4 แอปฯ ฝึกสมอง ป้องกัน - ฟื้นฟูอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 65 | คอลัมน์ Variety

file

โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะสมองเสื่อม โดยจะพบมากขึ้นตามช่วงอายุ ซึ่งประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรค 2 เท่าในทุก ๆ 5 ปีที่มีอายุเพิ่มขึ้น โรคอัลไซเมอร์ เกิดจากบางส่วนของสมองเกิดการฝ่อ ทำให้มีอาการหลงลืม หรือถามซ้ำ ๆ วิธีหนึ่งที่จะช่วยป้องกันโรคได้คือการฝึกฝนสมอง เช่น คิดเลข อ่านหนังสือ เล่นเกม ปัจจุบันด้วยพัฒนาการของเทคโนโลยีทำให้มีการพัฒนาแอปพลิเคชันเกมฝึกสมอง เพื่อป้องกันอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ

file
file

MONICA เกมกระตุ้นสมองสำหรับผู้สูงอายุ

ทีมวิจัยเอ็มเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้คิดค้นและออกแบบแอปพลิเคชันเกมฝึกสมอง หรือ MONICA (โมนิก้า) ซึ่งมีความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์เกมฝึกสมองที่มีจำนวนมากในตลาด ที่ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต

แต่สำหรับ MONICA เป็นเกมกระตุ้นสมองสำหรับผู้สูงอายุ ประกอบด้วยซอฟต์แวร์เกม อุปกรณ์และฮาร์ดแวร์ที่ได้รับการออกแบบให้ใช้ควบคุมแบบไร้สาย ซึ่งมีส่วนประกอบ ได้แก่ ปุ่มกด แท่นรองปุ่ม เบาะวางตัก และหูหิ้ว โดยอุปกรณ์ได้รับการออกแบบให้ผู้สูงอายุสามารถใช้งานได้ง่าย ปุ่มมีขนาดใหญ่ จับถนัดมือและกดง่าย ตัวเบาะเว้ารับกับลำตัวผู้สูงอายุ ทำให้สามารถวางอุปกรณ์บนตักได้อย่างมั่นคง ลดโอกาสเกิดการเมื่อยล้า เป็นเกมฝึกสมองเพื่อพัฒนาสมาธิและความจำ ช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงอายุในฐานะผู้ใช้ ผู้ดูแลและครอบครัว สามารถใช้ได้ทั้งที่บ้าน สถานดูแลผู้สูงอายุ และโรงพยาบาล

เกมจะเน้นการใช้ภาพ หรือไอคอนง่าย ๆ ที่ง่ายต่อการจดจำ ตัวอย่างเกม เช่น การเปรียบเทียบภาพปัจจุบันกับภาพก่อนหน้าว่าเหมือนหรือต่างกัน หากเหมือนกันให้กดปุ่มเครื่องหมายถูกสีเขียว หากต่างกันให้กดปุ่มเครื่องหมายผิดสีแดง ภาพไอคอนต่าง ๆ ถูกออกแบบให้ใช้งานได้ง่ายที่สุด แม้จะเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีประสบการณ์เล่นเกมมาก่อนก็ตาม เมื่อผู้สูงอายุเล่นเกมผ่าน จะมีความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง รู้สึกมั่นใจในการทำหรือตัดสินใจอะไรได้ดีขึ้น

สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ฟรีบนโทรศัพท์มือถือทั้งระบบ iOS และ Android โดยค้นหาคำว่า ‘Monica’ 

Alzheimer Calendar 365 ปฎิทินความทรงจำสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์

Alzheimer Calendar เกิดจากการคิดค้นของ Val Horncastle วัย 73 ปี ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ที่ชอบทำกิจกรรมต่าง ๆ อยู่เสมอ แต่เมื่ออาการของโรคเพิ่มมากขึ้น เธอพบว่ามันยากมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่จะจำได้ว่าเธอตั้งใจที่จะทำอะไร หรือแม้แต่จำว่าวันนั้นคือวันอะไร สามีของเธอ คีธ เป็นผู้จุดประกายไอเดียในการทำ Alzheimer Calendar 365

file
file

Alzheimer Calendar 365 ต้นแบบเป็นเหมือนสมุดโน้ต ใช้วิธีการป้อนวันที่ เดือน และกิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถเก็บข้อมูลได้สองเดือน ทั้งคู่ได้นำปฏิทินต้นแบบไปปรึกษาสมาคมโรคอัลไซเมอร์เพื่อผลิตออกมาใช้ในเชิงพาณิชย์ และจากการระดมทุนของ Charitable Trust ของ Duke of Devonshire ปฏิทินจำนวน 500 เล่มจึงถูกแจกฟรีให้กับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมใน Derbyshire เมื่อสิ้นปี 2013 ปัจจุบันมีวางจำหน่ายในร้านค้าออนไลน์ทั่วไป อาทิ amazon.com

