ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช สมุทรสาคร ดูแลครบวงจร เพื่อคนไทยอายุยืน-สุขภาพดี

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 67 | คอลัมน์ Giving

file

สถิติประชากรไทยมีแนวโน้มอายุยืนยาวขึ้น ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการแพทย์ที่ก้าวหน้า ทว่าสิ่งที่อาจยังไม่สัมพันธ์กันก็คือ “การมีอายุยืน” ไม่ได้เท่ากับ “การมีคุณภาพชีวิตที่ดี” ช่องว่างนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องเร่งเติมเต็ม จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง “ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช จังหวัดสมุทรสาคร” โดยมุ่งหวังเป็นต้นแบบในการรักษาพยาบาลแบบองค์รวม พัฒนางานวิจัย และส่งต่อความรู้เชิงสุขภาพให้แก่สังคม เพื่อให้คนไทยมีอายุยืนไปพร้อม ๆ กับการมีสุขภาพแข็งแรง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

    ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ประธานศูนย์วิทยาการฯ ได้ให้ข้อมูลว่า เมื่อมีเทคโนโลยีการรักษาที่ก้าวหน้า ทำให้ผู้สูงอายุมีอายุยืนยาวขึ้น แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น นอกจากนี้ เมื่อผู้สูงอายุพ้นจากระยะเจ็บป่วยเฉียบพลัน กลับไปใช้ชีวิตต่อที่บ้าน เพียงแค่ 3 สัปดาห์ก็พบว่ามีผู้ป่วยราว 10 - 30% ต้องกลับมาโรงพยาบาลอีกครั้ง และผู้ป่วยสูงอายุกลุ่มนี้มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าผู้ป่วยสูงอายุที่ไม่ได้เข้า-ออกโรงพยาบาลบ่อย ๆ

    “การรักษาผู้ป่วยสูงอายุหลังการเจ็บป่วย ก็เหมือนดูแลซ่อมแซมสิ่งของที่แตกร้าว ซึ่งทำให้กลับไปใกล้เคียงของเดิมได้ยาก ดังนั้นโจทย์ของเราคือทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุไม่เจ็บป่วย หรือมีสุขภาพแข็งแรงได้นานที่สุด และหากเจ็บป่วยแล้วต้องทำอย่างไรให้กลับมาฟื้นคืนสภาพได้มากที่สุด เราจึงเริ่มต้นจากสิ่งที่เราเชี่ยวชาญก่อน ซึ่งก็คือเรื่องของการรักษาพยาบาล จึงก่อตั้งศูนย์วิทยาการฯ แห่งนี้ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางของศาสตร์เกี่ยวกับผู้สูงอายุ และสร้างมุมมองเรื่องการดูแลสุขภาพให้กว้างและลึกยิ่งกว่าการรักษาพยาบาล เพื่อเป้าหมายผู้สูงอายุมีสุขภาพดีแบบ Well-being” ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์กล่าว

ศูนย์วิทยาการฯ จ.สมุทรสาคร

    สมุทรสาครก็เป็นจังหวัดอันดับต้น ๆ ของประเทศไทยที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุด โดยอยู่ที่ราว 26% ของประชากร ในเวลาต่อมาได้มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคที่ดินกว่า 24 ไร่ บริเวณ ถ.เลียบคลองสี่วาพาสวัสดิ์ ต.นาดี อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร ประกอบกับเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพเหมาะสม จึงได้ก่อตั้งศูนย์ต้นแบบขึ้น ณ ที่แห่งนี้

