แขขวัญ โรจน์วัฒนกุล แม่ทัพหญิงแห่ง PVD บลจ.ทิสโก้ ชูกลยุทธ์ที่แตกต่าง มุ่งสร้างสังคมเกษียณสุข

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 66 | คอลัมน์ Exclusive

file

ตัวเลขของคนไทยที่วางแผนการเงินเพื่อการเกษียณได้สำเร็จ มีอยู่เพียงแค่ 5% สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการไร้เงินออมหลังเกษียณ อาจเพราะเริ่มออมช้าเกินไป หรือขาดความรู้ในการต่อยอดเงินให้งอกเงย แต่สำหรับคนที่มีรายได้ประจำอย่างเช่นมนุษย์เงินเดือน ในหลายบริษัทจะมีสวัสดิการชั้นเลิศที่เป็นเครื่องมือช่วยออมเงินเพื่อเกษียณ นั่นคือ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” (Provident Fund หรือ PVD) ซึ่งผู้ออมจะได้รับประโยชน์ถึง 3 ต่อ ทั้งยังส่งผลดีกับบริษัทนายจ้างด้วย แต่น่าเสียดายที่จำนวนสมาชิก PVD ยังมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับผู้มีรายได้ทั้งหมดในไทย

วันนี้ เรามีโอกาสพูดคุยกับคุณแขขวัญ โรจน์วัฒนกุล รองกรรมการผู้จัดการ สายการตลาดธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บลจ.ทิสโก้ ถึงสถานการณ์เงินออมหลังเกษียณของคนไทย เครื่องมือการออมที่สำคัญอย่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และบทบาทของ บลจ.ทิสโก้ในฐานะบริษัทจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแห่งแรกของไทยที่มีขนาดกองทุน จำนวนบริษัทนายจ้าง และจำนวนสมาชิกกองทุนภายใต้การบริหารมากที่สุด ด้วยนโยบายการลงทุนที่มีให้เลือกหลากหลาย เพื่อพาคนไทยสู่เป้าหมายเกษียณสุข

คนไทยมีเงินใช้หลังเกษียณแค่ 5%

คุณแขขวัญเริ่มให้ข้อมูลว่า จากตัวเลขล่าสุดในปี 2565 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุว่า หากต้องการใช้ชีวิตหลังเกษียณแบบ “พออยู่ได้” จะต้องมีเงินออมอย่างน้อย 3.1 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 8,000 บาทต่อเดือน แต่ด้วยค่าครองชีพ ค่ารักษาพยาบาล รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น จำนวนเงินดังกล่าวอาจไม่เพียงพอในอนาคต ตัวเลขหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยมีเงินไม่พอใช้หลังเกษียณคือ เมื่อดูฐานะทางการเงินและการใช้ชีวิตหลังเกษียณ พบว่า 54% ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่น 36% ยังต้องทำงานเพื่อหารายได้ 5% โชคร้ายจากไปก่อน ส่วนคนที่วางแผนเกษียณได้สำเร็จและมีอิสระทางการเงินนั้น มีเพียง 5% เท่านั้น

“ปัญหาหลัก คือคนไม่ให้ความสำคัญกับการออมเพื่อเกษียณ กว่าจะรู้ตัวว่าต้องวางแผนการเงินก็สายเกินไป ส่วนอีกปัญหาหนึ่งที่พบก็คือคนเราออมโดยไม่มีเป้าหมาย และเน้นฝากเงินอย่างเดียวเพราะลงทุนไม่เป็น ทั้งหมดนี้นำมาสู่การมีเงินไม่พอใช้หลังเกษียณ และยิ่งสมัยนี้คนไม่ค่อยมีลูก จะหวังพึ่งลูกหลานก็คงไม่ได้” คุณแขขวัญกล่าว

