“บ้านกลางป่า” เพื่อให้ “อาบป่า” ความสุขวัยเกษียณที่ลงตัวของ ป้าแอ๊ด ทิพวัน ถือคำ

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 67 | คอลัมน์ All Around Me

วัยเกษียณของหลาย ๆ คนคือการพักผ่อนปลดแอกจากการทำงานประจำ แต่สำหรับป้าแอ๊ด ทิพวัน ถือคำ คุณครูเกษียณวัย 69 ปีกลับไม่ใช่เช่นนั้น ด้วยเชื่อว่าวัยเกษียณเป็นวัยที่มากไปด้วยศักยภาพ เพราะมีทั้งประสบการณ์ ความรู้ รวมไปถึงมีเวลาที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เรื่องใหม่ ๆ ที่เธออยากบอกว่า “เราเหมือนมีพลังบวกในทุก ๆ วัน สนุกที่ได้ทำงานที่ชอบ มันเป็นความสุขที่ยิ่งใหญ่

file

  เพราะหัวใจของกิจกรรมอาบป่าคือการใช้บรรยากาศป่ามาเยียวยาใจ ใช้ธรรมชาติบำบัดสุขภาพใจ มีงานวิจัยของ ศ. ดร. นพ.ชิง ลี (Qing Li) ผู้เชี่ยวชาญด้านป่าบำบัดได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การใช้เวลาอยู่ท่ามกลางต้นไม้ รวมไปถึงการปลูกต้นไม้เล็ก ๆ น้อย ๆ รอบบ้านและการฉีดพ่นน้ำมันหอมระเหยภายในบ้าน สามารถลดความดันโลหิต ลดความเครียด กระตุ้นพลังชีวิตและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้น

    เหตุผลนี้กลายเป็นนโยบายระดับชาติที่ทำให้ในประเทศญี่ปุ่นมีศูนย์สุขภาพเพื่ออาบป่าบำบัดมากกว่า 40 แห่งกระจายทั่วเกาะต่าง ๆ “อาบป่าของญี่ปุ่นมี 2 ลักษณะ อย่างแรกคือบำบัดธรรมดา (Forest Bathing)

    เข้าป่าไปสัมผัสธรรมชาติโดยใช้ผัสสะทั้ง 5 (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) ส่วนอีกลักษณะเป็นการบำบัดที่เรียกว่า Forest Therapy ที่ต้องมีการตรวจสุขภาพทางกายและแพทย์กำหนดให้ว่าต้องอาบป่าอย่างไร”

นั่นจึงเป็นที่มาของธุรกิจเล็ก ๆ “บ้านกลางป่า” และกิจกรรมธรรมชาติบำบัด “อาบป่า (Forest Bathing)” ในบ้านหนองขาว จังหวัดกาญจนบุรี ที่เจ้าตัวไม่ได้เรียกว่าธุรกิจแต่ขอเป็นศูนย์เรียนรู้ที่ได้มอบความสำเร็จอันน่าชื่นใจให้แก่ตัวเองจากความสุขของทุกคนที่เข้ามาอาบป่าที่นี่

    จากประสบการณ์ทำกิจการโฮมสเตย์บ้านกลางทุ่งหลายปีก่อนที่ต้องปิดตัวลงตอนช่วงวิกฤต COVID-19 ทำให้ป้าแอ๊ดได้องค์ความรู้ด้านงานบริหารจัดการธุรกิจท่องเที่ยวแนว Local Tourism ที่สามารถมาต่อยอดกับ “บ้านกลางป่า” ให้แจ้งเกิดได้ไม่ยาก ยิ่งบวกกับเรื่องราวธรรมชาติบำบัดของการ “อาบป่า” ที่สามารถดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจเข้ากับเทรนด์ Wellness ในยุคที่ผู้คนกำลังโหยหาธรรมชาติ มีความเครียดกับชีวิตเมือง ทำให้ความลงตัวของธุรกิจจึงอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะเจาะพอดี

“ในเมื่อเราชำนาญการทำที่พักโฮมสเตย์อยู่แล้ว เลยคิดว่าต้องสร้างที่พักสำหรับคนที่มาอาบป่าด้วยดีกว่า เหมือนให้ร่างกายมาพักในการเตรียมพร้อมไปอาบป่าเพื่อเยียวยาและบำบัด”

    แล้วทำไมต้อง “อาบป่า” ด้วย? สำหรับศาสตร์แห่งธรรมชาตินี้มีที่มาที่ไปจากประเทศญี่ปุ่นที่เรียกว่า “ชินริน-โยกุ (Shinrin-Yoku)” หรือการอาบป่า ถือเป็นวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่มีมาหลายทศวรรษ เป็นวิธีที่ทำให้เราได้กลับไปเชื่อมต่อกับธรรมชาติ เพื่อใช้เวลาอยู่ในป่าเยียวยาให้เรามีสุขภาพดีขึ้น มีความสุขขึ้น เข้าถึงความสงบเงียบและผ่อนคลาย โดยป้าแอ๊ดสนใจและอยากทำความรู้จักศาสตร์ “อาบป่า” เมื่อ 3 - 4 ปีที่แล้วจึงได้เดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นในหลาย ๆ โปรแกรมเพื่อเรียนรู้ศาสตร์นี้โดยเฉพาะ จากนั้นได้ศึกษาเพิ่มเติมจนตัดสินใจเปิดบ้านกลางป่าเพื่อให้ทุกคนมาอาบป่าที่นี่

file
file
file

    สำหรับบ้านเรา “อาบป่า” ยังเป็นเรื่องใหม่ที่ป้าแอ๊ดกำลังพยายามให้ทุกคนได้รู้จักศาสตร์แห่งธรรมชาตินี้ ซึ่งนอกจากการสร้างบ้านกลางป่าและอาบป่าในเมืองกาญจน์ที่มีธรรมชาติป่าเขาสวยงามโดยมีการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดกาญจนบุรีแล้ว เรื่องเล่านี้ยังถูกบอกผ่านเฟซบุ๊กเพจ “บ้านกลางป่า Into The Forest” พร้อมไปกับการร่วมเป็นวิทยากรให้กับองค์กรต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ที่ทำให้เธอสนุกและมีความสุขกับเรื่องเล่าของการอาบป่าในทุกวัน