    “เราเคยไปดูงานที่ญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วนประชากรสูงอายุมากที่สุดในโลก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลผู้สูงอายุ เพราะหัวใจของการดูแลผู้สูงอายุไม่ได้อยู่ที่โรงพยาบาล แต่อยู่ที่บ้านและชุมชน ซึ่งสมุทรสาครมีความแตกต่างจากจังหวัดอื่น ๆ ของไทย เพราะมีแต่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ระดับอำเภอ คือโรงพยาบาลบ้านแพ้ว โรงพยาบาลสมุทรสาคร และโรงพยาบาลกระทุ่มแบน แต่ไม่มีโรงพยาบาลระดับชุมชน ถ้าจะเล็กกว่านี้ก็คือเป็นสถานีอนามัย (รพ.สต.) ไปเลย ซึ่งกำลังถ่ายโอนการบริหารจัดการจาก รพ.สต. ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข ไปอยู่ภายใต้การบริหารขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นี่จึงเป็นจังหวะดีมากที่จะเข้าไปทำงานในเรื่องเหล่านี้ หลายโรงพยาบาลของที่นี่ก็มีคลินิกผู้สูงอายุอยู่แล้ว แต่อาจจะยังขาดองค์ความรู้บางอย่าง ศูนย์วิทยาการฯ ก็จะเป็นเหมือนจิกซอว์ที่ช่วยเสริมให้เกิดการดูแลผู้สูงอายุแบบครบวงจร” ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์กล่าว

file

ดูแลผู้สูงอายุครบวงจร ตั้งแต่ก่อนป่วยจนกลับบ้าน

ศูนย์วิทยาการฯ จ.สมุทรสาคร ตั้งเป้าเป็นศูนย์ต้นแบบเรื่องการรักษาพยาบาลและการดูแลสุขภาพ ตั้งแต่การคัดกรองก่อนเจ็บป่วย การดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยระยะกลาง ไปจนถึงการเสริมสร้างสุขภาพ โดยจะมี 3 ศูนย์หลักดังนี้

    1. Center of Comprehensive Screening: ศูนย์คัดกรองก่อนป่วย

เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ระบบต่าง ๆ ของร่างกายจะเริ่มถดถอย การตรวจคัดกรองจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งการตรวจร่างกายประจำปีอาจไม่เพียงพอ เพราะผู้สูงอายุควรจะได้รับการตรวจคัดกรองในเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น ความแข็งแรงของข้อต่อ ความสามารถในการเคลื่อนไหว ความจำ การนอนหลับ การกลืนอาหาร รวมไปถึงเรื่องของสภาพจิตใจและอารมณ์ สำหรับผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรงดีก็อาจได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันโรค หรือได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวให้ห่างไกลจากความเจ็บป่วย

    2. Center of Intermediate Care: ศูนย์ดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยระยะกลาง

สำหรับผู้สูงอายุที่มีอาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน ยังจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงพยาบาลที่มีศักยภาพในการรักษาโรคซับซ้อนก่อน หลังจากที่ผู้ป่วยสูงอายุพ้นระยะวิกฤตและมีอาการคงที่แล้ว อาจมีความจำเป็นที่ต้องการการดูแลต่อในหอผู้ป่วยระยะกลาง (Intermediate Care Ward-IMC ward) ซึ่งศูนย์วิทยาการฯ ได้จัดตั้งศูนย์บริการสุขภาพผู้สูงอายุ ศิริราช-สมุทรสาคร เพื่อดูแลผู้ป่วยในระยะนี้ เนื่องจากผู้ป่วยอาจยังมีความบกพร่องทางร่างกายบางส่วนที่สามารถฟื้นฟูได้ ด้วยบุคลากรผู้มีองค์ความรู้ที่ถูกต้อง

ซึ่งนี่คือ “ช่วงเวลาทอง” ของการฟื้นฟูผู้ป่วยสูงอายุ ช่วยลดภาวะทุพพลภาพ ติดเตียงถาวร และเตรียมความพร้อมก่อนออกจากโรงพยาบาลไปใช้ชีวิตที่บ้าน โดยจะต้องมีญาติหรือผู้ดูแลมาอยู่ด้วยในหอผู้ป่วยระยะกลาง เพื่อร่วมกันเรียนรู้ในเรื่องการดูแลผู้ป่วย เช่น การเช็ดตัว การยกตัวผู้ป่วยขึ้นจากเตียง การช่วยเหลือผู้สูงอายุในการทำกิจวัตร การฟื้นฟูความสามารถทางกาย การจัดยา การดูแลด้านอาหาร ไปจนถึงการปรุงอาหารที่เหมาะสม การเรียนรู้ การสังเกตอาการผิดปกติต่าง ๆ เพื่อไปดูแลต่อที่บ้าน เพื่อช่วยให้การดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลกับบ้านเป็นไปอย่างไร้รอยต่อ

