ตรวจเลือดหาสมองเสื่อมแฝง ยับยั้ง-ชะลอ “อัลไซเมอร์” ก่อนมีอาการ


นิตยสาร Trust ฉบับที่ 67 | คอลัมน์ Health Focus

file

“อัลไซเมอร์” สาเหตุหลักของภาวะสมองเสื่อม

    ภาวะสมองเสื่อม มีสาเหตุมาจากโรคต่าง ๆ โดยโรคที่เป็นสาเหตุของสมองเสื่อมที่พบมากที่สุดคือ “อัลไซเมอร์” โดยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 60 - 80% รองลงมาคือโรคสมองเสื่อมจากลิววีบอดี (Dementia with Lewy Body: DLB) โรคหลอดเลือดสมอง (Cerebrovascular disorders) โรคสมองส่วนหน้าเสื่อม (Frontotemporal Dementia หรือ FTD) ฉะนั้น ภาวะสมองเสื่อมจึงมีปัจจัยเสี่ยงได้แก่โรคต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อหลอดเลือด เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันสูง ตลอดจนภาวะต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เช่น โรคหูหนวก-หูตึง โรคทางจิตอารมณ์ เช่น ซึมเศร้า นอกจากนี้ คนที่มีความโดดเดี่ยวทางสังคม หรือคนที่ศีรษะกระทบกระแทกบ่อย ก็มีความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมเช่นกัน



สมองเสื่อม...ภัยเงียบไร้สัญญาณเตือน 

    โรคอัลไซเมอร์ที่เป็นสาเหตุหลักของภาวะสมองเสื่อม เกิดจากขยะโปรตีน 2 ชนิด คือแอมีลอยด์ บีตา (Amyloid Beta) และโปรตีนเทา (Tau Protein) ที่ค่อย ๆ สะสมในสมองทีละนิด โดยเริ่มแรกนั้นจะไม่มีอาการเตือนใด ๆ ก่อนที่จะค่อย ๆ เพิ่มปริมาณสะสมในเนื้อสมอง ผลที่ตามมาคือเซลล์สมองเริ่มสูญเสียการเชื่อมต่อ จำนวนเซลล์สมองลดลง เริ่มเกิดอาการซึ่งทวีความรุนแรงอย่างช้า ๆ จนเริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันในที่สุด เช่น ออกจากบ้านไปแล้วกลับบ้านไม่ถูก คิดคำนวณเลขด้วยตัวเองไม่ได้จากเดิมที่เคยทำได้ กระทั่งสติปัญญาของผู้ป่วยเริ่มถดถอย ถึงขั้นช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ในที่สุดก็จะสูญเสียความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งเมื่อถึงระยะนั้นแล้ว ระดับความรุนแรงจะแตกต่างจากอาการหลงลืมที่เกิดจากความเหนื่อยล้าหรือวัยที่มากขึ้น

    เมื่อผู้ป่วยไม่สามารถทำอะไรได้เหมือนเดิม ก็มักจะเกิดความเครียด และรู้สึกสับสนจากการถูกคนรอบข้างหงุดหงิดใส่ ไม่เพียงเท่านี้ ภาวะสมองเสื่อมยังส่งผลกระทบต่อครอบครัวที่ต้องเป็นผู้ดูแลอีกด้วย เพราะจะมีทั้งความทุกข์ ความเหน็ดเหนื่อย ความเครียดจากการเห็นคนที่รักต้องถดถอยลงเรื่อย ๆ และมีพฤติกรรมผิดปกติจนไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป

    อย่างไรก็ตาม โรคอัลไซเมอร์จะใช้เวลานานถึง 10 - 15 ปีกว่าจะเริ่มแสดงอาการ และอีก 5 – 10 ปีก่อนจะถึงระยะสมองเสื่อม แต่เมื่อถึงเวลาดังกล่าวก็หมายความว่าผู้ป่วยสูญเสียเนื้อสมองไปมากแล้ว ไม่สามารถที่จะฟื้นฟูบำบัดให้กลับไปใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมหรือใกล้เคียง ดังนั้นการตรวจคัดกรองจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากพบอาการป่วยตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะช่วยยับยั้งหรือบรรเทาความเสียหายของสมอง และวางแผนการดูแลรักษาได้อย่างเหมาะสม



file

ใครบ้างที่ควรตรวจเลือดเพื่อคัดกรองภาวะสมองเสื่อม

    สำหรับโครงการนวัตกรรมการตรวจเลือดฯ จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนการวิจัยและส่วนบริการ โดยการตรวจในส่วนบริการเหมาะกับผู้ที่มีความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป และ/หรือ เริ่มมีอาการต่าง ๆ ที่อาจเป็นอาการเริ่มต้นของภาวะสมองเสื่อม อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นการตรวจก่อนมีอาการ ดังนั้นผู้ที่มีอายุ 60 ปีที่ต้องการทราบว่ามีโรคอัลไซเมอร์หรือมีความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมหรือไม่ ก็เข้ารับการตรวจได้เช่นกัน หรือกรณีผู้มีประวัติคนในครอบครัวเป็นอัลไซเมอร์อาจเข้ารับการตรวจได้เร็วขึ้น