ผู้ที่ใช้ปฏิทินใหม่ต่างบอกว่ามันสร้างความแตกต่างได้อย่างน่าอัศจรรย์ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์สามารถอ่านได้ว่าพวกเขากำลังจะไปที่ไหน และมันช่วยกระตุ้นความจำเกี่ยวกับสถานที่ที่เพิ่งไปมา และคนบอกว่าเป็นระบบเตือนที่มีประโยชน์เกี่ยวกับการนัดหมาย ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

HeadSpace แอปฯ ฝึกสมาธิ แก้ปัญหาอาการนอนไม่หลับ

HeadSpace บริษัทในเครือของ Headspace Health เป็นบริษัทออนไลน์สัญชาติอังกฤษ-อเมริกัน เชี่ยวชาญด้านการทำสมาธิ จัดตั้งขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2010 ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดย Andy Puddicombe ผู้ที่เคยบวชในทิเบตมากว่า 10 ปี และ Richard Pierson อดีตมาร์เก็ตติ้งบริษัทที่ประสบกับสภาวะหมดไฟ

Headspace จะอธิบายวิธีจัดการปัญหาระหว่างที่เรานั่งสมาธิให้เข้าใจได้อย่างเห็นภาพ ด้วยการเล่าผ่านภาพแอนิเมชันน่ารัก ๆ บวกกับน้ำเสียงที่นุ่มนวลและเป็นมิตรของ Puddicombe ปัจจุบัน Headspace มียอดดาวน์โหลดทั้งหมด 54 ล้านครั้ง สร้างรายได้มากกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นแอปฯ ที่บริษัทใหญ่ ๆ อย่าง Google หรือ Linkedin สมัครใช้แบบฟูลแพ็กเกจเพื่อให้พนักงานได้ใช้งานกันอีกด้วย

file


การฝึกฝนด้านสมาธิมีส่วนช่วยพัฒนาความจำและประสิทธิภาพการรับรู้ที่ดีขึ้น ซึ่งจากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเวสต์เวอร์จิเนีย พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ฝึกสมาธิ ร้อยละ 70 มีพัฒนาการด้านความจำและประสิทธิภาพการรับรู้ที่ดีขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญหลังจากผ่านไป 3 เดือน ขณะที่ผลการศึกษาบางชิ้นพบว่าการทำสมาธิอย่างต่อเนื่องจะช่วยรักษาสารสีเทาในสมองที่ช่วยในเรื่องความจำ

Lumosity–Brain Training เกมพัฒนาสมอง

file

Lumosity เป็นแอปพลิเคชันเกมออนไลน์ที่พัฒนาสมองผ่านรูปแบบเกม เริ่มจากเกมอักษรไขว้ ปัจจุบันมีผู้ใช้มากกว่า 100 ล้านคน และมีเกมหลากหลายรูปแบบ ซึ่งจากการวิจัยโดย Lumosity Lab พบว่าหลังจากใช้ไป 10 สัปดาห์ ผู้ใช้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นทั้งความจำระยะสั้น ความเร็วในการประมวลผล และการแก้ปัญหา ซึ่งเป็น 3 เป้าหมายหลักของ Lumosity

Lumosity จะมีการพัฒนาโจทย์ใหม่ ๆ ให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ได้ฝึกฝน และสร้างความท้าทายที่มากขึ้นในแต่ละวัน และนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและนำมาออกแบบในการพัฒนาทักษะที่แตกต่างกันไป โดยปรับโปรแกรมให้เข้ากับจุดอ่อนและจุดแข็งของแต่ละคน จากการวิจัยของ Lumosity Lab พบว่า พัฒนาการสมองของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นสองเท่าเมื่อใช้โปรแกรม Brain Training ของ Lumosity

นอกจากนี้ Lumosity ยังมีการพัฒนาเกมอีกหลากหลายรูปแบบ เช่น เกมเกี่ยวกับความเร็ว (Speed Games) เกมจดจำภาพ (Memory Games) เกมฝึกฝนความตั้งใจ (Attention Games) เป็นต้น

Trust Magazine by TISCO