“เมื่อผู้สูงอายุเจ็บป่วย สมรรถภาพจะถดถอยไปมาก ถ้าเดิมเป็นคนแข็งแรง ก็จะกลายเป็นไม่ค่อยแข็งแรง หรือคนที่เปราะบาง (Frail Older Person) สุขภาพเดิมไม่ค่อยแข็งแรง พอหายจากการเจ็บป่วย ก็กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงเลยก็มี น่าเสียดายที่เราทุ่มเททรัพยากรเพื่อรักษาอย่างเต็มที่ แต่พอผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลไปใช้ชีวิตต่อที่บ้าน กลับป่วยซ้ำหรือแย่ลงกว่าเดิม ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยล้มกระดูกสะโพกหัก หลังจากผ่าตัดหนึ่งวัน เราก็จะให้ฝึกเดิน จนเริ่มเดินได้มากขึ้น เราก็หวังว่าจะกลับไปฝึกเดินต่อที่บ้าน แต่พอกลับไปพักที่บ้าน ผู้ดูแลไม่ยอมให้เดิน เพราะกลัวว่าจะหกล้มอีก สุดท้ายผู้ป่วยก็เดินไม่ได้ กลายเป็นคนติดเตียง แบบนี้เราก็จะให้ความรู้กับญาติหรือผู้ดูแลว่าผู้ป่วยควรได้รับการฝึกให้เดินได้ และต้องเดินอย่างไร การดูแลของเรายังรวมไปถึงหาสาเหตุของการหกล้ม หากเกิดขึ้นจากปัจจัยที่ควบคุมได้ ก็จะให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยน” ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์กล่าว

    3. Center of Senior Rehabilitation และ Prehabilitation

ในส่วนนี้จะให้การดูแลสำหรับผู้ที่เริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุ และยังมีร่างกายที่ดูภายนอกก็แข็งแรง แล้วมีความต้องการสร้างเสริมสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น โดยจะมีบริการ “ศูนย์สูงวัยสุขภาพดี (Senior Wellness)” เพื่อตรวจคัดกรองในด้านต่าง ๆ ทั้งยังมีส่วนที่เป็นการบำบัดฟื้นฟู (Rehabilitation) และการเตรียมความพร้อมก่อนการผ่าตัด (Prehabilitation) ภายใต้การดูแลของบุคลากรทางการแพทย์สาขาที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงนักวิทยาศาสตร์การกีฬา เช่น ผู้ที่จะผ่าตัดเปลี่ยนข้อ ก็สามารถมาเตรียมกล้ามเนื้อให้แข็งแรง และเตรียมตัวในด้านอื่น ๆ เช่น การดูแลโรค การดูแลภาวะโภชนาการ เพื่อพร้อมรับการผ่าตัดใหญ่และการฟื้นฟู รวมถึงทำกายภาพบำบัดหลังผ่าตัด นอกจากนี้ยังมีส่วนที่ดูแลผู้สูงอายุเปราะบาง (Frail) หรือก่อนเปราะบาง (Pre-frail) ที่การใช้ชีวิตอาจไม่คล่องแคล่วเหมือนแต่ก่อน มารับการทำกิจกรรมที่นี่เพื่อให้แข็งแรงมากขึ้นได้

file

พัฒนางานวิจัย และถ่ายทอดความรู้

    นอกเหนือจากการเป็นต้นแบบเรื่องการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุแล้ว ศูนย์วิทยาการฯ ยังตั้งเป้าเป็นต้นแบบศูนย์วิจัยเกี่ยวกับผู้สูงอายุ โดยมีการสร้างงานวิจัยทั้งในเชิงคลินิก (Clinical Research) คือนำข้อมูลการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยมาวิเคราะห์ เพื่อพัฒนาโมเดลในการดูแลรักษา (Model of Care) และในเชิงของการวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (Basic Research) จากนักวิทยาศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนายาและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้ล้ำหน้ายิ่งขึ้น