    นอกจากนี้ ป้าแอ๊ดยังได้ตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์สำหรับแปลหนังสือ “อาบป่า” ของ ดร.ชิง ลี แพทย์ประจำโรงเรียนแพทย์นิปปอน เมดิคอล สคูล ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่มีข้อมูลเชิงวิชาการที่เชื่อถือได้ จากนั้นให้หนังสือเวอร์ชันภาษาไทยเล่มนี้เป็นกระบอกเสียงเล่าเรื่องแทนตัวเธอเองที่ไม่สามารถพูดทั้งหมดได้

    “ป้าไม่อยากพูดว่าเป็นคนแรกที่ทำเรื่องอาบป่าในบ้านเรา แต่อยากบอกว่า วันนี้ป้ามีความตั้งใจมุ่งมั่นเรื่องเดียวเลย แต่ละวัน ๆ ต้องเข้าไปอาบป่าแล้วกลับมาเขียนเรื่องราวเล่าสู่กันฟังในเฟซบุ๊ก อาบป่าเป็นยังไง ดียังไง สร้างความสุขอย่างไร คือพยายามที่จะขยายองค์ความรู้ให้ทุกคนรู้จักและมาใช้การอาบป่าดูแลสุขภาพของตัวเอง ซึ่งถ้าคุณเข้าใจแก่นแท้จริง ๆ แทบไม่จำเป็นต้องมาถึงที่นี่ แค่คุณรู้จักและรู้วิธีการ อยู่ที่ไหนคุณก็อาบป่าได้ แล้วรู้ไหม...ป้าฝันไกลไปถึงว่า ในอนาคตของประเทศไทย การอาบป่าคือการสาธารณสุขเชิงป้องกันได้ เป็นเชิงเวชศาสตร์ที่ป้องกันและดูแลสุขภาพได้ อยากให้เรามีศูนย์อาบป่าเหมือนที่ญี่ปุ่น อยากให้องค์ความรู้นี้กระเพื่อมเป็นวงกว้างที่ใคร ๆ ก็รู้จัก”

    และแม้จะฝันไกลทว่าความสุขในวันนี้กลับไม่ได้คิดเรื่องธุรกิจเป็นหลัก แต่ให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพกายและใจมากกว่า “ตัวเองให้ความสำคัญในการดูแลกายและอารมณ์มาก ๆ ค่ะ ดูแลเรื่องอาหารการกิน ยิ่งแก่ยิ่งต้องมีข้อมูลว่ากินอะไรได้บ้าง ไม่ควรกินอะไร ออกกำลังกายแบบไหนได้บ้างโดยเราต้องชอบและสนุกด้วย นั่นคือการทำให้ตัวเองสุขทั้งกายและใจ ใช้เวลากับสิ่งที่ตัวเองชอบแบบลงลึกไปกว่าเดิมอย่างมีความสุข”

    ป้าแอ๊ดยังบอกด้วยว่า เป็นคนเคร่งครัดทั้งเรื่องเวลานอน เวลากิน เวลาออกกำลังกาย ดังนั้น ทุกวันในเวลาสองทุ่มครึ่งคือเข้านอน แล้วตื่นตี 4 - 5 เพื่อลุกขึ้นมาชื่นชมกับธรรมชาติ ด้วยความเชื่อของตัวเองว่า ถ้ามีพลัง มีแรง มีความสามารถ ก็จะได้ทำทุกอย่างที่อยากทำ รวมถึงได้ทำงานที่ชอบจริงจัง

    “การมีงานทำให้เราสนุก ได้ค้นคว้าหาความรู้ ทำให้เรารู้สึกเหมือนตัวเองไม่แก่ (หัวเราะ) สำหรับป้าไม่ต้องการเพื่อนเยอะเพื่อไปไหว้พระที่โน่นที่นี่ แต่ชอบใช้เวลาอยู่บ้าน นั่งอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ออกไปตีเทนนิสกับกลุ่มเพื่อนเล็ก ๆ ชอบงานใหม่ ๆ ที่ท้าทาย แต่ต้องเป็นงานที่มีประโยชน์กับคนรุ่นหลัง ไม่ใช่ทำไปเพื่อให้ตัวเองรวย เพราะไม่รู้จะรวยไปทำไมแล้ว ให้คนรุ่นหลังนำองค์ความรู้จากเราไปขยายศักยภาพเพื่อให้เติบโตในรูปแบบของเขากันต่อไปดีกว่า ดังเช่นกิจกรรมอาบป่าและบ้านกลางป่าแห่งนี้ หากใครสนใจและเป็นคนรุ่นใหม่ที่มุมความคิดพร้อมไปกับการเผยแพร่องค์ความรู้ที่ดีกว่า ทุกคนได้ประโยชน์มากขึ้น ป้าก็ยินดีพร้อมสนับสนุนค่ะ” ป้าแอ๊ดกล่าวทิ้งท้าย