หากเราวางแผนการเงิน เก็บออมไว้เพื่อใช้หลังเกษียณตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน ก็จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ซึ่งสำหรับพนักงานบริษัทอาจวางแผนได้ไม่ยาก เนื่องจากมีรายได้ประจำสม่ำเสมอและสามารถรับรู้ได้ล่วงหน้า อีกทั้งในหลาย ๆ บริษัทก็ยังมีสวัสดิการที่เป็นเครื่องมือช่วยในการออมเงิน นั่นก็คือ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ซึ่งเป็นกองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจ เพื่อให้ลูกจ้างมีเงินออมไว้ใช้ ไม่ว่าจะหลังเกษียณ ออกจากงาน ทุพพลภาพ หรือหากเสียชีวิตก็จะมีเงินก้อนเป็นหลักประกันให้ครอบครัว

ภายใต้กฎหมายพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นายจ้างหรือสถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างแม้เพียง 1 คน ก็สามารถจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้แล้ว แต่น่าเสียดายที่สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ซึ่งมีอยู่ราว 461,000 แห่งในไทยนั้น มีบริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพียง 23,000 แห่ง คิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 5% นอกจากนี้ แรงงานในประเทศไทยทั้งหมด 39 ล้านคน แบ่งออกเป็นแรงงานในระบบ 19 ล้านคน และนอกระบบอีก 20 ล้านคน ก็เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพียง 3 ล้านคนเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่าวัยทำงานที่มีรายได้ยังมีการออมเงินระยะยาวเพื่อเกษียณน้อยกว่าที่ควร

ประโยชน์ 3 ต่อของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

file

สำหรับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะมาจากเงินที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุนของตนเอง โดยให้นายจ้างหักจากค่าจ้าง เรียกว่า “เงินสะสม” ที่ตามกฎหมายกำหนดให้เลือกสะสมได้ 2 - 15% ของค่าจ้าง ซึ่งคุณแขขวัญเผยว่าในมุมของผู้ออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น จะได้รับประโยชน์ต่อที่หนึ่ง คือเมื่อเราจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุน แล้วนายจ้างก็จะจ่ายให้อีกส่วนหนึ่ง เรียกว่า “เงินสมทบ” ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้สมทบในอัตรา 2 - 15% ของเงินค่าจ้าง จึงเสมือนเป็นเงินได้เปล่าจากทางบริษัท อีกทั้งยังเป็นการสร้างวินัยการออมด้วยการ “ออมก่อนใช้”

ประโยชน์ต่อที่สอง คือเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 15% ของรายได้ และเมื่อรวมกับเงินออมเพื่อการเกษียณอายุประเภทอื่น เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) หรือเบี้ยประกันบำนาญแล้ว หักได้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

ประโยชน์ต่อที่สาม คือรายได้จากการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้รับยกเว้นภาษี และเงินก้อนที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะได้รับยกเว้นภาษีทั้งจำนวนเมื่อครบตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้ คือโอกาสได้ผลตอบแทนจากการลงทุน เนื่องจากในระหว่างที่เงินอยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะมี “บริษัทจัดการ” หรือ “บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)” ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพ นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ เพื่อสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยคืนให้กับสมาชิกตามสัดส่วนของเงินที่มีอยู่ในกองทุน ซึ่งเงินส่วนนี้เรียกว่า “ผลประโยชน์ของเงินสะสม” และ “ผลประโยชน์ของเงินสมทบ” ซึ่งถือว่าเป็นการนำเงินออมไปต่อยอดให้งอกเงย