    ส่วนการวิจัย ปัจจุบันโครงการฯ ยังเปิดรับอาสาสมัครเพื่อทำการวิจัยอยู่อีกจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะผู้ที่อายุ 35 ปีขึ้นไป และไม่มีโรคทางสมองอื่น ๆ อยู่เดิม จะเป็นคนไข้เดิมหรือไม่ก็ได้ ขอเพียงมีเวลาและสามารถเข้ารับการตรวจติดตาม 1 - 2 ปี/ครั้ง เพราะทางโครงการฯ ต้องการติดตามผลระยะยาว เพื่อพัฒนางานวิจัยให้มีประสิทธิภาพและความแม่นยำเพิ่มขึ้น



file
file

ผู้สนใจเข้ารับบริการ หรือเป็นอาสาสมัครโครงการฯ 
สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
Facebook: ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ และโรคอุบัติใหม่
หรือ โทร. 0 2652 3122 ต่อ 3562, 08 5858 1469

 

จากรายงานทางสถิติประชากร ประเทศไทยก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว และกำลังมุ่งสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งสิ่งที่มากับความสูงวัยคือโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อมของสมองที่ทำให้การใช้ชีวิตของผู้สูงวัยผิดปกติ ส่งผลต่อลูกหลาน เครือญาติใกล้ชิด จะดีเพียงใดหากเราสามารถตรวจหาความเสี่ยงสมองเสื่อมที่แฝงอยู่ และป้องกันได้ก่อนสายเกิน

    “สมองเสื่อมไม่ใช่โรค แต่เป็นกลุ่มอาการเรียกว่า ภาวะสมองเสื่อม” คำอธิบายเริ่มต้นจาก นพ.ภูษณุ ธนาพรสังสุทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ และหัวหน้าโครงการนวัตกรรมการตรวจเลือดวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    ภาวะสมองเสื่อมส่วนใหญ่เกิดในผู้สูงอายุ ประมาณ 65 ปีขึ้นไป ภายใต้อาการที่ส่งสัญญาณภาวะสมองเสื่อม ได้แก่ ปัญหาความจำ การใช้ภาษา การเดินทาง ฯลฯ โดยเริ่มต้นจากเล็กน้อยแล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้น จนกระทั่งเกิดผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน สติปัญญาจะถดถอยจนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ในที่สุด ต้องมีผู้ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง

file

ตรวจคัดกรองอัลไซเมอร์ก่อนมีอาการ หยุดยั้งสมองเสื่อมได้

    โดยทั่วไปแล้ว การตรวจคัดกรองโรคอัลไซเมอร์ก่อนแสดงอาการ จะมี 2 วิธีคือ Positron Emission Tomography (PET) Scan โดยอาศัยสารรังสีชนิดพิเศษ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงอยู่ที่ราว 40,000 - 50,000 บาท จึงอาจยังไม่เข้าถึงประชาชนโดยทั่วไป หรืออีกวิธีหนึ่งคือ Lumbar Puncture (LP) ตรวจเจาะน้ำไขสันหลัง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายราว 5,000 - 15,000 บาท แต่อาจยังมีผู้เข้ารับการตรวจน้อยเนื่องจากกลัวเจ็บ ส่วนการตรวจแบบอื่น ๆ เช่น CT Scan (Computerized Tomography) และ MRI (Magnetic Resonance Imaging) จะไม่สามารถตรวจพบขยะโปรตีนที่ก่อโรคอัลไซเมอร์ได้ หรือการตรวจหายีน APOE ชนิด e4 เป็นการตรวจหาความเสี่ยง ซึ่งมีใน 20 - 40% ของประชากรทั่วไป ไม่สามารถบอกได้ว่ามีโรคหรือไม่มีเช่นกัน

นวัตกรรมใหม่ ตรวจเลือดหาความเสี่ยงอัลไซเมอร์ได้แม่นยำ

    นพ.ภูษณุ หัวหน้าโครงการนวัตกรรมการตรวจเลือดวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมฯ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีนวัตกรรมที่นำเทคนิคทางอิมมูนวิทยาหรือวิทยาภูมิคุ้มกันและชีวเคมี มาใช้ในการตรวจเลือด โดยใช้เครื่องตรวจที่มีชื่อว่า SIMOA (Single Molecule Array) และ LC-MS (Liquid Chromatography/Mass Spectrometry) ในการตรวจวัดระดับสารโปรตีนเทา (phosphorylated tau 217) และสาร Neurofilament Light Chain (NfL) เพื่อค้นหาว่าผู้เข้ารับการตรวจมีโรคอัลไซเมอร์หรือไม่ หรือว่าในอนาคตผู้เข้ารับการตรวจมีแนวโน้มเกิดภาวะสมองเสื่อมหรือไม่ วิธีนี้สามารถตรวจหาโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างแม่นยำเทียบเท่ากับการตรวจเจาะน้ำไขสันหลัง รวมถึงช่วยลดความซับซ้อนและความเจ็บปวดในการตรวจ

