อารักษ์ พรประภา เบื้องหลังความสำเร็จ “ไทยฮอนด้า” กับแพสชันที่มุ่งทำเพื่อสังคม

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 66 | คอลัมน์ People

file

หากจะพูดถึงพาหนะยอดนิยมในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพฯ ที่มีการจราจรหนาแน่น คงหนีไม่พ้น “มอเตอร์ไซค์” เพราะมีความสะดวกรวดเร็ว สามารถลัดเลาะไปได้ทุกตรอกซอกซอย ครั้งหนึ่ง Pew Research Center สำนักวิจัยของสหรัฐอเมริกา เคยเผยข้อมูลว่า ประเทศไทยมีผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์มากที่สุดในโลก ซึ่งปัจจุบันกว่า 75% ของจำนวนมอเตอร์ไซค์ที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก หรือคิดเป็นราว 18 ล้านคัน คือแบรนด์ “ฮอนด้า” โดยครองแชมป์ยอดขายสูงสุดมากว่า 3 ทศวรรษ ซึ่งผู้ที่เห็นการเติบโตมาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาธุรกิจมาโดยตลอดคือ คุณอารักษ์ พรประภา ประธานบริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด

เรามีโอกาสพูดคุยกับคุณอารักษ์ ณ บ้านหลังใหญ่อันแสนร่มรื่น ซึ่งมีสมาชิกในครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้า บรรยากาศเป็นไปด้วยความอบอุ่นและเป็นกันเอง ก่อนที่คุณอารักษ์จะเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเข้ามากุมบังเหียนบริษัทไทยฮอนด้าว่า หลังจบการศึกษาคณะสังคมศาสตร์ ภาควิชาภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อนจะไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ MBA ที่ United State International University ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ได้ทำงานธนาคารอยู่ราว 4 - 5 ปี แต่ด้วยความรักและแพสชันที่มีต่อรถจักรยานยนต์ ทำให้คุณอารักษ์ตัดสินใจเดินทางกลับเมืองไทย เพื่อสานต่อธุรกิจไทยฮอนด้าด้วยความตั้งใจเต็มเปี่ยม

ทำความรู้จักไทยฮอนด้า

บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด เริ่มต้นทำกิจการตั้งแต่ พ.ศ. 2508 ภายใต้ชื่อ ไทยฮอนด้า แมนูแฟคเจอริ่ง เริ่มดำเนินธุรกิจด้วยการเป็นผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ฮอนด้าในประเทศไทย ซึ่งโรงงานแห่งแรกอยู่ที่ จ.สมุทรปราการ ต่อมาเมื่อรถจักรยานยนต์ฮอนด้าได้รับความนิยมมากขึ้น จึงย้ายฐานการผลิตมาที่โรงงานแห่งใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เพื่อผลิตรถจักรยานยนต์ให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด รวมถึงขยายการส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ

ต่อมาในปี 2564 บริษัท ไทยฮอนด้า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ได้ควบรวมกิจการกับ บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด ซึ่งแต่เดิมเป็นผู้จัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าในประเทศไทย ก่อตั้งเป็นบริษัทใหม่ แต่ยังคงใช้ชื่อเดิมตั้งแต่แรกเริ่มกิจการ กระทั่งใน พ.ศ. 2565 จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ที่เป็นทั้งผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้า รวมถึงเครื่องยนต์อเนกประสงค์ฮอนด้าในประเทศไทย จากนั้นก็มีการแต่งตั้งคุณอารักษ์ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2566

บิ๊กบอสคนใหม่ของไทยฮอนด้า เล่าถึงแพสชันที่มีต่อการทำธุรกิจนี้ว่า “ผมเป็นคนที่ชอบมอเตอร์ไซค์มาก ๆ สมัยเรียนอยู่ที่เชียงใหม่ก็ออกไปขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยวเล่นกับเพื่อนอยู่บ่อย ๆ เหตุผลที่เลือกเรียนที่นั่นก็เพราะว่าได้ขี่มอเตอร์ไซค์นี่ล่ะ เพราะถ้าเรียนที่กรุงเทพฯ ก็คงไม่มีโอกาสหรอก แล้วก็ไปอยู่ที่อเมริกา ตอนอายุประมาณ 32 ก็ต้องกลับมาทำธุรกิจครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมรักอยู่แล้ว”