    ไม่เพียงเท่านี้ ทางศูนย์วิทยาการฯ ยังมุ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ในการดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวมอีกด้วย โดยจะถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ด้วยการเป็นสถานที่ฝึกอบรมบุคลากรด้านการแพทย์สาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล นักโภชนาการ นักกายภาพบำบัด นักจิตบำบัด ฯลฯ ทั้งในรูปแบบการเรียนตามหลักสูตร และการเรียนต่อยอดเฉพาะทางเกี่ยวกับผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังขยายไปยังกลุ่มสาขาอาชีพอื่น ๆ เช่น นักสังคมสงเคราะห์ วิศวกร สถาปนิก ที่ควรมีความเข้าใจผู้สูงอายุ การเปลี่ยนแปลงในภาวะสูงวัย เพื่อสามารถนำไปผสมผสานกับความรู้เฉพาะวิชาชีพที่นำไปสู่ความเป็นเฉพาะด้านมากขึ้นสำหรับผู้สูงอายุ เพื่อตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย และเรายังมุ่งหวังจะเป็นศูนย์เรียนรู้สำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ การดูแลตัวเองให้เหมาะสมก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุก็สามารถเข้ามาเรียนรู้ได้เช่นกัน

มุ่งเสนอนโยบายในเชิงสังคมและการแพทย์

    อีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญของศูนย์วิทยาการฯ คือการมุ่งเป็นผู้นำเสนอนโยบายในเชิงสังคมและทางสุขภาพ เพื่อผลักดันระบบสาธารณสุขไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ประธานศูนย์วิทยาการฯ กล่าวว่า “ผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายด้านสาธารณสุข สามารถนำข้อมูลจากศูนย์เราไปใช้ในการวางแผนได้ ยกตัวอย่างเช่น ผู้สูงอายุควรจะได้รับการตรวจคัดกรองหรือฉีดวัคซีนป้องกันโรคไหม เพื่อลดจำนวนผู้ป่วย ลดค่าใช้จ่ายในการรักษา หรือควรกำหนดเกณฑ์ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพอยู่ที่เท่าไหร่ต่อหัว หรือการดูแลระยะกลางที่มีความสำคัญอย่างมาก ผู้ป่วยควรจะเบิกค่าใช้จ่ายจากประกันสุขภาพได้ไหม” 

เปิดให้บริการเฟส 1 - เดินหน้าสร้างเฟส 2

    โครงการระยะแรกได้เปิดให้บริการในเดือนมกราคม 2567 ได้แก่ อาคารผู้ป่วยนอก อาคารผู้ป่วยใน 1 อาคารฟื้นฟูผู้สูงอายุ อาคารหอพักบุคลากรและศูนย์สูงวัยสุขภาพดี  ส่วนโครงการระยะที่ 2 เริ่มดำเนินการในปี 2566  -2568 ประกอบด้วยอาคารวิจัยและฝึกอบรม อาคารผู้ป่วยใน 2 อาคารสถานีไฟฟ้าย่อย และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่อง MRI เพื่อตรวจวินิจฉัยสมองและระบบประสาท ระบบสระน้ำธาราบำบัดพร้อมเครื่องพยุงตัวแบบมีรางเลื่อน เครื่องอุปกรณ์ฝึกเดินโดยรีโมตควบคุม พร้อมระบบควบคุมการล้ม (Andago)

    นอกจากนี้ อาคารผู้ป่วยใน 2 จะมุ่งเน้นการออกแบบเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม (Dementia) และภาวะซึมสับสนเฉียบพลัน (Delirium) โดยจะเป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่มีการรับผู้ป่วยสูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมเข้ามารักษาแบบผู้ป่วยใน (Dementia Ward) รวมถึงมีศูนย์รังสีวินิจฉัยก้าวหน้า (Advanced Imaging Center) ดังนั้นเมื่อโครงการระยะที่ 2 ก่อสร้างแล้วเสร็จ ก็จะเป็นอาคารที่พร้อมให้การดูแลรักษา สร้างวิทยาการด้านสมองและระบบประสาทสำหรับผู้สูงอายุแบบองค์รวมและครบวงจร ทัดเทียมกับระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในระดับนานาชาติ

    “ศูนย์นี้จะใช้งบก่อสร้างทั้งหมด 3,200 ล้านบาท ซึ่งก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินราว 900 ล้านบาท แต่การก่อสร้างในระยะที่ 2 และจัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ยังขาดงบประมาณอีกราว 2,000 ล้านบาท ซึ่งทางเราจะต้องหาเพิ่มเติม” ประธานศูนย์วิทยาการฯ กล่าว

ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อการดูแลผู้สูงอายุแบบองค์รวม

    การจัดตั้งศูนย์วิทยาการฯ จ.สมุทรสาคร ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่เป็นหัวแรงหลักในการผลักดันโครงการ ซึ่งงบประมาณที่ใช้ในระยะที่ 1 นั้น เป็นโครงการภายใต้งบบูรณาการของประเทศที่กระทรวง พม. เป็นผู้นำเสนอ และยังมีการทำงานร่วมกันกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน เช่น กลุ่ม SAHAGROUP HealthCare & Wellness ภายใต้เครือสหพัฒน์ ที่ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ป่วยระยะพักฟื้นและผู้สูงอายุ

    “การดูแลผู้สูงอายุให้มีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยการดูแลแบบองค์รวม คือจะเน้นแต่ฝั่งวิชาชีพด้านสุขภาพอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีฝั่งอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น วิศวกรรม ไอที ธุรกิจธนาคาร-ประกันภัย ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจสื่อ ธุรกิจอาหาร ธุรกิจยา ฯลฯ ทุกภาคส่วนล้วนมีส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุไทย ซึ่งคนกลุ่มนี้คือผู้บริโภคหลักที่คิดเป็น 30% ของประชากรโลก ถ้าใครเห็นแง่มุมใดที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมผู้สูงอายุก็มาช่วยกันได้” ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์กล่าว

เฝ้าระวังผู้สูงอายุกลุ่มเปราะบาง ลดภาวะพึ่งพิง

    รศ. พญ.วราลักษณ์ ศรีนนท์ประเสริฐ หัวหน้าหน่วยวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ หนึ่งในแพทย์จากคณะทำงานของศูนย์วิทยาการฯ จ.สมุทรสาคร ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมโดยชี้ให้เห็นว่า หากต้องการลดโอกาสในการเกิดภาวะพึ่งพิงถาวรในผู้สูงอายุ มีแนวทางสำคัญคือการดูแลภาวะเปราะบาง (Frailty) ในผู้สูงอายุให้เหมาะสม ซึ่งภาวะเปราะบาง เกิดจากการที่ระบบอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย รวมถึงสมรรถภาพทางกายและทางสมองกำลังถดถอย และภาวะนี้ส่งผลให้ผู้สูงอายุเปราะบางเสี่ยงต่อความเจ็บป่วยรุนแรงมากกว่าผู้สูงอายุทั่วไป หากเจ็บป่วยแม้เพียงเล็กน้อย ก็จะปรับตัวและทนต่อความเจ็บป่วยได้ไม่ดีนัก รวมถึงฟื้นตัวได้ช้าลง หากผู้สูงอายุที่มีภาวะเปราะบางได้รับการตรวจคัดกรองตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะสามารถได้รับการดูแลที่เหมาะสม บรรเทาหรือป้องกันการถดถอยในช่วงที่มีการเจ็บป่วย ลดความรุนแรงของความเจ็บป่วย หรือยิ่งไปกว่านั้น อาจจะสามารถให้การป้องกัน ลดความเปราะบาง หรือทำให้แข็งแรงมากขึ้นได้

