รับมือ “ปัญหาสุขภาพใจ” ของชาววัยเกษียณ

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 66 | คอลัมน์ Moment of Happiness

วัยเกษียณถือเป็นช่วงที่เริ่มมีการคิดทบทวนชีวิตตัวเองที่ผ่านมา ซึ่งแต่ละคนก็มีแนวทางการประเมินตัวเองที่แตกต่างกันไป บางคนมีทัศนคติมุมบวก มีความภาคภูมิใจในตัวเอง แต่บางคนอาจมองชีวิตตัวเองในด้านลบ หากปล่อยไว้อาจส่งผลถึงอารมณ์และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป อาจกลายเป็นคนเก็บตัว โมโหและฉุนเฉียวมากขึ้น อาการเหล่านี้ถือเป็นสัญญาณเตือนของปัญหาสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ ซึ่งสมาชิกในครอบครัว รวมถึงคนรอบข้างควรเรียนรู้และรับมืออย่างเข้าใจ

ปัญหาสุขภาพจิตที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุ (วัย 60 ปีขึ้นไป) มีความเปราะบางทางร่างกายและจิตใจ อันเกิดจากการที่อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายทำงานเสื่อมถอยลง รวมถึงฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง จึงเกิดการแปรปรวนทางอารมณ์ได้ง่ายกว่าวัยอื่น อีกทั้งสภาวะแวดล้อมรอบข้างและสังคมก็ยังเป็นตัวกระตุ้นให้สุขภาพใจของชาวสูงวัยเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน ตัวอย่างปัญหาสุขภาพจิตที่พบบ่อย ๆ ในผู้สูงอายุ เช่น อารมณ์ไม่อยู่กับร่องกับรอย หงุดหงิดง่าย แสดงออกถึงพฤติกรรมก้าวร้าว รู้สึกน้อยใจอยู่บ่อย ๆ เหงา เบื่อหน่ายกับสิ่งรอบตัว ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง นำมาสู่ภาวะเครียด นอนไม่หลับ ประสิทธิภาพในการใช้ชีวิตลดลง

file
file

คนรอบข้างต้องดูแลอย่างเข้าใจ

การดูแลผู้สูงอายุที่ไม่สบายนั้น ถือว่าเป็นงานประจำที่ต้อง Stand by ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะอาจมีสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องจัดการอย่างทันท่วงที ดังนั้นผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลจึงควรมีมากกว่า 1 คน เพื่อคอยผลัดเปลี่ยนกัน ส่วนรายละเอียดในการดูแลนั้น ต้องเป็นไปอย่างใส่ใจและเข้าใจว่านี่คือโรคหรืออาการเจ็บป่วย จึงส่งผลให้ผู้สูงอายุที่เราต้องดูแลนั้น อาจมีพฤติกรรมหรือนิสัยเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต

ผู้ดูแลควรพาผู้สูงอายุออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน เช่น เดินเล่น ออกกำลังกายเบา ๆ หรือเข้ากลุ่มร้องเพลง เต้นลีลาศ ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายแอ็กทีฟอยู่เสมอ ทั้งยังดีต่อจิตใจของผู้สูงอายุอีกด้วย เพราะได้เปิดหูเปิดตา และเข้าสังคม ทำความรู้จักเพื่อนใหม่ ๆ อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุหลายคนก็มีความสุขจากการใช้โซเชียลมีเดีย เช่น การส่งสติกเกอร์ไลน์ การส่งข้อความ การดูวิดีโอบน TikTok หรือ Youtube รวมถึงการเล่นเกมบนสมาร์ตโฟน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ แต่ผู้ดูแลควรจำกัดไม่ให้ผู้สูงอายุใช้เวลากับหน้าจอมากเกินไป และควรดูแลเรื่องภัยต่าง ๆ บนโลกออนไลน์อย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ผู้ดูแลและคนรอบข้างก็ควรหมั่นชวนผู้สูงอายุพูดคุยเปิดใจ รับฟังปัญหา ถามสารทุกข์สุกดิบ รวมถึงคอยสังเกตอาการและความผิดปกติจากสุขภาพร่างกายและจิตใจ ทั้งหมดนี้เพื่อให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ไม่รู้สึกว่าเป็นภาระของลูกหลาน และได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขนั่นเอง

file

สัญญาณเตือนว่าผู้สูงอายุควรไปพบจิตแพทย์

“สิ่งที่พบบ่อยคือผู้สูงอายุมักจะวิตกกังวลจนเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสุขภาพ เช่น กังวลว่าตนเองจะเป็นโรคต่าง ๆ ซึ่งนี่ถือเป็นสัญญาณที่สามารถพาผู้สูงอายุมาพบแพทย์ได้เลย เพราะสาเหตุอาจมาจากความเสื่อมของสมอง ทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถควบคุมความวิตกกังวลของตัวเองได้ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุมักมีความเสี่ยงโรคซึมเศร้า หากสังเกตเห็นพฤติกรรมที่ทำร้ายตนเองหรือคนอื่น ก็ควรรีบมาพบแพทย์”

แต่การชวนผู้สูงอายุไปพบจิตแพทย์ ไม่ใช่เรื่องง่าย อาจด้วยกรอบความคิดว่า ฉันไม่ไปหรอก เพราะฉันไม่ได้บ้า แบบนี้ลูกหลานควรหาวิธีพูดคุย อาจตั้งต้นจากปัญหาที่พบ เช่น ผู้สูงอายุนอนไม่หลับ ก็ชวนไปพบแพทย์เพื่อให้ช่วยเรื่องการนอนหลับ จากนั้นก็จะเป็นหน้าที่ของแพทย์ที่จะพูดคุยให้คนไข้เปิดใจได้ในที่สุด”

ขอบคุณข้อมูลจาก นพ.อโณทัย สุ่นสวัสดิ์
จิตแพทย์ผู้สูงอายุ (Geriatric Psychiatrist)
ศูนย์จิตรักษ์ โรงพยาบาลกรุงเทพ