    นอกจากนี้ ผู้เข้ารับการตรวจยังสามารถทำแบบทดสอบความสามารถของสมองควบคู่ไปด้วย เพื่อดูต้นทุนทางสมองว่าอยู่ในระดับใด ซึ่งหากใช้ผลการตรวจเลือดมาประมวลผลร่วมกับผลการทำแบบทดสอบ จะพอทำนายได้ว่าผู้เข้ารับการตรวจมีแนวโน้มจะเกิดภาวะสมองเสื่อมในอนาคตมากน้อยเพียงใด ด้วยความแม่นยำมากขึ้น

“นวัตกรรมการตรวจเลือดเพื่อค้นหาโรคอัลไซเมอร์ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ มีความแม่นยำอยู่ที่ราว 90% โดยวิธีการตรวจก็ง่าย สะดวก และไม่ซับซ้อน คือพยาบาลหรือนักเทคนิคการแพทย์จะเจาะเลือดด้วยวิธีมาตรฐานทั่ว ๆ ไปในปริมาณเพียง 10 ซีซี ก่อนที่จะนำเลือดไปตรวจวัดระดับโปรตีนเทาด้วยวิธี SIMOA ฯลฯ หากพบความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อม ก็จะแสดงผลให้เห็นโดยระดับโปรตีนดังกล่าวจะมีค่าสูงกว่าค่าอ้างอิง ซึ่งแพทย์จะวินิจฉัย รักษา และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวต่อไป

การตรวจเลือดนี้ ผู้ที่จะเข้ารับการตรวจไม่จำเป็นต้องงดน้ำหรืออาหารก่อนเข้ารับการเจาะเลือด ค่าใช้จ่ายก็ถือว่าไม่สูงมากเมื่อเทียบกับวิธีการตรวจแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ การวิเคราะห์ผลจะใช้เวลา 2 เดือนเท่านั้น และส่วนมากตรวจเพียงครั้งเดียวก็ทราบผล ทั้งนี้ในกรณีตรวจแล้วไม่พบ สามารถกลับมาตรวจซ้ำได้ทุก 5 ปี หรือ 10 ปี แล้วแต่ความเสี่ยงของแต่ละคน” นพ.ภูษณุกล่าว

file

มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพ เพิ่มการเข้าถึงในวงกว้าง

    ทางโครงการฯ ใช้เวลาศึกษานวัตกรรมการตรวจเลือดเพื่อค้นหาโรคอัลไซเมอร์ตั้งแต่ยังไม่แสดงอาการ เข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว และมีการพัฒนาชุดตรวจที่ให้ความแม่นยำสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ปัจจุบันการตรวจเลือดดังกล่าว เริ่มเป็นที่ยอมรับจากองค์กรต่าง ๆ ในระดับสากล  เช่น The National Institute on Aging (NIA) และ Alzheimer's Association ว่าสามารถทดแทนการตรวจแบบ PET Scan และการตรวจน้ำไขสันหลังได้

    สำหรับชุดตรวจเลือดที่โครงการฯ ใช้นั้น มีทั้งที่มีผู้พัฒนาขึ้นและทางศูนย์ฯ นำมาพิสูจน์ กับชุดตรวจที่ศูนย์ฯ พัฒนาเอง ซึ่งเบื้องต้นที่ใช้อยู่มีความแม่นยำ 90% และกำลังมีตัวใหม่ที่เข้ามา โดยความแม่นยำในการวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ 95% “ข้อมูลล่าสุด คณะนักวิจัยที่ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาฯ ที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์ที่ไหน พบว่า ความแม่นยำของการตรวจเลือดอยู่ระดับเดียวกับการตรวจน้ำไขสันหลัง ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาจากคณะนักวิจัยต่าง ๆ อีกหลายกลุ่มทั่วโลก” นพ.ภูษณุเผยข้อมูลใหม่ที่ถูกพัฒนาจากงานวิจัยในโครงการนวัตกรรมการตรวจเลือดวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมตั้งแต่ไม่มีอาการเพื่อดูอัลไซเมอร์ของศูนย์ฯ

    ในอนาคตอันใกล้ ยังมีความมุ่งหวังว่าจะพัฒนาการตรวจเลือดให้สามารถตรวจค้นหาความเสี่ยงโรคชนิดอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับสมองได้อีกด้วย เช่น โรคพาร์กินสัน โรคสมองส่วนหน้าเสื่อม ฯลฯ รวมถึงพัฒนาเพื่อลดต้นทุนการตรวจ จากเดิมอยู่ที่ราว 10,000 - 20,000 บาท ต่อการตรวจ 1 ครั้ง ให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาได้ในวงกว้างขึ้น ก่อนที่จะผลักดันเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพของไทยต่อไป