โครงการ “ทิสโก้ร่วมใจ 12” ขยายโอกาสเด็กไทยพร้อมรับยุคดิจิทัล

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 66 | คอลัมน์ Giving

file

จากอาคารเรียนอายุกว่า 50 ปีที่ทรุดโทรมผุพัง โรงอาหารไม้หลังเก่าที่ครูและชาวบ้านช่วยกันสร้างและซ่อมแซมครั้งแล้วครั้งเล่า ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ที่มีคอมพิวเตอร์เพียง 10 เครื่อง ที่ต้องคอยผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเรียนได้เฉพาะในกลุ่มเด็กโต มาวันนี้ “โรงเรียนบ้านคลองสิบสาม” ถูกเปลี่ยนใหม่ด้วยโครงการ “ทิสโก้ร่วมใจ” ที่ไม่เพียงกลุ่มผู้ใหญ่รวมตัวกันเข้าไปสร้างอาคารสถานที่ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็ก ๆ เท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและพัฒนาชุมชนในพื้นที่ห่างไกลให้ดีกว่าเดิม ด้วยการมุ่งสร้าง “ทักษะจำเป็น” ในโลกยุคดิจิทัล อันจะเป็นการปูทางสู่วิชาชีพแห่งอนาคต 

 

โรงเรียนบ้านคลองสิบสาม คือโรงเรียนขยายโอกาสขนาดกลาง ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.เขาสามสิบ อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว ครอบคลุมพื้นที่ 4 หมู่บ้าน มีจำนวนครูทั้งหมด 22 คน มีนักเรียนทั้งหมด 403 คน แบ่งเป็นก่อนปฐมวัย 85 คน ประถมศึกษา 195 คน และมัธยมศึกษา 123 คน ถือเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ได้รับคัดเลือกจากโครงการทิสโก้ร่วมใจเป็น “โรงเรียนที่ 12” ด้วยการส่งมอบอาคารเรียน 2 ชั้น จำนวน 12 ห้องเรียน โรงอาหารขนาด 260 ที่นั่ง พร้อมห้องปฏิบัติการและคอมพิวเตอร์จำนวน 40 เครื่อง รวมถึงครุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน รวมมูลค่ากว่า 11.9 ล้านบาท

โรงเรียนต้นแบบที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง 

คุณประกอบ ถามั่งมี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองสิบสามเล่าว่า โรงเรียนที่นี่จัดการเรียนการสอนโดยมีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง มุ่งหวังให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจ ภายใต้นโยบาย “3 ต้อง” คือ ต้องอ่าน-เขียนคล่อง คิดคำนวณได้ ต้องสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี และต้องมีทักษะด้านไอทีที่เหนือชั้น ซึ่งผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาก็เป็นที่น่าพึงพอใจ เห็นได้จากการที่มีนักเรียนหลายคนได้รับคัดเลือกให้ไปร่วมแข่งขันในเชิงวิชาการด้านต่าง ๆ ทั้งในระดับเขตและระดับภาคการศึกษา หลายคนสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี แต่ปัญหาใหญ่ที่ยังติดขัดอยู่คือทักษะด้านไอที ที่ต้องยอมรับว่าเป็นสิ่ง “จำเป็น” ต่อการใช้ชีวิตบนโลกยุคปัจจุบันและอนาคต เหตุเพราะทรัพยากรคอมพิวเตอร์ของโรงเรียนยังขาดแคลน 

“การเรียนการสอนของเรายึดตามการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่นำมาพัฒนาปรับปรุงให้เหมาะกับบริบทของนักเรียน ความเป็นอยู่ของชุมชน และกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยมุ่งผลสำเร็จของผู้เรียนเป็นที่ตั้ง ยกตัวอย่าง ภาษาอังกฤษที่โรงเรียนและผู้ปกครองเห็นตรงกันว่า “จำเป็น” ตลอดช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา พวกเราเลยลงขันกันว่าจ้างครูต่างชาติเข้ามาสอน รวมถึงเปิดอบรมทักษะภาษาอังกฤษให้กับครูในโรงเรียนใกล้เคียง ส่วนวิชาคอมฯ เราก็เห็นความสำคัญมาก แต่ต้องยอมรับว่า ด้วยจำนวนคอมฯ ที่มีเพียง 10 เครื่อง และมีสเป็กที่ต่ำมาก จึงถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาของผู้เรียน” ผอ.ประกอบกล่าว

file
file

ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ในฝัน

ครูดรีม-อโณทัย เที่ยงธรรม ผู้สอนสาระวิชาคอมพิวเตอร์ของโรงเรียนบ้านคลองสิบสาม เล่าถึงสภาพห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ในยุคแรกที่เข้ามารับราชการ ณ โรงเรียนบ้านคลองสิบสาม เมื่อ 4 ปีก่อนว่า จำนวนนักเรียนทั้งห้องมีทั้งหมดราว 30-40 คน แต่ด้วยจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่จำกัด ทำให้ต้อง “แชร์กันใช้” เฉลี่ยนักเรียน 3-4 คนต่อคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง ระบบปฏิบัติการของเครื่องก็ยังเก่ามากอีกด้วย ซึ่งไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนมากนัก

ด้วยความขาดแคลนนี้เอง ทำให้โครงการทิสโก้ร่วมใจ 12 เกิดโจทย์ใหม่ขึ้นมา จากจุดมุ่งหมายเดิมที่ต้องการส่งมอบอาคารเรียนขนาด 2 ชั้น จำนวน 1 หลัง แต่เนื่องด้วยวิสัยทัศน์ของผู้บริหารทิสโก้ ที่เล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเข้ามามีบทบาทสำคัญในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคน จึงนำมาสู่การส่งมอบห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์แบบเต็มระบบ จำนวน 40 เครื่อง เพื่อส่งเสริมทักษะที่จำเป็นแก่เด็กและเยาวชนให้เชื่อมโยงกับโลกยุคใหม่

กว่า 70% ของเด็กที่นี่มีฐานะยากจน ดังนั้นไม่ใช่ทุกบ้านจะมีคอมพิวเตอร์ เด็กหลายคนไม่รู้แม้กระทั่งวิธีเปิด-ปิดเครื่อง เราก็ต้องมาสอนกันใหม่ตั้งแต่เริ่มต้น ส่วนเด็กที่ใช้คอมฯ ได้คล่อง มักจะมาจากครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะ เมื่อก่อนนี้ คอมฯ เครื่องหนึ่ง นักเรียนต้องแบ่งกันใช้ พอเรามอบหมายงานกลุ่มให้ทำ โดยตั้งกฎไว้ว่าถ้ากลุ่มไหนทำงานเสร็จก่อนก็จะอนุญาตให้เล่นได้ ก็จะเกิดปัญหาคือเด็กที่รู้วิธีใช้คอมฯ ก็จะเป็นคนทำงานเพื่อให้เสร็จเร็ว ๆ ส่วนเด็กที่ใช้คอมฯ ไม่เป็นก็จะนั่งดูเฉย ๆ แต่ตอนนี้เรามีห้องคอมฯ ใหม่ที่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียนแล้ว ผมดีใจแทนเด็ก ๆ มาก เพราะทุกคนสามารถใช้งาน 1 คนต่อ 1 เครื่อง ทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เด็กหลายคนที่ไม่ถนัดการเรียนเชิงวิชาการ แต่อาจจะมีความสนใจเรื่องไอที ก็จะมีแหล่งเรียนรู้และมีพื้นที่ค้นหาตัวเอง บางคนก็เลือกไปเรียนต่อด้านนี้โดยเฉพาะ” ครูดรีมกล่าว