ปรัชญาการทำงานฉบับคนญี่ปุ่น

แม้ว่าจะเป็นทายาทของบริษัทยักษ์ใหญ่ แต่ก่อนที่จะเข้ามาบริหารงานนั้น คุณอารักษ์ก็ได้ไป “ฝึกงาน” อยู่ที่บริษัทฮอนด้า ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลาเกือบ 2 ปี เพื่อศึกษาทุกแง่มุมของห่วงโซ่ธุรกิจมอเตอร์ไซค์ ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตและประกอบชิ้นส่วนในโรงงาน การตลาดและการจัดจำหน่าย ตลอดจนการขนส่งมอเตอร์ไซค์ไปถึงมือลูกค้า ทำให้คุณอารักษ์ได้ซึมซับถึงปรัชญาในการทำงานของฮอนด้า ที่เรียกว่า “ความจริง 3 ประการ” (San-Gen-Shugi) โดยมีความหมายสื่อถึง 3 เรื่องคือ การรู้จริง ลงมือทำจริง และปฏิบัติในสถานที่จริง ซึ่งปรัชญานี้คือหัวใจสำคัญที่ถูกนำไปใช้ในบริษัทฮอนด้าทั่วโลก

“ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มาจากไหน แต่ถ้ามาเรียนรู้งานที่ฮอนด้าของญี่ปุ่น อันดับแรกคือคุณต้องไปที่โรงงานประกอบมอเตอร์ไซค์ เพื่อให้รู้ว่ากว่าจะผลิตสินค้าที่มีคุณภาพออกมาได้นั้นมันยากแค่ไหน ซึ่งทุกคนทำงานกันอย่างใส่ใจและละเอียดทุกขั้นตอน อย่างเช่นการประกอบชิ้นส่วนรถ ถ้าเราใส่นอตเข้าไปแล้วมันไม่พอดี ต้องคลายนอตออกมาเพื่อใส่เข้าไปใหม่เนี่ย จะต้องทิ้งนอตตัวเดิมไปเลย หรือมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผมทำนอตหล่นลงไปในเครื่องยนต์ เขาสั่งให้หยุดทำแล้วเอาเครื่องยนต์ชุดนั้นไปเอกซเรย์ทันที”

file
file

เมื่อทราบถึงขั้นตอนการผลิตในโรงงานแล้ว ต่อมาคุณอารักษ์ก็ได้ไปศึกษาเกี่ยวกับการจัดจำหน่าย ก่อนที่จะเข้าสู่สำนักงานใหญ่เพื่อศึกษาการวางระบบบริหาร “ตื่นเช้ามา ผมกับพนักงานอีกคนจะช่วยกันเข็นมอเตอร์ไซค์ขึ้นท้ายรถกระบะ แล้วก็ขับไปส่งที่ร้านตัวแทนจำหน่ายของฮอนด้า ซึ่งเราก็ต้องเรียงรถให้เป็นระเบียบ ต้องเอาไม้ขนไก่มาปัดฝุ่นออกให้เรียบร้อย เสร็จแล้วก็เก็บเงินจากตัวแทนฯ เอาไปเข้าธนาคาร เราก็ได้เรียนรู้ระบบการจัดจำหน่าย ต่อมาผมถึงได้เข้าไปที่สำนักงานใหญ่ เพื่อดูระบบบริหาร การวางโครงสร้างบริษัท รวมถึงวิธีคิดต่าง ๆ ซึ่งในการทำงานทุกคนจะแสดงความคิดเห็นได้หมด และไม่มีการทำงานแบบวันแมนโชว์ แต่จะเน้นการทำงานเป็นทีม ทุกคนจะต้องมีความสุขตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ คือคนผลิตต้องมีความสุขในการผลิตสินค้า คนขายต้องมีความสุขในการขายสินค้า และคนซื้อต้องมีความสุขที่ได้ซื้อสินค้าของฮอนด้า”

ครองแชมป์ยอดขายกว่า 3 ทศวรรษ
ด้วยการออกแบบสินค้าตอบโจทย์คนไทย

หลังจากที่ควบรวมกิจการกับบริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด ขณะนั้นยอดจำหน่ายมอเตอร์ไซค์ของฮอนด้า ยังไม่ได้ครองอันดับหนึ่งส่วนแบ่งทางการตลาดในไทย ทางฝ่ายวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ของฮอนด้าจึงค้นหาว่า แท้จริงแล้วความต้องการของผู้ใช้งานมอเตอร์ไซค์ในไทยคืออะไร โดยลงพื้นที่สำรวจและสอบถามข้อมูลจากประชากรแต่ละกลุ่ม เช่น หากตอนนี้ต้องการซื้อมอเตอร์ไซค์จะซื้อแบบใด หรือคุณสมบัติที่ต้องการมีอะไรบ้าง ฯลฯ

กระทั่งพบคำตอบว่า ไลฟ์สไตล์และถิ่นที่อยู่อาศัย คือปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อมอเตอร์ไซค์ ตัวอย่างเช่น ผู้ใช้งานในต่างจังหวัดจะนิยมใช้รถบังลมหรือรถครอบครัว เพราะเป็นรถอเนกประสงค์ ใช้งานได้ทั้งครอบครัว แต่ถ้าเป็นผู้ใช้งานในกรุงเทพฯ จะเน้นรถแบบสปอร์ตที่มีขนาดเล็ก ขับขี่ได้คล่องตัว นอกจากนี้ อายุก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน ผู้สูงอายุจะนิยมรุ่นที่ใช้งานง่าย ส่วนวัยรุ่นจะนิยมรุ่นที่มีดีไซน์ทันสมัย มีฟังก์ชันหลากหลาย เช่น หน้าจอ LCD ช่อง USB หรือสามารถเชื่อมต่อบลูทูธ (Bluetooth) ได้

“เราได้เรียนรู้แนวทางจากบริษัทที่ญี่ปุ่น แต่อย่าลืมว่าคนญี่ปุ่นกินปลาดิบ ส่วนคนไทยกินจิ้มจุ่ม ส้มตำ ดังนั้นจะทำการตลาดสินค้าแบบเดียวกันไม่ได้ เราจึงต้องไปวิเคราะห์ว่าคนไทยต้องการใช้มอเตอร์ไซค์แบบไหน แล้วค่อยออกแบบสินค้าให้ตอบโจทย์ ซึ่งคนไทยชอบมอเตอร์ไซค์ที่ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน และประหยัดน้ำมัน นอกจากนี้ เราก็ไปสำรวจข้อมูลจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย เพราะเราเป็นฐานการผลิตส่งขายทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งถ้าจะเอามอเตอร์ไซค์รุ่นยอดนิยมในไทยไปขายที่มาเลเซีย มันก็คงไม่ตอบโจทย์” คุณอารักษ์กล่าว

การมุ่งพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคอยู่เสมอ ส่งผลให้บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด สามารถพลิกประวัติศาสตร์ขึ้นมาครองอันดับหนึ่งส่วนแบ่งทางการตลาดมอเตอร์ไซค์ของไทย และยังสามารถรักษาแชมป์ไว้ได้นานกว่า 30 ปี “ทุกวันนี้บนถนนเมืองไทย ถ้ามีมอเตอร์ไซค์วิ่งมา 10 คัน จะเป็นยี่ห้อฮอนด้าไปแล้ว 8 คัน” คุณอารักษ์กล่าวด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ

file

มุ่งมั่นทำโครงการเพื่อสังคม

ตลอดเวลาที่ผ่านมา บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด ได้มุ่งมั่นในการตอบแทนสังคมผ่านโครงการต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในโครงการที่คุณอารักษ์มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน คือ “โครงการฮอนด้าเมืองไทยขับขี่ปลอดภัย” (Safety Thailand) ที่มุ่งดำเนินกิจกรรมและรณรงค์การขับขี่ปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่องกว่า 3 ทศวรรษ ผ่านการพัฒนาหลักสูตรการขับขี่ปลอดภัย ที่เหมาะสมกับสภาพจราจรในประเทศไทย ควบคู่ไปกับการผลิตครูฝึกขับขี่ปลอดภัย เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับประชาชนทั่วประเทศ และสร้างศูนย์ฝึกขับขี่ปลอดภัยในทุกภูมิภาค โดยร่วมมือกับร้านผู้จำหน่ายฯ สถานศึกษา และหน่วยงานของภาครัฐ นอกจากนี้ยังมีการปลูกจิตสำนึกสาธารณะในการใช้รถใช้ถนนให้กับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั่วไป เพื่อให้สังคมไทยมีความปลอดภัยบนท้องถนนอย่างแท้จริง

“ปัญหาใหญ่เร่งด่วนของสังคมไทยคือ อัตราการตายในการเดินทางขับขี่เป็นอันดับหนึ่งของโลก โครงการขับขี่ปลอดภัยของฮอนด้าจึงมุ่งเน้นสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยบนท้องถนนให้กับคนไทย รวมถึงพนักงานในเครือของเราด้วย เราออกกฎเลยว่าถ้าพนักงานขับมอเตอร์ไซค์มา แต่ไม่สวมหมวกกันน็อก เราจะไม่อนุญาตให้จอดรถในบริษัทเลย หรือถ้าพนักงานประสบอุบัติเหตุโดยเป็นฝ่ายทำผิดกฎจราจร ก็จะมีผลต่อการประเมิน หากถึงขั้นผิดร้ายแรง เช่น เมาแล้วขับ เราก็จะให้พ้นสภาพการเป็นพนักงานทันที” คุณอารักษ์กล่าว

file

ไลฟ์สไตล์ส่วนตัว ที่ยังคงมีแพสชันเกี่ยวกับมอเตอร์ไซค์

ในวันหยุดพักผ่อน คุณอารักษ์และภรรยามักจะเดินทางไปท่องเที่ยวด้วยกัน ซึ่งไม่ว่าจะไปที่ใดของมุมโลก คุณอารักษ์ก็จะหาโอกาสไปชมการแข่งขันมอเตอร์ไซค์ที่จัดขึ้นในประเทศนั้น ๆ แบบติดขอบสนามอยู่เสมอ นอกจากนี้ ในนามของไทยฮอนด้า คุณอารักษ์ยังได้สานฝันนักบิดไทยเข้าสู่สนามแข่งขันมอเตอร์ไซค์ ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก อย่างเช่น สมเกียรติ จันทรา ที่คุณอารักษ์ให้การสนับสนุนมาตั้งแต่ยังเป็นนักแข่งรุ่นจิ๋ว จนกระทั่งเป็นคนไทยคนแรกที่ได้แชมป์ในรายการเวิลด์กรังด์ปรีซ์เลยทีเดียว จึงถือได้ว่าคุณอารักษ์เป็นผู้มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อวงการแข่งขันมอเตอร์ไซค์ของไทย

file

สนุกกับการทำงาน ยังไม่คิดวางมือให้ทายาทสานต่อ

แม้ว่าฮอนด้าจะกลายเป็นเจ้าตลาดในเมืองไทย แต่ผู้บริหารรุ่นเก๋าอย่างคุณอารักษ์เผยว่ายังสนุกกับการทำงานและมีแพสชันอย่างเต็มเปี่ยม โดยยังไม่คิดวางมือให้ทายาทเข้ามาสานต่อ “หลาย ๆ ธุรกิจเคยเจริญรุ่งเรืองมากในรุ่นพ่อแม่ แต่พอเป็นรุ่นลูกหลานกลับดรอปลง หรือเจ๊งไปเลยก็มี เพราะคนที่เป็นทายาทอาจจะไม่ได้เก่งกาจเสมอไป ดังนั้น ผมจึงมองว่าเราให้โอกาสคนเก่งเข้ามาบริหารดีกว่า อาจจะเป็นคนนอกก็ได้ แต่ถ้าทายาทของเราเก่งด้วยก็ยิ่งดีเลย แต่ก็ต้องมาแข่งกับคนอื่นด้วยนะ เพราะที่ฮอนด้าให้โอกาสทุกคนเท่าเทียมกัน” 

file

ความสุขที่เรียบง่ายของบิ๊กบอสไทยฮอนด้า

ความสุขในทุกวันนี้ของคุณอารักษ์ คือการได้อยู่พร้อมหน้าและใช้เวลาร่วมกับสมาชิกในครอบครัว ซึ่งมีรั้วอาณาเขตบ้านติดกัน จึงสามารถเดินไปมาหาสู่กันได้เสมอ นอกจากนี้ยังมีแพลนขยับขยายเพิ่ม เพื่อเตรียมพร้อมรับสมาชิกใหม่อีกด้วย “ในอนาคตถ้าเกษียณแล้ว ผมคิดว่าคงใช้ชีวิตแบบเดิมแหละ ถ้ายังไหวอยู่ก็จะไปเที่ยวกับภรรยาในเมืองเล็ก ๆ ของประเทศใดประเทศหนึ่งที่คนไม่ค่อยไปกัน หรืออาจจะขับรถไปเที่ยวต่างจังหวัดแบบชิลล์ ๆ ไม่ต้องรีบร้อน เรียกว่าผมมีความสุขกับความธรรมดาของชีวิตได้ในทุกวัน” คุณอารักษ์กล่าวทิ้งท้าย