ไม่ใช่แค่ลูกจ้าง แต่นายจ้างก็ได้ประโยชน์ด้วย

แม่ทัพหญิงแห่งธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บลจ.ทิสโก้ชี้ให้เห็นว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ได้ให้ประโยชน์เพียงเฉพาะกับพนักงานที่เป็นผู้ออมเท่านั้น แต่ยังสร้างประโยชน์มากมายแก่บริษัทนายจ้าง เช่น การเป็นสวัสดิการจูงใจผู้ที่มีความรู้ความสามารถให้มาร่วมงาน และเป็นการสร้างกำลังใจให้กับพนักงานปัจจุบัน นอกจากนี้ เงินสมทบที่จ่ายไปนั้น ยังสามารถลดหย่อนภาษีของบริษัทได้ด้วย หรือในบริษัทที่ต้องจ่ายเงินก้อนให้กับพนักงานที่เกษียณอายุ หากมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็จะช่วยสะสมกระแสเงินสดในระหว่างทาง จึงลดภาระจากการจ่ายเงินก้อนใหญ่ในครั้งเดียว ทำให้บริษัทสามารถวางแผนจัดสรรงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเมื่อมองในภาพรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังช่วยสร้างความมั่นคงต่อระบบการเงินของประเทศอีกด้วย

“เวลาที่นักลงทุนรายย่อยเข้าออกจากตลาด หรือบริษัทต่างชาติมาดึงเงินออกไปเร็วหรือทีละมาก ๆ ถ้าเราไม่มีเงินในประเทศที่เป็นเงินเย็นหรือเงินลงทุนระยะยาว ตลาดก็จะมีความผันผวนมาก แต่เนื่องจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการลงทุนระยะยาว ดังนั้น ผู้จัดการกองทุนจึงเน้นการลงทุนที่มีความมั่นคงและผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว โดยการลงทุนในประเทศ ได้แก่  เงินฝากธนาคาร พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้บริษัทเอกชน รวมถึงการลงทุนในหุ้น จึงช่วยให้ตลาดทุนมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ การซื้อหุ้นกู้บริษัทภายในประเทศ ถือเป็นการลงทุนเพื่อให้ธุรกิจนั้น ๆ เติบโตและมั่นคงยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีประโยชน์กับทุกภาคส่วน ทั้งในระดับสมาชิกผู้ออม บริษัทนายจ้าง และประเทศชาติ” คุณแขขวัญกล่าว

file หัวหน้าทีมการตลาดและทีมปฏิบัติการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

การันตีฝีมือด้วยรางวัล 6 ปีซ้อน
และควบ 2 รางวัลจาก 2 สถาบัน ในปี 2566

ผลงานบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดย บลจ.ทิสโก้นั้น ได้รับการพิสูจน์มาแล้วอย่างยาวนาน การันตีฝีมือและความสำเร็จด้วยรางวัลที่ได้รับมาตลอด 6 ปีซ้อน (2018-2023) จาก Global Banking and Finance Review สื่อการเงินการลงทุนชั้นนำระดับโลก ได้แก่ รางวัล Best Provident Fund Provider Thailand (2018-2019) รางวัล Pension Fund Provider of The Year Thailand (2020) และล่าสุดกับรางวัล Decade of Excellence Provident Fund Management Thailand (2021-2023) นอกจากนี้ ในปี 2023 บลจ.ทิสโก้สามารถคว้ารางวัล Thailand-Best Pension Fund Manager 2023 จาก Asia Asset Management ควบอีกหนึ่งรางวัล ทั้งหมดนี้จึงสะท้อนภาพความเป็นผู้นำในการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้อย่างยอดเยี่ยม โดยสามารถรักษามาตรฐานการบริหารผลตอบแทนที่ดีสม่ำเสมอ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอของสมาชิกได้เป็นอย่างดี