รูปแบบการเรียนที่เด็กและเยาวชนต้องการ

สำหรับหลักสูตรวิชาคอมพิวเตอร์ของโรงเรียนบ้านคลองสิบสาม ครูดรีมเล่าว่า นักเรียนชั้นประถมศึกษาจะได้ฝึกใช้โปรแกรม Microsoft Office 365 เช่น การพิมพ์เอกสาร Word การใช้ตาราง Excel หรือการทำสไลด์ PowerPoint ส่วนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาก็จะได้ฝึกการออกแบบกราฟิกด้วยแพลตฟอร์ม Canva การเก็บแบบสำรวจด้วย Google Forms หรือการตัดต่อด้วยโปรแกรมง่าย ๆ เมื่อโรงเรียนบ้านคลองสิบสามมีห้องคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย ครูดรีมก็จะมุ่งสอนในเรื่องการตัดต่อภาพและวิดีโอให้มากขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่นักเรียนสนใจและนำทักษะไปใช้งานได้จริง โดยวางแผนจัดหาโปรแกรมตัดต่อในเวอร์ชันทดลองแบบถูกลิขสิทธิ์ มาให้นักเรียนได้ฝึกกัน ทั้งยังมองไปถึงการส่งผลงานเข้าประกวด เพื่อสั่งสมประสบการณ์และวัดความสามารถอีกด้วย

file

เทรนด์ทักษะด้านดิจิทัลตอนนี้คือการตัดต่อวิดีโอ ซึ่งเด็ก ๆ ก็ชอบด้วย ปีที่แล้ว เรามีนักเรียนที่ตัดต่อ TikTok ส่งประกวดกับหน่วยงานพัฒนาชุมชนได้ที่ 1 ของจังหวัด แล้วก็ไปประกวดระดับภาค ระดับประเทศ ได้ทุนการศึกษากลับมาต่อยอดทำผลงานชิ้นต่อไป หลังจากนี้ ผมวางแผนว่าจะพาเด็ก ๆ ออกไปถ่ายหนังสั้นด้วยอุปกรณ์ง่าย ๆ อย่างมือถือหรือกล้องถ่ายภาพ แล้วก็จะหาโปรแกรมตัดต่อเวอร์ชันทดลองมาสอนนักเรียน ขอให้ได้รู้วิธีการซักโปรแกรมหนึ่งก่อน จากนั้นก็สามารถใช้ทักษะที่มีไปปรับใช้กับโปรแกรมอื่น ๆ ในอนาคต

นอกจากนี้ เราก็มีแผนเปิดสอนคอมพิวเตอร์เบื้องต้นให้กับชาวบ้านที่สนใจ เพราะปัจจุบันเราปฏิเสธเทคโนโลยีไม่ได้หรอก แม้กระทั่งชุมชนรอบข้างที่เป็นสังคมเกษตรกรรม ก็ยังมีเรื่องของ Smart Farmer เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นทักษะด้านดิจิทัลจึงจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงการประกอบอาชีพด้วย” ครูดรีมกล่าว

file

เบื้องหลังความสำเร็จ  

หนึ่งในฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนให้โครงการทิสโก้ร่วมใจ 12 เดินหน้าได้อย่างสำเร็จสมบูรณ์ นั่นคือ คุณอำนาจ ปานสกุล ผู้จัดการสาขา และคุณชลธิชา มั่นภักดี เจ้าหน้าที่สินเชื่อรถยนต์ ธนาคารทิสโก้ สาขาจันทบุรี ที่ได้ลงพื้นที่สำรวจและเป็นกระบอกเสียงสะท้อนปัญหาให้กับโรงเรียนบ้านคลองสิบสาม จนกระทั่งโรงเรียนแห่งนี้ถูกเลือกให้เข้าร่วมโครงการ

