วางแผนการเงินรับมือ “สังคมสูงวัยไร้ลูกหลาน” ด้วย TISCO My Goal

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 67 | คอลัมน์ Holistic Financial Advisory

file

ไม่มีใครรู้ว่าเราจะมีอายุยืนยาวเท่าใด แต่สถิติชี้ให้เห็นว่าประชากรโลก รวมถึงคนไทยมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น สวนทางกับจำนวนทารกเกิดใหม่ และครอบครัวไทยมีแนวโน้มเป็น “สังคมไร้ลูกหลาน”มากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงที่เงินที่เตรียมไว้หลังเกษียณจะไม่เพียงพอ ซึ่งหากเลือกใช้บริการจากนักวางแผนทางการเงินที่มีคุณวุฒิ ก็จะช่วยให้เข้าใจสถานะทางการเงินเชิงลึกของตนเองได้ชัดเจนขึ้น

อายุขัยเฉลี่ยคนจะเพิ่มขึ้น 10 ปีในช่วง 70 ปีข้างหน้า

    ปัจจุบันประชากรโลกกำลังมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น หากย้อนกลับไปในปี 1950 ประชากรโลกมีอายุเฉลี่ยเพียง 47 ปี ขณะที่ในปี 2021 อายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาเป็น 71 ปี หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 50% ในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา ด้านองค์การสหประชาชาติ (UN) ประเมินว่าในปี 2100 อายุเฉลี่ยประชากรโลกจะสูงกว่า 80 ปี ขณะที่ปัจจุบันคนไทยมีอายุเฉลี่ยที่ 79 ปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยประชากรโลก และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 85 ปี ภายในปี 2045 และ 90 ปี ภายในปี 2094 ตามลำดับ

file

    ข้อมูลดังกล่าว สวนทางกับจำนวนทารกเกิดใหม่ที่ลดลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1993 ส่งผลให้ในปี 2022 สัดส่วนผู้สูงอายุในไทยสูงขึ้นแตะระดับ 20% ของประชากรทั้งหมดส่งผลให้ประเทศไทยได้เข้าสู่ “สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์” และประเมินว่าอีกไม่เกิน 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะกลายเป็น “สังคมผู้สูงวัยระดับสุดยอด” ที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด

รูปแบบสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้การวางแผนเกษียณจำเป็นมากขึ้น

    จากข้อมูลอัตราการเกิดของไทยที่ลดลง ส่งผลให้โครงสร้างประชากรเริ่มเปลี่ยนไป และครอบครัวไทยมีแนวโน้มเป็น “สังคมไร้ลูกหลาน”มากขึ้น เริ่มมีชื่อเรียกเฉพาะสำหรับลักษณะโครงสร้างครอบครัวลักษณะนี้มากขึ้น ทั้ง DINKs (Dual Income, No Kids.) หมายถึงคู่สมรสที่มีรายได้แต่ไม่มีลูก และ SINKs (Single Income, No Kids.) หมายถึงคนโสดและไม่มีลูก ซึ่งการไม่มีลูกในครอบครัวสมัยใหม่ ส่งผลให้แหล่งรายได้ที่พึ่งพาได้เมื่อยามจำเป็นเหมือนในอดีตหายไป ทำให้การวางแผนเกษียณยิ่งมีความจำเป็นอย่างมากทั้งด้านการเงินและด้านสุขภาพ

เรื่องสุขภาพยังเป็นอันดับแรกที่คนให้ความกังวล

    ข้อมูลจาก World Economic Forum พบว่าคนส่วนใหญ่กว่า 40% ให้ความสำคัญต่อปัญหาสุขภาพเป็นอันดับแรก และยังกังวลว่าเงินที่เตรียมไว้จะไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจากแนวโน้มอายุที่ยืนยาวขึ้น รวมถึงค่าบริการด้านการรักษาพยาบาลเร่งตัวขึ้นจากเงินเฟ้อจนสูงสุดในรอบ 15 ปี และคาดว่าในปี 2023 ค่าบริการรักษาพยาบาลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเพิ่มขึ้นกว่า 10% ขณะที่โรคที่พบเจอได้มาก 3 อันดับแรก ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงโรคกล้ามเนื้อและกระดูก เป็นโรคที่มีความรุนแรงและจำเป็นต้องใช้เงินรักษาเป็นจำนวนมาก โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประเมินว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคมะเร็งทุกกระบวนการรักษาอยู่ที่ราว 250,000 - 8,500,000 บาท