สิ่งที่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมองหามากที่สุด ก็คือผลตอบแทน ซึ่งทีมผู้จัดการกองทุนของเราเน้นการบริหารกองทุนที่เป็นการบริหารความเสี่ยงควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าทุกความเสี่ยงจะได้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับเงินที่ลูกค้าวางใจให้เราบริหาร ซึ่งผลตอบแทนตลอด 10 ปีที่ผ่านมาของเราอยู่ใน Top Tier ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยเฉพาะการลงทุนในหุ้นที่มีผลตอบแทนโดดเด่น จนคว้ารางวัลบริษัทจัดการกองทุนยอดเยี่ยม ประเภทการลงทุนหุ้นภายในประเทศ (Best Fund House-Domestic Equity) 2 ปีซ้อนจากการประกาศผลรางวัล Morningstar Awards 2022 และ 2023 และนอกจากทีมผู้จัดการกองทุนมืออาชีพ ที่สามารถบริหารกองทุนได้ผลตอบแทนที่ดีอย่างสม่ำเสมอในระยะยาวแล้ว เรามีทีมปฏิบัติการที่มีความเข้มแข็ง เต็มที่กับทุกโจทย์ที่ได้รับจากลูกค้า ทีมการตลาดที่มีความเชี่ยวชาญสามารถให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่ลูกค้า พร้อมให้บริการอย่างรวดเร็วและจริงใจ ทำให้ บลจ.ทิสโก้ ได้ความไว้วางใจแต่งตั้งให้เป็นบริษัทจัดการกองทุนอย่างต่อเนื่อง และครองความเป็นที่หนึ่งจนถึงปัจจุบัน” คุณแขขวัญกล่าวด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ 

บลจ.ทิสโก้ บริษัทจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ที่นายจ้างไว้วางใจมากที่สุดในไทย

ทิสโก้ได้ตระหนักถึงภาพใหญ่ของปัญหาคนไทยที่ยังไม่มีเงินออมใช้จ่ายเพื่อเกษียณ จึงได้ริเริ่มให้บริการในการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาตั้งแต่ปี 2512 จากวิสัยทัศน์ของคุณศิวะพร ทรรทรานนท์ ผู้บริหารสูงสุดคนไทยคนแรกของทิสโก้ ผู้มองการณ์ไกลอยากเห็นการลงทุนระยะยาว ที่ทำให้พนักงานมีเงินก้อนใหญ่ไว้ใช้หลังเกษียณ ซึ่ง ณ เวลานั้นเป็นช่วงก่อนที่ประเทศไทยจะมีพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปี 2530

ผ่านมาแล้วกว่าครึ่งศตวรรษ ปัจจุบัน บลจ.ทิสโก้คือบริษัทจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีจำนวนนายจ้างให้ความไว้วางใจมากที่สุดในประเทศไทย โดยมีฐานลูกค้าครอบคลุมกลุ่มบริษัทชั้นนำขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ทั้งภาคธุรกิจ ภาคการผลิต และภาคบริการ ทั้งบริษัทในประเทศ และบริษัทข้ามชาติ รวมจำนวนนายจ้างมากกว่า 5,000 บริษัท จากทั้งหมด 23,000 บริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในประเทศไทย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 22% และมีจำนวนสมาชิกทั้งหมดภายใต้การดูแลมากกว่า 530,000 ราย

นอกจากนี้ บลจ.ทิสโก้ยังเป็นบริษัทจัดการที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารสูงสุด โดยมีขนาดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภายใต้การจัดการทั้งหมดกว่า 251,000 ล้านบาท และตั้งเป้า 300,000 ล้านบาทภายในปี 2568 ทั้งยังมีอัตราการเติบโต 10 ปีย้อนหลัง เฉลี่ย 10% ต่อปี ซึ่งถือว่าสูงกว่าอุตสาหกรรมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในภาพรวมที่เติบโตเฉลี่ยในช่วงเวลาเดียวกันราว 7% ต่อปี

file

ชูจุดเด่น เลือกลงทุนได้หลากหลาย ด้วยนโยบาย Master Fund

เนื่องจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวนมาก ซึ่งแต่ละคนคาดหวังผลตอบแทนและรับความเสี่ยงได้แตกต่างกัน การดำเนินนโยบายเพียงแบบเดียวอาจไม่ตอบโจทย์สำหรับสมาชิกทุกคน ดังนั้น พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จึงเปิดให้กองทุนสามารถมีหลายนโยบายการลงทุนภายใต้กองทุนเดียวกันได้ (Master Fund) ครอบคลุมทั้งเงินฝาก ตราสารหนี้ ตราสารทุนไทย การลงทุนต่างประเทศ รวมไปถึงการลงทุนสินทรัพย์ทางเลือก เพื่อให้สมาชิกมีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน บลจ.ทิสโก้ ให้บริการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประเภท Master Fund ทั้งแบบกองทุนเดี่ยว (Single Fund) และกองทุนร่วมทุน (Pooled Fund)

