างกาย เพียงแต่ระบบภูมิคุ้มกันจะคอยกำจัดและควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม แต่หากวันหนึ่งที่ระบบไม่สามารถทำงานได้เช่นเดิม เกิดการอักเสบเรื้อรัง หรือมีปัจจัยอื่น ๆ มากระตุ้นหรือมีประวัติคนใกล้ชิดในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็ง ก็จะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าหากเป็นไปได้ ทุกคนควรตรวจคัดกรองมะเร็ง เพราะยิ่งรู้เร็วยิ่งมีโอกาสรักษาให้หายขาด

อย่างไรก็ตาม หากเจาะลึกสำหรับกลุ่มคนที่ควรตรวจคัดกรองมะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งลำไส้ใหญ่ สองมะเร็งที่มักจะไม่แสดงอาการ และผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เริ่มมีอาการก็มักจะคิดว่าป่วยเป็นโรคลำไส้แปรปรวน หรือโรคกระเพาะอาหารธรรมดาเท่านั้น

ประเด็นนี้ รศ.คลินิก นพ.ทศพล เกิดศิริชัยรัตน์ แพทย์ชำนาญการด้านอายุรศาสตร์โรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์  ให้ข้อมูลว่า สำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่ แนะนำให้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายอายุ 45 ปี ขึ้นไปทุกคนควรเข้ารับการตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เพื่อตรวจหาติ่งเนื้อ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ และสำหรับคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการส่องกล้องกระเพาะอาหาร ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มคนที่เริ่มมีสัญญาณร้ายของโรคในระยะลุกลาม การตรวจคัดกรองเหล่านี้เป็นมาตรฐานการดูแลประชาชนทั่วไปเมื่ออายุถึงเกณฑ์ เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลี และกลุ่มประเทศยุโรปบางประเทศ เช่น เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรีย

“สัญญาณของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หากรอยโรคอยู่ที่ลำไส้ใหญ่ด้านซ้าย จะมีอาการอุจจาระก้อนแข็ง ท้องผูกสลับท้องเสีย อาจมีเลือดสดออกจากทวารหนัก แต่หากอยู่ที่ลำไส้ใหญ่ด้านขวา หรือมะเร็งกระเพาะอาหาร เลือดที่ปนในอุจจาระจะกลายเป็นสีดำและมีกลิ่นเหม็นคาวคลุ้ง อาจจะมีอาการปวดท้องเรื้อรัง น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ หากมะเร็งกระจายไปที่ตับก็จะมีอาการตัวซีด ตาเหลืองร่วมด้วย แต่ถ้าผู้ป่วยมีสัญญาณเหล่านี้ หมายความว่ามะเร็งเริ่มเข้าสู่ระยะลุกลามแล้ว นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงมีตัวเลขผู้ป่วยสูง และอัตราการเสียชีวิตก็สูงด้วย เพราะกว่าจะรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งก็สายเกินไป ดังนั้นจึงควรตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ”

file

การรักษามะเร็งแบบดั้งเดิม

หากตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มต้น แล้วรักษาได้อย่างทันท่วงที สำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่จะมีโอกาสรอดชีวิตสูงถึง 91% ส่วนผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหารจะอยู่ที่ 72% ซึ่งการรักษามะเร็งในระยะเริ่มต้นโดยไม่ผ่าตัดแบบแผลเปิดนั้น แพทย์จะใช้วิธีฉีดสารพิเศษในบริเวณรอยโรค เพื่อให้ก้อนมะเร็งลอยตัวขึ้น ก่อนจะตัดชิ้นเนื้อก้อนนั้นออกมา แต่ก็มีข้อจำกัดคือหากอาการผู้ป่วยอยู่ในระยะเริ่มลุกลาม ก้อนมะเร็งจะอยู่ลึกลงไปในชั้นกล้ามเนื้อ การรักษาด้วยวิธีนี้จะเสี่ยงต่อภาวะลำไส้หรือกระเพาะอาหารทะลุได้ ดังนั้นผู้ป่วยจะถูกส่งไปที่แผนกศัลยกรรมเพื่อผ่าตัดใหญ่ ซึ่งอาจต้องตัดอวัยวะที่เป็นมะเร็งรวมไปถึงอวัยวะรอบข้างบางส่วนที่ยังปกติดี ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป 

“FTRD” รักษามะเร็งระยะเริ่มต้นโดยไม่ต้องผ่าตัดแบบแผลเปิด

ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีการแพทย์ล้ำหน้า ล่าสุดจึงมีนวัตกรรม FTRD หรือ Full-Thickness Resection Device ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการวินิจฉัยและรักษาผู้ที่เสี่ยง และผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และกระเพาะอาหารในระยะเริ่มต้น ซึ่งโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์คือโรงพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทย ที่ใช้นวัตกรรมนี้ในการรักษาผู้ป่วย

FTRD จะเป็นการรักษาผ่านการส่องกล้องที่ยืดหยุ่น โค้งงอได้ ปลายกล้องติดอุปกรณ์รูปร่างคล้ายหอยมือเสือ และมีคีมอยู่ตรงกลางกล้อง สำหรับผู้ที่เสี่ยงและผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร แพทย์จะส่องกล้องเข้าทางปาก ส่วนผู้ที่เสี่ยงและผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่จะส่องกล้องเข้าไปทางทวารหนัก เมื่อพบบริเวณที่เป็นรอยโรค ลวดไฟฟ้าที่อยู่ในชุดอุปกรณ์จะตัดก้อนเนื้อออกมาทั้งชิ้นด้วยเทคนิค Close-Before-Cut โดยสามารถตัดก้อนเนื้อได้ใหญ่ถึง 3 เซนติเมตร โดยตัวอุปกรณ์ที่มีรูปร่างคล้ายหอยมือเสือจะทำหน้าที่หยุดเลือด และป้องกันการทะลุจากการตัดชิ้นเนื้อไปในคราวเดียวกัน ในขณะที่แพทย์ยังรักษาอวัยวะส่วนที่ยังดีอยู่ได้มากกว่าการผ่าตัด (Organ-Sparing Resection)

file

คุณหมอทศพลเล่าถึงความน่าทึ่งของนวัตกรรมนี้ว่า “แพทย์จะส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่หรือทางเดินอาหารส่วนต้นก่อน เพื่อตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา หากพบว่าเป็นมะเร็งในระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยจะเข้าสู่การทำหัตถการด้วยอุปกรณ์ FTRD แพทย์อายุรศาสตร์ทางเดินอาหารจะใช้อุปกรณ์ครอบไปที่ก้อนเนื้อ เพื่อให้ก้อนเนื้อและเส้นเลือดทั้งหมดถูกโอบอุ้มไว้ ก่อนที่จะปิดเปลือกหอยมือเสือ จากนั้นจึงตัดก้อนเนื้อ วิธีนี้ทำให้ตัดก้อนมะเร็งที่อยู่ในชั้นกล้ามเนื้อได้ลึกมากขึ้น และผู้ป่วยมีความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนที่น้อยลงมาก”  

ลดความเสี่ยง ฟื้นตัวไว เพิ่มโอกาสหายขาด

การรักษาด้วยเครื่องมือ FTRD เหมาะสำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือกระเพาะอาหารในระยะเริ่มแรก ยังไม่ได้ลุกลามไปยังเส้นประสาท เส้นเลือด หรือเส้นน้ำเหลือง ผู้ป่วยที่มีขนาดก้อนเนื้อไม่เกิน 3 เซนติเมตร ผู้ป่วยที่มีก้อนเนื้อที่อยู่ลึกลงไปในผนังลำไส้ ซึ่งหากใช้วิธีการอื่นอาจทำให้เนื้อเยื่อฉีกขาดหรือทะลุ ผู้ป่วยที่เคยรักษาด้วยวิธีการส่องกล้องตัดติ่งเนื้อ Endoscopic Mucosal Resection (EMR) หรือ Endoscopic Submucosal Dissection (ESD) แล้วตัดติ่งเนื้อไม่หมดหรือต้องตัดซ้ำ รวมถึงผู้ป่วยที่ไม่ต้องการผ่าตัดหรือศัลยแพทย์ไม่แนะนำให้ผ่าตัด
จุดเด่นของการรักษาด้วยนวัตกรรมนี้ คือสามารถลดความเสี่ยงลำไส้หรือกระเพาะอาหารทะลุ ลดความเสี่ยงภาวะเลือดออกหลังผ่าตัด ลดโอกาสติดเชื้อหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ไม่เกิดแผลเป็นที่ผิวหนัง และพักฟื้นเพียง 1 คืน ผู้ป่วยก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เช่นเดิม อย่างไรก็ตามอาจพบอาการแทรกซ้อนอยู่บ้าง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด มีแก๊สในกระเพาะอาหาร รู้สึกเจ็บคอสำหรับผู้ที่ทำหัตถการผ่านทางปาก และปวดท้องหรือปวดบริเวณทวารหนักเล็กน้อยสำหรับผู้ที่ทำหัตถการผ่านทางทวารหนัก แต่ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นอาการแทรกซ้อนที่ไม่รุนแรง เมื่อเทียบกับการผ่าตัดมะเร็งแบบเปิดหน้าท้อง ซึ่งจะมีความเสี่ยงสูงกว่า

ประสิทธิภาพในการรักษาด้วย FTRD ของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

คุณหมอทศพลได้ยกตัวอย่างกรณีของผู้ป่วยภาวะก่อนมะเร็งของกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นหญิงชาวอเมริกันที่เคยผ่าตัดกระเพาะอาหารให้มีขนาดเล็กลงเพื่อลดน้ำหนัก แต่ต่อมาก็พบก้อนเนื้อขนาดราว 2 เซนติเมตร หากรักษาด้วยวิธีดั้งเดิมก็จำเป็นต้องตัดกระเพาะอาหารที่เหลือออกไปทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ ก่อให้เกิดความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน เธอจึงตัดสินใจที่จะไม่ผ่าตัด และเก็บก้อนเนื้อนี้ไว้ในร่างกาย