“ในตอนแรก มองจากภายนอกอาจไม่รู้ว่าโรงเรียนนี้ขาดแคลนอะไร เพราะทางผู้อำนวยการและบุคลากรของโรงเรียนใส่ใจเรื่องการปรับภูมิทัศน์ของโรงเรียนให้สวยงามอยู่เสมอ แต่พอเราลงสำรวจพื้นที่จริง ถึงได้เห็นว่าโครงสร้างภายในของอาคารเรียนและโรงอาหารทรุดโทรมอย่างมาก รวมถึงห้องคอมฯ ที่เก่าและมีจำนวนไม่เพียงพอกับนักเรียน เราก็เลยนำปัญหานี้ไปเสนอกับคณะกรรมการโครงการด้วย เมื่อโครงการนี้สำเร็จลุล่วง พวกเราก็รู้สึกตื้นตันใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็ก ๆ ในพื้นที่” คุณอำนาจและคุณชลธิชากล่าว

file

ความในใจจากเด็ก ๆ โรงเรียนบ้านคลองสิบสาม

“เมื่อก่อนนี้ คอมฯ ของโรงเรียนเก่ามากจนช้าและเปิดไม่ติด เครื่องก็มีน้อย ต้องแย่งกันใช้ค่ะ แต่ตอนนี้มีคอมฯ ใหม่แล้ว พวกหนูได้ใช้กันคนละเครื่องเลย รู้สึกอยากเรียนวิชาคอมฯ ทุกวัน คิดว่าจะต้องได้ทักษะด้านนี้ไปใช้ประโยชน์ในอนาคต ขอขอบคุณโครงการทิสโก้ร่วมใจมาก ๆ ค่ะ”

น้องแพง-เด็กหญิงพรวรินทร์ คำภิรมย์
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2

file

 

 

“ความฝันของผมคือการเรียนต่อและได้ทำงานในสายงานด้านไอที ผมจะใช้คอมฯ เครื่องใหม่ที่โรงเรียนในการฝึกใช้โปรแกรมต่าง ๆ เพื่อให้ผมได้เรียนรู้จากการลงมือทำจริงครับ”
 

น้องเอ็ม-เด็กชายทวีทรัพย์ ขันนาค
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2

file

เด็กไทยต้องได้เรียนโรงเรียนในฝันที่มีคุณภาพและใกล้บ้าน 

คุณไพรัช ศรีวิไลฤทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สำนักกำกับดูแลกิจการ และเลขานุการบริษัท กลุ่มทิสโก้ เล่าถึงเป้าหมายของโครงการทิสโก้ร่วมใจ 12 ในครั้งนี้ว่า ต้องการมุ่งพัฒนาโรงเรียนในชุมชนให้เป็น “โรงเรียนในฝัน” ที่เด็กต่างจังหวัดได้มีโอกาสเรียนในโรงเรียน “ใกล้บ้าน” ที่มีคุณภาพ ซึ่งโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัดอาจไกลบ้าน ดังนั้น โรงเรียน “ขยายโอกาส” จึงเป็นพื้นที่แห่งความหวังให้กับเด็ก ๆ หลาย ๆ คนที่มีข้อจำกัดในการศึกษาต่อ  

“ทางโรงเรียนมีบุคลากรที่พร้อมให้การสนับสนุนผู้เรียนในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านทักษะดิจิทัลที่จำเป็นต่อโลกอนาคต ทั้งการใช้ชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพ ประกอบกับนักเรียนก็มีความสนใจใฝ่รู้อยู่แล้ว และชุมชนรอบข้างก็มีความเข้มแข็ง เราจึงเข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพในส่วนนี้ อย่างเมื่อก่อน เด็กอาจจะต้องทำอาชีพเดียวกับพ่อแม่ แต่ถ้าเทคโนโลยีสามารถเข้าถึงได้ทุกพื้นที่ ก็จะช่วยเพิ่มทางเลือกในการประกอบอาชีพได้มากขึ้น ไม่ต้องเดินทางออกนอกพื้นที่เพื่อไปทำงานในเมืองหลวง ถือเป็นการช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและสังคมไทย โดยในอนาคต เราก็มีแผนผลักดันโครงการให้เดินหน้าได้ไกลขึ้น เช่น อาจมีพนักงานฝ่ายไอทีของทิสโก้ มาทำโครงการโปรแกรมเมอร์วัยจิ๋วที่โรงเรียนนี้ก็ได้ ที่สำคัญคือ โรงเรียนแห่งนี้จะกลายเป็นฐานกำลังของโครงการให้ความรู้ทางการเงินแก่ชุมชนของทิสโก้ในอนาคต”