โดย บลจ.ทิสโก้มีการกำหนดทางเลือกมาตรฐาน (Standard Options) ที่คาดว่าสามารถครอบคลุมความต้องการส่วนใหญ่ของสมาชิก และเลือกมานำเสนอให้สอดคล้องกับ Customer’s Profile ของแต่ละบริษัทนายจ้าง เพื่อเป็นแนวทางให้คณะกรรมการกองทุนแต่ละบริษัทนายจ้างพิจารณา ก่อนตัดสินใจกำหนดทางเลือกการลงทุนที่เหมาะสมให้สมาชิกเลือกต่อไป หรือหากบริษัทนายจ้างต้องการเพิ่มทางเลือกให้มากขึ้น แต่ละบริษัทนายจ้างก็สามารถออกแบบทางเลือกการลงทุนเพิ่มเติมนอกเหนือจากทางเลือกมาตรฐานที่มีอยู่ ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีรูปแบบ “Free Style” ซึ่งให้สมาชิกเลือกผสมนโยบายการลงทุนในสัดส่วนต่าง ๆ ได้ตามต้องการ

นอกเหนือจากที่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องทำแบบประเมินความเสี่ยง เพื่อให้รู้จักตัวเองก่อนเลือกนโยบายการลงทุนแล้ว บลจ.ทิสโก้ยังสนับสนุนให้สมาชิกสำรวจเป้าหมายทางการเงินควบคู่ไปด้วย เพื่อให้สมาชิกวางแผนทางการเงินอย่างมีเป้าหมาย ให้มีเงินพอใช้หลังเกษียณอย่างสุขสบายตามสไตล์ของแต่ละคน

แต่ละคนมีเป้าหมายทางการเงินแตกต่างกัน รับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน ถ้ามีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพียงนโยบายเดียว อาจไม่ตอบโจทย์สำหรับทุกคน และเราจะไม่มีทางทำสำเร็จ ถ้าเราไม่รู้ว่าเป้าหมายคืออะไร เราจึงมีนโยบายการลงทุนแบบต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับ Customer’s Profile เป็นชอยส์ไปให้ลูกค้าเลือก แต่ถ้ายังไม่ตอบโจทย์ เราก็สามารถเอาสิ่งที่ลูกค้าต้องการมาออกแบบนโยบายการลงทุนให้โดยเฉพาะ หรืออีกแบบหนึ่งคือฟรีสไตล์ที่เปิดให้สมาชิกเลือกเองได้ว่าอยากจะแบ่งเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ไหนบ้าง สัดส่วนเท่าไร แต่เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง ถ้าลงทุนเองโดยขาดความรู้ก็อาจจะผิดพลาดได้ เราจึงเน้นให้สมาชิกทำแบบประเมินความเสี่ยง และตั้งเป้าหมายก่อนเลือกนโยบายการลงทุน นอกจากนี้ เรามีแผนที่จะขยายนโยบายการลงทุนเพื่อเป็นทางเลือกเพิ่มเติมให้กับลูกค้า ตามธีมต่าง ๆ เช่น Technology, Healthcare, Well-being หรือธีมอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าด้วย คุณแขขวัญให้ข้อมูลเพิ่มเติม

ดูแลแบบ Lifetime Partner “สุขทุกวันยันเกษียณ”

บลจ.ทิสโก้เชื่อมั่นว่าการวางแผนทางการเงินเพื่อเกษียณที่ดีนั้น นอกจากจะต้องตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจน มีวิธีการไปสู่เป้าหมายที่เหมาะสมแล้ว ยังต้องอยู่บนพื้นฐานแห่งความสุขในระหว่างเส้นทางการออมและการลงทุน ตั้งแต่เริ่มต้นออมจนถึงวันเกษียณด้วย จึงจัดตั้งโครงการยั่งยืนที่ชื่อว่า TISCO Smart Retirement ภายใต้สโลแกน “ให้การวางแผนการเงินเป็นเรื่องสนุก ให้คุณได้สุขทุกวันยันเกษียณ” ขึ้นมาในปี 2559 เพื่อออกแบบการวางแผนเกษียณอย่างชาญฉลาด ประกอบไปด้วยหลัก 4 Smarts ได้แก่ “Smart Saving ออมอย่างฉลาด” โดยสนับสนุนให้ออมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เต็มสิทธิ 15% ของเงินเดือน หรือลงทุนเพิ่มเติมในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ด้วย

ต่อมาคือ “Smart Spending ไม่พลาดเรื่องใช้จ่าย” เน้นใช้จ่ายเฉพาะสิ่งจำเป็น ไม่ฟุ่มเฟือยตามกระแส เพื่อเลี่ยงภาระหนี้ หรือสามารถบริหารจัดการหนี้ได้ดี และมีเงินเหลือเก็บให้ถึงเป้าหมายเร็วขึ้น “Smart Living สบาย ๆ กับชีวิต” เน้นดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรค ช่วยประหยัดค่ารักษาพยาบาล และสุดท้ายคือ “Smart Insured ลิมิตทุกความเสี่ยง” เน้นป้องกันการสูญเสียทรัพย์สินที่หามาด้วยความยากลำบากไปกับค่ารักษาพยาบาล ด้วยการทำประกันให้คุ้มครองและครอบคลุมอย่างเหมาะสม

“เราไม่อยากโฟกัสแค่การบริหารกองทุน พอสมาชิกเกษียณแล้วก็นำเงินออกไป แต่เราอยากดูแลทุกคนให้มีความสุขในระหว่างทางที่ออมด้วย เรียกว่าจับมือไปด้วยกันจนถึงเป้าหมาย แล้วก็ยังดูแลกันต่อหลังจากนั้น จึงเป็นที่มาของโครงการ TISCO Smart Retirement โดยแบ่งออกเป็นส่วนของการวางแผนก่อนเกษียณ (Pre-Retirement) เช่น การออมที่ควรต้องเริ่มตั้งแต่ทำงานวันแรก การบริหารหนี้ การวางแผนภาษี และวางแผนประกันให้คุ้มค่า อีกส่วนหนึ่งคือการบริหารเงินก้อนหลังเกษียณ (Post-Retirement) ทำอย่างไรให้เงินงอกเงย ซึ่งก็มีสมาชิกหลายคนเชื่อมั่นและไว้วางใจให้ทิสโก้ดูแลเงินก้อนนี้ต่อ เช่น คงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือมาเป็นลูกค้ากองทุนรวม ลูกค้า Wealth หรือลูกค้า Private Fund ของเราค่ะ คุณแขขวัญกล่าว

file Freedom by TISCO PVD หนึ่งในบริการสำหรับสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของ บลจ. ทิสโก้
file ทีมการตลาดกับงานสัมมนา TISCO Smart Retirement

บริการหลากหลายช่องทางเพื่อสมาชิก

บลจ.ทิสโก้เป็นบริษัทจัดการกองทุนรายแรกของประเทศไทย ที่ให้บริการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพผ่านช่องทาง Line Official ภายใต้ชื่อ “Freedom by TISCO PVD” ที่ช่วยให้สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภายใต้การจัดการสามารถเช็กยอดเงิน ดูสัดส่วนเงินลงทุนรายนโยบาย ดาวน์โหลดรายงานเงินกองทุน (I-statement) ได้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว รวมถึงมีโปรแกรมคำนวณเพื่อวางแผนเกษียณอย่างมีเป้าหมายพร้อมคำแนะนำ และบทความที่เป็นประโยชน์ แชทบอทตอบคำถามยอดฮิตของสมาชิก พร้อมด้วยสิทธิพิเศษจากกลุ่มทิสโก้ ทั้งผลิตภัณฑ์การเงินการลงทุนที่คัดสรรมาเพื่อสมาชิก

นอกจากนี้ ยังมีช่องทางออนไลน์อื่น ๆ เช่น โมบายแอปพลิเคชันกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ชื่อว่า “My PVD My TISCO” เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้สมาชิกสามารถเช็กยอดเงิน ดูสัดส่วนเงินลงทุนรายนโยบาย และสถานะเงินกองทุนในปัจจุบัน เพื่อวางแผนการลงทุนได้อย่างเหมาะสม ทุกที่ ทุกเวลา ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีช่องทางเว็บไซต์ E-Provident Fund ที่นอกเหนือจากการเช็กยอดเงิน ดูสัดส่วนเงินลงทุนรายนโยบาย และดาวน์โหลด I-statement ได้แล้ว ยังสามารถเปลี่ยนทางเลือกการลงทุนออนไลน์ได้อีกด้วย สุดท้ายคือช่องทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ TISCO เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสาร กิจกรรมดี ๆ พร้อมเกร็ดความรู้ด้านการเงินเพื่อเตรียมพร้อมสู่ความมั่งคั่งในวัยเกษียณจาก TISCO Smart Retirement และบริษัทในกลุ่มทิสโก้อีกด้วย

เร่งผลักดันให้ความรู้ทางการเงิน

แผนการในอนาคตของ บลจ.ทิสโก้คือการร่วมมือกับฝ่ายบุคคล (Human Resource: HR) ของบริษัทนายจ้างที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ภายใต้การดูแล เพื่อทำกิจกรรมให้ความรู้ทางการเงิน รวมถึงสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณ

“เนื่องจากฝ่ายบุคคลของแต่ละบริษัทนายจ้าง คือผู้ที่สมาชิกจะติดต่อเมื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิก และเมื่อออกจากงานหรือเกษียณอายุ ถ้าฝ่ายบุคคลมีความรู้พื้นฐานที่ถูกต้องเกี่ยวกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และการวางแผนการเงินเพื่อเกษียณ โดยให้คำแนะนำเบื้องต้นแก่สมาชิกได้ เช่น การเลือกออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เต็มกำลัง การเลือกนโยบายการลงทุนที่เหมาะสม การคงเงินไว้ในกองทุน หรือการโอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุน RMF เพื่อคงสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่อเนื่องกรณีที่ออกจากงานก่อนครบเงื่อนไขได้รับยกเว้นภาษี ก็จะเป็นประโยชน์มาก ๆ แก่พนักงานของบริษัท”

“ดังนั้นเป็นแผนปีหน้าที่ บลจ.ทิสโก้จะริเริ่มโครงการ “HR FINCoach” เพื่อยกระดับ HR ของบริษัทนายจ้างภายใต้การจัดการ ให้มีความรู้พื้นฐานเรื่องการวางแผนการเงินตามหลัก TISCO Smart Retirement เพื่อเป็นที่ปรึกษาเบื้องต้นให้พนักงานโดยใช้ความรู้และเครื่องมือทางการเงินที่ได้รับจากโครงการ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งโครงการ CSR ของกลุ่มทิสโก้ เนื่องในโอกาสกลุ่มทิสโก้ครบรอบ 55 ปี” คุณแขขวัญกล่าวทิ้งท้าย

สนใจจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือพิจารณาเลือกบริษัทจัดการกองทุน ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0 2633 6161 หรืออีเมล tasset_pvd@tisco.co.th