    “เกณฑ์ที่บ่งชี้ถึงภาวะเปราะบางมีหลายเกณฑ์ โดยมีเกณฑ์แบบง่าย 5 ข้อ ได้แก่ มีโรคประจำตัวอย่างน้อย 4 โรค น้ำหนักตัวลดมากกว่า 5% ภายใน 1 ปี การที่ไม่สามารถเดินในระยะ 400 เมตร การที่ไม่สามารถเดินขึ้นบันได 10 ขั้นได้โดยไม่หยุดพัก และการที่รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง หากเข้าเกณฑ์อย่างน้อย 3 ข้อขึ้นไป นั่นแปลว่ามีภาวะเปราะบาง ซึ่งผู้สูงอายุที่มีภาวะเปราะบาง หากเจ็บป่วยเฉียบพลันมีโอกาสที่จะถดถอยลดมาก หากไม่ได้รับการดูแลที่ดี มีโอกาสทุพพลภาพสูง จึงต้องมุ่งเน้นคัดกรองในกลุ่มนี้ เพื่อการดูแลที่ถูกต้อง ลดการถดถอยจนเข้าสู่ภาวะพึ่งพิงของผู้สูงอายุ ส่วนผู้สูงอายุที่มีเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่ง แต่ยังไม่ครบ 3 ข้อ เรียกว่าเป็นภาวะก่อนเปราะบาง (Pre-frail) ซึ่งเราก็จะมีทางเลือกเพื่อช่วยให้แข็งแรงมากขึ้น ด้วยบริการในศูนย์ Senior Wellness ที่จะพัฒนามากขึ้นในอนาคต” รศ. พญ.วราลักษณ์กล่าว

 

file
file

    ส่วนงานวิจัยของศูนย์วิทยาการฯ ในด้านการวิจัยทางคลินิกก็ต้องการผลักดันในเรื่องรูปแบบการดูแล (Model of Care) สำหรับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุเปราะบาง (Frail Older Persons) ที่ต้องการดูแลแบบเป็นองค์รวมจากสหสาขาวิชาชีพ (Multidisciplinary Team Care) ซึ่งในระยะยาว น่าจะมีโมเดลสำหรับหลาย ๆ กลุ่มโรค หลาย ๆ สภาวะ รวมไปถึงการดูแลในอนาคตเพื่อหวังลดภาวะเปราะบาง ซึ่งอาจจะก้าวไปจนถึงการวิจัยที่เป็น Basic Science ในการลดภาวะเปราะบาง เพิ่มความแข็งแรง ทำให้อายุยืนยาว อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกนี้ ศูนย์ก็ได้ทำการวิจัยที่เกี่ยวกับการดูแลระยะกลางในผู้สูงอายุเปราะบาง (Intermediate Care for Frail Older Persons) การดูแลผู้สูงอายุกระดูกข้อสะโพกหัก (Comprehensive Care for Hip Fracture Patients) จัดเป็นโมเดลตัวอย่างหนึ่งของการดูแลโดยสหสาขาวิชาชีพ ที่เน้นการดูแลโดยทีมร่วมกับการดูแลจากครอบครัวและตัวผู้สูงอายุ ซึ่งหากดูแลได้เหมาะสม จะทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงเดิม ลดภาวะถดถอยให้เหลือน้อยที่สุด ป้องกันการเกิดภาวะทุพพลภาพอันจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อครอบครัวและสังคม

    “ภาวะกระดูกข้อสะโพกหักเป็นอาการบาดเจ็บที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ และมีอัตราการเสียชีวิตหรือทุพพลภาพสูง จึงส่งผลกระทบทั้งต่อผู้ป่วยและครอบครัว โดยสาเหตุที่ผู้สูงอายุล้มจนเกิดกระดูกสะโพกหักนั้น ราว 30% เกิดจากปัจจัยภายในคือความเจ็บป่วยเฉียบพลัน หรือมีภาวะเปราะบางอยู่ก่อนแล้ว นั่นแปลว่าเราสามารถป้องกันการเกิดภาวะนี้ได้ และยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเกิดภาวะนี้แล้ว การได้รับการดูแล การรักษาฟื้นฟูอย่างถูกต้อง โดยส่วนใหญ่ประมาณ 2 - 4 สัปดาห์ ผู้ป่วยก็จะกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงเดิม” รศ. พญ.วราลักษณ์กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างต้นแบบ
“ศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ” ด้วยการสมทบทุนผ่านธนาคาร
ชื่อบัญชี ศิริราชมูลนิธิ (ศิริราชเพื่อผู้สูงวัย)
• ไทยพาณิชย์ สาขาศิริราช บัญชีกระแสรายวัน เลขที่บัญชี 016-4-57906-4
• กสิกรไทย สาขาศิริราช บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 063-3-16546-7
• กรุงเทพ สาขาโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
บัญชีสะสมทรัพย์ เลขที่บัญชี 901-7-06044-4