โครงการทิสโก้ร่วมใจ 12 โมเดลสานฝันเด็กไทย-ชุมชนได้ไปต่อ

คุณศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ มองว่าระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สมบูรณ์จะต้องประกอบด้วยหลัก “3 Wares” ได้แก่ ฮาร์ดแวร์ (Hardware) คือการมีอาคารเรียนที่แข็งแรง ปลอดภัย ถูกสุขอนามัย ซอฟต์แวร์ (Software) คือการมีหลักสูตรการเรียนที่ได้มาตรฐาน และส่งเสริมทักษะที่จำเป็นต่อโลกอนาคต ซึ่งก็คือทักษะด้านดิจิทัล (Digital Skills) และสุดท้ายคือฮิวแมนแวร์ (Humanware) การมีบุคลากรที่มุ่งมั่นตั้งใจถ่ายทอดความรู้ เพื่อสร้างเด็กรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพสู่สังคม

โดยในปีนี้ เป็นปีแรกที่โครงการทิสโก้ร่วมใจมุ่งเน้นในเรื่อง “ซอฟต์แวร์” อย่างจริงจัง จึงได้ส่งมอบห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์แบบเต็มระบบให้กับโรงเรียนบ้านคลองสิบสาม สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของคุณศักดิ์ชัยที่เล็งเห็นว่า เทคโนโลยีคือสิ่งที่เป็นเมกะเทรนด์ในโลกปัจจุบันและอนาคต ดังนั้น การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทุกคน

“ตอนนี้อัตราการเกิดลดลงมาก หากมองในมุมทางเศรษฐกิจ การที่ประชากรน้อยลง นั่นหมายถึงประสิทธิภาพการผลิต (Productivity) ต้องเท่าเดิมหรือมากขึ้น เพื่อคงความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ดังนั้นเราต้องเพิ่มประสิทธิภาพให้กับเด็กรุ่นใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ ดังนั้นวิชาคอมพิวเตอร์และทักษะด้านดิจิทัลควรเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับเด็กไทยทุกคน ไม่ว่าจะอยู่สายอาชีพไหน ก็ต้องปรับตัวตามกระแสโลกให้ได้ แต่เด็กที่อยู่ในเมืองอาจมีความพร้อมมากกว่าเด็กในพื้นที่ห่างไกล โครงการเพื่อสังคมของทิสโก้ จึงมุ่งเน้นให้ทุกคนเข้าถึงโอกาสได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งเราก็ไม่ได้ทำเองคนเดียว แต่มีความร่วมมือจากพันธมิตรในด้านต่าง ๆ เพื่อให้โครงการสำเร็จสมบูรณ์ และสร้างประโยชน์ในทุกมิติของสังคมได้มากที่สุด” คุณศักดิ์ชัยกล่าวทิ้งท้าย

 

ขอขอบคุณลูกค้า พนักงาน ประชาชนทั่วไป และบริษัทคู่ค้า
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน)
บริษัท ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
และบริษัท เทคโนโลยี ซิสเต็มส์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (TSD)
ที่ให้การสนับสนุนโครงการทิสโก้ร่วมใจมาอย่างต่อเนื่อง
โดยทั้ง 12 โครงการที่ดำเนินการมาโดยตลอดนี้ คิดเป็นมูลค่าให้การสนับสนุนมากกว่า 100 ล้านบาท
และอยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการทิสโก้ร่วมใจ 13
ที่โรงเรียนวัดโนนสะเดา ตำบลบ้านนา อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร