คว้าโอกาสลงทุน "ตราสารหนี้" ผลตอบแทนสูงสุดในรอบ 20 ปี

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 66 | คอลัมน์ Wealth Manager Talk

file

ปีนี้อาจเป็นจังหวะที่ดีสำหรับการลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว หลังจากมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยมาอยู่ในระดับสูง ซึ่งมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ไม่แพ้กับตลาดหุ้นบนความเสี่ยงที่น้อยกว่า สาเหตุหลักมาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่มีโอกาสอ่อนแอลง อาจนำมาสู่การผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลาง โดยสถิติที่ผ่านมาบ่งชี้ว่ามีโอกาสที่ผลตอบแทนรวมของตราสารหนี้คุณภาพดี จะแตะระดับสูงที่สุดในรอบ 20 ปีได้ หากเริ่มลงทุนตอนนี้

กว่า 18 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารกลางทั่วโลกดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดด้วยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแตะระดับสูงสุดเป็นสถิติใหม่ของประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป หรือ สหราชอาณาจักรที่สูงสุดในรอบ 12 ปี, 15 ปี และ 15 ปีตามลำดับที่ระดับ 5.5%, 4% และ 5.25% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่อยู่เพียง 2.25% เท่านั้น ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยย่อมส่งผลให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ The Conference board ของสหรัฐฯ คำนวณดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (LEI) พบว่าเมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงจะทำให้ LEI ต่ำลง ซึ่ง 25 ปีที่ผ่านมา เมื่อ LEI ต่ำกว่า -5 จุด จะเกิดเศรษฐกิจถดถอย (Recession) เสมอ เช่น วิกฤต Dot-com (ปี 2000) วิกฤต Hamburger (ปี 2008) และ วิกฤต COVID-19 (ปี 2020) และช่วงเวลานี้ ธนาคารจะลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจด้วย

file

ที่ผ่านมา การขึ้นดอกเบี้ยก็กระทบกับราคาตราสารหนี้ เนื่องจากราคาของตราสารหนี้จะมีความสัมพันธ์ตรงข้ามกับอัตราดอกเบี้ย จากกลไกตลาดที่นักลงทุนจะแสวงหาผลตอบแทนสูงสุดภายใต้สินทรัพย์ประเภทเดียวกัน และราคาเปลี่ยนแปลงจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอายุของตราสารหนี้ (Duration) ด้วย แต่หากอัตราดอกเบี้ยกลับทิศเป็นขาลง ราคาตราสารหนี้จะพลิกกลับเป็นบวกและมากขึ้นตาม Duration ด้วย เช่น หากนักลงทุนถือตราสารหนี้ A อายุคงเหลือ 5 ปีมูลค่าที่ตราไว้ (PAR) เท่ากับ 1,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี แต่เมื่ออัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้ A ที่ซื้อขายกันในตลาดรองอยู่ที่ 3% ต่อปี หากนักลงทุนต้องการขายตราสารหนี้ A ผู้ถือจะสามารถขายที่ราคาสูงกว่า PAR เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ย 3% โดยเมื่อคำนวณหาราคาตราสารหนี้จะอยู่ที่ 1,091.6 บาท และหากเปลี่ยน Duration สูงขึ้นเป็น 10 ปี ราคาตราสารหนี้จะเป็น 1,170.6 บาท เป็นต้น ดังนั้น หากดอกเบี้ยลดลงตามทิศทางของเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง เมื่อเราลงทุนตราสารหนี้ที่ Duration สูงขึ้นจะได้ผลตอบแทนมากขึ้นด้วย

file

โดยภาวะอัตราเงินเฟ้อสูงที่เป็นต้นเหตุของการขึ้นดอกเบี้ยกลับเริ่มชะลอลงต่อเนื่อง ล่าสุดดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ เดือนสิงหาคม อยู่ที่ 3.7% YoY และยุโรปอยู่ที่ 5.3% YoY ซึ่งต่างจากปีก่อนอย่างมากที่ 8.2% YoY และ 9.1% YoY ตามลำดับ ทำให้แรงจูงใจที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางทั่วโลกเริ่มมีน้อยลง โดยข้อมูลของบริษัทจัดการลงทุน PIMCO คาดว่าดอกเบี้ยนโยบายของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ ยุโรป และอังกฤษจะสูงที่สุดภายในปี 2023 และจะค่อย ๆ ลดลงตามทิศทางของเงินเฟ้อที่อาจชะลอลงในอนาคต

file

การลดดอกเบี้ยในระยะข้างหน้าจะส่งผลดีต่อการลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ และอาจเป็นโอกาสที่ดีในรอบ 20 ปีที่การลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศจะสร้างผลตอบแทนได้ไม่แพ้ตลาดหุ้น จากสถิติของบริษัทจัดการลงทุน Blackrock รวบรวมผลตอบแทนของตราสารหนี้สหรัฐฯ ในปีที่ดอกเบี้ยนโยบายถึงจุดสูงสุด หากเทียบกับปี 2000 และ 2006 ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายใกล้เคียงกับปัจจุบันจะสามารถให้ผลตอบแทนเฉลี่ยราว 10% ซึ่งใกล้เคียงกับผลตอบแทนสูงสุดต่อ 1 ปีปฏิทินในรอบ 20 ปีที่ 13% และเมื่อเทียบกับผลตอบแทนเฉลี่ย 20 ปีของตลาดหุ้นทั่วโลก MSCI ACWI Index ราว 8.5% ต่อปี ถือว่าการลงทุนตราสารหนี้ช่วงดอกเบี้ยสูงสุดคุ้มค่ากับการลงทุนอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีตราสารหนี้ทุกประเภทที่เหมาะสมกับ Recession เพราะช่วงนี้ธุรกิจต่าง ๆ มีความเสี่ยงที่ฐานะการเงินจะแย่ลงจนถึงการผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งมีผลต่อผู้ลงทุนจะสูญเสียเงินต้นได้ โดยความเสี่ยงนี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) แบ่งเป็นกลุ่มระดับลงทุน (Investment Grade: IG) และกลุ่มต่ำกว่าระดับลงทุน (High Yield: HY) โดยข้อมูลผลตอบแทนระหว่างดัชนีตราสารหนี้ในกลุ่ม IG และ HY ทั่วโลกช่วง Recession 3 ครั้งที่ผ่านมา จะเห็นว่าผลตอบแทนของ IG จะมากกว่า HY แม้อัตราดอกเบี้ยของ HY มักสูงกว่า IG ก็ตาม ซึ่งเกิดจากประเด็นผิดนัดชำระหนี้และการขายออกของนักลงทุนในตลาดเพื่อลดความเสี่ยงการลงทุน ดังนั้นการลงทุนในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยถึงจุดสูงสุดไปถึงช่วงลดลง การลงทุนในตราสารหนี้ IG ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ A+ ขึ้นไปจะให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยที่น่าสนใจกว่า HY

file

ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เป็นโอกาสดีของนักลงทุนที่กำลังแสวงหาผลตอบแทนที่น่าสนใจและคุ้มค่ากับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดยเลือกลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าของไทย และเลือกลงทุนตราสารหนี้ที่มี Credit Rating ระดับ IG จะช่วยลดความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ได้ รวมถึงควรเลือกตราสารหนี้ที่ Duration สูง เพื่อรับกำไรส่วนเพิ่มที่มากขึ้นจากแนวโน้มดอกเบี้ยขาลงในระยะข้างหน้า ซึ่งมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนใกล้เคียงระดับที่สูงสุดในรอบ 20 ปีนั่นเอง