ติดเตียง...อย่าติดนาน คืนการเคลื่อนไหวให้ผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง ด้วย “ไคโกโดะ” ศาสตร์การฟื้นฟูฉบับญี่ปุ่น

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 65 | คอลัมน์ Moment of Happiness

file

โรคหลอดเลือดสมอง หรือสโตรก (Stroke) คือหนึ่งในโรคร้ายแรงที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 3 ของโลก รองจากโรคมะเร็งและโรคหัวใจ ในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองปีละราว 30,000 ราย หรือหากรักษาชีวิตไว้ได้ ก็อาจกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงหรือทุพพลภาพถาวร แต่หากได้รับการวินิจฉัยอย่างทันท่วงที ก็จะลดความเสียหายที่เกิดขึ้นได้

จับสัญญาณอันตรายโรคหลอดเลือดสมอง

คุณยูกิ ฟุรุยะ ผู้อำนวยการศูนย์ฟื้นฟูร่างกายจากโรคหลอดเลือดสมอง PNKG Recovery Center ในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการสังเกตสัญญาณอันตรายที่เรียกว่า “B.E. F.A.S.T.” หากผู้ป่วยมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบมาพบแพทย์ภายใน 4.5 ชั่วโมง เพื่อลดความเสียหายของสมอง ลดโอกาสการเกิดอัมพฤกษ์หรืออัมพาตถาวร และการรักษาจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากไปพบแพทย์ภายใน 2 ชั่วโมงหรือโดยเร็วที่สุด

สัญญาณ “B.E. F.A.S.T.” ประกอบด้วย 
B = Balance สูญเสียการทรงตัว
E = Eye เห็นภาพเบลอ ซ้อน หรือสูญเสียการมองเห็น
F = Face ใบหน้าอ่อนแรง ชา หรือปากเบี้ยว
A = Arm แขนขาอ่อนแรง หรือชาครึ่งซีก
S = Speech พูดลำบาก ไม่ชัด พูดไม่ได้ หรือพูดไม่เข้าใจ
T = Time รีบเดินทางไปโรงพยาบาล หรือเรียกรถพยาบาลทันที

file

Golden Period ช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟู

สำหรับการฟื้นฟูนั้น คุณยูกิระบุว่าช่วงเวลาไม่เกิน 3-6 เดือนหลังจากอาการของผู้ป่วยอยู่ในระยะคงที่ คือช่วงเวลาทองของการฟื้นฟู เพราะร่างกายจะฟื้นตัวได้เร็วเป็น 2 เท่า โดยจะต้องกระตุ้นเซลล์สมองที่หยุดทำงานให้กลับมาสั่งการได้โดยเร็วที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ ทั้งนี้หากผ่านช่วงเวลาทองไปแล้ว ก็ยังเข้ารับการฟื้นฟูได้เช่นกัน แต่ประสิทธิภาพในการฟื้นฟูจะลดลง

ไคโกโดะ” ศาสตร์ฟื้นฟูฉบับญี่ปุ่น

ปัจจุบันมีศาสตร์การฟื้นฟูผู้ป่วยที่น่าสนใจคือ “ไคโกโดะ” (Kaigo-Do) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ส่งเสริมให้ผู้ป่วยเรียนรู้การพึ่งพาตนเองตามหลักอิคิไก (Ikigai) ที่พูดถึงแนวทางการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ซึ่งศูนย์ฟื้นฟู PNKG Recovery Center คือสถาบันแห่งเดียวในไทยที่มอบการรักษาด้วยวิธีไคโกโดะ โดยมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยเห็นว่า แม้ร่างกายจะได้รับผลกระทบจากโรคหลอดเลือดสมอง แต่ชีวิตก็ยังมีคุณค่าและสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้

ออกแบบการฟื้นฟูเฉพาะบุคคล

ศูนย์ฟื้นฟูฯ จะมีการทำงานร่วมกันของทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล นักโภชนาการ ทีมนักดูแล นักกายภาพบำบัด และนักกิจกรรมบำบัด มาร่วมกันออกแบบการฟื้นฟูเฉพาะบุคคล โดยคุณยูกิได้เชิญบุคลากรที่ทำงานใน Aijinkai Rehabilitation Hospital ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูผู้ป่วยหนักและผู้มีภาวะทุพพลภาพ มาร่วมส่งต่อความรู้และคำแนะนำต่าง ๆ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฟื้นฟูฯ จึงมีความสามารถทัดเทียมกับบุคลากรของญี่ปุ่น

ด้วยแผนการรักษาที่เข้มข้น ทำให้ร่างกายของผู้ป่วยฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็ว อาทิ การฝึกทำกายภาพบำบัดขั้นต่ำวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 45-60 นาที หรือหากผู้ป่วยอยู่ในช่วงที่สมองกำลังฟื้นฟูได้ดี อาจเพิ่มการฝึกเป็นวันละ 4 ครั้ง และจะดูแลอย่างใกล้ชิด แต่เน้นให้ความช่วยเหลือเฉพาะสิ่งที่ผู้ป่วยไม่สามารถทำได้ เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง ตัวอย่างผลลัพธ์ที่น่าประทับใจคือ ผู้ป่วยที่ทำได้เพียงกลอกตาไปมา แต่หลังจากเข้ารับการฟื้นฟูเพียง 2 สัปดาห์ก็สามารถหัวเราะและเริ่มเดินได้อีกครั้ง

อีกหนึ่งจุดเด่นของที่นี่คือการฟื้นฟูแบบองค์รวม เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาเข้าสังคมได้ดังเดิม เช่น หลังจากที่ผู้ป่วยกลับมาเคลื่อนไหวได้แล้ว สามารถทำกิจกรรมอะไรได้บ้าง นอกจากนี้ยังมีการฟื้นฟูจิตใจ เพราะบางคนสูญเสียเป้าหมายชีวิตอันเนื่องมาจากอาการป่วย โดยทีมผู้เชี่ยวชาญจะเก็บข้อมูลซักประวัติกับครอบครัวอย่างลงลึกและรอบด้าน เพื่อค้นหาเป้าหมายชีวิตที่แท้จริงของผู้ป่วย ก่อนจะเริ่มกระบวนการฟื้นฟูที่เหมาะสม

file
file

สำหรับโรคหลอดเลือดสมอง ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อร่างกายเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของสภาพจิตใจ รวมถึงเป้าหมายในชีวิต ดังนั้นกระบวนการฟื้นฟูแบบองค์รวมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ผู้ป่วยเห็นคุณค่าในตนเอง และกลับมามีวิถีชีวิตได้ใกล้เคียงกับช่วงเวลาก่อนเกิดโรคมากที่สุด

ขอบคุณข้อมูลจากคุณยูกิ ฟุรุยะ ผู้อำนวยการศูนย์ฟื้นฟู PNKG Recovery Center

Trust Magazine by TISCO