จนกระทั่ง 2 ปีต่อมา เธอมีโอกาสเดินทางมาปรึกษาคุณหมอทศพล โชคดีที่ก้อนเนื้อดังกล่าวยังไม่กลายเป็นเนื้อร้าย แต่ก็มีอาการที่เรียกว่าภาวะก่อนมะเร็ง หากปล่อยไว้จะเป็นอันตรายได้ คุณหมอทศพลจึงแนะนำให้รักษาด้วยนวัตกรรม FTRD ที่ตัดเพียงก้อนเนื้อและกระเพาะอาหารบางส่วนออกไปเพียง 3 เซนติเมตรเท่านั้น ทำให้ยังสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ โดยในอีก 6 เดือนต่อมา ผู้ป่วยรายนี้กลับมาตรวจอีกครั้ง ก็พบว่ายังไม่มีโอกาสเป็นซ้ำแต่อย่างใด สร้างความประทับใจให้ผู้ป่วยรายนี้เป็นอย่างมาก

file
file

ตัวอย่างอีกรายหนึ่งคือผู้ป่วยชาวไทย ซึ่งตรวจพบติ่งเนื้อจำนวนมากในลำไส้ใหญ่ หากรักษาด้วยวิธีการดั้งเดิมก็จะต้องตัดลำไส้ใหญ่ด้านฝั่งซ้ายออก และนอนพักฟื้นประมาณ 4 - 7 วัน แต่ผู้ป่วยรายนี้เลือกรักษาด้วยวิธี FTRD สำหรับติ่งเนื้อที่ไม่สามารถตัดด้วยวิธีธรรมดาได้ ตามคำแนะนำของคุณหมอทศพล และผลชิ้นเนื้อพบว่า ติ่งเนื้อนั้นเป็นมะเร็วลำไส้ใหญ่ระยะต้น จากนั้นพักฟื้นเพียง 1 คืนก็สามารถรับประทานอาหารอ่อน ๆ และกลับบ้านไปใช้ชีวิตตามปกติ ลบภาพจำที่ว่าหากป่วยเป็นมะเร็งก็จะต้องผ่าตัดใหญ่ และเข้ารับเคมีบำบัดซึ่งมีผลข้างเคียงสูง นอกจากนี้ การติดตามผล 1 ปีในผู้ป่วยรายนี้ยังพบว่าไม่มีมะเร็งลำไส้ใหญ่กลับมา

“มีการศึกษาในโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัย 9 แห่งในประเทศเยอรมนี พบว่าหากรักษาผู้ป่วยด้วยอุปกรณ์ FTRD จะมีโอกาสประสบความสำเร็จในการตัดชิ้นเนื้อสูงถึง 90% จึงเริ่มขยายการศึกษาในทวีปยุโรปด้วยการรักษาผู้ป่วย 2,000 คนก็ประสบความสำเร็จเช่นกัน สำหรับเคสของผมเอง ถ้าใช้อุปกรณ์ FTRD ตัดก้อนเนื้อให้ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และกระเพาะอาหารระยะเริ่มต้น จะมีโอกาสหายขาดถึง 80 - 90% แต่ถ้าถามว่าทำไมถึงไม่หายขาด 100% เพราะในบางครั้งเราตัดก้อนเนื้อได้ทั้งหมดก็จริง แต่เมื่อไปดูใต้กล้องจุลทรรศน์แล้วพบว่าเซลล์มะเร็งลุกลามไปถึงเส้นเลือด เส้นประสาท หรือเส้นน้ำเหลืองฝอยแล้ว จึงเหมือนป้อมปราการถูกตีแตก ทำให้การรักษาด้วย FTRD ไม่เพียงพอ ต้องรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เหนือสิ่งอื่นใดผู้ป่วยควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมสูงสุด และมีแพทย์ผู้ชำนาญการพร้อมทุกด้าน ที่เรียกว่าเป็น Multidisciplinary Approach” คุณหมอทศพลให้ข้อมูล

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และกระเพาะอาหาร เป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนไทยมาอย่างยาวนาน แต่เราสามารถหยุดยั้งได้ด้วยการตรวจคัดกรองอยู่เสมอ หากตรวจพบโรคก็จะรักษาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งปัจจุบันก็มีนวัตกรรมล้ำสมัยที่ช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่มโอกาสหายขาดจากมะเร็ง ทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตปกติได้อย่างรวดเร็ว

ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีแพทย์ผู้ชำนาญการที่ให้คำปรึกษา-รักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร และโรคทางเดินอาหาร-ตับ ด้วยวิธีการที่ทันสมัย ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูง พร้อมบริการตรวจคัดกรองที่แม่นยำ

  • แพ็กเกจส่องกล้องเพื่อตรวจวินิจฉัยลำไส้ใหญ่
    ราคา 25,700 บาท
  • แพ็กเกจส่องกล้องเพื่อตรวจวินิจฉัยโรคของหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น
    ราคา 18,280 บาท


รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
ศูนย์ทางเดินอาหาร-ตับ ชั้น 2 อาคาร B

เวลา 08.00 - 20.00 น.

Hotline : 06 3190 3152 / 0 2011 2167-8

Contact center : 0 2066 8888 และ 1378

file

Trust Magazine by TISCO