file

คนส่วนใหญ่ยอมรับว่ายังไม่สามารถเก็บเงินได้ตามแผนเกษียณ

    คนส่วนใหญ่ประเมินว่า ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณจะอยู่ที่ราว 2 ใน 3 ของรายได้หลังหักภาษี โดยคนมากกว่าครึ่งยอมรับว่ายังไม่สามารถเก็บเงินได้ตามแผนการเกษียณ หรือคนส่วนหนึ่งยังไม่ทราบว่าจะต้องเก็บออมเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอต่อเป้าหมายการเกษียณ จากผลสำรวจของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2022 พบว่าผู้สูงอายุกว่า 50% ยังคงต้องพึ่งพาแหล่งรายได้หลักจากบุตรและเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซึ่งมักจะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

เครื่องมือวางแผนเกษียณจากธนาคารทิสโก้ ตอบโจทย์การวางแผนการเงินระยะยาว

    จากที่กล่าวมาทำให้การวางแผนการเงินเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งขึ้น ซึ่งการวางแผนไม่ใช่เพียงแค่ทำให้รู้ว่าเราสามารถบรรลุเป้าหมายเกษียณได้หรือไม่ แต่ยังช่วยให้เรารู้ว่ามีโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงตรงจุดไหน และสามารถอุดรอยรั่วทางการเงินได้ก่อนที่จะลุกลามจนทำให้การวางแผนการเงินล้มเหลว ทั้งนี้หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้หลายคนมองว่าการวางแผนเกษียณเป็นเรื่องไกลตัวและยุ่งยาก คือการเริ่มต้นเก็บข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์สถานะทางการเงิน ซึ่งการเลือกใช้บริการจากผู้ที่ได้รับการรับรองคุณภาพวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP® หรือที่ปรึกษาการเงิน AFPT™ ก็จะช่วยให้เห็นภาพรวมของสถานะทางการเงินได้ลึกและชัดเจนขึ้น

    ดังนั้น ธนาคารทิสโก้จึงได้พัฒนาเครื่องมือวางแผนเกษียณแบบ Hybrid Advisory ที่ให้คำแนะนำโดยที่ปรึกษาการเงิน AFPTTM แบบไม่มีค่าใช้จ่ายเริ่มตั้งเป้าสาขาต้นแบบ 5 แห่ง ได้แก่ ธนาคารทิสโก้ สาขาเซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัลปิ่นเกล้า, เซ็นทรัลบางนา, เกตเวย์ เอกมัย และสำนักงานใหญ่สาทร ก่อนที่จะขยายสู่สาขาธนาคารทิสโก้ทั่วประเทศ

    เครื่องมือดังกล่าว นอกจากจะวางแผนเพื่อเกษียณได้แล้ว ยังสามารถปรับแก้ตัวแปรทางการเงินที่เกี่ยวข้องได้ เช่น อัตราผลตอบแทนปรับด้วยเงินเฟ้อจากการลงทุนที่คาดว่าจะได้รับทั้งก่อนและหลังเกษียณ รวมถึงสามารถปรับเปลี่ยนอายุในช่วงหลังเกษียณ และดูได้ว่าจะส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดในช่วงหลังเกษียณเช่นไร และสรุปเป็นภาพ Infographic แสดงตัวเลขความมั่งคั่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตลอดช่วงระยะเวลาลงทุน ทั้งนี้ก็เพื่อให้กระบวนการวางแผนการเงินของลูกค้าธนาคารทิสโก้เป็นเรื่องง่ายขึ้น สามารถวางแผนเกษียณได้อย่างครบวงจร และไปถึงเป้าหมายได้ตามที่ตั้งไว้